1.5 หมื่นโรงงานอีอีซีผวา โควิดทุบซัพพลายเชน ฐานผลิตประเทศระส่ำ

โรงงาน
PHOTO : PIXABAY (ภาพประกอบข่าวเท่านั้น)

ผู้ประกอบการ 6 จังหวัดในภาคตะวันออก-พื้นที่ EEC ผวา “สมุทรสาครโดมิโน่” หวั่นแรงงาน-พนักงานติดเชื้อโควิด-19 ต้องปิดไลน์ผลิตทั้งโรงงาน ลามกระทบคู่ค้า-ซัพพลายเชนทั้งระบบ ยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ อาหารส่งออก 1.5 หมื่นโรงงานวางมาตรการป้องกันเข้ม กางแผนรับมือขั้นสูงสุด-ลุยตรวจโควิดเชิงรุก ประสานผู้ว่าฯชลบุรี นำร่องพื้นที่แรก เฮ ! อยู่ในพื้นที่สีแดง ประกันสังคมยอมจ่ายค่าตรวจ

การระบาดของโควิด-19 ในแรงงานที่ฐานการผลิตของอุตสาหกรรมสัตว์น้ำและอาหารทะเลขนาดใหญ่ใน จ.สมุทรสาคร ได้สร้างความกังวลให้กับผู้ประกอบการในภาคการผลิตอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฐานการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์-ปิโตรเคมี-ยานยนต์ ใน 6 จังหวัดภาคตะวันออก ที่มีการระบาดของโควิด-19 ไม่แพ้ที่สมุทรสาคร โดยกลุ่มจังหวัดเหล่านี้ ได้แก่ ชลบุรี-ระยอง-ฉะเชิงเทรา-ปราจีนบุรี-จันทบุรี-ตราด ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ด้วย มีจำนวนโรงงานตาม พ.ร.บ.โรงงานรวมกันถึง 12,757 แห่ง จำนวน 706,890 คน และมีจำนวนโรงงานที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรม 4 จังหวัด (ชลบุรี-ระยอง-ฉะเชิงเทรา-ปราจีนบุรี) อีก 3,198 แห่ง จำนวนแรงงานอีก 282,399 คน

หวั่นเชนชิ้นส่วนกระทบ

ดร.สาโรจน์ วสุวานิช กรรมการและกรรมการผู้จัดการ บมจ.ไทยซัมมิท ฮาร์เนส ในฐานะประธานสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตัวเลขการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่ภาคตะวันออก 4 จังหวัด คือระยอง ชลบุรี จันทบุรี ตราด ที่ถูกยกระดับเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดเวลานี้น่าเป็นห่วง มียอดผู้ติดเชื้อสะสมใน จ.ระยอง 492 ราย ชลบุรี 447 ราย ซึ่งทั้ง 2 จังหวัดอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นเขตอุตสาหกรรมที่สำคัญ ทั้งธุรกิจปิโตรเคมี โรงงานประกอบรถยนต์ของทุกค่าย และเป็นที่ตั้งของบริษัทผลิตชิ้นส่วนที่เป็นซัพพลายเชนกว่า 1,000 แห่ง

งัดแผนตรวจโควิดเชิงรุก

ภาคเอกชนจึงกังวลว่า หากพนักงานในโรงงานผู้ผลิตชิ้นส่วน หรือโรงงานประกอบรถยนต์รายใดรายหนึ่งเกิดติดโควิด-19 จะกระทบต่อระบบการผลิตทั้งห่วงโซ่ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดในภาคตะวันออกจึงหารือกันเพื่อทำแผนป้องกันเชิงรุกในโรงงาน จะได้ไม่ต้องปิดโรงงานกรณีการตรวจพบผู้ติดเชื้อ และเร่งตรวจค้นหาโรคโควิดเชิงรุกในโรงงานต่าง ๆ จะเริ่มนำร่องที่ชลบุรีก่อน ล่าสุดเมื่อวันที่ 8 ม.ค. 2564 ได้ทำหนังสือไปถึงนายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการ จ.ชลบุรี ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.ชลบุรี และกระทรวงแรงงาน ขอให้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ช่วยเรื่องค่าใช้จ่ายในการตรวจ พร้อมรายงานให้ ส.อ.ท.ทราบ ทั้งนี้ ปัจจุบันชลบุรีมีพนักงานผ่านระบบประกันสังคมประมาณ 9 แสนกว่าคน ขณะนี้อยู่ระหว่างรอข้อสรุป

