ACE กางแผนผลิต 18 โรงไฟฟ้าชุมชน กว้านซื้อหญ้าเนเปียร์ ตันละ 400 บาท พร้อมประกาศหลังก่อสร้างเสร็จกลางปี’65 พร้อมวางหมากลงทุนพลังงานหมุนเวียนทุกประเภท ตั้งเป้าขยายกำลังการผลิตสู่ 1,000 เมกะวัตต์ในปี’67
นายธีรวุฒิ ทรงเมตตา กรรมการบริหาร ประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มงานเทคโนโลยีและนวัตกรรม บริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ACE เปิดเผยถึงในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมนี้บริษัทเตรียมลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
หลังจากได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) ประเภทก๊าซชีวภาพ 18 โครงการ ใน 4 จังหวัด เชียงราย กำแพงเพชร บุรีรัมย์ และราชบุรี รวมกำลังการผลิต 59 เมกะวัตต์ ต้นทุนการก่อสร้าง 80 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ จะใช้เงินลงทุน 4,720 ล้านบาท ซึ่งไม่จำเป็นต้องออกหุ้นกู้เพิ่ม
ซึ่งตามแผนจะเริ่มการก่อสร้างกลางปี 2565 และจ่ายไฟเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ภายในวันที่ 21 มกราคม 2568 โดยรับซื้อหญ้าเนเปียร์จากเกษตรกรวิสาหกิจชุมชนผ่านรูปแบบเกษตรพันธสัญญาตลอดอายุโครงการ ในราคาตันละ 400 บาท
“การแบ่งปันผลประโยชน์ให้กับชุมชนด้วยการกำหนดส่วนแบ่งรายได้ค่าไฟฟ้า 25 สต./หน่วย ซึ่งถือว่าน้อยเพราะรัฐใช้วิธีค่าไฟฟ้าแข่งขันในการ bid หากรัฐต้องการให้ชุมชนได้ผลตอบแทนสูงขึ้น จำเป็นต้องปรับปรุงวิธีใหม่ และควรเพิ่มกำลังไฟฟ้ารับซื้อแต่ละแห่งให้สูงขึ้น จะส่งผลให้ต้นทุนบริหารจัดการต่ำลง เอกชนจะมีศักยภาพ ปรับส่วนแบ่งให้ชุมชนได้เพิ่มขึ้น”
ปัจจุบัน ACE เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน มีทั้งระดับ VSPP-SPP ปัจจุบันมีโครงการโรงไฟฟ้าที่เปิด COD แล้ว 22 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 247.67 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างการพัฒนาอีก 15 โครงการ 201.90 เมกะวัตต์ รวมเป็นกำลังการผลิตติดตั้ง 449.57 เมกะวัตต์
ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าชีวมวล 12 แห่ง โรงไฟฟ้าขยะ 2 แห่ง โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 6 แห่ง โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม 1 แห่ง โครงการ Waste Landfill 1 แห่ง บวกกับ 18 โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนใหม่ทำให้มีกำลังการผลิตรวม 508.57 เมกะวัตต์
“บริษัทมีแผนจะเพิ่มกำลังการผลิตให้ได้กว่า 1,000 เมกะวัตต์ในปี 2567 จึงสนใจที่จะเข้าร่วมประมูลโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนของภาครัฐรอบใหม่ทั้งหมด โดยเฉพาะโครงการโรงไฟฟ้าจากขยะ เนื่องจากทั้งประเทศมีปริมาณขยะที่สามารถใช้ผลิตได้ถึง 1,200 เมกะวัตต์ ซึ่งบริษัทมีเทคโนโลยีขั้นสูงไม่สร้างมลพิษให้กับชุมชน ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าขยะที่กระบี่และขอนแก่น เดินเครื่องตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน นอกจากนี้ ยังสนใจโครงการโซลาร์ พลังงานลม ชีวมวล ชีวภาพ ไฮโดรเจน รวมไปถึงการใช้ระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ด้วย”
ขณะเดียวกัน อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในการขยายการลงทุนแถบเอเชีย โดยมีเป้าหมายคือ ญี่ปุ่น เวียดนาม เกาหลีใต้ แต่ยังมองโอกาสในออสเตรเลีย อเมริกา และยุโรปด้วย ทั้งนี้ พลังงานหมุนเวียนเป็นเทรนด์ทั่วโลกรวมถึงไทยก็มีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนให้ได้ 50% ลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (carbon neutrality) ในปี 2608-2613