ธุรกิจตั้งรับยืดล็อกดาวน์ เศรษฐกิจเดี้ยงติดกับดักวัคซีน

ห้าง โควิด

โควิดวิกฤตหนัก ธุรกิจหวั่นล็อกดาวน์ 14 วัน ยอดผู้ติดเชื้อกดไม่ลง ประเมินแนวโน้มอาจต้องขยายระยะเวลาคุมเข้ม พร้อมให้รัฐยืดล็อกดาวน์ถ้าจำเป็น ร้องหาวัคซีนตัวช่วยสุดท้าย ฟันธงครึ่งปีหลังลำบากกว่าที่คิด รายเล็กปิดระนาว “ศุภวุฒิ สายเชื้อ” ชี้รัฐบาลวิ่งไล่ตามปัญหา เซมิล็อกดาวน์ 14 วัน ทำให้ปัญหายืดเยื้อและใหญ่ขึ้น

รัฐบาลวิ่งไล่ตามปัญหา

นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) ในฐานะผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจมหภาคกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากการดำเนินนโยบายของรัฐบาลในการแก้ปัญหาโรคระบาดโควิด-19 ถือว่าไม่สอดคล้องกับสภาพปัญหา จากปีที่แล้วผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตต่ำมาก แต่รัฐบาลสั่งล็อกดาวน์เข้มยาวนานทำให้จีดีพีปี 2563 ติดลบ 6.1% หรือคิดเป็นมูลค่าเศรษฐกิจเสียหายประมาณ 1 ล้านล้านบาท

ศุภวุฒิ สายเชื้อ
ศุภวุฒิ สายเชื้อ

แต่ปีนี้ปัญหาโรคระบาดรุนแรงมาก จนเต็มกำลังของระบบสาธารณสุขของประเทศ แต่รัฐบาลกลับไม่กล้าประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์แบบเข้ม เพราะอาจเกรงว่าเศรษฐกิจจะเสียหายมาก รวมถึงต้องจ่ายเงินเยียวยาจำนวนมาก

“การล็อกดาวน์แบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ 14 วัน จะควบคุมโรคระบาดได้อย่างไร ขณะที่สายพันธุ์เดลต้าที่แพร่ระบาดรุนแรงกว่าหลายเท่าตัว การที่จะลองดูสถานการณ์ผู้ติดเชื้อแล้วค่อยประกาศล็อกดาวน์เพิ่ม แบบนี้เป็นการวิ่งไล่ตามปัญหา และปัญหาจะใหญ่มากขึ้น” นายศุภวุฒิกล่าวและว่า

เพราะอีกด้านก็คือประเทศไทยยังมีจำนวนการตรวจเชื้อน้อย ทำให้ไม่รู้ข้อมูลจำนวนผู้ติดเชื้อจริงว่ามีเท่าไหร่ ซึ่งถ้ามีการตรวจเชื้อเพิ่มมากขึ้น จำนวนผู้ติดเชื้อต้องเพิ่มขึ้นแน่นอน ถึงตอนนั้นรัฐบาลก็คงต้องขยายเวลาล็อกดาวน์เพิ่ม แต่เป็นการวิ่งไล่ตามปัญหา นอกจากปัญหาจะยืดเยื้อแล้ว ขนาดของปัญหาจะใหญ่ขึ้น สถานการณ์แบบนี้โอกาสการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคงยาก

ปัญหายืดเยื้อและใหญ่ขึ้น

นายศุภวุฒิกล่าวว่า การประกาศเซมิล็อกดาวน์ของรัฐบาล มองว่าอาจเป็นการซื้อเวลาของรัฐบาลเพื่อรอวัคซีนลอตใหญ่ในเดือนตุลาคม คำถามคือซื้อเวลาด้วยเซมิล็อกดาวน์ ขณะที่ผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นวันละ 8-9 พันคน แต่หายกลับบ้านไม่ถึง 50% ขณะที่มีผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษาตัวกว่า 9 หมื่นราย เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ซึ่งต้องบอกว่า ตอนนี้ระบบสาธารณสุขเต็มกำลังแล้ว ขณะที่มาตรการล็อกดาวน์ไม่เพียงพอ ผู้ติดเชื้อยังเพิ่มมากขึ้น ขณะที่วัคซีนไม่เพียงพอ เศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างไร

