รื้อแผนฉีดวัคซีน โฟกัสแรงงาน ป้องธุรกิจส่งออก เยียวยาเอสเอ็มอี

สภาพัฒน์ดันแผนเร่งด่วนฉีดวัคซีนกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม-อีสเทิร์นซีบอร์ด ปกป้องเครื่องยนต์ “ส่งออก” หวั่นโควิด-19 บุกโรงงานฉุดเครื่องยนต์หลักสะดุด เผยกระทรวงแรงงานรับโควตา 1 ล้านโดส เตรียมจัดสรรให้กลุ่มแรงงานประกันสังคม ดึง รพ.เอกชนปูพรมฉีด กนอ.ขอ 1.6 ล้านโดส ฉีดแรงงาน 8 แสนคน สภาอุตฯเตรียมพร้อมประสานใช้พื้นที่นิคมอุตฯฉีดวัคซีนแรงงาน พร้อมแผนใช้วงเงินกู้ 3 แสนล้าน อัดฉีดมาตรการเยียวยาต่อชีวิตผู้ประกอบการเอสเอ็มอี พร้อมยกเครื่องฐานข้อมูลเอสเอ็มอีครั้งใหญ่

ฉีดวัคซีนป้องกันส่งออก

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เนื่องจากที่ผ่านมา แผนการจัดสรรวัคซีนตามจำนวนประชากร แต่ไม่ได้ดูความรุนแรงการติดเชื้อในแต่ละพื้นที่ และไม่ได้ดูว่าพื้นที่สำคัญกับระบบเศรษฐกิจหรือไม่ ฉะนั้น จังหวัดที่ผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์แล้วอาจไม่ต้องเอาไปมากก็ได้ โดยขณะนี้อีกส่วนต้องให้ความสำคัญกับพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรมโดยเฉพาะในพื้นที่อีสเทิร์นซีบอร์ด เพื่อเป็นการป้องกันภาคอุตสาหกรรมส่งออก

หากตอนนี้โควิด-19 ระบาดเข้าไปในโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ จะส่งผลกระทบต่อภาคส่งออก ซึ่งจะทำให้เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศจะหมดแล้ว เพราะเศรษฐกิจไทยตอนนี้ยืนอยู่ได้ด้วย 3 เครื่องยนต์ ได้แก่ 1.การส่งออก 2.การลงทุนภาครัฐ และ 3.การบริโภคภายในประเทศ

“ขณะนี้ภาคส่งออกเป็นตัวสำคัญ คิดเป็น 40% ของจีดีพี หากโดนโควิดกระทบก็จบ” เลขาธิการสภาพัฒน์กล่าวและว่า

ปีนี้การส่งออกขยายตัวดีขึ้น โดยไตรมาส 1/64 การส่งออกขยายตัว 11% (ไม่รวมทองคำ) และเดือน เม.ย. ขยายตัวได้ 25% (ไม่รวมทองคำ) ซึ่งอุตสาหกรรมภาคการส่งออกจะได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัวขึ้น และธุรกิจเอสเอ็มอีที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกก็จะได้รับประโยชน์เช่นกัน

บุกอีสเทิร์นซีบอร์ด

เลขาธิการสภาพัฒน์กล่าวต่อว่า เป้าหมายที่ต้องเร่งฉีดวัคซีน คือ พื้นที่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออก ซึ่งขณะนี้มีแผนแล้ว โดยมีการประสานความร่วมมือกับสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ซึ่งได้รับจัดสรรวัคซีนมาก่อนประมาณ 1 ล้านโดส ในเดือน มิ.ย.นี้ โดยเป็นส่วนที่มาให้แรงงานประกันสังคม มาตรา 33 ซึ่งจะบริหารจัดการให้ในส่วนของโรงงานก่อน และในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่มีการระบาดเยอะ โดยอาจจะแบ่งเป็น 5 แสนโดส กับ 5 แสนโดส หรือ 7 แสนโดส กับ 3 แสนโดส เป็นต้น

เนื่องจากที่โควิด-19 ระบาดเข้าไปในโรงงานของบริษัท แคล-คอมพ์ อีเล็กโทรนิคส์ (ประเทศไทย) ที่จังหวัดเพชรบุรี ก็ทำให้กระบวนการผลิตได้รับผลกระทบ โชคดีว่าทางบริษัทมีโรงงานอยู่ที่สมุทรสาคร ซึ่งทำให้สามารถโยกการผลิตไปอีกโรงงานได้

