เร่งระบายน้ำออกจากทุ่ง 7 จว.ภาคกลางยังอ่วมหนัก

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้รายงานสถานการณ์อุทกภัยน้ำไหลหลาก และน้ำเอ่อล้นตลิ่งจากอิทธิพลของพายุดีเปรสชั่นและการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาตั้งแต่วันที่ 10-29 ตุลาคม 2560 ทำให้เกิดน้ำไหลหลากและน้ำเอ่อล้นตลิ่งในพื้นที่ 23 จังหวัด รวม 78 อำเภอ 473 ตำบล 2,785 หมู่บ้าน 42 ชุมชน ประชาชนได้รับผลกระทบ 125,372 ครัวเรือน 325,212 คน มีผู้เสียชีวิต 10 ราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในลุ่มน้ำเจ้าพระยา 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครสวรรค์ น้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง-พยุหะคีรี-โกรกพระ-ชุมแสง รวม 39 ตำบล 349 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 15,763 ครัวเรือน 33,097 คน, จังหวัดอุทัยธานี น้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง-ทัพทัน รวม 7 ตำบล 35 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,788 ครัวเรือน 2,923 คน, จังหวัดสิงห์บุรี น้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง-อินทร์บุรี-พรหมบุรี และอำเภอท่าช้าง รวม 19 ตำบล 84 หมู่บ้าน 6 ชุมชน ประชาชนได้รับผลกระทบ 6,295 ครัวเรือน 16,367 คน, จังหวัดลพบุรี น้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่อำเภอบ้านหมี่ รวม 9 ตำบล 60 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 7,643 ครัวเรือน 22,231 คน, จังหวัดอ่างทอง น้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง-ป่าโมก-วิเศษชัยชาญ-โพธิ์ทอง-ไชโย รวม 30 ตำบล 92 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 2,595 ครัวเรือน 6,747 คน พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย 6,017 ไร่

จังหวัดพระนครศรีอยุธยา น้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอพระนครศรีอยุธยา-บางบาล-เสนา-บางปะอิน-ผักไห่-บางไทร-บางปะหัน รวม 99 ตำบล 589 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 37,463 ครัวเรือน 97,403 คน, จังหวัดปทุมธานี น้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง-สามโคก รวม 21 ตำบล 67 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 4,352 ครัวเรือน 11,315 คน, จังหวัดชัยนาท น้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง-มโนรมย์-สรรพยา-วัดสิงห์-หันคา รวม 23 ตำบล 114 หมู่บ้าน 4 ชุมชน ประชาชนได้รับผลกระทบ 4,151 ครัวเรือน 10,377 คน และจังหวัดสุพรรณบุรี น้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง-บางปลาม้า-สองพี่น้อง-เดิมบางนางบวช รวม 37 ตำบล ประชาชนได้รับผลกระทบ 12,523 ครัวเรือน 43,035 คน

เจ้าพระยาระบายน้ำต่อเนื่อง

น้ำที่ท่วมในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา 7 จังหวัดในขณะนี้ (31 ตุลาคม 2560) เป็นผลมาจากการเร่งระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยา โดยน้ำเหนือเขื่อนจากแม่น้ำปิงและแม่น้ำน่าน แม้จะเริ่มลดลง แต่ยังมีปริมาณน้ำไหลผ่านอยู่ในระดับสูงที่สถานี P17 อ.บรรพตพิสัย 1,815 ลบ.ม./วินาที ส่วนที่สถานี N.67 อ.ชุมแสงน้ำไหลผ่าน 1,494 ลบ.ม./วินาที ปริมาณน้ำในเขื่อนหลักอย่างเขื่อนภูมิพล มีปริมาตร 10,528 ล้าน ลบ.ม.หรือ 78% ของความจุอ่าง มีปริมาณน้ำไหลลงอ่าง 38.58 ล้าน ลบ.ม. ยังรับน้ำได้อีก 2,934 ล้าน ลบ.ม. ส่วนเขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาตรน้ำ 8,377 ล้าน ลบ.ม.หรือ 88% น้ำไหลลงอ่าง 14.76 ล้าน ลบ.ม. ยังรับน้ำได้อีก 1,133 ล้าน ลบ.ม. ทั้ง 2 เขื่อนนี้ไม่มีปริมาณน้ำระบาย

ในขณะที่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 958 ล้าน ลบ.ม.หรือ 100% มีน้ำไหลลงอ่าง 23.86 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำระบาย 25.11 ล้าน ลบ.ม.

