300 โรงงานผลิตอาหารวุ่น ต้นทุนกระป๋องเหล็กพุ่ง 20% วอนเบรกภาษีเอดี

โรงงานผู้ผลิตอาหารกระป๋องวุ่นหลัง “เหล็กเคลือบดีบุก/โครเมียม” ใช้ทำกระป๋องจาก 2 โรงงานผู้ผลิตในไทยทะยอยปรับขึ้นตามราคาเหล็กแผ่นในตลาดโลก ส่งผล 6 สมาคมเหล็กดิ้นร้องหอการค้าไทยทำหนังสือถึงกระทรวงพาณิชย์ ขอชะลอการพิจารณาขึ้นภาษีต่อต้านการทุ่มตลาด (AD) เหล็กทั้ง 2 ประเภทออกไปก่อน หวังนำเข้าลดต้นทุน ขณะที่ 2 โรงงานเหล็กเคลือบ “สยามแผ่นเหล็กวิลาส-แผ่นเหล็กวิลาสไทย” รับวัตถุดิบแพงจนผลิตสินค้าไม่เต็มกำลังผลิต เสี่ยงเหล็กเคลือบขาดแคลน ซ้ำเติมสถานการณ์ด้านราคาขึ้นไปอีก

นับจากต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สถานการณ์ราคาเหล็กโลกปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ โดยเฉพาะเหล็กจากประเทศจีน ซึ่งเป็นผู้ผลิตและผู้ใช้เบอร์ 1 ในตลาดโลก ปรับราคาส่งออกเหล็กแผ่นรีดร้อนขึ้นไป 2.2 เท่า หรือตั้งแต่ตันละ 910-925 เหรียญ ส่งผลให้ผู้ใช้เหล็กเดือดร้อนหนัก โดยเฉพาะกลุ่มก่อสร้าง ร้องถึงกระทรวงพาณิชย์ให้ออกมาตรการดูแล

โดยขอให้ผู้ผลิตเหล็กในประเทศ “ตรึงราคา” รวมถึงพิจารณาค่า K จากนั้น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการทุ่มตลาดและการอุดหนุน (ทตอ.) ได้ประกาศเลื่อนการเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (เอดี) เหล็กเมทัลชีสออกไป 6 เดือน เพื่อเปิดทางนำเข้าเหล็กจากต่างประเทศมาช่วยบรรเทาภาระต้นทุน

3 ไตรมาสต้นทุนพุ่ง 20%

ล่าสุด 6 สมาคม (สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย สมาคมการค้าอาหาร สัตว์เลี้ยงไทย สมาคมอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหารนมไทย สมาคมผู้ผลิตผลิตภัณฑ์สเปรย์ไทย และสมาคมบรรจุภัณฑ์โลหะไทย) ได้เข้าร้องเรียนต่อ นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นำมาสู่การยื่นหนังสือ ธกบ./ส.032/2564 เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2564 เพื่อขอให้กระทรวงพาณิชย์พิจารณา “ชะลอ” การพิจารณากำหนดภาษีเอดีเหล็กเคลือบดีบุกและเหล็กเคลือบโครเมียมที่นำเข้าจากจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่นออกไปก่อนจากเดิมที่จะมีกำหนดประกาศในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม 2564 เพื่อบรรเทาผลกระทบโรงงานผู้ผลิตสินค้า 324 โรงงงาน

โดยให้เหตุผลว่าตลอด 3 ไตรมาสที่ผ่านมานับจากไตรมาส 4/2563 ถึงปัจจุบัน ราคาแผ่นเหล็กเคลือบดีบุกและแผ่นเหล็กเคลือบโครเมียม “ปรับราคาสูงขึ้น” อย่างต่อเนื่อง (ราคา Tin Plate จากจีนอยู่ที่ 1,430  เหรียญ/ตัน-ราคา Tin Free 1,600 เหรียญ/ตัน) จนทำให้ต้นทุนแผ่นเหล็กที่ใช้ผลิตกระป๋องและฝาสูงบรรจุภัณฑ์ปรับขึ้นรวม 11,500 บาทต่อตัน