“ขณะนี้ภาครัฐก็ให้ความสำคัญกับแรงงานในภาคอุตสาหกรรมส่งออก พอมีการระบาดที่โรงงานแคล-คอมพ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานก็สั่งคนไปตรวจในโรงงานในจังหวัดชลบุรี และอื่น ๆ แรงงานกว่า 2 แสนคน ถ้าตรวจเจอโควิดก็จำกัดพื้นที่ให้อยู่แต่ในโรงงาน ไม่ให้ออกไปไหน มีการจัดสัดส่วนแบ่งใหม่หมด พร้อมกับแผนให้ฉีดวัคซีนประกันสังคม”

ดึง รพ.เอกชนฉีดเข็มละ 50 บาท

นายดนุชากล่าวว่า ในส่วนของแผนการฉีดวัคซีน จะมีการตั้งศูนย์ฉีดวัคซีนในพื้นที่เขตนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยเป็นการร่วมมือกับโรงพยาบาลเอกชนให้เข้าไปดำเนินการฉีด โดยที่ทางสำนักงานประกันสังคมจะสมทบเงินค่าฉีดให้อีกเข็มละ 30 บาท จากที่เดิมสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้เข็มละ 20 บาท ก็เท่ากับเพิ่มเป็น 50 บาทต่อเข็ม

ซึ่งคาดว่าการฉีดไม่น่ามีปัญหา เมื่อเอาโรงพยาบาลเอกชนเข้ามาช่วย แต่หากสุดท้ายแล้วไม่พอก็ต้องให้ทหารเสนารักษ์เข้ามาช่วยฉีด ซึ่งในส่วนของรัฐบาลก็ตั้งเป้าหมายภายใน 3-4 เดือนนี้ จะเร่งฉีดเข็มแรกให้ได้ 50 ล้านคน

นอกจากนี้ เลขาธิการสภาพัฒน์กล่าวถึงภาคท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโควิด-19 ว่า มีประมาณการว่า การเดินทางทางอากาศของผู้คนในโลกจะต้องใช้เวลาอีก 2-3 ปี ที่การเดินทางระหว่างประเทศจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติเหมือนช่วงปี 2562 หมายถึงการท่องเที่ยวก็จะได้รับผลกระทบต่อเนื่องไปด้วยใน 2 ปีนี้

เพิ่ม “ออกซิเจน” ให้เอสเอ็มอี

นายดนุชากล่าวว่า สำหรับพระราชกำหนดกู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท เตรียมไว้สำหรับแผนงานด้านสาธารณสุข วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท ทั้งการซื้อวัคซีน อุปกรณ์การแพทย์ รักษาโรค อีกส่วน 3 แสนล้านบาท เตรียมไว้เยียวยาประชาชนทุกอาชีพ รวมทั้งผู้ประกอบการ และอีกส่วนจะใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 1.7 แสนล้านบาท ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งตัวที่จะไปเสริมการลงทุนของรัฐบาล และกระตุ้นการบริโภคเพื่อรักษาระดับการบริโภคให้อยู่ในระดับปกติ

“เงินเยียวยา 3 แสนล้านบาท เตรียมไว้สำหรับการช่วยเหลือประชาชนหากเกิดการระบาดอีกครั้ง หรือหากไม่เกิดการระบาดแล้ว ก็มีความจำเป็นที่จะเข้าไปช่วยเหลือภาคเอสเอ็มอีที่สู้มาตลอด 1 ปีแล้ว ส่วนนี้ก็จะเป็นออกซิเจนที่จะไปช่วยให้มีชีวิตเดินต่อไป แต่ต้องเป็นการช่วยเหลือแบบพุ่งเป้ามีความชัดเจนฃ ซึ่งได้ประสานงานกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย ออกแบบมาตรการขึ้นมา เพื่อให้สามารถช่วยกลุ่มเอสเอ็มอีให้ตรงเป้ามากขึ้น”

จัดระเบียบข้อมูล “เอสเอ็มอี”