ผวาเคส “สมุทรสาคร”

“เราเห็นกรณีโรงงานผลิตปลากระป๋องที่สมุทรสาครติดโควิดถึง 900 คน ต้องปิดโรงงาน ถือเป็นผลกระทบภายในโรงงานเอง แต่หากมีพนักงานในบริษัทผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ติดโควิด จะกระทบซัพพลายเชนทั้งระบบ โดยเฉพาะบางบริษัทที่ผลิตสินค้าส่งให้หลายค่ายรถยนต์ หากต้องปิดโรงงานและส่งสินค้าไม่ได้ กระทบกำลังการผลิตต่อเนื่องไปหมด ปกติโรงงานประกอบรถยนต์ค่ายต่าง ๆ จะสั่งสินค้าล่วงหน้า 3 เดือน แต่จะไม่เก็บสต๊อกสินค้า ขณะที่บริษัทผลิตชิ้นส่วนเองก็จะไม่เก็บสต๊อกไว้ล่วงหน้ามากเช่นกัน จะผลิตเพื่อป้อนล่วงหน้าเพียง 1-2 วันเท่านั้น ดังนั้นตอนนี้แต่ละโรงงานเข้มงวดมาตรการด้านสาธารณสุขมาก และต้องหาวิธีดำเนินการหากมีพนักงานติดโควิด ว่าทำอย่างไรจะได้ไม่ต้องปิดไลน์การผลิต โรงงานยังเปิดดำเนินการต่อไปได้”

อุตฯอิเล็กทรอนิกส์ไม่กระทบ

นายอุดม เสถียรภาพงษ์ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม ส.อ.ท. เปิดเผยว่า กลุ่มอุตฯอิเล็กทรอนิกส์มีฐานการลงทุนและมีโรงงานอยู่ในอีอีซีจำนวนมาก แต่ที่รัฐได้กำหนดให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 ทุกโรงงานได้เข้มงวดมาโดยตลอด มีการสุ่มตรวจพนักงาน คัดกรอง ทำความสะอาด แยกกลุ่มเสี่ยงออกชัดเจน มั่นใจว่าอีอีซีจะไม่ถูกล็อกดาวน์ และจะไม่กระทบการผลิตอุตฯไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม ส่วนภาพรวมอุตฯไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม ปี 2564 ยังมีแนวโน้มที่ดี เพราะมีดีมานด์เกิดขึ้นอยู่ต่อเนื่อง

“เรามองว่าหากเกิดการระบาดรุนแรงเหมือนที่สมุทรสาคร จะกระทบการผลิตทุกอุตสาหกรรม เพราะเป็นพื้นที่ที่ผลิตซัพพรายเชนให้หลายอุตสาหกรรมมาก ตอนนี้ที่ ส.อ.ท.หารือกับทางสมาชิกมีทั้งการระดมทุนบริจาค ช่วยการสร้างเต็นท์สนามสำหรับแรงงานที่ติดเชื้อ การหาพื้นที่สร้างโรงพยาบาลสนาม ในส่วนนี้โรงงานร้างสามารถทำได้ หรือจะเป็นพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมที่กำลังพัฒนา”

แนะโหลด “หมอชนะ”

