วิกฤตราคาข้าวส่งออก หอมมะลิขายถูกตันละไม่ถึงพันเหรียญ

ข้าว

การส่งออกข้าวไทยปี 2563 ปิดฉาก 5.72 ล้านตัน หดตัว 24.5% ท่ามกลางปัญหาการแข่งขันดุเดือด ค่าบาทแข็งค่าต่อเนื่อง และปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตว่า ในสถานการณ์ส่งออกข้าวภาพรวมที่ลดลงนั้น หากวิเคราะห์ในรายชนิดข้าวจะพบว่า “ข้าวหอมมะลิ” เป็นข้าวชนิดเดียวที่มีการส่งออกเพิ่มขึ้น 2.6% จากปี 2562 หรือมีปริมาณถึง 1.447 ล้านตัน ขณะที่ข้าวชนิดอื่นหดตัวทั้งหมด อาทิ ข้าวขาวหดตัว 38.3% ข้าวนึ่งหดตัว 35.4%

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญจากตลาดมีความต้องการนำเข้าข้าวมากขึ้น แต่อีกด้านหนึ่งระดับราคาข้าวหอมมะลิไทยก็ลดลงต่ำกว่าตันละ 1,000 เหรียญสหรัฐ เหลือตันละ 900 เหรียญสหรัฐ ซึ่งใกล้เคียงกับปี 2560

ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ผู้ที่คร่ำหวอดในแวดวงข้าวหอมมะลิวิเคราะห์ว่า จริงอยู่ที่การส่งออกข้าวหอมมะลิเป็นข้าวชนิดเดียวที่เพิ่มขึ้น แต่ก็เพิ่มขึ้นเพียง 2.6% เท่านั้น ซึ่งถือเป็นปริมาณไม่มาก ปัจจัยสำคัญมาจากข้าวหอมมะลิพรีเมี่ยมยังไม่มี “คู่แข่ง” โดยเฉพาะตลาดหลักอย่างสหรัฐ ซึ่งเป็นตลาดอันดับ 1 ของการส่งออกประมาณ 50% หรือ 5 แสนตัน ยังไม่มีข้าวจากประเทศไหนเข้าไปแข่งกับไทยได้ ผู้บริโภคในตลาดสหรัฐเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง

ที่สำคัญเรามีผู้บริโภคหน้าใหม่จากเดิมเราขายให้ชาวเอเชียในสหรัฐ แต่ตอนนี้กลุ่มคนอเมริกันและเม็กซิกันที่หันมาซื้อข้าวไทยจากเดิมที่ใช้ข้าวขาวที่ปลูกในสหรัฐ เพราะเทียบราคาแล้วสูงกว่าเล็กน้อยประมาณถุงละ 10-20 ปอนด์ แต่ข้าวไทยมีคุณภาพความหอม หวาน สามารถนำไปปรุงอาหารได้หลายชนิด ช่องทางการจำหน่ายสามารถหาซื้อได้ง่ายขึ้นเพราะมีการกระจายเข้าไปจำหน่ายในห้างซูเปอร์มาร์เก็ตเมนสตรีม เช่น วอลมาร์ตมากขึ้น เมื่อมีการล็อกดาวน์ ร้านอาหารปิดก็หันมาซื้อในซูเปอร์มาร์เก็ตไปปรุงเอง

นอกจากนี้ยังมีตลาดแคนาดา ซึ่งเป็นตลาดใหม่ที่เพิ่งเริ่มหันมานิยมซื้อข้าวหอมมะลิไทย จนทำให้ส่งออกไปได้หลายแสนตัน

“ราคาข้าวหอมมะลิปีก่อน จะเห็นว่าช่วงต้นปีสูง ปลายปีราคาลดลง เฉลี่ยแล้วราคาส่งออกตันละ 1,000 เหรียญสหรัฐลดลงจากช่วงที่ราคาเคยขึ้นไปพีกปีก่อน ๆ ถึง 1,200-1,300 เหรียญสหรัฐ แต่นั่นก็เป็นจุดดีที่ทำให้ขายง่ายขึ้น ส่วนหนึ่งที่ราคาลดลง ก็มีการตัดราคากันก็มีส่วนด้วย”

“ปัจจุบันผู้ส่งออกรายเล็ก-ใหญ่ในไทยมี 300 ราย โรงสีก็เยอะ รัฐต้องปรับให้ทุกรายอยู่ในกฎกติกาเดียวกัน บางคนขายน้อย ไปตั้งราคาต่ำ ก็มีผลกับภาพรวมของราคาส่งออกทั้งหมด ส่วนแนวโน้มราคาปีนี้ คาดว่าตันละ 900 เหรียญสหรัฐ แต่ไปบวกค่าเฟรตต่าง ๆ ก็จะอยู่ที่ 1,000-1,100 เหรียญสหรัฐ”

บาทแข็ง-ตู้ขาด

สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยคาดการณ์ในปี 2564 เฉพาะข้าวหอมมะลิจะส่งออกได้ 1.3-1.4 ล้านตัน จากภาพรวมที่คาดการณ์ไว้ 6 ล้านตัน อย่างไรก็ตามปัจจัยเสี่ยงที่ต้องระวังมากในปี 2564 คืออัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าอย่างมาก