ทางผู้ผลิตอาหารแบกรับภาระต้นทุนราคากระป๋องและฝาที่ปรับขึ้นทั้ง 3 ไตรมาส ไปแล้วรวมกว่า 17-19% และจากที่ได้หารือร่วมกับผู้ผลิตแผ่นเหล็กในประเทศทั้ง 2 ราย คือ บริษัทแผ่นเหล็กวิลาสไทย จำกัด และ บริษัทสยามแผ่นเหล็กวิลาส จำกัด ต่างคาดการณ์ไปในทิศทางเดียวกันว่า ราคาเหล็กแผ่นมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นต่อเนื่องอีกในไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปี 2564 นี้

“การปรับขึ้นราคาแผ่นเหล็กที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วจากจีน ซึ่งเป็นผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ที่สุดของโลกที่มีส่วนแบ่งการตลาดกว่า 50% ของโลก มีนโยบายปิดโรงงานที่ไม่ผ่านเกณฑ์คุณภาพด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้มีโรงงานเหล็กถูกปิดไปหลายโรงงาน ปริมาณการผลิตเหล็กมีจำนวนน้อยลง ประกอบกับเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวหลังโควิด-19 มีความต้องการเหล็กของอุตสาหกรรมยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าสูงขึ้น ส่งผลให้จีนลดการอุดหนุนการส่งออกเหล็ก ด้วยการประกาศยกเลิกการให้คืนภาษี (Rebate Tax) 13% มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2564 เพื่อเพิ่มปริมาณเหล็กภายในประเทศ จนทำให้เหล็กทุกประเภทที่ส่งออกจากจีนปรับราคาสูงขึ้นมาทันที”

ขณะที่ผู้ผลิตเหล็กจากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ต่างก็มีการปิดเตาหลอมประมาณ 5-6 เตา เพื่อซ่อมบำรุงและปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทำให้ปริมาณเหล็กเพื่อการส่งออกมีปริมาณลดลง จากเดิมที่ผู้ผลิตเหล็กจากเกาหลีใต้ผลิตเหล็กนี้เพื่อขายในประเทศ 30% และส่งออก 70% ก็ปรับเปลี่ยนสัดส่วนการส่งออกลงเหลือเพียง 40% ทั้งยังมีค่าขนส่งทางเรือสูงขึ้นจากการขาดแคลนตู้ขนส่ง รวมถึงราคาน้ำมันที่สูงขึ้น เป็นแรงผลักดันให้ราคาสินค้าต่าง ๆ มีราคาที่สูงขึ้น

ผู้ผลิต 2 รายซัพพลายไม่พอ

แหล่งข่าวกล่าวว่า เดิมกระทรวงพาณิชย์ได้ช่วยชะลอการประกาศเอดีเหล็กเคลือบฯ มาแล้ว 6 เดือน แต่ตอนนี้กำลังจะประกาศอัตราเอดีในเดือนกันยายนนี้ ซึ่งเป็นไปตามข้อร้องเรียนของผู้ผลิต 2 รายที่ร้องไว้ในปี 2561 แต่ทางหอการค้าพบว่า ปริมาณการผลิตของผู้ผลิตดังกล่าวยังไม่พอใช้ โดยบริษัทสยามแผ่นเหล็กวิลาส จำกัด (STP) ซึ่งมี Nippon Steel Japan เข้าถือหุ้นใหญ่ 90%

ทำให้ทั้ง Supply Chain ตั้งแต่การผลิตเหล็กขั้นต้นจนถึงแผ่นเหล็กเคลือบดีบุก/เคลือบโครเมียม ถูกควบคุมโดย Nippon Steel จึงทำให้การต่อรองราคาทำได้ยากขึ้น ขณะที่บริษัทแผ่นเหล็กวิลาสไทย จำกัด (TTP) ซึ่งปัจจุบันถือหุ้นโดยคนไทย 100% ตั้งแต่ปี 2563 แต่ยังมีปัญหาเรื่องการหาแหล่งซื้อเหล็กดำ (TMBP) ในการผลิตเป็นแผ่นเหล็กเคลือบดีบุก/เคลือบโครเมียมให้ได้เพียงพอกับกำลังการผลิตที่มีอยู่ จึงไม่สามารถใช้กำลังการผลิตได้อย่างเต็มที่ ทำให้แผ่นเหล็กเคลือบดีบุก/เคลือบโครเมียม ในประเทศมีปริมาณลดน้อยลงไปมากเมื่อเปรียบเทียบกับในอดีต

“ภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกังวลเรื่องความสามารถในการส่งมอบของผู้ผลิตในประเทศทั้งสองรายว่า จะไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้งานของอุตสาหกรรมในประเทศมาตั้งแต่ต้น จึงจำเป็นต้องอาศัยการนำเข้าแผ่นเหล็กเพื่อมาชดเชย ซึ่งโดยปกติแต่ละปีไทยจะมีการนำเข้าเหล็กชนิดนี้คิดเป็นสัดส่วน 80% และใช้เหล็กภายในประเทศ 20% ในปัจจุบันพบประเด็นปัญหาเรื่อง AD ของแผ่นเหล็กเคลือบดีบุก/เคลือบโครเมียม ซึ่งยังคงอยู่ระหว่างการพิจารณาของกรมการค้าต่างประเทศ ทำให้ต้องชะลอการนำเข้าและหันมาพึ่งพาผู้ผลิตในประเทศไทย 100% ซึ่งผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ภายในประเทศ”

วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา

อ่วมต้นทุนเพิ่ม

สอดคล้องกับ นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศ และประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันต้นทุนกระป๋องจะคิดเป็นสัดส่วนในการผลิตอาหารประมาณ 20-50% แล้วแต่ชนิดอาหาร หากเป็นกลุ่มอาหารทะเล/สัตว์น้ำกระป๋องที่มีราคาจำหน่ายแพงกว่าก็จะกระทบน้อยกว่า กลุ่มผักและผลไม้กระป๋องซึ่งมีราคาจำหน่ายถูกกว่า

“เหล็ก 2 ชนิดนี้ คือ ทินเพลทและทินฟรี อยู่ระหว่างไต่สวนเอดี ซึ่งปัญหาใหญ่คือผู้ผลิตมีเพียง 2 ราย ถ้าฟ้องเอดีสำเร็จจะกระทบซัพพลายเออร์ที่เป็นผู้ผลิตกระป๋องของเราไม่สามารถนำเข้าจากต่างประเทศมาแข่งขันได้ ซึ่งที่สำคัญเหล็กที่ 2 บริษัทนี้ใช้ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ โดยในปี 2563 มีการใช้เหล็กทินเพลท 3.5 แสนตัน หรือ 60% และทินฟรี 2.5 แสนตัน

ซึ่งสัดส่วนการนำเข้าในปี 2563 อยู่ที่ 60% ลดลงจากปี 2562 ที่นำเข้าสัดส่วน 80% และในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้นำเข้า 50% ดังนั้น ถ้ายกเลิกเอดีราคาเหล็กแผ่นสำหรับผลิตกระป๋องก็จะเป็นไปตามกลไกตลาด และถ้าในประเทศแพงก็สามารถนำเข้าได้ หรือถ้าต่างประเทศแพงก็ใช้ของในประเทศได้ แต่ถ้าไม่ยกเลิกเอดีสถานการณ์จะกลับกัน”

ผู้ส่งออกอ่วมปัญหาต้นทุนพุ่ง-แรงงานขาด

นายธรรศ ทังสมบัติ นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปไทย กล่าวว่า การส่งออกอาหารสำเร็จรูปของไทยยังคงมีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดสำคัญจีน สหรัฐและยุโรป เนื่องจากปัจจัยของวัคซีนและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ผู้ส่งออกยังต้องเจออุปสรรคเรื่องของต้นทุนการผลิต

โดยเฉพาะต้นทุนแผ่นเหล็กที่นำมาผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้ากระป๋องซึ่งยังเป็นปัญหาที่ไม่เคยได้รับการแก้ไข และยังเป็นต้นทุนของผู้ประกอบการตลอด ขณะที่ปัญหาอื่นที่กระทบต่อผู้ส่งออก คือ การขาดแคลนแรงงานในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 นี้ ซึ่งทำอย่างไรให้แรงงานเข้าระบบมากขึ้น และเปิดให้มีการทำงานรายชั่วโมงได้ เพื่อลดปัญหาแรงงานตกงานและให้แรงงานมีทางเลือก