เมื่อเดือนมิถุนายน 2564 KKP ได้มีการปรับลดประมาณการขยายตัวเศรษฐกิจปีนี้ลงมาเหลือ 1.5% แต่จากสถานการณ์ระบาดตอนนี้ก็คงต้องมีการปรับอีกรอบ ซึ่งตัวเลขจีดีพีอาจจะยังมีการขยายตัวได้บ้าง ถ้าภาคส่งออกซึ่งเป็นตัวหลักของเศรษฐกิจไทยยังสามารถทำงานได้ ตอนนี้ก็เป็นห่วงว่าโรงงานอุตสาหกรรมการผลิตใหญ่ ๆ ที่พบการติดเชื้อจะสามารถควบคุมการระบาดเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกได้หรือไม่

สำหรับการล็อกดาวน์ 10 จังหวัดซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 50-55% ของจีพีดีประเทศ หากกระทบ 1% ก็เท่ากับเศรษฐกิจ 8 หมื่นล้านบาท ซึ่งถ้ารัฐบาลมีการใช้งบประมาณเพียง 3-4 หมื่นล้าน สั่งซื้อวัคซีนมาให้ประชาชนตั้งแต่ต้นปี ความสูญเสียและความเสียหายก็จะน้อยกว่านี้

มาตรการล็อกดาวน์ 14 วัน ในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล 6 จังหวัด และภาคใต้ 4 จังหวัด ตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค. 2564 ได้รับการขานรับจากภาคธุรกิจและประชาชนบนความคาดหวังว่าจะช่วยให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ยอดผู้ติดเชื้อ ผู้เสียชีวิตที่ยังอยู่ในระดับสูง ขณะที่การกระจายฉีดวัคซีนยังไม่เป็นไปตามเป้าจากปริมาณวัคซีนที่มีจำกัด

ล่าสุดแม้กระทรวงสาธารณสุขจะปรับแผน โดยปรับสูตรฉีดวัคซีนซิโนแวคเข็มแรก แอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่สอง แต่ภาคธุรกิจส่วนใหญ่เกรงว่าช่วงเวลา 14 วัน สถานการณ์น่าจะยังไม่คลี่คลาย จึงเตรียมแผนรองรับล่วงหน้า หากภาครัฐต้องยืดระยะเวลาล็อกดาวน์ออกไป

ทบทวนล็อกดาวน์เฉพาะจุด

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ (ส.อ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังประกาศล็อกดาวน์ 10 จังหวัดสีแดง ต้องประเมินสถานการณ์ว่า การตรวจเชิงรุก เตียงไม่พอ และไอโซเลชั่นช่วยได้มากน้อยเพียงใด การแพร่ระบาดลดลงหรือไม่ ภาคเอกชน ประชาชนก็ต้องช่วยป้องกันด้วย

อีก 1 สัปดาห์น่าจะตัดสินใจได้ว่า ต้องขยายมาตรการล็อกดาวน์ต่อหรือไม่ โดยดู area base ว่าการระบาดอยู่จุดใดบ้าง พื้นที่ใดควบคุมการระบาดได้ก็อาจปลดล็อก ไม่ต้องขยายการล็อกดาวน์ทั้งหมด หรือหากพื้นที่ใดการระบาดสูงขึ้นก็อาจล็อกดาวน์เพิ่ม

