รัฐดึงเอกชนลงขันนิคมราชทัณฑ์ เว้นภาษีรายได้-3 จังหวัด EEC นำร่อง

ราชทัณฑ์

กรมราชทัณฑ์ประสาน 3 กระทรวง อุตสาหกรรม-ยุติธรรม-มหาดไทย เดินหน้าปั้นนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ ใช้ 3 แนวทางได้ประโยชน์ 3 เด้ง ลดความแออัดนักโทษในเรือนจำ-ลดพึ่งพาแรงงานต่างด้าว และสร้างแหล่งงานคนไทยเพิ่ม

นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงความคืบหน้าการจัดตั้ง “นิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์” ว่า หลังจากที่ พลเอกประยุุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งให้กรมราชทัณฑ์พัฒนานักโทษให้เข้าสู่ตลาดแรงงานให้เร็วที่สุดนั้น ล่าสุดกรมราชทัณฑ์ได้ร่วมหารือกับกระทรวงมหาดไทย, การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.), กระทรวงแรงงาน, กระทรวงอุตสาหกรรม และภาคเอกชน โดยแบ่งการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมดังกล่าวออกเป็น 3 ประเภท คือ

1) นิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ในพื้นที่ของกรมราชทัณฑ์ และที่อยู่ในกำกับดูแลของ กนอ.ทั่วประเทศ ในส่วนนี้กรมราชทัณฑ์จะทำหน้าที่ในการบริหารจัดการร่วมกับ กนอ. โดยข้อดีของนิคมรูปแบบนี้ก็คือ สามารถบริหารแรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและไม่กระทบความมั่นคงและความปลอดภัยในพื้นที่ ในรูปแบบนี้ภาคเอกชนจะอยู่ในสถานะ “ผู้เช่าพื้นที่” เพื่อดำเนินกิจการในนิคมเท่านั้น

2) นิคมอุตสาหกรรมนอกพื้นที่ของกรมราชทัณฑ์ ในหลักการในเบื้องต้นจะให้ภาคเอกชนหรือผู้ประกอบการที่ต้องการแรงงานจำนวนมากเข้ามาพัฒนาและลงทุนเองทั้งหมดโดยกรมราชทัณฑ์จะทำหน้าที่แค่ “ส่งแรงงาน” เข้ามาทำงานตามความต้องการเท่านั้น มีกลุ่มเป้าหมายเป็นนักโทษที่พ้นโทษ พักโทษรวมไปจนถึงนักโทษที่ได้รับการอภัยโทษด้วย

และ 3) กรมราชทัณฑ์ลงทุนร่วมกับภาคเอกชน จะดำเนินการในรูปแบบของ “ธุรกิจเพื่อสังคม (social enterprise)” ให้ประเภทอุตสาหกรรมที่ควรเข้ามาใช้ประโยชน์ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมดังกล่าว หลักการเบื้องต้นคือ ต้องเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องการใช้แรงงานจำนวนมาก เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม, อุตสาหกรรมผลิตเฟอร์นิเจอร์และอุตสาหกรรมผลิตเบเกอรี่ นิคมรูปแบบนี้จะช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมมีแรงงานอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงวิกฤตใดก็ตาม อีกทั้งช่วยลดความแออัดของนักโทษในเรือนจำทั่วประเทศและลดการพึ่งพาแรงงานต่างด้าวที่ทำให้เกิดการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในขณะนี้

ขอสิทธิประโยชน์จูงใจด้านภาษี

สำหรับข้อเสนอในการสร้างแรงจูงใจให้กับภาคเอกชนเข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์นั้น นายอายุตม์กล่าวว่า ทางคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาแนวทางการจัดตั้งนิคมราชทัณฑ์ “เห็นด้วย” กับข้อเสนอที่จะต้องสร้างแรงจูงใจ (incentive) ให้กับภาคเอกชน ด้วยการให้สิทธิประโยชน์ในลักษณะเดียวกันกับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) อาทิ การนำรายจ่ายจากการจ้างงานนักโทษไปหักลดหย่อนภาษีได้ 3 เท่า ส่วนกรณีที่เป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นใหม่ ควรได้รับการ “ยกเว้น” ภาษีเงินได้นิติบุคคล รวมระยะเวลา 5 ปี

