จุรินทร์ มั่นใจส่งออกความหวังขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยฝ่าโควิดถึงปี 65

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์

จุรินทร์ มั่นใจส่งออกความหวังเศรษฐกิจไทยฝ่าโควิดยาวถึงปี 65 คาดตัวเลขโค้งสุดท้ายปี 64 ยังโตพุ่ง 2 ดิจิตแน่ หลังผ่านมา 7 เดือนแรกทะลุเป้าหมาย 4 เท่าแล้ว ชูธง “เอกชนเดินนำหน้าพาณิชย์หนุนหลังลดอุปสรรคทุกทาง”

วันที่ 22 กันยายน 2564 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “ความหวัง ส่งออกไทย ในมรสุมโควิด” ในงานสัมมนา “ปลุกพลังส่งออก พลิกเศรษฐกิจไทย ซึ่งจัดโดย หนังสือพิมพ์ “มติชน” ว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยนั้นพึ่งพาการท่องเที่ยวในประเทศ การส่งออกและการบริการ แต่ด้วยจากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้ตอนนี้ คือภาคของการส่งออก ซึ่งจะเห็นว่าการส่งออกของไทย 7 เดือนแรกของปี (มกราคม-กรกฎาคม 2564) ขยายตัว 16.20% มีมูลค่าอยู่ที่ 154,985 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งการส่งออกจึงเป็นความหวังของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีนี้และปี 2565

“การส่งออกจากนี้ ยังคงเป็นการส่งออกที่ขยายตัวเป็นบวก และทั้งปีจากที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายการทำงานการส่งออกไทยขยายตัว 4% ทั้งปีคาดว่าการส่งออกจะโตเป็น 4 เท่าจากที่ตั้งเป้าหมายไว้ แม้การส่งออกช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน 2564 นี้จะขยายตัวได้น้อย เพราะผลกระทบจากปัญหาล็อกดาวน์ เริ่มเห็นผลบ้างแล้วจากภาคการผลิต การขนส่ง แต่การส่งออกก็ยังเป็นความหวังของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ และการส่งออก 3 เดือนหลังมองว่ายังโต 2 หลัก”

ดังนั้น นโยบายของรัฐบาล การดำเนินการทำงานของกระทรวงพาณิชย์จึงต้องชัดเจนพร้อมที่จะสนับสนุน ส่งเสริมการส่งออก โดยใช้กลยุทธ์ “รัฐหนุน เอกชนทำ” เอกชนต้องเป็นกองหน้าในการนำรายได้เข้าประเทศ รัฐบาลจะต้องคอยสนับสนุน ส่งเสริม ลดอุปสรรค ช่วยเหลือเอกชนในการผลักดันการส่งออก อย่าทำตัวเป็นพระเอก แต่ต้องเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหา อุปสรรคที่มีเพื่อให้การส่งออกขยายตัว จึงเป็นที่มาของ กรอ.พาณิชย์ ที่จัดตั้งโดยความร่วมมือรัฐและเอกชนในการขับเคลื่อน ลดปัญหาอุสรรค และผลักดันการส่งออกของประเทศ

โดยที่ผ่านมา จากความร่วมมือดังกล่าว กรอ.พาณิชย์ ได้เร่งแก้ไขปัญหาและลดอุปสรรคสำคัญไปมาก เช่น การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งปัจจุบันสามารถเข้าสู่ภาวะสมดุลแล้ว แต่ก็ยังวางใจไม่ได้จำเป็นต้องติดตามปัญหาอย่างใกล้ชิดต่อไป โดยเชื่อว่าหลังจากนี้จะมีปริมาณเรือที่นำเข้าตู้เปล่าเข้ามาจำนวนมากขึ้น โดยคาดว่าช่วงเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2564 จะมีเรือขนาด 300-400 เมตร เข้ามา 8 ลำ และจะนำตู้คอนเทนเนอร์เข้ามาประมาณ 36,054 TEU และช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2564 จะมีเรือเข้ามา 7 ลำ นำเข้าตู้คอนเทนเนอร์เข้ามาประมาณ 25,000 TEU ซึ่งจะช่วยให้ผู้ส่งออกมีปริมาณตู้คอนเทนเนอร์เพื่อการส่งออกมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของปัญหาค่าระวางเรือที่ยังเป็นอุปสรรคต่อผู้ส่งออก รวมไปถึงพื้นที่บนสายเรือ ซึ่งยังคงเป็นปัญหาที่ทุกฝ่ายจะต้องเร่งแก้ไขต่อไป ซึ่งภาคเอกชนก็มีการเสนอแนวทางแก้ไขโดยการให้ ท่าเรือแหลมฉบังเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางเรือในแถบนี้ เพื่อดึงดูดการขนส่ง-ส่งออกสินค้า และเพื่อให้การนำเสนอแนวทางดังกล่าวมีความเป็นไปได้ จำเป็นต้องแก้ไขกฎเกณฑ์ที่ยังคงเป็นปัญหา อุปสรรค เพื่อสร้างการจูงใจนักลงทุน ผู้ส่งออก และสายเรือเข้ามาใช้บริการท่าเรือนี้ให้มากขึ้น

ขณะที่ปัญหาต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะกระป๋องแพงซึ่งเกิดจากวัตถุดิบอย่างเหล็กแพงขึ้น ก็ต้องหาแนวทางช่วยเหลือเพราะอุตสาหกรรมอาหารกระป๋องคิดเป็น 3% ของยอดการส่งออกของประเทศ หากเร่งแก้ไขปัญหาก็จะช่วยผลักดันในภาคของการส่งออกในอุตสาหกรรมนี้ เป็นต้น

นายจุรินทร์กล่าวอีกว่า กระทรวงพาณิชย์ยังสร้างทีมเซลส์แมนประเทศและเซลส์แมนจังหวัดในการช่วยเหลือและผลักดันการส่งออก ซึ่งทั้งสองทีมจะคอยประสานเพื่อส่งเสริมให้ภาคการส่งออกเติบโต ขณะที่กิจกรรมส่งเสริมการส่งออกในช่วงสุดท้ายของปี กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศก็มีกิจกรรมกว่า 130 กิจกรรมที่จะผลักดันการส่งออก เพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าที่กำลังเติบโตและมีความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

เพราะต้องยอมรับว่าเมื่อเศรษฐกิจดีขึ้นนั่นหมายความว่าทุกประเทศก็ดีขึ้นเช่นกัน สภาวะการแข่งขันก็ต้องเกิดขึ้น ดังนั้น สิ่งที่ประเทศไทยต้องทำคือ จากนี้จะมีปัญหาอะไร ต้องติดตามเรื่องอะไร และควรเตรียมความพร้อมอะไรไว้บ้าง เพื่อให้การส่งออกยังขับเคลื่อนไปได้