“วันนี้สถานการณ์วัคซีนยังไม่ดีขึ้น โอกาสแก้ปัญหาไม่ง่าย แต่ต้องให้โอกาส 14 วัน สเต็ปแรกที่จะทำคือ rapid test คัดแยกผู้ติดเชื้อและไม่ติดเชื้อออกจากกัน จะทราบจำนวนผู้ป่วยเขียว เหลือง แดง แต่ละสีจะมีมาตรการอย่างไร พอคัดออกมาได้ จะคุมได้ เพราะคนติดไม่รู้ว่าตัวเองติด ให้ work form home ก็ไปอยู่ใกล้ชิดครอบครัวอีก”

เร่ง Rapid Test โรงงาน

การแก้ไขปัญหา rapid test ที่เอกชนเรียกร้องก่อนหน้านี้ คือ ต้องอยู่ในวิสัยที่ตรวจสอบได้ตามมาตรฐานสากล หากผลเป็นบวกก็ตรวจ PCR ซ้ำ ล่าสุดองค์การอาหารและยา (อย.) รับรองมาแล้ว 20 กว่าราย ราคาอาจยังสูง แต่ถูกกว่าระบบ PCR ซึ่งต้องใช้เวลารอนาน เสียเวลากักตัว ทำให้เศรษฐกิจไม่เดิน

“ส.อ.ท.เตรียมมาตรการช่วยเหลือสมาชิกในพื้นที่ล็อกดาวน์ เพราะมีโรงงานตั้งอยู่คิดเป็นสัดส่วนมากที่สุดของประเทศ ตอนนี้ทุกแห่งมีมาตรการเข้มข้นอยู่แล้ว รายใหญ่ดูแลตัวเองได้ แต่รายกลางและรายเล็กต้องลงไปช่วย เพราะต้อง PCR หมด ใช้เวลานาน ค่าใช้จ่ายแพง หรือรอวัคซีนก็นาน ถ้ามี rapid test ให้พยาบาลประจำโรงงานตรวจได้เลย ส.อ.ท.เตรียมจะเข้าไปช่วยว่าจะเทสต์อย่างไร สอนวิธีการ และจัดหาชุดตรวจ สัปดาห์นี้จะได้ข้อสรุป”

จี้หาวัคซีนเพิ่มแทนเยียวยา

ที่ต้องทำคู่ขนานคือจัดหาและกระจายวัคซีน ขณะนี้ ส.อ.ท.ได้รับวัคซีนจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์กว่า 3 แสนโดส ทยอยฉีดเกิน 50% แล้ว และอาจพิจารณาเพิ่ม

“ส่วนมาตรการเยียวยา มองว่าเยียวยาไปก็ไม่จบ ตอนนี้นายกฯ หรือทีมงานต้องหาวัคซีนมาเพิ่ม หยุดการระบาดให้ได้ เยียวยาไปเรื่อย ๆ เงินหลวงก็หมด แทนที่จะฉีดวัคซีน ค่าใช้จ่ายแค่ 2-3 พันบาทต่อหัว ถ้าได้วัคซีนที่มีคุณภาพพอ หากล็อกดาวน์ 14 วันจบ เศรษฐกิจกลับมาขับเคลื่อนได้ GDP ปีนี้น่าจะขยายตัว 0-1.5% ตามที่ กกร.ประเมินไว้

ส่วน 120 วันเปิดประเทศจะมาหนุนเพิ่มไหม ยังไม่รู้ ถ้าเราดีพอเปิดประเทศได้เลย หรือฉีดวัคซีนจุดไหนพร้อมก็เปิดได้เลย คนที่มาเที่ยวก็ต้องฉีดครบโดส ถ้าเปิดได้ก็เปิดในประเทศก่อน หากเที่ยวได้ก็จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เหมือนจีนที่ไม่สนใจเมืองนอกเลย ของเราเที่ยวเองก็เยอะ ช่วง ก.พ.-มี.ค. 64 ตัวเลขการเข้าพักโรงแรมขยับ 30-40% ตอนนี้เหลือไม่ถึง 5%”

