ศบค.พบ 318 คลัสเตอร์ติดเชื้อโควิด จับตา “ร้านอาหาร” หลังคลายล็อก

ตรวจโควิด-ATK

ศบค.พบคลัสเตอร์ที่ยังแอคทีฟหรือพบผู้ติดเชื้ออยู่จำนวน 318 คลัสเตอร์ ระบุส่วนใหญ่ อยู่ในพื้นที่ภาคกลาง เป็นสถานประกอบการ โรงงาน และแคมป์ก่อสร้าง ชี้ยอดป่วยหนัก-เสียชีวิตลดลงชัดเจน พบหญิงท้อง-เด็กเล็กเสียชีวิตรวม 4 ราย และตายที่บ้าน 1 ราย จับตาคลัสเตอร์ร้านอาหารหลังคลายล็อก เตรียมกระจายชุดตรวจ ATK  2.4 ล้านชิ้นให้ 6 กลุ่มเสี่ยง ขู่ลงโทษแคมป์ไม่เข้มงวด

วันที่ 8 กันยายน 2564 ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ของรัฐบาล(ศบค.) นายแพทย์เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แถลงสถานการณ์ประจำว่า วันนี้สถานการณ์การติดเชื้อ COVID-19 ในประเทศ ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 มีผู้ป่วยรายใหม่ 14,176 ราย หายป่วยแล้ว 1,138,938 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 1,293,656 ราย เสียชีวิตสะสม 13,417 ราย

 นายแพทย์เฉวตสรร นามวาท
นายแพทย์เฉวตสรร นามวาท

ส่วนข้อมูลสะสมตั้งแต่ปี 2563 มีคนหายป่วยแล้ว 1,166,364 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 1,322,519 ราย เสียชีวิตสะสม 13,511 ราย

ขณะที่วันนี้ที่มีผู้ป่วยกำลังรักษาตัววันนี้มีจำนวน 142,644 ราย อยู่ในรพ. 42,034 ราย รพ.สนามและอื่นๆ 100,610 ราย ในจำนวนนี้อาการหนักจากปอดอักเสบ 4,387 ราย ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 960 คน

สำหรับผู้ขอรับการฉีดวัคซีน ณ วันที่ 7 กันยายน 2564 มีผู้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 399,650 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 424,676 ราย และเข็มที่ 3 จำนวน 1,687 ราย และระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 7 กันยายน 2564 มีผู้รับวัคซีน สะสมทั้งหมด จำนวน 37,461,284 โดส

สหรัฐยอดป่วยกลับมาเพิ่ม หลังไวรัสสายพันธุ์เดลต้าระบาด

ส่วนสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั่วโลก ณ วันพุธที่ 8 กันยายน 2564 เวลา 10.00 น. มียอดผู้ติดเชื้อรวม 222,737,866 ราย อาการรุนแรง 104,636 ราย รักษาหายแล้ว 199,246,415 ราย และเสียชีวิต 4,599,534 ราย

อันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด อันดับ 1.ยังเป็นสหรัฐอเมริกา จำนวน 41,206,672 ราย 2.อินเดีย จำนวน 33,095,450 ราย 3.บราซิล จำนวน 20,913,578 ราย 4.สหราชอาณาจักร จำนวน 7,056,106 ราย 5.รัสเซีย 󠁧󠁢󠁥󠁮󠁧󠁿 จำนวน 7,047,880 ราย โดยประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 29 จำนวน 1,322,519 ราย

“ผู้ติดเชื้อรายใหม่ในสหรัฐกลับมาสูงอีกครั้ง ค่าเฉลี่ยของผู้เสียชีวิตในสหรัฐจะอยู่ที่ 1.300-1,400 ต่อวัน และสหรัฐกลับมามีแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มขึ้น หลังมีการระบาดของไวรัสสายพันธุ์เดลต้า ส่วนทวีปเอเชียอันดับหนึ่งยังเป็นอินเดีย รองลงมาเป็นอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซียที่ยังค่อนข้างสูง” นายแพทย์เฉวตสรรกล่าว

ชี้ไทยป่วยหนัก-เสียชีวิตลดลงชัดเจน

ส่วนอัตราการป่วยในไทย นายแพทย์เฉวตสรรกล่าวว่า ผู้ป่วยอาการหนักในรอบ 7 วันในภาพรวมมีแนวโน้มหรือทิศทางที่ลดลง จากวันที่ 1 กันยายน 4,841 ราย ล่าสุดลดลงเหลือ 4,387 ราย ส่วนใหญ่จะลดลง ยกเว้นพื้นที่ของนครปฐมที่แนวโน้มของผู้ติดเชื้อและอาการหนักสูงขึ้น คือจาก 210 ราย เมื่อวันที่ 1 กันยายน เพิ่มเป็น 238 ราย เมื่อวันที่ 7 กันยายน ยังเป็นส่วนที่ต้องมีการติดตามและให้การดูแลอย่างเต็มที่