ก่อนหน้านี้ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือกแห่งประเทศไทย (สรท.) ระบุว่า การส่งออกกลุ่มอาหารทั้งปี 2564 คาดว่าจะขยายตัว 3-5% โดยสินค้าที่ขยายตัว เช่น กลุ่มผัก ผลไม้สด แช่แข็งกระป๋องและแปรรูป มูลค่า 444 ล้านเหรียญสหรัฐ ในเดือนมีนาคม 2564 ส่วนกลุ่มที่หดตัว เช่น อาหารทะเลแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป กุ้งสดแช่แข็งและกุ้งแปรรูป

ชนินทร์ ชลิศราพงศ์

“ทูน่า” อ่วมส่งออกหด 5%

สอดคล้องกับ นายชนินทร์ ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย กล่าวว่า ปีนี้คาดว่าการส่งออกจากลดลง 5% เหลือ 75,000 ล้านบาทจากปีที่ผ่านมา 2563 มีมูลค่า 85,000 ล้านบาท จากปัญหาหลายปัจจัย โดยเฉพาะวัตถุดิบหลักผู้ผลิตอาหารกระป๋องยังเผชิญปัญหาหนักจากราคาแผ่นเหล็กที่พุ่งสูงขึ้น จนกระทบต้นทุนการผลิตอาหารกระป๋อง ขึ้นอย่างต่อเนื่อง 3 ไตรมาสติดต่อกัน จากไตรมาสที่ 4 ปลายปีที่ผ่านมา ถึงไตรมาสที่ 2 ปีนี้ ราคากระป๋องปรับสูงขึ้นรวม 17-19% และยังมีแนวโน้มจะปรับราคาสูงขึ้นอีกในไตรมาสที่ 3-4 นั่นคือทั้งปี ขอให้รัฐหามาตรการเร่งด่วนหากจะมีการปรับขึ้นต่อเนื่องราคาต้องสะท้อนความเป็นจริงด้วย

ขณะที่ผู้ผลิตแผ่นเหล็กหรือกระป๋องในประเทศซึ่งมีเพียง 2 ราย มีกำลังการผลิตที่จำกัดแค่ 2 แสนตัน ขณะที่ความต้องการใช้อยู่ที่ 6 แสนตัน ของความต้องการใช้ในประเทศ จำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้า ในข้อนี้ขอตั้งข้อสังเกตว่ากรณีของมาตรการการทุ่มตลาด จะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตกระป๋องภายในประเทศสามารถแสวงหาแผ่นเหล็กจากแหล่งอื่นที่มีต้นทุนถูกลง

ซึ่งเป็นการสร้างเสถียรภาพทั้งเชิงปริมาณและราคาหรือไม่ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ผู้ผลิตแผ่นเหล็กในประเทศไม่สามารถปรับแผนการผลิตให้รองรับความต้องการใช้ภายในประเทศได้ ขอให้คณะกรรมการเเข่งขันทางการค้า (กขค.) ช่วยตรวจสอบมีการผูกขาดทางการค้าหรือไม่

ส่วนออร์เดอร์แน่นอนว่าต้องส่งผลต่อการตัดสินใจของลูกค้าอาจการปรับแผนการสั่งซื้อบ้าง เนื่องจากยังคงติดปัญหาหลายทาง ทั้งค่าเฟด ราคาค่าระวางเรือซึ่งน่าจะสูงเกินกว่า 300% แล้วด้วยซ้ำ รวมทั้งปัญหา ตู้คอนเนอร์ ทั้งนี้ แต่ละบริษัทเริ่มปรับการใช้แพ็กเกจจิ้ง อื่นที่เป็นกระดาษและเลือกเป็นทางเลือกแทนกระป๋องเพื่อรักษาต้นทุน อย่างไรก็ตามเมื่อต้นทุนเผชิญกับหลายปัจจัยสุดท้ายจะยิ่งส่งผลต่อเกษตรกรเองต้องแบกรับต้นทุนเพิ่มไปด้วย