ยืดล็อกดาวน์แล้วจบเอกชนรับได้

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์อาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต มองว่าเป็นไปได้ที่จะขยายเวลาล็อกดาวน์ 14 วัน ขึ้นอยู่กับตัวเลขผู้ป่วยผู้ติดเชื้อ 14 วันนี้ หากทำสำเร็จ ต่อเวลาล็อกดาวน์ออกไปแล้วสถานการณ์ดีขึ้นจริง เชื่อว่าภาคเอกชนยอมรับได้

สำคัญที่สุดคือมาตรการเยียวยา เพราะครั้งนี้ผู้ประกอบการบาดเจ็บล้มตายอีกไม่น้อย รัฐอาจต้องมองถึงการขยายเรื่องเงินกู้เพิ่มขึ้น

“สำหรับแนวปฏิบัติการใช้มาตรการต้องชัดเจน ขณะนี้ในแต่ละจังหวัดมีมาตรการแตกต่างกัน บางจังหวัดหากแยกผู้ป่วยออกมาได้ ทำ bubble and seal ทำความสะอาดเปิดกลับมาใหม่ได้ภายใน 3 วัน ไม่กระทบการผลิต แต่บางจังหวัดสั่งปิดโรงงาน 14 วัน แล้วขยายต่ออีก 14 วัน กระทบการผลิต จากนี้ไปไม่สามารถคาดหวังได้ว่าผู้ติดเชื้อเป็น 0 ได้อีกต่อไป จึงต้องมีมาตรการที่ควบคุมเชื้อได้ และปฏิบัติงานได้ควบคู่กันด้วย”

ตลาดทุนห่วง 14 วันไม่พอ

ในส่วนของตลาดทุน นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด ในฐานะประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) กล่าวว่า ยังประเมินยากว่าล็อกดาวน์เจ็บแล้วจบหรือไม่ แต่ภายใน 7 วัน จะเห็นเทรนด์ยอดผู้ติดเชื้อโควิดว่าจะเพิ่มขึ้นหรือลดลง แต่ตอนนี้การติดเชื้อยังระบาดในวงกว้าง

มองตอนนี้อาจไม่จบ นั่นหมายถึงรัฐคงต้องขยายล็อกดาวน์เพิ่ม ซึ่งทุกคนเป็นห่วง แต่จำเป็นต้องทำ เพราะไม่มีทางเลือก เนื่องจากคนไทยฉีดวัคซีนล่าช้า และวัคซีนที่มีอาจไม่สามารถป้องกันสายพันธุ์เดลต้าได้เต็มประสิทธิภาพ

“ถ้าล็อกดาวน์จะจบจริง ๆ ตัวเลขผู้ติดเชื้อต้องลดเหลือระดับ 1,000-2,000 รายต่อวัน ให้ทุกคนเห็นชัดเจนว่ามีพัฒนาดีขึ้นมาก รัฐบาลน่าที่จะผ่อนคลายนโยบายที่ทำได้ แต่ถ้าเทรนด์ไม่ดีขึ้นเลย ยอดผู้ติดเชื้อยังอยู่ที่ 6-9 พันรายต่อวัน คงล็อกดาวน์เพิ่ม”

ซื้อวัคซีนแพงก็เกินคุ้ม

ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐบาลต้องทำต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่แจกเงินเพื่อการใช้จ่าย แต่ต้องกระตุ้นโครงการต่าง ๆ ต้องเร่งสร้างงาน และให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพราะหลายสำนักประเมินแนวโน้มการเติบโตเศรษฐกิจไทยปีนี้ต่ำกว่า 2% ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับจีดีพีไทยเหลือ 1.8% ก่อนมีล็อกดาวน์ และสายพันธุ์เดลต้าระบาดหนัก ขณะนั้นตัวเลขผู้ติดเชื้ออยู่แค่ 3,000-4,000 รายต่อวัน

