ปัญหาชิปขาดลากยาวปีหน้า ธุรกิจเข้มบริหารสต๊อกรับมือ

อัพเดต 1 ต.ค.2564 เวลา 10.06 น.

สรท.ห่วงปัญหาชิปขาดแคลนยังไม่จบ กระทบส่งออกไตรมาส 4 คาดอุตสาหกรรมยานยนต์-ชิ้นส่วนรุนแรงขึ้น แข่งขันลำบาก เผยสินค้าไอทีแพลนสต๊อกล่วงหน้า แบรนด์แอลจีชี้ปีนี้เอาอยู่ สหรัฐกดดันออก กม.ความมั่นคงฯ บังคับผู้ผลิตชิปรายใหญ่ TSMC จากไต้หวัน-อินเทล ส่งข้อมูลภายใน 45 วัน

วิกฤตชิปเซมิคอนดักเตอร์ขาดตลาด ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ต่อเนื่องทั่วโลก และมีผลกระทบต่อไลน์ผลิตสินค้ากลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ และไอที ทั้งสมาร์ทโฟน แท็บเลต ฯลฯ ซึ่งกลุ่มผู้ผลิตรายใหญ่แบรนด์ดังต่างเร่งปรับแผนการผลิตและแผนการตลาดใหม่ เพื่อรับมือกับการบริหารต้นทุนที่จะสูงขึ้น และไม่ให้เกิดปัญหาสินค้าใหม่ที่จะวางตลาดขาดช่วง

สหรัฐเดินเกมกดดัน

ล่าสุด บลูมเบิร์กรายงานว่า ขณะนี้ทางสหรัฐอเมริกาได้เร่งกดดันผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์สัญชาติไต้หวันให้ซัพพลายไปยังสหรัฐมากที่สุด โดยสหรัฐกำลังพิจารณาการใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ เพื่อบังคับให้บริษัทเทคโนโลยี และซัพพลายเชน ส่งมอบข้อมูลซัพพลายสินค้า และยอดขายชิป รวมถึงข้อมูลธุรกิจอื่น ๆ ให้กับรัฐบาลสหรัฐ เพื่อประเมินสถานการณ์ในการแก้วิกฤตชิปขาดแคลน

ก่อนหน้านี้ทำเนียบขาวได้เรียกยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตชิปอย่าง “ทีเอสเอ็มซี” และ “อินเทล” รวมถึงบริษัทเทคอย่าง “แอปเปิล” และ “ซัมซุง” เพื่อถกปัญหาดังกล่าวทั้งนี้ “จีน่า ไรมอนโด้” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ กล่าวว่า เป้าหมายการใช้กฎหมายในครั้งนี้ เนื่องจากการประชุมครั้งก่อน หลายบริษัทไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความโปร่งใส ทั้งปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลทางธุรกิจกับรัฐบาล ซึ่งมีรายงานว่า หลายบริษัทได้เพิ่มกำลังการซื้อและกักตุนสินค้ามากกว่าปกติ 2-3 เท่า

ไรมอนโด้จึงเรียกร้องให้บริษัทต่าง ๆ ส่งข้อมูลทุกด้านให้กับรัฐบาลภายใน 45 วัน หากบริษัทต่าง ๆ ยังไม่ทำอะไร ทางกระทรวงพาณิชย์จะใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติบังคับให้ทุกบริษัทส่งข้อมูลตามที่แจ้งไป

สรท.หวั่นกระทบส่งออก

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ปัญหาการขาดแคลนชิปทั่วโลก ยังเป็นปัญหาที่ลากยาว โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 4 จะกระทบต่ออุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมยานยนต์รุนแรงมากขึ้น แน่นอนว่าจะกระทบต่อศักยภาพการแข่งขันของประเทศ

แม้ว่าการส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 เติบโต 42% ส่งออกราว 70,590 คัน ขณะที่การส่งออก 7 เดือนที่ผ่านมา เติบโต 42% โดยเฉพาะในตลาดออสเตรเลีย เวียดนาม ญี่ปุ่น จีน และสหรัฐ

จากความต้องการของประเทศคู่ค้าที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และฐานส่งออกปีที่แล้วค่อนข้างต่ำ ทำให้กลุ่มยานยนต์ต้องปรับการคาดการณ์ผลิตเพื่อส่งออกจาก 7.5 แสนคัน เป็น 8.5 แสนคัน แต่ยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม ปัญหาค่าระวางและการขาดแคลนตู้สินค้าที่ทวีความรุนแรงขึ้น ปัญหาขาดแคลนชิป อันเป็นปัจจัยเสี่ยง