โดยมีการคาดการณ์ว่าค่าบาทจะแข็งไปถึงระดับ 28.50-29.00 บาท จากเดิมที่ 30 บาทต่อเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 6% ซึ่งนั่นจะทำให้ราคาข้าวหอมมะลิของไทยปรับขึ้นไปตันละ 50 เหรียญสหรัฐ จากราคาเอฟโอบีตันละ 900 เหรียญสหรัฐ เป็น 950 เหรียญสหรัฐ และที่สำคัญคือปัจจัยเสี่ยงจากปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ทำให้ต้นทุนค่าระวางเพิ่มขึ้นเท่าตัว จากตันละ 100 เป็น 200 เหรียญสหรัฐ

“ค่าเรือแพงมาก ตู้ 20 ฟุตเคยราคา 2 พันเหรียญสหรัฐ ขึ้นไป 4 พันเหรียญสหรัฐ และถ้าอยากได้เร็วขึ้นไปถึง 9 พันเหรียญสหรัฐ เฉลี่ยขึ้นไปเท่าตัว จากตันละ 100 เป็น 200 เหรียญสหรัฐ และที่สำคัญชิปเมนต์ต่าง ๆ เลื่อนช้าไปหมดสายเรือเลือกลูกค้า พอมีตู้มาจะไปทางจีนก่อน และเหลือแล้วค่อยมาที่ไทยพอมาถึงไทยก็เลือกให้กับผู้ส่งออกสินค้าพวกมูลค่าสูง ๆ ก่อน ข้าวเป็นสินค้าหนักไม่มีใครอยากขนเราจึงได้ตู้เหลือ ๆ เราก็ไม่อยากได้ เพราะบางทีมีกลิ่นหรือมีอะไรต้องระวังด้วย ทีนี้พอบวกค่าระวางที่แพงแล้ว ปลายทางลูกค้าก็ไปปรับราคาขายปลีกให้เท่ากับต้นทุนที่ขึ้น”

ตลาดอียู-จีน พ่ายเวียดนาม

ร.ต.ท.เจริญกล่าวว่า ประเด็นการแข่งขันส่งออกกับเวียดนามเป็นสิ่งที่น่ากังวลมากว่าในช่วง 2-3 ปีนี้เราจะเสียตลาดให้กับเวียดนามมากขึ้น เพราะนอกจากเวียดนามพัฒนาข้าวสายพันธุ์ใหม่ที่มีคุณภาพสูงและปริมาณผลผลิตต่อไร่สูงขึ้นมาแข่งกับเรา เช่น ข้าวขาวพื้นนุ่ม หลายตัว เช่น ST20 ต่าง ๆ ราคาใกล้เคียงกับเรา ค่าเงินเวียดนามนิ่ง เราแข็งค่า ทำให้มีความได้เปรียบราคา เช่น ข้าวขาวพื้นนุ่มมีผลผลิต 1 ตันต่อไร่ ทำให้ต้นทุนและราคาต่ำกว่าไทยไปแล้ว

ที่สำคัญเวียดนามยังสามารถเจาะเข้าไปตลาดส่งออกที่เดิมเป็นของไทย เช่น ตลาดสหภาพยุโรป (อียู) โดยได้ไปทำความตกลงเปิดเขตการค้าเสรีอียู-เวียดนาม (EVFTA) ลดภาษีนำเข้าและยังได้มีการส่งออกข้าวผ่านทางชายแดนไปยังตลาดจีน ซึ่งปริมาณนี้ไม่ได้นับรวมในตัวเลขส่งออกแบบเป็นทางการ ขณะที่กัมพูชาก็ได้โควตาส่งออกข้าวไปจีน 4 แสนตันต่อปี มีการส่งเอกชนเข้าไปปลูกข้าวในกัมพูชาในสายพันธุ์ที่ต้องการเพื่อขายไปจีนด้วย

“ไทยเองมียุทธศาสตร์แต่การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ยังไม่ได้ ส่วนหนึ่งจากการเมือง พอจะแก้ปัญหาโควิดก็มาใหม่อีกระลอก ตอนนี้ไทยส่งออกลดลงเหลือ 5.7 แสนตัน ผมว่าในอีก 1-2 ปี จะมีโอกาสหลุด 5 แสนตัน”

ทางออกข้าวไทย

ร.ต.ท.เจริญกล่าวว่า การพัฒนาข้าวไทยเป็นเรื่องสำคัญมาก หากราชการมองว่าข้าวหอมมะลิส่งออกดี ไม่ควรพัฒนาพันธุ์ใหม่ ๆ มาแข่งขันชิงตลาดกันเอง อย่างน้อยต้องพัฒนาสายพันธุ์เดิมให้มีผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น จากที่คงที่ 350 กิโลกรัมต่อไร่มาหลายปีแล้ว

ส่วนการพัฒนาข้าวสายพันธุ์ใหม่มี 2 ด้าน คือการขึ้นทะเบียนพันธุ์ข้าวที่ผ่านการวิจัยและพัฒนาแล้ว ซึ่งต้องขึ้นทะเบียนให้เร็วขึ้น ล่าสุดที่เราขึ้นทะเบียนไปคือ ข้าว กข 79 แต่ด้วยระยะเวลาการปลูกยาวนาน 120 วันนานเกินไปไม่ตอบโจทย์ชาวนา ต้องการข้าวที่ปลูกแค่ 90 วันเกี่ยวได้ เพื่อเอาเงินมาใช้ในการครองชีพ

ดังนั้น อีกด้านเราต้องแก้กฎหมายพันธุ์พืช เพื่ออนุญาตให้มีการนำเข้าข้าวเปลือกมาใช้วิจัยและพัฒนาพันธุ์ใหม่ให้ตรงความต้องการของชาวนา