ปตท. ลุยปั้นฮับผลิต “รถอีวี” ดึง “ฟ็อกซ์คอนน์” ร่วมลงทุน 40%

รถอีวี

ปตท.ปักธงผู้เล่นรายใหญ่ “รถยนต์ไฟฟ้า” ครบวงจร กางโรดแมปทั้งผู้ผลิต-ทำตลาดกระตุ้นดีมานด์ในประเทศ คิกออฟร่วมทุน “ฟ็อกซ์คอนน์” ยักษ์ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์โลกสัดส่วน 60/40 เดินหน้ายื่น BOI ลงทุนโรงงานชิ้นส่วนและประกอบรถอีวีในพื้นที่อีอีซี ประเดิมปีแรก 30,000 คัน เผยโมเดล “โออีเอ็ม” ผลิตป้อนค่ายรถ “จีน-สหรัฐ” ดันไทยฐานผลิตอีวีของภูมิภาค พร้อมเปิดแพลตฟอร์ม “EVme” สร้างอีโคซิสเต็มส่งเสริมคนไทยเข้าถึง-ใช้รถอีวีมากขึ้น

แผนขยายการลงทุน “ธุรกิจใหม่” ของ บมจ.ปตท. ในช่วง 5 ปีข้างหน้า (2564-2568) โดยได้วางกรอบงบประมาณลงทุนไว้ 8.65 แสนล้านบาท ซึ่งไม่เพียงหวังสร้างการเติบโตสู่ธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต (future energy) แต่ยังต้องการเป็นฟันเฟืองหลักนำพาประเทศไปสู่ “โลว์คาร์บอนโซไซตี้”

ล่าสุด ปตท.เริ่มขับเคลื่อนการลงทุนเพื่อต่อยอดธุรกิจใหม่ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) โดยเมื่อ 22 ก.ค. 2564 ได้จัดตั้งบริษัทน้องใหม่ “อรุณ พลัส” เป็นธุรกิจย่อยที่ ปตท.ถือหุ้น 100% เพื่อดำเนินธุรกิจ EV value chain รองรับการขยายตัวสู่ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร

เปิดนโยบายลงทุนอีวี ปตท.

นายนพดล ปิ่นสุภา รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและดิจิทัล ในฐานะรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อรุณ พลัส จำกัด ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงนโยบายการพัฒนาธุรกิจอีวีว่า ธุรกิจใหม่จะมาช่วยเสริมทิศทาง ปตท.เรื่องฟิวเจอร์เอ็นเนอร์ยี่ และจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้รถ ZEV (zero emission vehicle) เพื่อบรรลุเป้าหมาย “โลว์คาร์บอนโซไซตี้” เช่นเดียวกับทั่วโลก และบริษัทชั้นนำของโลกกว่า 3,000 บริษัทมุ่งสู่ด้านนี้

อีวีแวลูเชนเป็นเป้าหมายสำคัญในธุรกิจใหม่ของ ปตท. ด้วยความที่เราเป็นบริษัทพลังงานขนาดใหญ่ของประเทศ มีความพร้อมหลาย ๆ เรื่อง ทั้งเทคโนโลยีและเครือข่าย ทำให้สามารถตอบสนองเรื่องนี้ได้อย่างรวดเร็ว ปัจจุบันมีบริษัทในกลุ่มสามารถครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เช่น GPSC เป็นหลักในการพัฒนาและผลิตแบตเตอรี่ OR ให้บริการจุดชาร์จรถอีวีตามสถานีบริการ ถือเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ทั้งภาพรวมของโลกและประเทศ

สำหรับนโยบายธุรกิจอีวีของ ปตท.จะแบ่งเป็น 2 ด้าน คือฐานการผลิตรถอีวี และในด้านการตลาดเพื่อส่งเสริมการสร้างดีมานด์ผู้ใช้รถอีวีในประเทศไทย โดยการสร้างแพลตฟอร์ม “EVme” มุ่งสร้าง ecosystem เพื่อให้คนเข้าถึงรถอีวี เพิ่มความสะดวกและความคุ้นเคยในการใช้งาน เช่น การเปิดให้บริการเช่าใช้รถอีวีแบรนด์ต่าง ๆ ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงของการทดลองให้บริการเฉพาะกลุ่ม