เลขาธิการสภาพัฒน์กล่าวว่า รูปแบบมาตรการเยียวยาช่วยเหลืออยู่ระหว่างการจัดเตรียม ซึ่งสิ่งสำคัญคือการรักษาระดับการจ้างงานในกลุ่มเอสเอ็มอี เน้นผู้ประกอบการที่เป็นนิติบุคคลเอสเอ็มอี เพราะกลุ่มนี้สู้มา 1 ปีแล้ว ณ วันนี้ ภาครัฐอาจจะต้องให้ออกซิเจนเพิ่มเติม เพื่อช่วยปลดเปลื้องภาระบางประการในแง่ของการจ้างงาน เพื่อให้ธุรกิจมีสภาพคล่องเพียงพอและไม่ให้มีการปลดคนงานออก

อย่างไรก็ตาม การดูแลเอสเอ็มอีช่วงครึ่งหลังของปีนั้น ปัญหาที่ยากคือจะทำอย่างไรให้ช่วยเหลือให้ถูกคน เพราะมีคนที่มีปัญหามานานแล้ว กับกลุ่มที่เริ่มไปไม่ได้ช่วงโควิด ซึ่งต้องแยกแยะ เพราะกลุ่มที่ไม่รอดอยู่แล้ว ถ้าเข้าไปช่วยก็จะสูญเสียทรัพยากร

ดังนั้นจึงต้องมีการจัดการฐานข้อมูลกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อที่จะส่งความช่วยเหลือได้ตรงกลุ่ม ก็เป็นเรื่องยากต้องให้ภาคเอกชนมาช่วย ทั้งสภาอุตฯและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และธนาคารเข้ามาช่วยกันดู เพราะข้อมูลเอสเอ็มอีของประเทศไทยไม่ได้อัพเดต ซึ่งข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) มีอยู่ 3 ล้านราย ซึ่งเป็นใครบ้างก็ไม่รู้

“สถานการณ์ตอนนี้ก็ต้องยอมรับว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะรอด ต้องมีคนที่รอดและไม่รอด ฉะนั้นคนที่จะรอดก็ควรที่จะรอด หากเข้าไปช่วยส่วนกลุ่มที่ไม่รอดอยู่แล้ว ช่วยแล้วก็ไม่ทำตาม โดยการจะแยกกลุ่มเหล่านี้ก็ยาก ขณะนี้กำลังหาวิธีทำกันอยู่เพื่อให้เร็ว แต่จะเน้นช่วยเอสเอ็มอีที่ถูกกฎหมาย เป็นนิติบุคคล สเต็ปต่อไปก็ต้องจัดทำฐานข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งประเด็นหลักไม่ได้ต้องการเรื่องเอามาเพื่อจัดเก็บภาษี แต่ต้องการทราบว่าเป็นใคร ทำธุรกิจอยู่ที่ไหน เพราะเมื่อมีปัญหาจะได้ช่วยได้ง่าย ไม่ต้องเปิดลงทะเบียนใหม่ ซึ่งจะทำให้เสียเวลาและไม่ทันเหตุการณ์”

ส.อ.ท.ชี้ต้องปูพรมวัคซีนโรงงาน

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ ส.อ.ท.ได้จองวัคซีนซิโนฟาร์มกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ 300,000 โดส จากปริมาณที่มี 1 ล้านโดส ซึ่งจะส่งมอบในเดือน มิ.ย.นี้ ทั้งนี้ ปริมาณวัคซีนดังกล่าว ส.อ.ท.ได้มาจากการสำรวจความต้องการวัคซีนจากภาคอุตสาหกรรม ร่วมกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) นอกจากนี้ ส.อ.ท.ยังได้ประสานกับสมาคมโรงพยาบาลเอกชนเพื่ออำนวยความสะดวกในการฉีดวัคซีน

“การจัดหาและกระจายวัคซีนเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะตอนนี้การส่งออกเป็นเครื่องจักรเดียวในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ภาคเอกชนโดยเฉพาะผู้ส่งออกถูกกระทบหนักอยู่แล้วจากต้นทุนที่ปรับสูงขึ้น ทั้งค่าระวางเรือและวัตถุดิบ หากไม่ฉีดวัคซีนป้องกันภาคส่งออกไว้จะกระทบแน่ ซึ่งหากสามารถฉีดวัคซีนให้ประชาชนไทยครบ 2 โดส ได้ 50% ของประชากรในไตรมาส 3 และเพิ่มขึ้นได้ 70% ของประชากรภายในไตรมาส 4 จะส่งผลให้เกิดความเชื่อมั่นมากขึ้น

