ไทย-WTO ถกขอยกเว้นคุ้มครอง สิทธิบัตรวัคซีนต้านโควิด-19

พิมพ์ชนก พิตต์ฟีลด์

WTO เตรียมถกการเข้าถึงวัคซีน-ยารักษาโควิด-19 หลังสหรัฐส่งสัญญาณสนับสนุนการ “ยกเว้น” สิทธิบัตรวัคซีนต้านโควิด เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกประเทศเข้าถึงการรักษา ด้านอินเดียจับมือแอฟริกาใต้ ไปไกลกว่าสหรัฐถึงขั้นให้ยกเว้นข้อตกลงทรัพย์สินทางปัญญา TRIPs Waiver ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาโควิด 3 ปี ขณะที่ไทยเลือกเดินสายกลางให้จับคู่บริษัทยากับผู้ซื้อ

การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา (TRIPs) ที่เกี่ยวข้องกับวัคซีน-ยาต้านไวรัส-การบำบัดรักษา-อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้ในการป้องกันและรักษาโรคโควิด-19 กลายเป็นข้อถกเถียงสำคัญในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนาที่กำลังต่อสู้กับการระบาดของโควิด-19 ถึง “โอกาส” ในการเข้าถึงวัคซีนและยาต้านไวรัสในปัจจุบัน และที่กำลังถูกพัฒนาขึ้นมาใหม่ ๆ แต่กลับถูกจำกัดในการเข้าถึงวัคซีนและยาเหล่านั้น จากมาตรฐานการคุ้มครอง TRIPs โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “สิทธิบัตร” แก่สิ่งประดิษฐ์ใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นตัวผลิตภัณฑ์หรือกรรมวิธี หากสิ่งประดิษฐ์นั้นมีความใหม่ มีขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น

ในขณะที่ประเทศไทยเองก็ได้เกิดกรณีสิทธิบัตรที่ไม่มีวันหมดอายุ (evergreen patent) กับยาต้านไวรัสโควิด-19 ที่ชื่อว่า ฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ที่บริษัทผู้ผลิตได้ยื่นขอจดสิทธิบัตรในรูปแบบของ “ยาเม็ด” ที่ไม่มีขั้นตอนการผลิตที่สูงขึ้น ทั้ง ๆ ที่สิทธิบัตรโครงสร้างของสารออกฤทธิ์หลักของตัวยา ได้หมดอายุความคุ้มครองไปแล้ว

อันเป็นความพยายามทางเทคนิคของบริษัทผู้ผลิตที่จะใช้ข้อตกลง TRIPs ต่ออายุความคุ้มครองยาฟาวิพิราเวียร์ต่อไป ส่งผลให้องค์การเภสัชกรรม จนกระทั่งถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่สามารถผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่ง “จำเป็น” ต่อการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในประเทศได้ แต่ต้องนำเข้ายาดังกล่าวจากบริษัทผู้ผลิตในราคาที่แพงกว่าการเปิดไลน์การผลิตในประเทศ

นางพิมพ์ชนก พิตต์ฟีลด์ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก กล่าวว่า ขณะนี้ทางผู้แทนถาวรไทยกำลังเตรียมการประชุมรัฐมนตรี WTO ครั้งที่ 12 (MC12) ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน-ธันวาคม 2564 ณ นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์

การประชุมครั้งนี้จะมีการหารือแนวทางในการรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อทั้งเรื่องของสุขภาพและเศรษฐกิจของโลก กับเรื่องของการส่งเสริมการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 และสินค้าจำเป็นทางการแพทย์ในสถานการณ์ปัจจุบัน

โดยสมาชิก WTO เห็นพ้องร่วมกันว่า เป็นวาระสำคัญเร่งด่วน รวมทั้งได้หารือถึงแนวทางการเตรียมรับมือกับวิกฤตการณ์ในอนาคตที่อาจเกิดขึ้นด้วย และจะมีการหารือใน 3 แนวทางหลักด้วยกันคือ 1) ข้อเสนอ TRIPs Waiver ของประเทศอินเดียและแอฟริกาใต้ที่เสนอให้ “ยกเว้น” การปฏิบัติตามความตกลงการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา (TRIPs) ออกไปอย่างน้อยเป็นเวลา 3 ปี

โดยความตกลง TRIPs จะครอบคลุมถึงเรื่องลิขสิทธิ์ การออกแบบอุตสาหกรรม สิทธิบัตร และการคุ้มครองข้อมูลที่ไม่เปิดเผย ในสินค้าสุขภาพและเทคโนโลยี

รวมไปถึงการวินิจฉัย การบำบัดรักษา วัคซีน อุปกรณ์ทางการแพทย์ อุปกรณ์การป้องกัน วัสดุและส่วนประกอบ และกระบวนการผลิต สำหรับการป้องกันและรักษาโรคโควิด-19 ซึ่งข้อเสนอนี้มีสมาชิก WTO สนับสนุนแล้วจำนวน 62 ประเทศ อาทิ กลุ่มแอฟริกัน, กลุ่ม LDCs, ปากีสถาน, เวเนซุเอลา และอินโดนีเซีย

