เร่งช่วยเหลือพื้นที่อุทกภัย ตาก-เลย เผยพายุเจิมปากาเพิ่มน้ำ 3,500 ล้าน ลบ.ม.

กรมชลประทาน เดินหน้าเก็บกักน้ำในเขื่อนใหญ่และกลางทั่วประเทศ หลังพายุ “เจิมปากา” ส่งผลดีต่อปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ ทั้งประเทศ เพิ่มมากขึ้นรวมกันกว่า 3,500 ล้าน ลบ.ม. พร้อมเร่งช่วยเหลือพื้นที่ประสบอุทกภัย อุทกภัย 2 จังหวัด ตาก-เลย มีน้ำเอ่อล้นตลิ่งเริ่มลดลง กอนช.เตือนเฝ้าระวังฝนตกหนัก เสี่ยงน้ำหลาก ทุกภาค 30 ก.ค.-5 ส.ค.นี้

วันที่ 30 กรกฎาคม นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากการติดตามสภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าในช่วงนี้ยังคงมีมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังค่อนข้างแรง ส่งผลทำให้เกิดฝนตกหนักบางแห่งในภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ซึ่งส่งผลดีต่อปริมาณน้ำในเขื่อนเพิ่มมากขึ้น โดยในช่วงระหว่างวันที่ 20-30 ก.ค. 64 ที่ได้รับอิทธิพลจากพายุ “เจิมปากา” ทำให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง รวมกันทั้งประเทศแล้วกว่า 3,500 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งได้เน้นย้ำให้ทุกโครงการชลประทานบริหารจัดการน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม ควบคู่ไปกับการเก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุด โดยไม่ให้กระทบต่อพื้นที่ด้านท้าย

ปัจจุบัน (30 ก.ค. 64) สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดใหญ่ทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำเก็บกักรวมกัน 36,458 ล้าน ลบ.ม. หรือ 48 % ของความจุอ่างรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 12,529 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีก 39,609 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยฯ และป่าสักฯ) มีปริมาณน้ำเก็บกักรวมกัน 7,934 ล้าน ลบ.ม. หรือ 32 % ของความจุอ่างรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 1,238 ล้าน ลบ.ม.

ในส่วนของสถานการณ์น้ำท่าในลุ่มน้ำเจ้าพระยา แม่น้ำปิง แม่น้ำวัง แม่น้ำยม และแม่น้ำน่าน ระดับน้ำยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในขณะที่แม่น้ำเจ้าพระยาที่สถานีวัดน้ำท่า C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่านได้ 308 ลบ.ม./วินาที ต่ำกว่าตลิ่ง 8.37 เมตร มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน

สำหรับสถานการณ์อุทกภัย ปัจจุบันมีพื้นที่ประสบอุทกภัย 2 จังหวัด ได้แก่ จ.ตาก น้ำจากแม่น้ำเมย ได้เอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมชุมชนพื้นที่ลุ่มต่ำในเขตเทศบาลนครแม่สอด และเทศบาลตำบลท่าสายลวด มีระดับน้ำสูงประมาณ 0.5 – 1.3 เมตร และ อ.พบพระ บ้านมอเกอร์ไทย ม.1 ต.วาเล่ย์ ระดับน้ำสูงประมาณ 0.5-1 เมตร ขณะนี้ระดับน้ำในแม่น้ำเมยและลำห้วยธรรมชาติต่างๆ เริ่มลดลงแล้ว

ส่วนที่ จ.เลย มีน้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ในเขตตัวเมืองด่านซ้าย บ้านนาเวียง บ้านนาหอ และบ้านนาหมูม่น เนื่องจากเกิดน้ำป่าไหลหลากในลำน้ำหมันและลำน้ำห้วยศอก ที่ไหลมารวมกันที่บริเวณ อ.ด่านซ้าย ปัจจุบันปริมาณน้ำในลำน้ำหมัน มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบอย่างทั่วถึง พร้อมกับบูรณาการทำงานร่วมกันในการเข้าไปให้ความช่วยเหลือประชาชน และเร่งทำการระบายน้ำออกจากพื้นที่โดยเร็ว คาดว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติในเร็ววันนี้ หากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่มในพื้นที่

ขณะเดียวกัน กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ออกประกาศฉบับที่ 7/2564 ณ วันที่ 30 กรกฎาคม 2564 เรื่อง เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำล้นตลิ่ง และอ่างเก็บน้ำ จากการติดตามสภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าอิทธิพลของมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นกับมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ในช่วงวันที่ 30 กรกฎาคม – 5 สิงหาคม 2564

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้ประเมินสถานการณ์น้ำจากฝนคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา
และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) มีพื้นที่เสี่ยงฝนตกหนัก เฝ้าระวังน้ำไหลหลาก
ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชน และพื้นที่การเกษตรริมลำน้ำในช่วงวันที่ 30 กรกฎาคม – 5 สิงหาคม 2564 ดังนี้

1. เฝ้าระวังน้ำหลาก ดินถล่ม ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก น่าน กาญจนบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา กระบี่ และตรัง

2. เฝ้าระวังระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้น กระทบพื้นที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำ

2.1 ภาคตะวันออก อ่างเก็บน้ำทับลาน จังหวัดปราจีนบุรี อ่างเก็บน้ำบ้านมะนาว อ่างเก็บน้ำด่านชุมพล อ่างเก็บน้ำห้วยแร้ง และอ่างเก็บน้ำคลองสะพานหิน จังหวัดตราด

2.2 ภาคตะวันตก อ่างเก็บน้ำห้วยสงสัย จังหวัดเพชรบุรี

2.3 ภาคใต้ อ่างเก็บน้ำคลองหาดส้มแป้น จังหวัดระนอง อ่างเก็บน้ำคลองแห้ง จังหวัดกระบี่

3. เฝ้าระวังระดับน้ำในลำน้ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นล้นตลิ่งและท่วมขังบริเวณที่ลุ่มต่ำ

3.1 ภาคเหนือ บริเวณห้วยแม่ตื่น อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ลำน้ำว้า อำเภอเชียงกลาง จังหวัดน่าน แม่น้ำยวม อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน แม่น้ำเมย อำเภอแม่ระมาด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และลำน้ำแควน้อย อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก

3.2 ภาคตะวันออก บริเวณแม่น้ำปราจีนบุรี อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี แม่น้ำบางปะกง อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี คลองวังโตนด อำเภอนายายอาม จังหวัดจันทบุรี คลองจันทบุรี อำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี คลองฉมัน อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี และแม่น้ำตราด อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด

3.3 ภาคใต้ บริเวณคลองหลังสวน อำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร คลองหาดส้มแป้น อำเภอเมือง จังหวัดระนอง และคลองตะกั่วป่า อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา

ในการนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ดังนี้

1. ติดตามสภาพอากาศและสภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำ

2. พิจารณาบริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 95 หรือเกณฑ์ควบคุมสูงสุด (Upper Rule Curve) เพื่อมิให้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายอ่างเก็บน้ำรวมทั้งใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเป็นแก้มลิง หน่วงน้ำและรองรับน้ำหลาก