CPF ฟื้นร้านอาหารหมื่นล้าน อานิสงส์คลายล็อก-ส่งเมนูกัญชงเข้าเชสเตอร์

ร้านอาหารใต้ปีกซีพีเอฟ

อานิสงส์คลายล็อกดาวน์ หนุนธุรกิจร้านอาหารใต้ปีก CPF หมื่นล้าน “ฮาร์เบอร์บุฟเฟต์” คืนชีพ เตรียมแผนเสิร์ฟเมนูสารสกัดกัญชง นำร่องร้านเชสเตอร์ มั่นใจรายได้ครึ่งปีหลังฟื้น กางแผนกลยุทธ์ลงทุนธุรกิจหมูรัสเซียเชื่อมสู่ตลาดจีน

นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ธุรกิจร้านอาหารในเครือซีพีเอฟได้รับผลดีจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ให้สามารถกลับมานั่งรับประทานอาหารในร้านได้ ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 ซึ่งประเมินว่ายอดขายน่าจะดีขึ้น โดยร้านอาหารหลักของกลุ่ม คือ เชสเตอร์ ไก่ย่าง 5 ดาว ร้านอาหารเกาหลีดัคกาลบี้ และภัตตาคารบุฟเฟต์ Harbour Restaurant (ไห่หลาย ฮาร์เบอร์)

ประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ
ประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)

“ที่ผ่านมาจากผลกระทบโควิด ทำให้ร้านอาหารต้องหยุดให้บริการรับประทานในร้าน โดยเฉพาะร้านบุฟเฟต์อาหารฮาร์เบอร์ที่เพิ่งเปิดบริการสาขาแรกที่ไอคอนสยามเมื่อต้นปี 2563 ได้แค่ 2 เดือน ก็มาเจอกับโควิดต้องปิด ตอนนี้ก็กลับมาเปิดใหม่”

“อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญ คือ ต้องประเมินสถานการณ์ของโควิดอย่างใกล้ชิด หลังจากมีการแพร่ระบาดเชื้อสายพันธุ์ใหม่ ต้องประเมินอีกครั้งว่าในช่วงปลายปีที่มีเทศกาลปีใหม่จะมีการใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกหรือไม่ ตอนนี้เราประเมินว่าก็ดีขึ้นและได้เห็นข้อมูลว่าจะมีการนำเข้าวัคซีนเข้ามาในแต่ละเดือนเพิ่มขึ้นก็น่าจะส่งผลดีทำให้คนสามารถผ่อนคลาย ไม่เช่นนั้นกิจกรรมต่าง ๆ ทำไม่ได้ก็จะแย่หมด”

โดยหลังจากนี้หากประเมินว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดคลี่คลายลง ทางบริษัทได้มีแผนจะเปิดตัวอาหารที่ผลิตโดยมีส่วนผสมจากสารสกัดของกัญชง เริ่มในร้านอาหารเชสเตอร์ก่อนเป็นอันดับแรก หลังจากที่บริษัทได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกับสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสมจากกัญชงไปก่อนหน้านี้

“คิดว่าจะทำเป็นอาหารขายที่ร้านอาหารเชสเตอร์ของเราก่อน เพราะแม้ว่าจะมีการผลิตจากส่วนผสมกัญชงจะไม่อยู่ในข่ายอาหารสำเร็จรูปไม่เข้าข่ายการกำกับดูแลตามประกาศของคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่ออกมาก่อนหน้านี้ ซึ่งเราได้รับข้อมูลมาว่า การอนุญาตให้กับบางไอเท็มเท่านั้น ยังไม่ครอบคลุมถึงอาหารสำเร็จรูป กาแฟ เครื่องดื่ม หรือพวก energy drink ส่วนการทดลองจำหน่ายจะเริ่มได้เมื่อไรขึ้นอยู่กับปัจจัยเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด”

สำหรับภาพรวมธุรกิจร้านอาหารคิดเป็นประมาณ 2% หรือ 10,000 ล้านบาท จาก revenue รวมซีพีเอฟทั้งหมด ที่มีประมาณ 5 แสนล้านบาท

