สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือฯ มั่นใจ “ฉีดวัคซีน” ดันส่งออกปี 64 พุ่ง 15%

ส่งออก
แฟ้มภาพ

สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ชี้หากไทยต้องการให้ส่งออกโต 10-15% ต้องเร่งฉีดวัคซีน นำเข้าตู้เปล่า ลดต้นทุนขนส่ง เพิ่มแรงงานสู่ภาคการผลิต

วันที่ 1 มิถุนายน 2564 นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า สรท. ยังคงคาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2564 เติบโต 6-7% โดยมีปัจจัยบวกที่สำคัญ ได้แก่ 1) แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าหลัก อาทิ สหรัฐอเมริกา โดยเป็นผลมาจากความคืบหน้าการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทั่วโลก 2) ราคาสินค้าในตลาดโลกมีทิศทางปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมัน อาทิ ยางพาราแปรรูปขั้นต้น ผลิตภัณฑ์พลาสติก เคมีภัณฑ์ น้ำมันสำเร็จรูป เป็นต้น

ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคที่การส่งออกที่ต้องติดตาม ได้แก่ 1) สถานการณ์การระบาดโควิด-19 ที่มีความรุนแรงทั้งในประเทศและกลุ่มประเทศในอาเซียน ซึ่งอาจส่งผลต่อแนวโน้มการฟื้นตัวและการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ล่าช้าออกไป 2) ปัญหาตู้สินค้าขาดแคลนและอัตราค่าระวางที่ทรงตัวในระดับสูง แม้ภาครัฐเร่งแก้ไขแต่ตู้คอนเทนเนอร์ก็ยังไม่เพียงพอ ประกอบกับสายเรือยังคงมีการจัดสรรตู้คอนเทนเนอร์ (space allocation) ส่วนใหญ่ให้กับจีนและเวียดนาม เนื่องจากมีความสามารถในการจ่ายค่าระวางในอัตราที่สูงกว่าประเทศไทย ทำให้ผู้ประกอบการไทยประสบปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ต่อเนื่อง ค่าระวางที่อยู่ในทิศทางขาขึ้น

3) สถานการณ์ความผันผวนของวัตถุดิบที่สำคัญ เช่น ชิปขาดแคลน ส่งผลกระทบเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ต้องชะลอการผลิตเนื่องด้วยจำนวนสินค้าคงคลังที่เริ่มลดลง และทั้งนี้คาดการณ์ว่าจะกระทบอุตสาหกรรมรถยนต์ทั่วโลก รวมทั้งไทยมีแนวโน้มว่าสถานการณ์อาจยืดเยื้อไปถึงไตรมาสที่ 4 สถานการณ์ราคาเหล็กในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น จากการที่จีนปรับลดกำลังการผลิตเหล็กมากกว่าครึ่ง ทำให้เกิดภาวะ Short Supply ส่งผลกระทบต่อต้นทุนภาคการผลิตที่ต้องใช้วัตถุดิบเหล็กในการผลิต อาทิ บรรจุภัณฑ์โลหะ (อาหาร/เครื่องดื่มบรรจุกระป๋อง) การก่อสร้าง ยานยนต์ เครื่องจักรกล เป็นต้น

และ 4) สถานการณ์ขาดแคลนแรงงาน ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมการผลิต และภาคเกษตรที่ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานประมาณ 2-3 แสนคน และรวมถึงผลต่อการต้องชะลอคำสั่งซื้อจากต่างประเทศออกไป

อย่างไรก็ดี สรท.ต้องการให้ 1) เร่งรัดการฉีดวัคซีนในภาคโลจิสติกส์และภาคการผลิต โดยเฉพาะ ท่าเรือ ท่าอากาศยาน หรือจุดเสี่ยงที่เป็น Gateway สำคัญของประเทศ 2) เร่งให้มีนำเข้าตู้เปล่าเข้ามาเพิ่มเติมโดยเร็วและบริหารจัดการ Space Allocation เนื่องจากปริมาณคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเริ่มฟื้นตัวในระดับสูง และภาคเอกชนไทยมีความพร้อมและมีศักยภาพที่จะส่งออก จึงขอให้ภาครัฐทำการเช่าเรือ เพื่อไปนำตู้สินค้าเปล่าจากประเทศที่มีตู้ตกค้างอยู่เป็นจำนวนมาก กลับเข้ามาในประเทศไทย

ทั้งนี้ หากให้การส่งออกทั้งปีโตได้ถึง 10-15% ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขประเทศไทยต้องมีตู้คอนเทนเนอร์เปล่า เฉลี่ยประมาณ 2.01-2.25 ล้าน TEU/ปี (หรือ 1.76-2.07 แสนTEU/เดือน) การจัดสรรพื้นที่ (Space Allocation) และค่าระวางอยู่ในอัตราที่เหมาะสม เพื่อให้เพียงพอและรองรับต่อการเติบโตของภาคการส่งออก

3) เร่งนำแรงงานเข้าสู่ภาคการผลิต โดยเร่งรัดการหารือเพื่อปรับปรุงกฎระเบียบและเงื่อนไขรูปแบบการจ้างแบบ Part time ให้ถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งในเรื่องของอัตราจ้าง ชั่วโมงการทำงาน และสวัสดิการที่นายจ้างและลูกจ้างได้ประโยชน์ร่วมกัน และ 4) เร่งปรับลดต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าวัตถุดิบ อาทิ ภาษีสินค้าเหล็กในการภาคการผลิต รวมถึงต้นทุนด้านโลจิสติกส์ ที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าวัตถุดิบและการส่งออกสินค้า