หวั่นฝนทิ้งช่วงกลางฤดูฝน จับตาน้ำโขงลด “อุบล-มุกดาหาร” วิกฤต

จับตาแม่น้ำโขงลด วิกฤตภัยแล้ง
Image by Josch13 from Pixabay

เหลืออีกเพียง 23 วัน ประเทศไทยก็จะผ่านพ้นช่วงฤดูแล้งปี 2564 โดยการบริหารจัดการน้ำของสำนักงานทรัพยากรแห่งชาติ (สนทช.) ได้วางแผนการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งในเขตชลประทานปี 2563/2564 พื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 ไว้ที่ 4,000 ล้าน ลบ.ม.

แบ่งเป็น เขื่อนภูมิพล+สิริกิติ์ 3,050 ล้าน ลบ.ม.-เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน 200 ล้าน ลบ.ม.-เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 250 ล้าน ลบ.ม. และเพื่อรักษาระบบนิเวศ (ผลักดันน้ำเค็ม) อีก 500 ล้าน ลบ.ม. แต่ยังคงเหลือน้ำสำรองไว้อีก 2,271 ล้าน ลบ.ม. เพื่อใช้ในช่วงรอยต่อต้นฤดูฝนระหว่างเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2564

ผลการจัดสรรน้ำล่าสุด ณ วันที่ 6 เมษายน ใน 4 เขื่อนหลักลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา คงเหลือน้ำใช้การได้อยู่เพียง 2,549 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 14 หรือในเขตลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 ถึงวันที่ 6 เมษายน 2564 ใช้น้ำไปแล้ว 4,289 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 86 ของแผนการจัดสรรน้ำ

และหากยังคงปริมาณระบายน้ำไว้ที่วันละ 26 ล้าน ลบ.ม. คาดว่าจะมีปริมาณน้ำเพียงพอไปจนถึงสิ้นเดือนเมษายน เพื่อรอฝนตกในช่วงฤดูฝนที่จะเริ่มต้นขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2564

นายชวลิต จันทรรัตน์ วิศวกรน้ำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ TEAM Group กล่าวว่า ด้วยการบริหารจัดการน้ำที่ดีในปีนี้ ประเทศไทยจะสามารถผ่านพ้นช่วงฤดูแล้งในปีนี้ไปได้ แต่ยังมีเรื่องที่น่าเป็นห่วงอีกเรื่องหนึ่งก็คือ จากข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยามีการคาดการณ์ว่า

แม้ฝนจะเริ่มตกในช่วงเดือนพฤษภาคม แต่เดือนถัดไปคือเดือนมิถุนายนจะเกิดปรากฏการณ์ “ฝนทิ้งช่วง” โดยฝนจะเริ่มต้นชุกอีกทีในช่วงเดือนกันยายน “ดังนั้น รัฐบาลจะต้องบริหารจัดการน้ำในช่วงต้นฤดูฝนคือ เดือนพฤษภาคม ที่มีเวลาฝนตกราว ๆ 30 วันให้ดี ต้องเก็บกักน้ำสำรองไว้ให้มากที่สุด เพื่อใช้รับมือกับปรากฏการณ์ฝนทิ้งช่วงในเดือนมิถุนายนนี้”

พื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์ฝนทิ้งช่วงจะได้แก่ ภาคตะวันตก บริเวณจังหวัดตาก-กาญจนบุรี และภาคใต้บางส่วน แถวจังหวัดระนอง-ชุมพร-กระบี่-พังงา แต่ที่หนักที่สุดจะอยู่ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ในจังหวัดติดแม่น้ำโขง ไล่ตั้งแต่จังหวัดมุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ ลงมาถึงจังหวัดอุบลราชธานี และพื้นที่อีสานใต้ แถวจังหวัดศรีสะเกษ-สุรินทร์-บุรีรัมย์ แต่อีสานใต้ยังไม่ค่อยน่าเป็นห่วงมากนัก เนื่องจากเขื่อนใหญ่และอ่างเก็บน้ำในพื้นที่สามารถเก็บกักน้ำในปีที่ผ่านมาไว้ได้มาก

“สถานการณ์ฝนทิ้งช่วงในภาคอีสานจะคาบเกี่ยวพื้นที่ 2 ประเทศ คือ ไทย และ สปป.ลาว นั่นหมายความว่าน้ำที่ไหลจากลำน้ำสาขาตกลงแม่น้ำโขง ทั้งฝั่งไทยและลาวจะลดน้อยลงไปด้วย ประกอบกับจีนสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ในแม่น้ำโขงเหนือประเทศไทยขึ้นไป ส่งผลให้ปริมาณน้ำโขงทางตอนใต้ไหลไม่เป็นปกติ ดังนั้น จึงน่าเป็นห่วงว่าปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงปีนี้จะลดน้อยลงมาก จนกระทบกับประชาชนทั้ง 2 ฝั่ง” นายชวลิตกล่าว

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสภาพภูมิอากาศจากแบบจำลองล่าสุดของ NOAA (IRI/CPC Pacific Nino 3.4 SST Model) จะระบุว่า มีโอกาสถึง 60% ที่จะมีการปรับเปลี่ยนจากสภาวะ La Nina (ฝนมาก น้ำมาก) จากปีที่ผ่านมา ไปเป็นสภาวะ “ปกติเป็นกลาง” ในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน ต่อเนื่องไปจนถึงเดือนกันยายน-พฤศจิกายน 2564

แต่ “ปีปกติ” ก็ไม่ได้หมายความว่าฝนจะตกมากขึ้น ยกตัวอย่าง ภาคกลาง ปีปกติฝนจะตกอยู่ที่ประมาณ 1,277 มิลลิเมตร ขณะที่ปีที่ฝนตกสูงสุด (2554) อยู่ที่ 1,520 มิลลิเมตร ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปีปกติฝนตกอยู่ที่ 1,406 มิลลิเมตร ปีสูงสุดอยู่ที่ 1,680 มิลลิเมตร

“ดังนั้นจึงคาดการณ์ว่าดูฝนปีนี้ฝนน่าจะตกเพิ่มขึ้นประมาณ 10% จากปีปกติเท่านั้น ซึ่งไม่ได้มากมายอะไร ว่าฝนจะตกมากที่สุดจากค่าเฉลี่ย 30 ปี ประกอบกับน้ำต้นทุนในเขื่อนต่าง ๆ ทั่วประเทศเหลือน้อย หลังจากที่ต้องเผชิญกับภาวะแล้งติดต่อกันมาหลายปี

ดังนั้น มาตรการใช้น้ำอย่างประหยัดต้องดำเนินการต่อไป คงจะต้องติดตามไปหลังเดือนกันยายน ซึ่งผ่านฝนทิ้งช่วงมาแล้วว่าปริมาณน้ำในประเทศจะเป็นอย่างไร อาจมีเหตุการณ์น้ำท่วมบ้างเป็นจุด ๆ ในช่วงฤดูฝนที่สามารถบริหารจัดการได้” นายชวลิตกล่าว


สำหรับการปลูกข้าวล่าสุดในตอนนี้ มีการปลูกเพิ่มขึ้นใหม่อีกราว 800,000 ไร่ จากแผนการเพาะปลูกข้าวช่วงฤดูแล้งลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปี 2563/2564 ที่วางเอาไว้ไม่เกิน 1.04 ล้านไร่ แต่ปลูกจริงเพิ่มขึ้นไปถึง 5-6 ล้านไร่