แต่ตอนนี้เพิ่มขึ้นเกือบหมื่นรายต่อวัน รุนแรงที่สุดของประเทศ จีดีพีต้องปรับลดลงต่อเนื่อง ชดเชยได้ด้วยการกระตุ้นของรัฐบาล และอยากให้เร่งจัดหาวัคซีนให้เร็วกว่านี้ อาจซื้อแพงหน่อย แต่เป็นงบประมาณที่สมควรใช้

“ถ้ากระตุ้นเศรษฐกิจโดยมีโครงการใหม่ ๆ ออกมาด้วย บวกกับจัดซื้อวัคซีนมาเพิ่มยี่ห้อต่าง ๆ ต้องเป็นยี่ห้อที่มีประสิทธิภาพ แม้จ่ายแพงแต่เอาเข้ามารวดเร็วกว่าเงื่อนเวลาที่ตั้งไว้ ก็ยังอยากให้ทำอย่างนั้น” นายไพบูลย์กล่าว

ห่วงป่วยใหม่สูงกว่าหายป่วย

นายเศรษฐา ทวีสิน ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.แสนสิริ กล่าวว่า สถานการณ์โควิดปัจจุบัน ผู้ติดเชื้อใหม่วันละ 8-9 พันคน แต่อัตราการหายป่วยวันละ 3 พันคน เรียกว่าเป็น negative base ประมาณวันละ 5 พันคน น่าห่วงอย่างมาก

“ผมไม่ได้เสนอนะ แต่คาดเดาว่าล็อกดาวน์ 14 วัน น่าจะยังไม่เพียงพอ แต่จะล็อกดาวน์อีกเท่าไหร่ 7 วันหรือ 30 วัน ต้องให้คนที่มีข้อมูลเพียงพอตอบ”

ถ้าจำเป็นต้องล็อกดาวน์เพิ่มก็ต้องล็อกดาวน์ แต่คนที่อ่อนแอ คนมีรายได้จำกัด คนทำร้านอาหาร คนที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวต้องได้รับการเยียวยา และมาตรการเยียวยาต้อง “ทั่วถึง เท่าเทียม เพียงพอ” ด้วย

“ที่ผ่านมาถามว่ามาตรการเยียวยาของรัฐบาลเพียงพอหรือยัง ไม่พอหรอกครับ แต่เหมาะสมกับสถานภาพด้านการคลังของประเทศ ผมเชื่อว่าเรายังทำได้อีก สามารถช่วยเหลือผู้อ่อนแอได้มากกว่านี้”

ครึ่งปีหลังลำบากกว่าที่คิด

จุดเน้นสำคัญที่สุดคือเรื่องการฉีดวัคซีนที่รัฐบาลต้องบริหารจัดการให้ “ทั่วถึง เท่าเทียม รวดเร็ว” หากทำได้จะแก้ไขปัญหาระยะกลางและระยะยาวได้ โดยรัฐต้องเตรียมความพร้อมไว้เลยว่า การฉีดเข็มที่ 3 จะต้องวางแผนบริหารจัดการรองรับ

ผู้สื่อข่าวถามว่า ล็อกดาวน์ 14 วันกระทบแผน 120 วันเปิดประเทศหรือไม่ นายเศรษฐาบอกว่า คำตอบเหมือนกันกับคำถามล็อกดาวน์ 14 วันเพียงพอไหม แนวโน้มน่าจะลำบาก แต่ถ้าเร่งฉีดวัคซีนทั่วถึง เท่าเทียม รวดเร็ว ยังมีความเป็นไปได้สูง

“ก็เอาใจช่วย แต่คิดว่าคงยาก ถ้าวัคซีนไม่มาคงลำบาก รวมทั้งเทรนด์ครึ่งปีหลังที่ลุ้นกันว่า เศรษฐกิจมีโอกาสจะทยอยฟื้นตัวได้บ้าง คงลำบากขึ้นเยอะ ต้องให้กำลังใจรัฐบาล แต่ (เอกชน) ก็ลำบากขึ้นเรื่อย ๆ” นายเศรษฐากล่าว