ขณะที่นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า จากที่มีกระแสข่าวว่าตรวจพบว่ามีแรงงาน 2 รายในนิคมอุตสาหกรรมบางกระดีติดเชื้อโควิดนั้น เบื้องต้นได้ผลักดันให้ทุกคนโหลดแอปพลิเคชั่นหมอชนะ เพื่อติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาด ส่วนมาตรการป้องกันเข้มข้นและทำความสะอาดฉีดยาฆ่าเชื้อโรงงานอยู่สม่ำเสมอ เป็นเรื่องที่แต่ละโรงงานดำเนินการอยู่แล้ว

ค่ายรถ-ชิ้นส่วนจ้องลดกำลังผลิต

ด้านแหล่งข่าวจากสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย (TAPMA) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดระลอกใหม่กระทบผู้ประกอบการค่ายรถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์อย่างมาก แต่ทุกคนต่างเตรียมพร้อมรับมือปัญหาที่จะตามมา โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการที่มีโรงงานผลิตอยุู่ในเขตพื้นที่สีแดง ปัญหาหลักคงเป็นเรื่องซัพพลายเชน คล้ายการระบาดรอบแรกช่วงเดือน มี.ค. 2563 ที่ชิ้นส่วนประกอบรถยนต์จำนวนหนึ่งต้องนำเข้าจากต่างประเทศทั้งจีน ญี่ปุ่น และอื่น ๆ ดังนั้นหากซัพพลายเออร์ผลิตไม่ได้ หรือโลจิสติกส์มีปัญหา ภาคการผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลกจะสะดุด รวมทั้งไทยด้วย

อย่างไรก็ตามระหว่างนี้ผู้ผลิตชิ้นส่วนและโรงงานผลิตรถยนต์ได้หารือถึงผลกระทบ โดยเฉพาะดีมานด์ของตลาดรถยนต์ที่มีแนวโน้มลดลง เร็ว ๆ นี้อาจจะต้องชะลอการซัพพลายชิ้นส่วนไปยังโรงงานประกอบ เพื่อปรับการผลิตให้สอดรับกับความต้องการของตลาด

ฮอนด้าหยุดไลน์ผลิตปราจีนบุรี

“เป็นไปได้ว่าหลายโรงงานอาจจะยืดระยะเวลาวันหยุดออกไปอีกจากที่หยุดช่วงปีใหม่ และที่สำคัญ โรงงานผลิตรถยนต์ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่สีแดงเข้ม ซึ่งรัฐบาลยกระดับความเข้มงวดในการป้องกันโรค การเคลื่อนย้ายข้ามจังหวัดต้องได้รับอนุญาต การเข้าปฏิบัติงานของพนักงานเป็นไปด้วยความยากลำบาก”

แหล่งข่าวจาก บจ.ฮอนด้า ออโตโมบิล เปิดเผยว่า ได้ประกาศหยุดไลน์ผลิตรถยนต์นั่งที่สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จ.ปราจีนบุรี ชั่วคราว 8-20 ม.ค. 2564

สำหรับปัญหาการหยุดไลน์ผลิต สืบเนื่องมาจากกระบวนการซัพพลายเชนและโลจิสติกส์ โดยเฉพาะผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์จากต่างประเทศได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด ไม่สามารถป้อนให้กับโรงงานประกอบรถยนต์ได้ ต้องตัดสินใจหยุดไลน์ผลิตเพื่อรอชิ้นส่วนดังกล่าว คาดว่าหลัง 20 ม.ค.นี้โรงงานฮอนด้าที่ปราจีนบุรีจะสามารถกลับมาผลิตได้อีกครั้ง