ปริมาณน้ำไหลผ่านเหนือเขื่อนเจ้าพระยายังอยู่ในระดับสูง 2,804 ลบ.ม./วินาทีที่จังหวัดนครสวรรค์ มีการระบายน้ำเข้าคลองฝั่งตะวันตก 464 ลบ.ม./วินาที คลองฝั่งตะวันออก 235 ลบ.ม./วินาที เพื่อเป็นการตัดยอดน้ำลง ทำให้คงระดับการระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยาไม่ให้เกิน 2,700 ลบ.ม./วินาที โดยวันนี้ (31 ตุลาคม) เขื่อนเจ้าพระยาระบายน้ำอยู่ที่ 2,647 ลบ.ม./วินาที ส่วนเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ยังระบายน้ำอยู่ในระดับ 269 ลบ.ม./วินาที ผ่านประตูระบายน้ำเขื่อนพระราม 6 ที่ 378 ลบ.ม./วินาที เมื่อไหลมารวมกับแม่น้ำเจ้าพระยาที่ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา (สถานี C29A) วันนี้มีปริมาณน้ำไหลผ่านยังคงอยู่ในระดับค่อนข้างสูง 2,712 ลบ.ม./วินาที

เร่งระบายน้ำออกจากทุ่ง

สถานการณ์การระบายน้ำข้างต้นมีผลทำให้พื้นที่ลุ่มริมแม่น้ำเจ้าพระยา พื้นที่ลุ่มต่ำและพื้นที่นอกคันกันน้ำ เกิดน้ำไหลหลากและน้ำล้นตลิ่งต่อเนื่องมาเป็นสัปดาห์ที่ 4 นับจากเขื่อนเจ้าพระยาระบายน้ำในระดับเกินกว่า 2,600 ลบ.ม./วินาที ประกอบกับน้ำที่ระบายออกมาไม่สามารถระบายเข้าทุ่งรับน้ำในพื้นที่เหนือเขื่อนเจ้าพระยา (แก้มลิงบางระกำ) กับพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาทั้ง 12 ทุ่งได้ เนื่องจากทุ่งรับน้ำแล้วนี้ได้รับน้ำจนเต็มพื้นที่ไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ฝนในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง-ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ได้ลดลงและกำลังเข้าสู่ฤดูหนาว และเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ถูกน้ำท่วมริมฝั่งเจ้าพระยา และประชาชนที่อยู่อาศัยในทุ่งรับน้ำที่รับน้ำเข้ามามากกว่า 1 เดือนแล้ว ทางกรมชลประทานจึงทำแผนเร่งระบายน้ำออกจากทุ่งรับน้ำ โดยเริ่มจากทุ่งบางระกำ (500 ล้าน ลบ.ม.) จะระบายน้ำออกจากทุ่งลงแม่น้ำยม-แม่น้ำน่านบางส่วน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.จนถึง 30 พ.ย. 2560

ทุ่งฝั่งตะวันออก ประกอบด้วย ทุ่งเชียงราก ระบายลงแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่วันที่ 25 พ.ย.-10 ธ.ค. , ทุ่งท่าวุ้ง ระบายลงแม่น้ำลพบุรี-ป่าสัก-เจ้าพระยา ตั้งแต่วันที่ 25 พ.ย.-10 ธ.ค. , ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท-ป่าสัก ระบายลงคลองชัยนาท-ป่าสัก ตั้งแต่วันที่ 21 พ.ย.-5 ธ.ค. , ทุ่งบางกุ่ม ระบายลงแม่น้ำลพบุรี-ป่าสัก ตั้งแต่วันที่ 25 พ.ย.-10 ธ.ค. , ทุ่งบางกุ้ง ระบายลงแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่วันที่ 25 พ.ย.-10 ธ.ค.


ทุ่งฝั่งตะวันตก ประกอบด้วย ทุ่งบางบาล-บ้านแพน ระบายลงแม่น้ำน้อย ตั้งแต่วันที่ 20 พ.ย.-5 ธ.ค. , ทุ่งป่าโมก ระบายลงแม่น้ำน้อย-คลองบางหลวง ตั้งแต่วันที่ 21 พ.ย.-20 ธ.ค. , ไทุ่งผักไห่ ระบายลงทุ่งเจ้าเจ็ด ตั้งแต่วันที่ 18 พ.ย.-17 ธ.ค. , ทุ่งเจ้าเจ็ด ระบายลงแม่น้ำท่าจีน-เจ้าพระยา เริ่มตั้งแต่วันที่ 15 พ.ย.-14 ธ.ค. และโครงการโพธิ์พระยา ระบายน้ำลงแม้น้ำท่าจีน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.-4 ม.ค. รวมระยะเวลาการระบายออกจากทุ่งทั้ง 12 ทุ่งกินเวลา 2 เดือนจึงจะเข้าสู่ภาวะปกติ