ส่วนพื้นที่กทม.และปริมณฑล แม้ภาพรวมจะลดลง แต่ก็ยังสูงอยู่สำหรับผู้ป่วยอาการหนัก (ตามตาราง)

หญิงท้อง-เด็กเล็กเสียชีวิตรวม 4 ราย ตายที่บ้าน 1 ราย

สำหรับผู้เสียชีวิตรายใหม่จำนวน 228 รายในวันนี้ เป็นชาย 113 ราย หญิง 115 ราย เป็นคนไทย 221 คน เมียนมา 3 คน จีน 2 คน ลาว 1 คน อังกฤษ 1 คน ค่ามัธยฐานของอายุอยู่ที่ 69 ปี (6เดือน-100 ปี) ในจำนวนดังกล่าวเป็นผู้เสียชีวิตที่อยู่ในกทม.มากที่สุด 50 คน รองลงมาเป็นจังหวัดปริมณฑล อยู่ที่สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปทุมธานี นครปฐม และนนทบุรี รวม 60 คน

ในจำนวนนี้เป็นผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 165 ราย(72%) อายุน้อยกว่า 60 ปี มีโรคเรื้อรัง 42 ราย (18%) รวม 2 ส่วนคิดเป็น 90% และวันนี้มีหญิงตั้งครรภ์เสียชีวิต 1 ราย อยู่ที่ลพบุรี และมีเด็กเล็ก (0.5-2ปี) เสียชีวิตด้วย 3 ราย อยู่ที่จ.สระบุรี รวมทั้งมีผู้เสียชีวิตที่บ้าน 1 ราย อยู่ใน กทม. ไม่มีประวัติการฉีดวัคซีน (ตามตาราง)

“เพราะฉนั้นพี่น้องที่อยู่ในพื้นที่ต่างๆในช่วงเดือนนี้ที่มีการลงทะเบียนฉีดวัคซีนควรจะรีบลงทะเบียน ขอให้มีการฉีดวัคซีนมากๆ เพราะจากฐานข้อมูลวัคซีนจะช่วยป้องกันการเสียชีวิตได้จริงๆ” นายแพทย์เฉวตสรรกล่าวย้ำ

นายแพทย์เฉวตสรรยังกล่าวต่ออีกว่า แนวโน้มของผู้เสียชีวิตรายใหม่มีแนวโน้มลดลง ทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร นครปฐม ยกเว้นจังหวัดสมุทรปราการที่เพิ่มขึ้นจากวันที่ 2 กันยายนซึ่งอยู่ที่ 9 ราย เพิ่มเป็น 28 ราย เมื่อวันที่ 8 กันยายน ซี่งยังจะต้องระมัดระวังในการดูแลตัวเอง

ส่วนแนวโน้มจำนวนผู้ป่วยในภาพรวมของประเทศเปรียบเทียบกับต่างจังหวัดและกทม.กับปริณฑล เห็นชัดเจนว่า ช่วงปลายสิงหาคมถึงต้นเดือนกันยายนทิศทางในภาพรวมมีแนวโน้มลดลง ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีโดยของต่างจังหวัดคิดเป็น 56% ขณะที่กทม.และปริมณฑลอยู่ที่ 44%

ทั้งนี้มีหลายจังหวัดที่มีการแสดงจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันพบว่า หลายจังหวัดปรับพื้นที่จากส้มเป็นเหลือง จากเหลืองเป็นสีเขียว โดยพื้นที่ในภาคเหนือและภาคอีสานมีการปรับพื้นที่จากสีเหลืองเป็นสีเขียวมากกว่าภาคอื่นมากขึ้น เช่นที่แม่ฮ่องสอน น่าน และอีกหลายจังหวัด ซึ่งต้องชื่นชมที่ทำงานกันอย่างหนัก และมีแนวโน้มการติดเชื้อลดลงอย่างชัดเจน

พบกลุ่มก้อนที่ยังแอคทีฟอยู่ 318 คลัสเตอร์

ส่วน 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด มีเพียงกรุงเทพมหานครเท่านั้น ที่มีผู้ติดเชื้อเกิน 1,000 ราย โดยกทม.มีจำนวนผู้ติดเชื้อ 3,691 ราย สมุทรปราการ 955 ราย ชลบุรี 846 ราย สมุทรสาคร 641 ราย ราชบุรี 528 ราย ระยอง 473 ราย อยุธยา 388 ราย สงขลา 369 ราย นนทบุรี 362 ราย และนราธิวาส 332 ราย