คิกออฟตั้งบริษัท JV ฟ็อกซ์คอนน์

นายนพดลกล่าวว่า ภายในเดือนสิงหาคมนี้ บริษัทจะลงนามสัญญาตั้งบริษัทร่วมทุน (joint venture) กับ “ฟ็อกซ์คอนน์” ยักษ์ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของจีน เพื่อตั้งโรงงานผลิตแพลตฟอร์มชิ้นส่วนสำคัญของรถอีวี รวมถึงการเป็นโรงงานประกอบรถอีวี โดยจะถือเป็นฐานผลิตอีวีแห่งที่ 2 ของฟ็อกซ์คอนน์ที่อยู่นอกประเทศจีน จากก่อนหน้านี้ได้ไปเริ่มที่สหรัฐ โดยบริษัทร่วมทุนนี้อรุณพลัสถือหุ้นสัดส่วน 60% ฟ็อกซ์คอนน์ถือหุ้น 40% ด้วยงบฯลงทุนช่วงแรก 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 31,000 ล้านบาท) และมีโอกาสจะขยายการลงทุนได้ถึง 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (หรือราว 62,000 ล้านบาท)

“ฟ็อกซ์คอนน์เป็นยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของโลก และเพิ่งเริ่มขยายการลงทุนสู่ธุรกิจอีวี โดยมีความร่วมมือกับฟ็อกซ์คอนน์เมื่อเดือน พ.ค. 64 นำไปสู่การตั้งบริษัทร่วมทุน โดยคอนเซ็ปต์การร่วมทุนนี้เรียกกว่า BOL หรือ build operate localize คือจะนำเทคโนโลยีจากฟ็อกซ์คอนน์ทำตัวแพลตฟอร์มผลิตชิ้นส่วนที่สำคัญ แล้วก็จะ operate การทำงานร่วมกัน รวมถึงการพยายามจะโลคอลไลซ์ชิ้นส่วนในประเทศ เพื่อสร้างซัพพลายเชนรถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศ รักษาความแข็งแกร่งและความได้เปรียบของประเทศในด้านการเป็นฐานผลิตรถยนต์ไว้ จากที่ปัจจุบันประเทศไทยเป็นผู้ผลิตรถยนต์สันดาปภายในอันดับ 1 ในอาเซียน และอันดับ 4 ในเอเชีย และส่งออกไป 15 ประเทศทั่วโลก”

ยื่น BOI ตั้งฐานผลิตอีวี

สำหรับแผนการผลิตหลังจากลงนามร่วมทุนในปลายเดือนสิงหาคมนี้ ก็จะมีการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ภายใต้โครงการ EV2

และเมื่อฟ็อกซ์คอนน์เข้ามาเป็นพันธมิตรอย่างเป็นทางการก็จะมีการศึกษาเชิงลึก คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างโรงงานในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ได้ในปีหน้า โดยช่วง 1-2 ปีแรกจะเป็นการลงทุนพัฒนาโรงงาน จากนั้นปี 2566 คาดว่าจะเริ่มมีรถอีวีที่ใช้แพลตฟอร์มจากบริษัทร่วมทุนดังกล่าวออกมา แล้วจะค่อย ๆ สเกลอัพ คาดว่าปีที่ 5 จะสามารถสร้างผลประกอบการคืนกลับสู่บริษัทแม่ได้

โดยกำลังการผลิตของโรงงานแห่งนี้คาดว่าในช่วงปีแรกจะมีกำลังผลิต 30,000 คันต่อปี และทยอยเพิ่มขึ้นเป็น 50,000 คันต่อปี และตั้งเป้าว่าในปี 2573 (2030) จะมีกำลังการผลิต 120,000คันต่อปี จากที่รัฐบาลมีเป้าหมายจะผลักดันให้ตลาดรถยนต์ในประเทศ 30% หรือประมาณ 700,000 คัน เป็นตลาดรถอีวี ซึ่งก็จะทำให้ ปตท.กลายเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดอีวีของประเทศไทยด้วย

ผลิตป้อนค่ายรถจีน-สหรัฐ

นายนพดลอธิบายว่า โมเดลธุรกิจของบริษัทร่วมทุนดังกล่าวจะเป็นลักษณะ “โออีเอ็ม” ไม่ได้เป็นการผลิตภายใต้แบรนด์ ปตท.หรือฟ็อกซ์คอนน์ แต่เป็นการผลิตรถอีวีป้อนให้แบรนด์ต่าง ๆ ที่เป็นพันธมิตรฟ็อกซ์คอนน์ ซึ่งมีทั้งค่ายรถจีนและสหรัฐ

สำหรับแผนการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของ ปตท.มีสองส่วนหลัก ๆ คือ “สเก็ตบอร์ด” ที่เป็นแพลตฟอร์มรถยนต์ที่มีความยืดหยุ่น ขยายฐานกว้าง-ยาว-สูง หรือปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้ ทำให้แผนการผลิตรถอีวีจะมีความหลากหลายรองรับได้ทั้งรถขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ รถยกสูง หรือรถเอสยูวีก็ผลิตได้ ส่วนตัวถังและอุปกรณ์ภายในก็แล้วแต่แบรนด์จะออกแบบพัฒนาตามความต้องการ โดยฟ็อกซ์คอนน์มีเทคโนโลยีแพลตฟอร์มรถยนต์ที่เป็นทั้งฮารด์แวร์และซอฟต์แวร์ด้วย เหมือนกับเป็นคอมพิวเตอร์ติดล้อ ด้วยความเชี่ยวชาญ การซอร์ซซิ่งหาชิ้นส่วนจะมีประสิทธิภาพ และมีความเหมาะสม ช่วยให้เราทำต้นทุนการผลิตทำได้ถูกลงและใช้เวลาน้อยลงจาก 3-4 ปี เหลือแค่ 1-2 ปีเท่านั้น