2) ข้อริเริ่มเรื่องการค้าและสุขภาพหรือที่เรียกว่า trade and health initiative ของกลุ่มออตตาวา ปัจจุบันได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมจากอีก 7 ประเทศสมาชิก อย่างจีน, ฮ่องกง, ไอซ์แลนด์, มอลโดวา, มอนเตเนโกร, มาซิโดเนียเหนือ และสหราชอาณาจักร รวมทั้งหมดเป็น 47 ประเทศ

จะเน้นเรื่องส่งเสริมการเข้าถึงสินค้าจำเป็นทางการแพทย์และความแข็งแกร่งของระบบห่วงโซ่อุปทานโลกของสินค้าเหล่านี้ เพื่อรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ด้วยหลักการ 5 ข้อด้วยกัน ได้แก่ การขจัดมาตรการจำกัดการส่งออกสินค้า, การอำนวยความสะดวกทางการค้า, การลดหรือยกเลิกภาษีศุลกากรเป็นการชั่วคราว, การแจ้ง notification มาตรการทางการค้าที่บังคับใช้ช่วงโควิด-19 และการขยายความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศอื่น

และ 3) ข้อเสนอ third way ของแคนาดา ซึ่งเป็นเอกสารของสมาชิกที่สนับสนุนแนวทางของ DG WTO ในการเป็น “ตัวกลาง” ในการสื่อสารกับผู้แทนภาคเอกชนในอุตสาหกรรมยา รวมถึงบริษัทพัฒนาวัคซีนและบริษัทผู้ผลิตวัคซีน เพื่ออำนวยความสะดวกในการหารือและจับคู่ความร่วมมือทางธุรกิจ ส่งเสริมการจัดทำ licensing partnerships ที่ได้รับประโยชน์ร่วมกันระหว่างผู้พัฒนาวัคซีนและผู้ผลิตวัคซีน

ซึ่งจะนำไปสู่การเร่งรับมือกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 โดยขณะนี้มีสมาชิกที่สนับสนุน 11 ประเทศ อย่างออสเตรเลีย, บราซิล, แคนาดา, ชิลี, โคลอมเบีย, เอกวาดอร์, นิวซีแลนด์, นอร์เวย์, ตุรกี, อุรุกวัย และประเทศไทย

“การที่สาธารณชนเริ่มหันมาจับตาดูว่า WTO จะตัดสินใจเลือกแนวทางใดในการรับมือกับสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ปัจจัยสำคัญหนึ่งคงมาจากการที่ผู้แทนการค้าสหรัฐ ได้ออกมากล่าวสนับสนุนการเดินหน้าเจรจาเรื่องการยกเว้นการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในส่วนของวัคซีน หรือ TRIPs Waiver ซึ่งสวนทางกับท่าทีเดิมที่เคยเป็นมา ส่งผลให้มีบางประเทศเริ่มหันมามีท่าทีบวกต่อ TRIPs Waiver เช่นกัน อย่างแคนาดาและนิวซีแลนด์” นางพิมพ์ชนกกล่าว

อย่างไรก็ตาม การจัดทำผลลัพธ์ของ WTO ในเรื่องแนวทางการรับมือกับโควิด-19 นี้ ยังมีประเด็นที่สมาชิก WTO ต้องหารือในรายละเอียดกันอีกมาก เพราะสมาชิกที่มีบทบาทสำคัญบางรายของ WTO ยังไม่ได้ตัดสินใจเลือกสนับสนุนแนวทางใดเป็นพิเศษ หรือบางสมาชิกก็เข้าร่วมสนับสนุนเอกสารที่มีอยู่มากกว่า 1 ฉบับ รวมทั้งแสดงความสนใจที่จะเดินหน้าหารือเอกสารข้อเสนอต่าง ๆ ที่ตนเองยังไม่ได้เข้าร่วมสนับสนุน

ในส่วนท่าทีของประเทศไทยในชั้นนี้ มีเป้าหมายหลักคล้ายคลึงกับสมาชิก WTO อื่น ๆ ที่ต้องการเน้นเรื่องการเข้าถึง “วัคซีน” และการบำบัดรักษาโรคโควิด-19 ไทยร่วมสนับสนุนแนวทาง third way เนื่องจากมองว่าไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีความพร้อมในด้านเทคโนโลยีและกำลังการผลิตวัคซีนคุณภาพ จึงน่าจะสามารถมีส่วนช่วยยกระดับการเพิ่มกำลังการผลิตของวัคซีนให้สอดรับกับความต้องการของทั่วโลกได้

แต่ประเทศไทยยังคงเข้าร่วมการหารือแนวทางอื่น ๆ ด้วยอย่างใกล้ชิด คาดว่าผลลัพธ์ของการประชุม MC12 ในเรื่องนี้ คงจะไม่ใช่การที่สมาชิก WTO ทั้งหมดลงความเห็นกันว่า จะเลือกแนวทางใดแนวทางหนึ่งที่มีอยู่ แต่คงเป็นการนำองค์ประกอบต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ของแต่ละข้อเสนอ มารวมกันให้ได้เป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพที่สุดสำหรับประเทศสมาชิก WTO ในการรับมือกับโควิด-19 และการฟื้นฟูเศรษฐกิจโลกในช่วงต่อไปให้ดีที่สุด