พลังงาน-มหาดไทย เทงบ 2,400 ล้าน ดึงองค์กรปกครองท้องถิ่นลงทุน

สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์

กระทรวงพลังงาน จับมือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เร่งการผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ ด้วยงบประมาณ 2,400 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า วันนี้ (14 ม.ค. 2564) นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วย พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ร่วมกันชี้แจงนโยบายกับผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ผ่านระบบวีดีทัศน์ทางไกลเกี่ยวกับแนวทางการขอรับการสนับสนุนงบประมาณกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ปี 2564 สำหรับจังหวัดทั่วประเทศ โดยมี นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ร่วมชี้แจงรายละเอียด ณ ห้องประชุมราชสีห์ ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย

นายสุพัฒนพงษ์ เปิดเผยว่า ตามที่กองทุนฯ มีงบประมาณที่ได้รับจัดสรรจำนวน 6,500 ล้านบาท โดยงบประมาณส่วนที่สำคัญ คือ งบประมาณที่จะใช้ในทางการสนับสนุนโครงการภายใต้กลุ่มงานส่งเสริมอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนเศรษฐกิจฐานราก จำนวน 2,400 ล้านบาท ที่มุ่งส่งเสริมให้ชุมชนทั่วประเทศนำเทคโนโลยีพลังงานไปใช้ในการสร้างงาน สร้างรายได้

โดยจะกระจายไปในโครงการสำคัญ ๆ 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่

1) สถานีพลังงานชุมชน เป็นการส่งเสริมเทคโนโลยีพลังงานภายใต้แนวคิด ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ โดยสามารถขอรับการสนับสนุนเทคโนโลยีเดี่ยว หรือหลายเทคโนโลยีที่ประกอบกัน ได้แก่ เทคโนโลยีระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์แบบเคลื่อนที่, เตาชีวมวลประสิทธิภาพสูง, ชุดครอบหัวเตาแก๊สประสิทธิภาพสูง, ระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์, ระบบผลิตแก๊สชีวภาพจากของเสีย เป็นต้น

2) ระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ สำหรับบ่อบาดาล โซลาร์เซลล์ขนาด 2.5 กิโลวัตต์ และถังพักน้ำขนาดบรรจุ 20 ลบ.ม.

3) การผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ สำหรับพื้นที่ที่ไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึง/ไม่มีไฟฟ้า (off Grid) ได้แก่ บ้านอยู่อาศัย กลุ่มชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และโรงเรียนในสังกัดของรัฐบาล

สำหรับกรอบวงเงิน 2,400 ล้านบาท จะแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกให้แก่จังหวัด ๆ ละ 25 ล้านบาท รวม 76 จังหวัด รวม 1,900 ล้านบาท

ส่วนกรอบวงเงินที่เหลือ 500 ล้านบาท จะใช้เป็นงบกลางสำหรับรองรับโครงการระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตร (บ่อบาดาล) ที่เกินกรอบวงเงินของจังหวัด

ทั้งนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ส่วนราชการภูมิภาค และส่วนราชการส่วนกลางที่มีที่ตั้งในจังหวัด สามารถยื่นขอรับการสนับสนุนกับทางจังหวัดได้

โดยจะมีคณะกรรมการบริหารจังหวัดแบบบูรณาการ (กบจ.) เป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบกลั่นกรองเรียงลำดับความสำคัญก่อนที่จะให้ อปท. ส่วนราชการภูมิภาค

หรือส่วนราชการส่วนกลาง ที่มีที่ตั้งในจังหวัดยื่นข้อเสนอเข้าระบบให้กับกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ทั้งนี้ จะได้มีการกำชับให้หน่วยงานจัดทำระบบตรวจสอบ ติดตาม ประเมินผลโครงการ


โดยเฉพาะการให้ความสำคัญเรื่องความพร้อมในการบำรุงรักษา ประชาชนจะต้องใช้งานได้จริง คาดว่าจะเปิดรับข้อเสนอโครงการเข้าระบบภายใน 31 มีนาคม 2564 โดยกองทุนฯ จะประกาศเกณฑ์รายละเอียดต่อไป