“ถ้าเราสามารถสร้าง ecosystem ในประเทศเพื่อดึงนักลงทุน ต่างประเทศเข้ามาทำให้เกิดการลงทุนสร้างความแข็งแรงให้ประเทศได้ จะเป็นการสร้างโอกาสให้กับธุรกิจไทยทั้งซัพพลายเชน สร้างงาน สร้างรายได้ให้ประเทศ ขณะเดียวกันผู้บริโภคจะได้ประโยชน์มาก เพราะจะทำให้เกิดความหลากหลายของสินค้า เกิดโมเดลที่เหมาะสมกับการใช้ของผู้บริโภค ทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคา ซึ่งจะปรับลดลงอย่างแน่นอน”

แพลตฟอร์ม EVme ต้นปี’65

นายนพดลกล่าวเพิ่มเติมถึงด้านการทำตลาดในการทำ “ดีมานด์ครีเอชั่น” บริษัทอรุณพลัสได้ตั้ง “อีวี มี พลัส” เพื่อให้บริการ “ดิจิทัล แพลตฟอร์ม” ชื่อ “EVme” ขึ้นมา ด้วยทุนจดทะเบียน 1,000 ล้านบาท เพื่อให้คนสามารถเข้าถึงรถอีวีง่ายขึ้น โดยขณะนี้อยู่ระหว่างทดลองให้บริการ ก่อนจะรวบรวมข้อมูลเพื่อปรับปรุงและพัฒนาบริการ คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในสิ้นปีนี้ หรือต้นปีหน้า

“หลังจากที่วางแผนด้านการผลิตโดยร่วมกับพาร์ตเนอร์ที่มีประสบการณ์แล้ว เราก็คิดว่าจำเป็นต้องสร้างแพลตฟอร์มที่เป็น go to market platform ขึ้นมา เพื่อให้คนสามารถเข้าถึงและมีความคุ้นเคยในการใช้รถอีวี เป็นการสร้างประสบการณ์ให้ผู้ใช้รู้สึกสะดวกสบาย มั่นใจในการใช้งาน โดยแพลตฟอร์มนี้ก็จะมีการสร้างอีโคซิสเต็มให้กับผู้ใช้งาน ตั้งแต่การเปิดให้เช่าใช้รถอีวีเป็นช่วงเวลา โดยมีรถหลากหลายโมเดลให้เลือก การแสดงจุดบริการสถานีชาร์จที่มีอยู่ทั่วประเทศ รวมถึงการให้บริการต่าง ๆ เพื่อลดข้อกังวลที่เป็น pain point ที่อาจทำให้ไม่กล้าซื้อ”

ทั้งนี้จะเป็นโอเพ่นแพลตฟอร์ม จับมือกับพันธมิตรส่วนต่าง ๆ ทั้งค่ายรถ เจ้าของสถานีชาร์จต่าง ๆ เพื่อร่วมกันสร้างอีโคซิสเต็ม และเป้าหมายผู้ใช้งานไม่ใช่แค่ลูกค้า B2C แต่มองไปที่ B2B ด้วย เช่น พวกผู้ให้บริการไรด์แชริ่ง หรือฟู้ดดีลิเวอรี่ทั้งหลาย ที่สนใจปรับทิศทางมาเป็นรถยนต์ไฟฟ้าใช้พลังงานสะอาด ทุกคนสามารถติดต่อมาได้ พร้อมที่จะเข้าไปคุย เราเตรียมความพร้อมเรื่องนี้ไว้รองรับด้วย”

ดึงคนนอกร่วมทีมบุกรถอีวี

นายนพดลกล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ทาง ปตท.ได้เตรียมพร้อมเรื่องบุคลากรเพื่อรองรับธุรกิจใหม่เรื่องยานยนต์พลังงานไฟฟ้าไว้บางส่วนแล้ว รวมถึงการดึงคนนอกที่มีประสบการณ์ในธุรกิจยานยนต์เข้ามาร่วมงาน นอกจากการลงทุนเรื่องยานยนต์ไฟฟ้าแล้ว ทาง ปตท.ก็มีการศึกษาเทคโนโลยีพลังงานสะอาดอื่นด้วย อย่างพลังงานไฮโดรเจน เพราะตามนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริม zero emission vehicle ไม่ใช่แค่รถอีวี