ชง “คนละครึ่ง” ช็อปออนไลน์

นางสาวมณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Sea (ประเทศไทย) กล่าวในทำนองเดียวกันว่า มาตรการล็อกดาวน์ล่าสุดอาจไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดได้ทั้งหมด รัฐควรเร่งจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพให้มากพอ และกระจายไปในวงกว้างโดยเร็ว

ขณะที่มาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ เช่น โครงการ “คนละครึ่ง” ที่ผ่านมาเน้นไปในการใช้จ่ายแบบออฟไลน์ ซึ่งไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิต และพฤติกรรมประชาชนที่ทำงานจากที่บ้าน และสั่งของออนไลน์มากขึ้น จึงควรขยายบริการให้ใช้กับร้านค้าออนไลน์ หรือบริการฟู้ดดีลิเวอรี่ได้ เพื่อแบ่งเบาภาระ กระตุ้นให้จำนวนผู้ใช้งาน และการทำธุรกรรมเพย์เมนต์ในประเทศเพิ่มขึ้นด้วย

นอกจากนี้ ธุรกิจเอสเอ็มอีขยับขึ้นไปค้าขายออนไลน์ และได้รับผลกระทบ แต่ไม่ได้รับการเยียวยาจากรัฐ จึงอยากให้มีเพิ่มเติม

สำหรับแผนเปิดประเทศ 120 วัน ส่วนตัวอยากให้เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด เพราะธุรกิจท่องเที่ยวถูกกระทบหนักมาก ถ้าทำได้ก็จะทำให้ธุรกิจอื่น ๆ ฟื้นตัวตามมา

ล็อกดาวน์ 14 วันเจ็บแต่ไม่จบ

นายณัฐพร วุ่นกลิ่นหอม นายกสมาคมการค้าดิจิทัลไทย และผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี การค้าในตลาดประเทศจีน กล่าวว่า การประกาศล็อกดาวน์ 10 จังหวัด พร้อมออกมาตรการเยียวยาเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายทาง และการยอมปิดกิจการช่วง 14 วัน อาจไม่ได้ทำให้การแพร่ระบาดของโควิด-19 หายไป

ดังนั้นแม้ธุรกิจจะยอมเจ็บแต่ไม่จบ ท้ายที่สุดการแพร่ระบาดของโควิดก็ยังอยู่ ที่รัฐบาลต้องทำ คือ การเดินหน้าฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้เร็วที่สุด รวมถึงเปิดทางให้เอกชนนำเข้าวัคซีน ไม่ต้องกังวลว่าราคาวัคซีนจะสูงขึ้น หรือหากราคาสูงเกินไป ผู้บริโภคก็จะเป็นผู้เลือก

“ตอนนี้ต้องเลิกแจกเงินเยียวยา เพราะแก้ปัญหาได้แค่ระยะสั้น ๆ ที่ต้องทำคือ เจรจากับธนาคาร สถาบันทางการเงิน เพื่อพักชำระหนี้ให้แก่ผู้ประกอบการ ร้านค้า ร้านอาหาร เพื่อให้เดินหน้าธุรกิจต่อได้ ลดปัญหาการเลิกจ้าง เพราะเชื่อว่าประชาชนไม่ได้ต้องการเงินเยียวยา แต่ต้องการมีรายได้จากการทำงาน”

จี้เร่งปูพรมฉีดวัคซีน

แหล่งข่าวจากวงการโรงพยาบาลแสดงความเห็นว่า สิ่งสำคัญที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ต้องเร่งทำในขณะนี้ก็คือ การเร่งปูพรมฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เนื่องจากขณะนี้การฉีดวัคซีนในแต่ละวันยังทำได้ไม่มากนัก โดยเฉลี่ยอยู่ที่เพียงวันละประมาณ 3 แสนคน ยังห่างเป้าที่เคยตั้งไว้