ชะลอจ้างแรงงานหมื่นคน

ขณะเดียวกัน นายวิสูตร พันธวุฒิยานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอชอาร์.ไดเจสท์ กรุ๊ป ในฐานะนายกสมาคมนายจ้างผู้ประกอบการรับเหมาแรงงาน เปิดเผยว่า การระบาดของโควิดในกลุ่มแรงงานต่างด้าวขณะนี้ทำให้ผู้ประกอบการในอีอีซีไม่กล้ารับคนทำงานที่ผ่านการพิจารณาแล้วให้เข้าทำงาน ไม่ว่าจะเป็นแรงงานไทยหรือต่างด้าว เพราะกังวลว่าจะทำให้การระบาดเพิ่ม ทั้งนี้ หลังมีการสั่งชะลอรับแรงงานได้เกิดผล
กระทบต่อโรงงานผลิตเพื่อส่งออก โดยเฉพาะในกลุ่มอุตฯ อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนยานยนต์ เนื่องจากแรงงานหายไปจากระบบ เดินเครื่องผลิตได้เพียง 80% เสียโอกาสทางธุรกิจ นอกจากนี้คำสั่งซื้อบางส่วนยังโยกไปประเทศอื่น ๆ แทน เฉพาะของบริษัท เอชอาร์.ไดเจสท์ฯมีแรงงานตกค้างอยู่ 1,000 คน และเมื่อรวมยอดของสมาชิกสมาคมนายจ้างฯแล้วมีแรงงานตกค้างไม่ได้งานทำไม่ต่ำกว่า 10,000 คน

อีอีซีลุ้นเคลียร์โควิดจบ ก.พ.

ด้านนายสนั่น อังอุบลกุล รองประธานสภาหอการค้าไทย ระบุว่า ผู้ประกอบการในอีอีซีตื่นตระหนกมาก ทำให้ส่วนใหญ่ใช้มาตรการ “soft lockdown” ชะลอการนำแรงงานใหม่เข้ามาในพื้นที่เป็นการ “ชั่วคราว” เพื่อให้ควบคุมการระบาดของโรคได้ทั้งหมดภายในสิ้นเดือน ก.พ.นี้ เนื่องจากในอีอีซีมีผู้ประกอบการที่เป็นโรงงานอาหารผลิตเพื่อการส่งออกเป็นส่วนใหญ่ หากสถานการณ์การระบาดบานปลาย จะส่งผลกระทบต่อยอดการส่งออกสินค้าของไทย

ปตท.จำกัดพื้นที่ พนง.ใหม่

ขณะที่นายกฤษณ์ อิ่มแสง ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บมจ.ปตท.เปิดเผยว่า เครือ ปตท.ที่อยู่ในพื้นที่อีอีซีทั้งหมด ยังคงรับพนักงานใหม่เข้าทำงาน แต่จะมีมาตรการป้องกันตามความเสี่ยง โดยเฉพาะโรงงานผลิตมีนโยบายห้ามผู้ไม่เกี่ยวข้องเข้า-ออก จะกำหนดรายชื่อพนักงานที่เข้าพื้นที่ได้ตามกะไว้ชัดเจน

พื้นที่สีแดงประกันสังคมจ่าย


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในส่วนประเด็นค่าใช้จ่ายในการตรวจโควิดเชิงรุก ซึ่งที่ผ่านมาภาคเอกชนเรียกร้องให้ภาครัฐเป็นผู้สนับสนุน ล่าสุด ศ.คลินิกเกียรติคุณเหลือพร ปุณณกันต์ ประธานกรรมการการแพทย์ ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคมฯ ได้ลงนามในประกาศคณะกรรมการการแพทย์ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม เรื่องหลักเกณฑ์และอัตราค่าบริการทางการแพทย์กรณีการคัดกรองการติดเชื้อโควิด-19 เชิงรุกในสถานประกอบการสำหรับจังหวัดที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดตามระดับความรุนแรง ลงวันที่ 8 ม.ค. 2564 ให้ผู้ประกันตนได้รับบริการ เพื่อการค้นหากลุ่มเสี่ยงในสถานประกอบการ โดยให้สำนักงานประกันสังคมพิจารณาจ่ายค่าบริการเป็นค่าตรวจคัดกรองโควิด-19 และค่าบริการอื่น ๆ แก่สถานพยาบาล
ในอัตราเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น แต่ไม่เกินอัตราที่กำหนดไว้ตามระเบียบ