“หากสถานการณ์ปัญหาการปรับราคาค่าขนส่ง และแผ่นเหล็กยังคงสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยไม่มีการแก้ไขอย่างจริงจังและเป็นระบบยิ่งกระทบต่อความสามาถแข่งขัน เพราะตอนนี้โรงงานดีลกับซัพพลายเออร์เดือดร้อนมาก ผลกระทบเป็นวงกว้างเริ่มจากผู้บริโภคที่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเกษตรกร ชาวประมง ห่วงโซ่การผลิต รวมถึงปัญหาขาดแคลนแรงงาน และขอให้หน่วยงานภาครัฐเร่งรัดหามาตรการโดยด่วน”

ด้วยปัจจัยข้างต้นและจากปีที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นตลาดใหญ่เมื่อเกิดการระบาดโควิด-19 ประชาชนอยู่บ้านซื้อสินค้าอาหารทะเลกักตุน แต่ขณะนี้สถานสถานการณ์เริ่มคลี่คลายผู้คนเริ่มออกจากบ้าน กลับมาใช้ชีวิตปกติข้างนอก ทั้งนี้ ปัจจัยที่ยังเป็นบวกยังเป็นเรื่องของทูน่าเพื่ออาหารสัตว์เลี้ยง ด้วยวิถีใหม่มีสัตว์เลี้ยงเพื่อนผ่อนคลายและทำงานที่บ้าน ประกอบกับหลายประเทศยังรอคอยวัคซีนและมาตรการเวิร์กฟอรมโฮมก็ยังซื้อสินค้านี้เพื่อลดความเสี่ยงออกจากบ้าน

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลดูแลเรื่องค่าเงินบาทได้ค่อนข้างดี และคาดว่าสถานการณ์โควิดในประเทศน่าจะคลี่คลายและเชื่อว่ารัฐบาลจะสามารถควบคุมได้ใช้เวลาทั้งปี เพราะประชาชนเริ่มได้ทยอยรับวัคซีน ส่วนสินค้าส่งออกสมาคมได้ให้ความมั่นใจสินค้ากลุ่มทูน่ากับผู้บริโภคและลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ เชื่อมั่นว่าสินค้าไม่มีเชื้อโควิด-19 อย่างแน่นอน เนื่องจากขั้นตอนการผลิตสินค้าและกระบวนการผลิตมีการป้องกันเชื้ออย่างมีมาตรฐานและตลอดการขนส่ง และพนักงานทุกขั้นก็ต้องผ่านการคัดกรองก่อนเข้าโรงงาน

@ ซีแวลู ชี้ ต้นทุนกระป๋องขยับ 20%

นายอมรพันธุ์ อร่ามวัฒนานนท์ รองกรรมการผู้จัดการ อาวุโส บริษัท ซี แวลู จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าเรื่องเหล็กเป็นปัญหาใหญ่ และอาจจะกระทบโครงสร้างเศรษฐกิจประเทศไทยด้วย จริงอยู่ที่การใช้เหล็กผลิตกระป๋องมันเป็นสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับก่อสร้าง หรือรถยนต์ แต่กระป๋องก็ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคได้เหมือนกัน

เพราะองค์ประกอบของสินค้าคอมมูดิตี้ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็น ปลากระป๋อง หรือสับปะรดกระป๋อง ซึ่งตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้วถึงปัจจุบันแผ่นเหล็กขึ้นมาต่อเนื่อง 15% และมองว่า Q3-4 น่าจะขึ้นต่อเนื่อง มองว่าจบปี แนวโน้มราคากระป๋องก็อาจจะขยับขึ้นไปไกล 15-20% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งนี่ถือเป็นเรื่องใหญ่แล้ว เพราะกระป๋องถือเป็นคอมโพแนนซ์สำคัญ ตัวพวกโซเว้น แลคเกอร์ที่ใช้ขึ้นเป็นดับเบิ้ลดิจิตหมด น่าจะเกิน 15-20%