“คนคุ้นเคยกับซีพีเอฟในประเทศไทย แต่จริง ๆ แล้ว ส่วนของในประเทศน้อยเมื่อเทียบกับสัดส่วนของรายได้จากต่างประเทศ ซึ่งตอนนี้อัตราเติบโต (growth) มาจากต่างประเทศเป็นหลัก ส่วนในประเทศไทยเองก็มี growth แต่น้อย ที่บอกว่าต่างประเทศสามารถเติบโตได้เยอะเพราะว่าฐานในไทย 1 แสนล้านแล้ว ขณะที่ประเทศอื่นบางประเทศเราเพิ่งไป มีรายได้ 2-3 หมื่นล้าน ยังมีช่องทางที่จะสามารถขยายธุรกิจได้อีกมาก”

นายประสิทธิกล่าวว่า ในช่วงครึ่งปีหลังภาพรวมของ revenue มีแนวโน้มดีขึ้นจากสัดส่วนรายได้ที่มาจากต่างประเทศเป็นผลจากการขยายการลงทุนเข้าไปยังหลาย ๆ ประเทศ ล่าสุดจากการที่บริษัท LLC RBPI Voronezh บริษัทย่อยของ CPF ได้เข้าซื้อธุรกิจสุกรในประเทศรัสเซียจากผู้ขายทั้ง Tönnies Russland Agrar GmbH และ RKS Agrarbeteiligungs GmbH และ Tönnies Holding ApS & Co. KG ซึ่งเป็นบริษัทจํากัดที่จัดตั้งขึ้นภายใต้กฎหมายของประเทศเยอรมนี โดยมีมูลค่าการลงทุน 9,900 ล้านบาท การเข้าทำธุรกรรมครั้งนี้แล้วเสร็จจะเป็นการต่อยอดฐานการผลิตสินค้าอีกแห่งในยุโรป

“การลงทุนครั้งนี้จะสามารถต่อยอดได้หลายอย่าง คือ รัสเซียเป็นฐานผลิตในยุโรปที่มีองค์ความรู้มาตรฐานการผลิตแบบยุโรป ซึ่งโดยปกติตลาดยุโรปส่วนใหญ่จะใช้การส่งออกไป บริษัทมีฐานการผลิตอยู่ที่โปแลนด์ เป็นแหล่งผลิตไก่ หมู ฟีดมีล ข้าวกล่องเพื่อส่งเข้าในยุโรป ส่วนที่เหลือก็จะเป็นสำนักงานขาย (sales office) มีโรงงานอังกฤษที่เป็น assembly line คือนำเอาชิ้นส่วน เนื้อที่สุกแล้วมาประกอบ ถ้ามาผลิตที่อังกฤษทั้งหมดจะไม่คุ้มเนื่องจากมีต้นทุนค่าแรงที่สูงกว่า”

เป้าหมายการลงทุนครั้งนี้เพื่อการผลิตรองรับกลุ่มผู้บริโภคในตลาดรัสเซียเป็นหลัก เพราะแค่เพียงตลาดรัสเซียก็ถือว่าใหญ่มากแล้ว จำนวนประชากรในรัสเซียมีจำนวนมาก ทั้งนี้ ฐานผลิตที่รัสเซียอาจจะส่งเข้ายุโรปไม่ได้เหมือนกับทางโปแลนด์ แต่สามารถที่จะส่งมาทางจีนได้ ก่อนหน้านี้ทางบริษัทได้เข้าไปลงทุนในรัสเซียมานานแล้ว เนื่องจากปริมาณการผลิตเนื้อสัตว์ในรัสเซียไม่เพียงพอกับการบริโภคในประเทศ จากบริษัทก็ขยาย volume เพิ่มขึ้น ต่อเนื่องมาจนถึงการลงทุนครั้งนี้

“ภาพรวมรีเวนิวครึ่งปีหลังจะดีขึ้น เพราะแนวโน้มเปิดตลาดแล้ว จะกล้ามาจับจ่ายใช้สอยมากยิ่งขึ้น สุดท้ายมันก็ขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศที่ไปลงทุนว่าได้รับผลกระทบจากโควิดหรือไม่ อย่างเช่นปลายปีก่อนโควิดเข้ามาช่วงปลายปีก็กระทบกับสต๊อกที่เตรียมไว้ขายลำบาก ตอนนี้ทุกคนระวัง”