ทั้งนี้ ปัจจัยหลักมีข้อจำกัดด้วยจำนวนวัคซีน ขณะเดียวกัน สธ.ต้องเร่งหาหรือการนำเข้าวัคซีนเพื่อนำมาสำรองเพื่อฉีดในเดือนถัด ๆ ไป เนื่องจากที่ผ่านมาบริษัทผู้ผลิตไม่สามารถผลิตและส่งมอบได้ทันตามกำหนด ทำให้การฉีดไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ และจะกระทบต่อเนื่องไปทุกเดือน หากไม่มีจำนวนวัคซีนที่ส่งมอบที่มากพอ

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า จากการติดตามการฉีดวัคซีนในเดือนกรกฎาคมนี้ ที่ สธ.ตั้งเป้าการฉีดไว้ประมาณ 10 ล้านโดส จนถึงขณะนี้ (13 กรกฎาคม) มีตัวเลขการฉีดไปเพียงประมาณ 3 ล้านโดสเท่านั้น ซึ่งยังห่างเป้าอยู่มาก และหากเดือนกรกฎาคมไม่ได้ตามเป้าก็จะกระทบต่อเนื่องไปในเดือนถัดไป

“นอกจากนี้ การปรับสูตรวัคซีนที่คณะกรรมการควบคุมโรคเพิ่งประกาศเป็นตัวแปรอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้การฉีดวัคซีนอาจจะเลื่อนการฉีดออกไป เนื่องจากประชาชนจำนวนหนึ่งมีความกังวลและไม่มั่นใจ”

ล่าสุดกระทรวงสาธารณสุขรายงานว่า ระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 13 กรกฎาคม 2564 มีผู้รับวัคซีน สะสมทั้งหมด จำนวน 13,230,681 โดส

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติเห็นชอบให้มีการปรับเปลี่ยนแผนการฉีดวัคซีนโควิด-19 ใหม่ ด้วยการให้ฉีดซิโนแวคเข็มแรก และตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็มที่ 2 ห่าง 3-4 สัปดาห์ หวังสร้างภูมิเร็วขึ้นต้านเชื้อกลายพันธุ์เดลต้าและให้โรงพยาบางดำเนินการได้ทันที

ล่าสุด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหลายจังหวัดได้เริ่มทยอยประกาศแจ้งปรับสูตรการฉีดวัคซีนให้ประชาชนทราบ อาทิ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี ที่ประกาศผ่านเฟซบุ๊คว่า “ยกเลิกการใช้ซิโนแวค 2 เข็ม และปรับสูตรใหม่เป็นซิโนแวค+แอสตร้าฯ เริ่มตั้งแต่วันที่ 13 กรกฎาคม เป็นต้นไป”

จากนั้นมีคนจำนวนหนึ่งเข้าไปแสดงความคิดเห็น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสับสนและไม่มั่นใจที่จะฉีดวัคซีนแบบผสมดังกล่าว อาทิ “ตอนลงทะเบียนบอกจะได้แอสตร้าฯ ทำไมไม่ได้แอสตร้าฯเหมือนที่แจ้ง ผสมกันแบบนี้ถ้ามีผลข้างเคียงจะทำไงดี” “รอคิวนาน แต่จะมาฉีดแบบนี้ ไม่เอานะจ๊ะ” “ให้ทางเลือก ปชช.ด้วย ไม่เอาซิโนแวค” เป็นต้น

ล่าสุดเมื่อ สาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี แจ้งด่วน ชะลอการเปลี่ยนสูตรวัคซีน เข็มแรกซิโนแวค โดยกลับไปฉีดวัคซีนสูตรเดิมก่อน

หวั่นรายเล็กปิดกิจการ

นายเวทิต โชควัฒนา กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคและบริโภครายใหญ่ เปิดเผยว่า การขยายเวลาการล็อกดาวน์ออกไปอีกจะทำให้สถานการณ์แย่อยู่แล้วยิ่งแย่ขึ้นไปอีก ทั้งความเป็นอยู่ของผู้คน เศรษฐกิจ กำลังซื้อ แต่ถ้าจำเป็นก็ต้องทำ เพราะวันนี้ยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ทางออกคือ รัฐบาลต้องเร่งฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุด วัคซีนมาเร็วเท่าไหร่ คนยิ่งได้ฉีดเร็วเท่านั้น ซึ่งจะช่วยลดการระบาดและการเสียชีวิต