แต่หากไม่เป็นไปตามไทม์ไลน์นี้ ก็ต้องดูอีกปัจจัยว่าสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้หรือไม่ เพราะนั่นก็จะมีส่วนสำคัญที่จะมาเสริมความมั่นใจเช่นกัน หากฉีดได้ไม่ถึงตามไทม์ไลน์ และคุมการแพร่ระบาดไม่ได้ ย่อมจะกระทบต่อตัวเลขประมาณการทางเศรษฐกิจที่ประเมินไว้ก่อนหน้านี้”

กนอ.ขอฉีดแรงงาน 8 แสนคน

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า หนึ่งในเรื่องเร่งด่วน
ตอนนี้ คือ เรื่องวัคซีนโควิด-19 ที่เบื้องต้น กนอ.ได้ขอไป 1.6 ล้านโดส สำหรับแรงงาน 8 แสนคน โดยจะเป็นการฉีดให้กับทุกนิคมที่ขอมา โดยแต่ละนิคมต้องประสานกับทางสาธารณสุขจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัด และรอการอนุมัติเพื่อประกาศใช้เป็นพื้นที่ฉีดวัคซีน

โดยรัฐจะพิจารณาตามการระบาดหนักเบา ว่าพื้นที่ใดโรงงานใดควรจะได้รับการฉีดก่อน ซึ่งขณะนี้มี 3 นิคมที่ได้ขึ้นทะเบียนไปแล้ว อย่างไรก็ตาม คงต้องรอให้ได้รับวัคซีนจากทางกรมควบคุมโรคก่อนว่าจะสามารถจัดสรรให้ได้เท่าไร

ดร.นิพนธ์ บุญเดชานันทน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ WHAUP เปิดเผยว่า การเตรียมความพร้อมการฉีดวัคซีน ทางบริษัทแม่ WHA ได้ร่วมหารือกับ กนอ. เตรียมจัดพื้นที่การฉีดวัคซีนในนิคม หากมีวัคซีนพร้อมก็สามารถดำเนินการฉีดได้ทันที

ด้าน นายอมรพันธุ์ อร่ามวัฒนานนท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ซี แวลู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากปัญหาคลัสเตอร์แรงงานต่างด้าวในโรงงานที่เพชรบุรีนั้น อยากฝากให้รัฐบาลวางข้อบังคับที่จะมาช่วยให้แรงงานต่างด้าวเข้าถึงวัคซีน เพราะสัดส่วนแรงงานต่างด้าวในไทยมีจำนวนมาก โดยอุตสาหกรรมของเรามีการจ้างแรงงานต่างด้าว 90% แรงงานไทย 10% ซึ่งภาพรวมส่งออก 95% ขายในประเทศ 5%

8 จว.ภาคตะวันออกทวงวัคซีน

ดร.สาโรจน์ วสุวานิช กรรมการและกรรมการผู้จัดการ บมจ.ไทยซัมมิท ฮาร์เนส และประธานสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออก ส.อ.ท. เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” หลังประชุมร่วมกับประธานสภาอุตสาหกรรม 8 จังหวัดภาคตะวันออกเรื่องการจัดสรรวัคซีนว่า 8 จังหวัดภาคตะวันออกถือเป็นหนึ่งฟันเฟืองสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย และจังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา เป็นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเป็นฐานที่ตั้งอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ รัฐบาลจึงควรจัดสรรวัคซีนเข้ามาในพื้นที่ ซึ่งตอนนี้ไม่มีใครให้คำตอบได้ว่าจะมีวัคซีนเข้ามาจำนวนเท่าไหร่และเมื่อไหร่ ซึ่งน่าเป็นห่วงมาก

เพราะถ้าโควิดแพร่ระบาดเข้าไปในโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ขนาดใหญ่ จะมีโรงงานประกอบรถยนต์หลายโรงงานได้รับผลกระทบ เชื่อมโยงถึงซัพพลายเชนอีก 300-400 บริษัท เพราะส่งสินค้าไม่ได้ และจะกระทบการส่งออก

หวั่นภาคการผลิตพัง

ดร.สาโรจน์กล่าวว่า ที่ผ่านมา ส.อ.ท.ได้ประสานขอให้ 8 จังหวัดภาคตะวันออก จัดเตรียมความพร้อมเรื่องสถานที่ฉีดวัคซีน จึงได้ประสานกับนิคมต่าง ๆ ไว้พร้อมแล้ว เช่น จ.ชลบุรี เตรียมพื้นที่นิคมอมตะ นิคมแหลมฉบัง, จ.ระยอง มีนิคมอุตสาหกรรมของ WHA, จ.ปราจีนบุรี บริษัทฮอนด้าเตรียมจัดสถานที่ให้ แต่สุดท้ายไม่มีใครตอบได้ว่าวัคซีนจะมาเมื่อไหร่ จำนวนเท่าไหร่