“แอลจี” เอาอยู่

นายอำนาจ สิงห์จันทร์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการตลาด บริษัท แอลจี อีเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ชิปคอมพิวเตอร์ยังขาดแคลนอยู่ แต่ความรุนแรงลดลงเมื่อเทียบกับปี 2563 สะท้อนจากที่บริษัทสามารถหาซัพพลายเออร์ชิปคอมพิวเตอร์มาทดแทนได้ง่ายกว่าปีที่แล้ว

โดยอาศัยประสบการณ์นำโพซิชั่นการเป็นแบรนด์ใหญ่ มีการผลิตสินค้าจำนวนมากมาช่วยในการหาซัพพลายเออร์และสั่งซื้อวัตถุดิบ ทำให้ผลกระทบด้านต้นทุนลดลงมาอยู่ในระดับทรงตัวแล้ว และสามารถดำเนินการผลิตได้อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการขาดแคลนนี้ น่าจะดำเนินต่อไปอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากการระบาดของโรคโดวิด-19 ยังคงมีอยู่

สินค้าไอทีแพลนสต๊อกล่วงหน้า

นายนิธิพัทธ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เอเซอร์ คอมพิวเตอร์ จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์ชิปขาดเกิดขึ้นตั้งแต่ปีก่อน และยังส่งผลต่อเนื่องมาถึงปีนี้ เนื่องจากความต้องการสินค้าไอทีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วพร้อมกันทั่วโลกจากวิกฤตโควิด-19 แต่ปัจจุบันหลายประเทศแถบยุโรป และอเมริกา เริ่มคลายล็อกดาวน์แล้ว ทำให้ความต้องการลดลง และคาดว่าในกลางปี 2565 สถานการณ์ชิปขาดจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

สำหรับเอเซอร์ ประเทศไทย มีการวางแผนสต๊อกสินค้าล่วงหน้าอย่างต่อเนื่อง จึงเชื่อว่าจะมีสินค้าจำหน่ายเพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคในช่วง 3 เดือนสุดท้ายปีนี้ อีกทั้งบริษัทยังเตรียมจัดโปรโมชั่นร่วมกับอีมาร์เก็ตเพลซทุกรายในช่วงแคมเปญดับเบิลเดย์ ทั้ง 10.10 11.11 และ 12.12

“ตลาดไทยจะคลุมไปถึงอินโดไชน่าด้วย ทำให้หลายแบรนด์มีอำนาจการต่อรองกับบริษัทแม่ในการนำสินค้าเข้ามาขาย ขณะที่บริษัทแม่ก็พร้อมจะซัพพอร์ตสินค้าให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค”

นายธเนศ อังคศิริสรรพ ผู้จัดการทั่วไปประจำภูมิภาคอินโดจีน เลอโนโว กล่าวว่า โควิด-19 ส่งผลบวกกับธุรกิจไอที และสมาร์ทโฟนอย่างที่รู้กัน เพราะตอบสนองความต้องการผู้บริโภคในยุคนิวนอร์มอล แม้การเติบโตจะสวนทางกับปัญหาซัพพลายชิ้นส่วนในการผลิต ทำให้แบรนด์ต่าง ๆ ต้องวางแผนการบริหารจัดการสต๊อกล่วงหน้าให้ดี เพื่อให้มีสินค้าเพียงพอกับความต้องการที่เพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าปัญหาดังกล่าวาจะดีขึ้นในกลางปีหน้า

“ไทยถือเป็นประเทศหลักที่บริษัทแม่ให้ความสำคัญ ทำให้สมาร์ทโฟนภายใต้แบรนด์โมโตโรล่ามีสินค้าเข้ามาจำหน่ายเพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคไทย”

สอดคล้องกับความเห็นของนายภราดร รามบุตร ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท เอชเอ็มดี โกลบอล จำกัด (HMD) เจ้าของลิขสิทธิ์การจำหน่ายโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์เสริมภายใต้แบรนด์ “โนเกีย” ที่ระบุว่า ปัญหาขาดแคลนชิปเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เจอเหมือนกับแบรนด์อื่น ๆ จึงต้องวางแผนล่วงหน้าในการดิวและเลือกสินค้าที่จะนำมาทำตลาดในจำนวนที่เหมาะสม ซึ่งบริษัทดำเนินการต่อเนื่อง จึงยังมั่นใจว่าจะผลักดันยอดขายให้เติบโตต่อเนื่องได้ 50% ตามเป้าหมาย

ขณะที่นายโจนาธาน คัง ผู้จัดการ เสียวหมี่ ประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหาการขาดแคลนชิปเซตเป็นความท้าทายของผู้ประกอบการในธุรกิจนี้ ซึ่งเสียวหมี่ให้ความสำคัญกับตลาดไทย จึงจะทำดีอย่างที่สุด เพื่อนำสินค้ามาให้ผู้บริโภคไทยได้ใช้