สำหรับสหพัฒน์เองอาจจะได้รับกระทบไม่มากนัก เนื่องจากเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน แต่ธุรกิจที่หนักมากคือ ผู้ประกอบการในภาคบริการ ร้านอาหาร ร้านนวดร้านสปา ธุรกิจท่องเที่ยว ที่หลาย ๆ คนอยากกลับมาเปิดเร็ว ๆ แต่ก็คงเป็นไปไม่ได้ เพราะการกระจายวัคซีนยังไม่ครอบคลุม และปัญหาที่ตามมาคือ แรงงาน ผู้คนตกงาน ไม่มีเงิน ยิ่งล็อกดาวน์นานเท่าไหร่ เงินก็เริ่มหมด ถ้าสายป่านยาวไม่พอล่มสลายแน่ ๆ ดังนั้น ภาครัฐต้องหามาตรการเยียวยา

ขณะที่นายเสถียร เศรษฐสิทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คาราบาว กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CBG ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มชูกำลัง คาราบาว กล่าวในเรื่องนี้ว่า หลังการล็อกดาวน์ 14 วัน ประเมินว่าสถานการณ์การระบาดจะยังไม่คลี่คลาย และคาดว่าโควิด-19 จะอยู่กับคนไทยไปอีก 1-2 ปีข้างหน้า ซึ่งการล็อกดาวน์ดังกล่าวเป็นมาตรการแก้ไขปัญหาระยะสั้น แต่ในระยะยาวสิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไขคือ การกระจายวัคซีนให้ครอบคลุมให้เร็วที่สุด เพื่อเรียกความเชื่อมั่นกลับมา จากการบริหารการจัดการที่ล่าช้า โดยขณะนี้ประชาชนต่างวิตกกังวลเรื่องการระบาดกับจำนวนตัวเลขที่พุ่งสูงขึ้น และตัวเลขผู้ติดเชื้อจริงที่ไม่รับรู้ ที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและการใช้ชีวิตประจำวัน

เช่นเดียวกับนางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย ที่กล่าวว่า มาตรการล็อกดาวน์ที่รัฐบาลกำหนด 14 วัน อาจจะไม่เพียงพอในการที่จะควบคุมการระบาดของโควิดที่กำลังรุนแรงในขณะนี้ โดยส่วนตัวมองว่าอาจจะต้องขยายเวลาต่อเนื่องไปจนถึงเดือนตุลาคม เพื่อให้สามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้ แน่นอนว่า สำหรับธุรกิจร้านอาหารก็จะได้รับผลกระทบมาต่อเนื่องยาวนานมากขึ้น ในนามของสมาคม

นอกจากนี้ต้องการให้ภาครัฐช่วยเยียวยาในส่วนค่าน้ำ ค่าไฟ และการลดหย่อนภาษี เพื่อพยุงผู้ประกอบการ พร้อมเพิ่มสินเชื่อให้เอสเอ็มอีเพิ่มเติมจากที่ธนาคารออมสินปล่อยกู้มาแล้ว อีกด้านหนึ่งอยากให้รัฐนำโมเดลคนละครึ่งมาใช้ในพื้นที่ควบคุม 10 จังหวัด รวมถึงภาคใต้ที่ได้รับผลกระทบการล็อกดาวน์ ด้วยการให้ประชาชนหรือลูกค้าสามารถใช้สิทธิคนละครึ่งในการชำระค่าบริการผ่านฟู้ดดีลิเวอรี่ทุกแพลตฟอร์มได้ เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนทั้งร้านค้า และประชาชนโดยไม่ต้องไปสแกนที่หน้าร้าน