สำหรับกลุ่มก้อนหรือคลัสเตอร์การระบาดที่ยังเจอผู้ป่วยในรอบ 14 วัน ได้แก่การเจอกลุ่มก้อนในสถานประกอบการ โรงงาน แคมป์คนงาน ส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ภาคกลาง คือเขตสุขภาพที่ 4-6 ซึ่งก็จะสอดคล้องกับจังหวัดสีแดงเข้ม ซึ่งตรงนี้จะย้ำให้เห็นความสำคัญมาตรการบับเบิ้ลแอนด์ซีล

โดยจำนวนกลุ่มก้อนที่ยังแอคทีฟอยู่(พบผู้ติดเชื้อ) มีจำนวน 318 คลัสเตอร์ ซึ่งยังคงต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง ซึ่งโรงงานต่างๆมีความเข้าใจและในจังหวัดต่างๆ มีหน่วยงานระดับเขตเข้าไปช่วยเหลือ ให้คำปรึกษาในการทำบับเบิ้ลแอนด์ซีลก็หวังว่าจะคลี่คลายลง(ตามตาราง)

จับตาคลัสเตอร์ร้านอาหารหลังคลายล็อก

นอกจากนี้ยังพบคลัสเตอร์ในตลาด ชุมชน หรือครอบครัว มีการกระจายไปในแทบจะทุกๆเขต ซึ่งตรงนี้ต้องย้ำถึงการใช้มาตรการป้องกันตนเองสูงสุด นอกจากนี้มีคลัสเตอร์ร้านอาหารและสถานบันเทิงบ้าง แต่จำนวนไม่มาก แต่ก็ยังต้องจับตามองดีๆ เพราะว่าหลังจากมีการปรับมาตรการก็จะมีการไปใช้บริการที่ร้านอาหารต่างๆมากขึ้น แต่ถ้าเรามีการป้องกันสูงสุดคลัสเตอร์ต่างๆก็จะไม่เกิดขึ้น

นอกจากนี้ยังมีคลัสเตอร์ที่เป็นสำนักงาน โรงเรียน สถานศึกษาอยู่บ้าง มีในระดับหลัก 10 คือ 12 คลัสเตอร์ ซึ่งเขตสุขภาพที่ 6 ก็ยังมีจำนวนที่สูงกว่าที่อื่น

ส่วนคลัสเตอร์ที่ไม่ได้นำมาแสดงในวันนี้ ยังพบการระบาดในวงพนัน วงสุรา เรื่องของพิธีกรรมทางศาสนา ที่มีการไปเจอกันในงานแต่งงาน งานศพ ก็ยังเจออยู่ รวมถึงในโรงพยาบาล กลุ่มผู้ปฏิบัติงาน และประชาชนทั่วไป

จี้แคมป์คนงานเข้มงวด ฝ่าฝืนมีโทษปรับ

ส่วนการฉีดวัคซีน นายแพทย์เฉวตสรรกล่าวว่า มีการฉีดเพิ่ม 826,013 โดส ซึ่งช่วงนี้เข็มที่ 2 จะมีจำนวนมากขึ้น และจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามเวลานัด และโดยภาพรวมฉีดไปแล้ว 37.4 ล้านโดส แยกเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 25.95 ล้านโดส คิดเป็น 36% เข็มที่ 2 จำนวน 10.9 ล้านโดส คิดเป็น 15.1%

“เรื่องของการการฉีดวัคซีนยังมีกลุ่มนักเรียนที่ต้องฉีดให้ได้ตามเป้าหมาย 4 แสนคน และเป็นโรงเรียนในทุกๆสังกัด สำหรับในแคมป์ก่อสร้างในกทม. โดยสำนักงานประกันสังคมมีการฉีดมาตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคมจนถึงปัจจุบัน ฉีดวัคซีนไปแล้ว 61,841 ราย รวมทั้งสิ้น 606 แคมป์ คาดว่าน่าจะแล้วเสร็จในวันที่ 10 กันยายนนี้” นายแพทย์เฉวตสรรกล่าว และว่า

