สินค้าจาก “พลาสติกชีวภาพ” กระแสความนิยมโลก แนะเอกชนไทยผลิตป้อนตลาด

สนค.แนะผู้ประกอบการพลาสติกไทย ปรับตัวผลิต “พลาสติกชีวภาพ” ชี้ตลาดต้องการสูง เหตุคนให้ความสำคัญกับการปกป้องสิ่งแวดล้อมโลก เผยไทยยังมีข้อได้เปรียบเป็นแหล่งวัตถุดิบในการผลิตที่สำคัญ ทั้งอ้อย มันสำปะหลัง และข้าวโพด

วันที่ 2 กันยายน 2564 นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค.ได้ศึกษาแนวโน้มการใช้พลาสติกชีวภาพของโลก พบว่ามีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะทั่วโลกตระหนักว่าการใช้พลาสติกจากอุตสาหกรรมปิโตรเลียมแบบเดิม เป็นการทำลายสิ่งแวดล้อม ย่อยสลายในธรรมชาติได้ยาก และเป็นตัวเร่งก่อให้เกิดสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง แต่การขับเคลื่อนด้วยนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG Model จะเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนาคต

ภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์

ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีการนำพลาสติกชีวภาพมาใช้แล้วเกือบร้อยละ 1 ของปริมาณการใช้พลาสติกแบบดั้งเดิม 368 ล้านตันต่อปี โดยอยู่ในรูปแบบผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์มากที่สุด รองลงมาเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค เสื้อผ้าและสิ่งทอ ภาคเกษตรกรรม และอุตสาหกรรมยานยนต์และขนส่ง โดยในปี 2562 มีการผลิตพลาสติกชีวภาพทั่วโลกปริมาณ 2.11 ล้านตัน และคาดว่าในปี 2568 จะมีการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 2.87 ล้านตัน

นายภูสิตกล่าวว่า การผลิตพลาสติกชีวภาพประกอบด้วยอุตสาหกรรมต้นน้ำ เป็นการผลิตกลูโคสเหลว โดยใช้วัตถุดิบจากแป้งมันสำปะหลัง ข้าวโพด ข้าวสาลี มันฝรั่ง และอ้อย ซึ่งไทยมีความได้เปรียบ เพราะเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบสำคัญที่นำมาใช้ได้เกือบทั้งหมด อุตสาหกรรมกลางน้ำ เป็นการผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพ และอุตสาหกรรมปลายน้ำ เป็นการใช้เม็ดพลาสติกชีวภาพมาขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ซึ่งอุตสาหกรรมต้นน้ำ กลางน้ำ ไทยมีการลงทุนบ้างแล้ว แต่ปลายน้ำยังมีไม่มากนัก

“ไทยมีจุดแข็งในการผลิตพลาสติกชีวภาพมาก เพราะมีทรัพยากรที่สมบูรณ์ เป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตร และเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์และส่วนประกอบของพลาสติกรายสำคัญของโลก การพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพเป็นการต่อยอดอุตสาหกรรมดั้งเดิมไปสู่อุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่สร้างมูลค่า สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (2560–2579)

และที่สำคัญ หากมีการลงทุนผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพในไทย โดยใช้น้ำตาลจากอ้อยและแป้งจากมันสำปะหลังมาผลิตเป็นเม็ดพลาสติกชีวภาพ จะส่งผลให้น้ำตาลจากอ้อยและแป้งมันสำปะหลังดังกล่าวมีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึงกว่า 3 เท่า และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้แก่ธุรกิจแปรรูปเม็ดพลาสติก และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องต่าง ๆ ได้เพิ่มขึ้น ทำให้เกษตรกร และผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมมีรายได้เพิ่มขึ้น” นายภูสิตกล่าว

ทั้งนี้ มีการประเมินว่า ในปี 2564 มูลค่าของตลาดอุตสาหกรรมพลาสติกจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 3.1 และการส่งออกคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.7 สำหรับเม็ดพลาสติกชีวภาพที่มีศักยภาพและเป็นที่ต้องการของตลาดคือ เม็ดพลาสติกชนิดพอลิแลกติกแอซิด (PLA) โดยคาดว่า การส่งออก PLA จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.6 ซึ่งไทยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของโลก โดยเม็ดพลาสติกชีวภาพชนิด PLA มีการนำไปผลิตเป็นสินค้าประเภทใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เช่น แก้วน้ำ หลอด ช้อน ส้อม และในต่างประเทศมีการนำไปผลิตก้นกรองบุหรี่ เป็นต้น

สำหรับแนวโน้มตลาดของผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพของโลก พบว่ามีความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์อ่อนตัว (Flexible packaging) 555,000 ตัน บรรจุภัณฑ์แบบคงรูป (Rigid packaging) 443,000 ตัน สินค้าโภคภัณฑ์ 258,500 ตัน สิ่งทอ 241,000 ตัน ภาคเกษตร 163,500 ตัน ยานยนต์และขนส่ง 121,000 ตัน อาคารและก่อสร้าง 85,500 ตัน ผลิตภัณฑ์เคลือบพื้นผิวและสารเติมแต่ง 74,500 ตัน สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ 67,500 ตัน และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ อีกประมาณ 101,000 ตัน ขณะที่ความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม

จากฐานข้อมูล Mintel พบว่า มีการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่ปี 2561 โดยในปี 2563 ขยายตัวจากปี 2562 ร้อยละ 28.75 ส่วนใหญ่พบในบรรจุภัณฑ์สินค้าอาหารและเครื่องดื่ม ประเภทเบเกอรี่ อาหารทานเล่น อาหารเช้าประเภทซีเรียล เครื่องปรุงและซอส และของหวานและไอศกรีม ตามลำดับ โดยผลิตภัณฑ์น้ำดื่ม เครื่องปรุงและซอส ของหวานและไอศกรีม และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ขยายตัวสูงสุด

นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลตลาดพลาสติกชีวภาพ โดย Allied Market Research ระบุว่า ตลาดพลาสติกชีวภาพในปี 2560 มีมูลค่า 21,126.31 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าจะเติบโตเป็น 68,577.25 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2567 คิดเป็นอัตราการเติบโตร้อยละ 18.8 ต่อปี และรายงานของ Euromonitor ในปี 2560

พบว่าประชาชนในสหภาพยุโรป โดยเฉพาะในฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร และเยอรมนี จํานวนร้อยละ 75 จ่ายเงินเพิ่มขึ้น เพื่อซื้อสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ จึงถือเป็นโอกาสของไทยที่จะต่อยอด โดยนำพลาสติกชีวภาพมาเป็นส่วนประกอบในสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการผลิตและการส่งออกอยู่เดิม เช่น กลุ่มสินค้าเกษตรและอาหารแปรรูป สิ่งทอ และยานยนต์