อย่างไรก็ตาม การจ้างงานจากแรงงานนักโทษจะต้องให้ความสำคัญในประเด็นเรื่องของ “สิทธิมนุษยชน” กับ “ความสมัครใจ” ของนักโทษที่เข้ามาทำงานในนิคม เนื่องจากประเด็นเหล่านี้อาจจะกระทบต่อข้อตกลงระหว่างประเทศหรือไม่นั้น นายอายุตม์กล่าวว่า กลุ่มเป้าหมายคือ “นักโทษ” ที่ได้รับการพ้นโทษ-พักโทษ และได้รับการอภัยโทษ เท่ากับว่าแรงงานเหล่านี้จะอยู่ในสถานะ “แรงงานปกติ” ทำให้ผู้ประกอบการจ้างงานตามปกติได้ โดยไม่ต้องกังวลถึงข้อจำกัดด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ส่วนกรณีที่เป็นกฎหมายระหว่างประเทศ หรือข้อตกลงภายใต้อนุสัญญา ILO (เป็นตราสารบังคับ โดยได้บัญญัติข้อกำหนดมาตรฐานแรงงานเอาไว้) อาจจะพิจารณาว่า เป็นแรงงานบังคับ (forced labour) เนื่องจากถูกบีบบังคับโดยการใช้บทลงโทษ โดยที่บุคคลนั้นไม่ได้สมัครใจทำงานหรือให้บริการนั้น ๆ ข้อกังวลนี้ก็ “ตกไป” เพราะไม่ได้จ้างงานนักโทษตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

ชลบุรี-มหาชัยนำร่อง

สำหรับพื้นที่เหมาะสมในการทำ “โครงการนำร่อง” นั้น นายอายุตม์ระบุว่า ต้องการให้เกิดการพัฒนารูปแบบนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์เกิดขึ้นทุกภาค แต่ได้กำหนดพื้นที่นำร่องเบื้องต้นไว้ในพื้นที่ภาคกลาง เช่น จังหวัดสมุทรปราการ, ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, ระยอง โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด เพราะมีทั้งเรือนจำกลางชลบุรี ทัณฑสถานหญิงชลบุรี และเรือนจำพิเศษพัทยา สำหรับแนวทางในการจัดหาพื้นที่นั้น อาจเป็นในรูปแบบเช่าพื้นที่ราชพัสดุหรือซื้อที่ดินก็ได้ ซึ่งขั้นตอนต่อจากนี้ กรมราชทัณฑ์ได้ให้ที่ปรึกษาดำเนินการศึกษาความเหมาะสมให้เร็วที่สุด เพื่อให้การพัฒนานิคมดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างเป็นรููปธรรม

ขณะที่ด้านกระทรวงอุตสาหกรรมมีรายงานเข้ามาว่า หลังจากที่ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กับนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ร่วมกันผลักดันโครงการจ้างแรงงานนักโทษเพิ่มโอกาสให้มีอาชีพและสามารถกลับสู่สังคมได้มากขึ้น โดยทางการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้ร่วมสนับสนุนการตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ที่พื้นที่ เรือนจำชั่วคราวบ้านบึง จ.ชลบุรี ไปแล้ว และกำลังศึกษาเฟส 2 ที่ จ.สมุทรสาคร เบื้องต้นได้มีการจ้างงาน 400 คน และมุ่งจะเพิ่มการจ้างงานให้ได้ถึง 50,000 คน เน้นในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยาง, เฟอร์นิเจอร์, งานโลหะ, งานเชื่อม, งานหัตถกรรม และเกษตรแปรรูป

“ตอนนี้มีผู้ประกอบการโรงงานให้ความสนใจจ้างแรงงานนักโทษแล้ว 3 แห่ง คือ บริษัทกาลศิริพาณิชย์, บริษัทมายจักรยาน และบริษัทเอสพีที เจริญซัพพลาย แต่จะจ้างแรงงานมากน้อยแค่ไหนจะขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแต่ละบริษัท”

อมตะฯขานรับจ้างนักโทษชั้นดี


นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) กล่าวในฐานะที่ปรึกษาอนุกรรมการเพื่อศึกษาแนวทางการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ว่า ปัจจุบันอมตะฯทั้งที่ระยอง และชลบุรี มีส่วนในการจ้างงานนักโทษชั้นดี เพื่อเข้ามาทำงานในส่วนกลางของนิคมอยู่แล้ว ประมาณ 140 คน แต่จะมีข้อจำกัดในเวลาทำงานคือ 08.00-17.00 น. ตามข้อกำหนดของกรมราชทัณฑ์ ในสเต็ปต่อไป อมตะฯจะขอความร่วมมือกับบริษัทเอกชนรายอื่นให้เข้ามาสนับสนุนงานสำหรับนักโทษชั้นดี และนักโทษที่พ้นคุกแล้ว ในลักษณะของการจ้างเป็น “พนักงานประจำ” ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบและวิธีการที่เหมาะสม