หวั่นขยะ “หน้ากากอนามัย” ท่วม ส.อ.ท. จี้วางระบบคัดแยก-เผาสกัดเชื้อ

FILE PHOTO : Eric PIERMONT / AFP

ยังไร้ทิศทางกำจัด “ขยะหน้ากากอนามัย” ส.อ.ท.ระดมสมองเสนอแนวทางรัฐ ตีความเป็น “ขยะติดเชื้อ” แยกทิ้งเผาชัดเจนหวั่นอนาคตทำลายผิดวิธี ปริมาณล้นประเทศ “กรมโรงงานอุตสาหกรรม” ปัดไม่ใช่เจ้าภาพหากจะเข้าโรงกำจัดอุตสาหกรรมต้องคุยระดับนโยบายหลายหน่วยงาน

นายภราดร จุลชาติ ประธานกิตติมศักดิ์ กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันหน้ากากอนามัยที่มีการใช้อยู่นั้นยังไม่สามารถแยกประเภทของการใช้งานได้ และยังไม่มีการตีความอย่างชัดเจนว่าเป็นขยะติดเชื้อหรือไม่

เนื่องจากการใช้หน้ากากอนามัยนับตั้งแต่ที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้มีการใช้งานทั่วไปไม่เพียงเฉพาะผู้ป่วย หรือบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลเท่านั้น และเมื่อมีการใช้กันอย่างแพร่หลายปริมาณขยะก็เพิ่มขึ้นอย่างมาก นำมาสู่ปัญหาการวางแนวทางในการกำจัดขยะที่ยังไม่ชัดเจน

ภราดร จุลชาติ
ภราดร จุลชาติ ประธานกิตติมศักดิ์ กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

โดยขณะนี้พบเพียงว่าผู้รับผิดชอบดูแลเรื่องการกำจัดขยะดังกล่าวคือ กทม. ซึ่งจะเก็บหน้ากากอนามัยเหล่านี้ที่ปะปนมากับขยะทั่วไป แล้วใช้วิธีกำจัดแบบเดียวกับขยะทั่วไป ซึ่งแท้จริงแล้วหน้ากากอนามัยมีส่วนผสมที่ทำมาจากพลาสติก จะต้องจำแนกกลุ่มออกให้ชัดเจน คือ

1.กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ ที่ส่วนใหญ่ใช้ในโรงพยาบาล โดยกลุ่มนี้ไม่มีความกังวลเนื่องจากหน้ากากจะถูกทิ้งแยกในถุงแดง นั่นหมายถึงขยะติดเชื้อและจะนำส่งไปทำลายด้วยวิธีการเผาอุณหภูมิสูงเพียงวิธีเดียวเท่านั้น

2.กลุ่มประชาชนทั่วไปที่ไม่มีอาการป่วย กลุ่มนี้เมื่อใช้แล้วจะมีการทิ้งหน้ากากลงถังขยะทั่วไป ปะปนอยู่ในขยะทั่วไปตามบ้านที่ไม่มีการแยก

3.กลุ่มประชาชนทั่วไปที่ป่วย กลุ่มนี้ส่วนใหญ่ก็ยังใช้วิธีเดียวกับกลุ่มที่ 2 จึงยังปะปนอยู่กับขยะบ้านทั่วไป ในที่สุดแล้วเมื่อทิ้งรวมในถังขยะ กทม.ก็จะไม่ทราบและไม่มีการคัดแยกใด ๆ จึงถูกกำจัดแบบเดียวกับขยะทั่วไปนั่นเอง ดังนั้น สิ่งที่น่ากังวลมากที่สุดคือกลุ่ม 2 และกลุ่ม 3

ทางกลุ่มพลาสติกมีการหารือกันมาต่อเนื่องกับสมาชิก 170 บริษัท และได้เสนอแนวทางไว้หลัก ๆ คือ ขั้นแรก รัฐจะต้องตีความหน้ากากอนามัยที่มีการใช้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยหรือไม่ป่วย ให้ถือว่าหน้ากากอนามัยเหล่านี้ คือ ขยะติดเชื้อ แ

ละสำหรับบุคคลทั่วไปที่ใช้ตามบ้านจะต้องแยกขยะหน้ากากอนามัยออกให้ชัดเจน โดยรวบรวมทิ้งในถุงขยะแล้วติดป้ายแปะไว้ว่า “ขยะติดเชื้อ” เพื่อให้เจ้าหน้าที่เก็บขยะ กทม.รับทราบและนำไปกำจัดโดยการเผาด้วยอุณหภูมิสูง

“เรามีการตั้งคำถามกันมาโดยตลอดว่าหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว ถือว่าเป็นขยะมีพิษหรือเป็นขยะติดเชื้อหรือไม่ ควรเผาหรือไม่ ควรคัดแยกใส่ถุงแดงเหมือนเช่นในโรงพยาบาลหรือไม่ นำกลับมา
เป็นพลังงานอย่างอื่นได้หรือไม่ หรือจะมีแนวทางกำจัดอย่างถูกต้องได้อย่างไร เราพยายามคุยกับสมาชิกในกลุ่มที่มีอยู่กว่า 170 บริษัท และเคยทำเป็นข้อแนะนำหารือภาครัฐแต่ก็ยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนและคำตอบ ส่วนแนวทาง
ของเรา คือ หน้ากากอนามัยไม่ควรถูกจัดเป็นขยะทั่วไป ขยะหน้ากากอนามัยไม่สามารถเอามารีไซเคิลได้ ขยะหน้ากากอนามัยต้องถูกแยกใส่ถุงชัดเจน ขยะหน้ากากอนามัยควรเผาด้วยเตาเผาขยะติดเชื้อเพียงอย่างเดียว”

จากนี้รัฐเองจะต้องรับรู้สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นตามมา ขยะหน้ากากที่เพิ่มขึ้นเป็นส่วนที่ติดเชื้อปะปนอยู่ในขยะทั่วไป การกำจัดขยะที่ยังไม่ถูกวิธี รัฐเองก็ต้องเข้ามาเร่งกระตุ้นให้ประชาชนรับรู้เรื่องเหล่านี้ ซึ่งจำเป็นที่ต้องมีเจ้าภาพเข้ามาดูแลอย่างจริงจัง เพราะในอนาคตเรื่องนี้กำลังจะเป็นปัญหา

ทางด้านนายศุภกิจ บุญศิริ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวว่า โรงกำจัดขยะในปัจจุบันที่ขึ้นทะเบียนกับ กรอ.นั้น เป็นการกำจัดขยะอุตสาหกรรมเท่านั้น ส่วนหน้ากากอนามัยจะเป็นหน้าที่ของ กทม.ที่จะเก็บจากขยะบ้านทั่วไปแล้วนำไปกำจัดที่โรงเผาขยะต่าง ๆ

หากในอนาคตหน้ากากอนามัยมีปริมาณมากจนโรงเผาขยะไม่สามารถรองรับได้ แล้วจะส่งต่อให้โรงกำจัดขยะอุตสาหกรรมรับหน้าที่นั้นจะต้องเป็นการหารือระดับนโยบาย ที่มีความเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน อย่างกระทรวงสาธารณสุข กทม. ซึ่งในขณะนี้ยังไม่มีการหารือกันในระดับนั้น เพราะการกำจัดหน้ากากอนามัยยังมีผู้รับผิดชอบหลักอยู่