โดยส่วนกลางบอกให้ขึ้นอยู่กับผู้ว่าราชการจังหวัด จากก่อนหน้านั้นให้ขอวัคซีนผ่านทางสำนักงานประกันสังคม ตามจำนวนผู้ประกันตน แต่เวลานี้ทราบว่าประกันสังคมไม่ได้เป็นผู้รับผิดชอบ กระทรวงสาธารณสุขจะเป็นผู้จัดสรร ให้ผู้ว่าฯแต่ละจังหวัดเป็นผู้ดูแล ตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

นายกิตติวุฒิ ศศวิมลพันธุ์ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออก กล่าวว่า ชลบุรี และระยอง มีสัดส่วนของอุตสาหกรรม และธุรกิจท่องเที่ยวควบคู่กัน ตอนนี้เหลืออุตสาหกรรมการผลิตอย่างเดียวเป็นฟันเฟืองตัวสุดท้ายที่ยังสร้างรายได้ เพราะธุรกิจท่องเที่ยวหมดแรงไปแล้ว หากไม่สามารถรักษาฟันเฟืองตัวสุดท้ายก็จะไม่มีตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไปได้ ถ้าปล่อยให้ภาคอุตฯการผลิตถูกกระทบจากโควิดจะยิ่งเสียหาย

ขณะที่ นายอภิสิทธิ์ เตชะนิธิสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร ระบุว่า ในส่วนของสมุทรสาครได้รับวัคซีนตั้งแต่เดือน มี.ค. 2564 ฉีดไปแล้ว 1 แสนคน ตามแผนเดือน เม.ย. 64 ต้องได้รับอีก 1 แสนโดส แต่ไม่ได้รับตามแผน ถูกเลื่อนระยะเวลาไป เข้าใจว่ารัฐบาลต้องการดูแลประชาชนทุกคน แต่ต้องให้ความสำคัญกับธุรกิจที่ยังเดินได้ และสร้างรายได้ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม ปัจจุบันสมุทรสาครมีโรงงาน 6,000 โรงงาน มีรายได้จุนเจือพื้นที่อื่นได้ รัฐบาลจึงต้องดูภาพรวม ที่สำคัญ ตอนนี้ทุกโรงงานมีปัญหาใหญ่ขาดแคลนแรงงาน

ปตท.ช่วยกระจายวัคซีน

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท.ได้ร่วมกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานตัวแทนของภาครัฐในการจัดหาและนำเข้าวัคซีนเพื่อเพิ่มทางเลือกให้ประชาชน ซึ่ง ปตท.จะช่วยเสริมการกระจายวัคซีนให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมที่เป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้ฟื้นตัวโดยเร็ว อีกทั้งยังเป็นการช่วยลดภาระด้านงบประมาณให้กับทางรัฐบาลอีกด้วย ขณะนี้มองว่าเป็นเรื่องที่ดีที่หลายฝ่ายมาช่วยกันขับเคลื่อนในเรื่องนี้ เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่

“นอกจากนี้ ปตท.ยังเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับพื้นที่โดยเฉพาะต่างจังหวัด เพื่อให้การฉีดวัคซีนกระจายได้อย่างทั่วถึง โดยเบื้องต้นได้มีการหารือกับหอการค้าแห่งประเทศไทย ในการรับมือหากวัคซีนเข้ามาจำนวนมาก รวมถึงการเตรียมความพร้อมเรื่องบุคลากรทางการแพทย์ และระบบในการลงทะเบียนไว้บริการประชาชนแล้วอีกด้วย”


สำหรับเครื่องยนต์เศรษฐกิจประเทศตอนนี้คือการส่งออก เพราะว่าไทยผลิตสินค้าส่งออกเยอะมาก ทั้งปิโตรเคมี และโรงกลั่นน้ำมัน ซึ่งเป็นวัตถุดิบพื้นฐานสำหรับอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่ส่งออก รวมถึงโรงงานอื่น ๆ ก็เอาใจช่วยให้สามารถรันโรงงานได้ รวมไปถึงการเปิดรับนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะล่าช้า ทั้งหมดจะเป็นแผลเป็นจากโควิด-19