ทั้งนี้ในส่วนของแคมป์คนงานที่ไม่เข้มงวดในเรื่องการระบาดจะมีมาตรการในการลงโทษปรับตามกฎหมายต่อไป โดยให้สำนักอนามัย กทม. เสนอเรื่องเข้าไปในคณะกรรมการโรคติดต่อต่อไป ถ้าหากพบการระบาด ส่วนการป้องกันและควบคุมโรคในตลาดและโรงงานจะยังคงมาตรการเฝ้าระวังต่อไป ทั้งแรงงานต่างด้าวและผู้ค้าขายในตลาดต้องมีการสุ่มตรวจหาเชื้อโควิดด้วย

เตรียมกระจายชุดตรวจ ATK 6 กลุ่มเสี่ยง

นายแพทย์เฉวตสรรกล่าวว่า เรื่องของการตรวจด้วยชุดตรวจ ATK ของกทม. จะได้รับการจัดสรรจำนวน 2,410,300 ชิ้น โดยจะมีการกระจายไปให้ประชาชน 6 กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ชุมชนจัดตั้ง 2,016 ชุมชน ตลาด ร้านอาหาร มินิมาร์ต แผงลอย ขนส่งสาธารณะ โรงเรียนทุกสังกัด 1,351 แห่ง และบริการนวด เสริมสวย กลุ่มเปราะบาง

“เรื่องของสถานการณ์จะเห็นว่าแนวโน้มของประเทศไทย หลังจากมีมีการปรับมาตรการมาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน จนถึงขณะนี้ยังอยู่ในทิศทางที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง อยากให้พี่น้องประชาชนได้เเนินการในการมีมาตรการป้องกันตนเองสูงสุดอย่างต่อเนื่องต่อไป”

แจงเหตุยอดติดเชื้อลดลง-ไม่เอาผลตรวจ ATK มารวม

ต่อข้อถามที่มีการตั้งข้อสังเกตตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ลดลงขณะนี้เป็นเพราะตรวจน้อยลงหรือไม่ และทำไมไม่เอาผลตรวจ ATK มารวมด้วย นายแพทย์เฉวตสรรกล่าวชี้แจงว่า สำหรับการที่ตัวเลขน้อยลงส่วนหนึ่งเป็นเพราะธรรมชาติของการระบาดในช่วงที่เป็นขาลง จำนวนผู้ป่วยน้อยลง จำนวนผู้เสี่ยงสูงก็น้อยลง แต่ถ้าใครมีเกณฑ์เสี่ยง มีอาการก็งสามารถเข้ารับการตรวจได้ หรือเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงก็ไปรับการตรวจได้

ส่วนผลตรวจ ATK เราทำตามมาตรฐาน ตามหลักการนิยามขององค์การอนามัยโลกอยู่แล้ว ซึ่งก็มีการเปิดเผยตัวเลขทั้ง 2 ส่วนอยู่แล้ว ไม่ได้มีการปิดบัง สามารถดูได้ทั้งสองส่วนอยู่แล้ว

ส่วนกรณีมีนักวิชาการตั้งคำถามเรื่องการรายงานตัวเลขการฉีดวัคซีนของศบค. ที่ระบุว่า ไทยสามารถฉีดวัคซีนให้ประชาชน เข็มที่ 1 ถึง 50.5% นั้น ขอเรียนว่า ในการทำงานจะมีการติดตามในหลายรูปแบบว่าทำงานใกล้เป้าหมายหรือยัง โดยคำว่า 50% ตรงนั้นเป็นกระดานอันหนึ่ง ที่อยากจะฉีดให้มีภูมิคุ้มกันหมู่ 70% ของคนประมาณ 70 ล้านคน หรือก็คือ 50 ล้านคน ตัว 50% ก็คือ จุดที่เราฉีดเข็ม 1 ประมาณ 25 ล้านคน ขอนำเรียนแนวคิด และขอบคุณ และพร้อมจะนำไปปรับปรุงในการนำเสนอให้มีรายละเอียด อธิบายเข้าไปให้รู้ชัด เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน

ทั้งนี้ในภาพรวมที่อยากจะเรียนย้ำคือ ในส่วนของการฉีดเข็มที่ 1 ที่เราฉีดไปแล้ว คือ 36% ของประชากร

นพ.เฉวตสรร กล่าวต่อว่า สำหรับพี่น้องชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย สามารถลงทะเบียนเข้ารับวัคซีนได้ใน 2 ช่องทาง คือ 1. เว็บไซต์ expatvac.consular.go.th ลงทะเบียนกับกระทรวงการต่างประเทศ 2. Application “vaccine บางซื่อ” ของศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ

อยากเชิญชวนพี่น้องชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ท่านสามารถขอเข้ารับการฉีดวัคซีน โดยจะมีการจัดการนัดหมาย เพื่อให้ไปฉีดโดยไม่แออัด และเข้าถึงได้โดยง่าย