เทรนด์ผู้บริโภคกำลังจะเปลี่ยนแปลงไปหลังยุคโควิด-19 ด้วยการหันมาใส่ใจสุขภาพ เลือกรับประทานอาหารคุณภาพดีมีที่มาจากธรรมชาติ ส่งผลให้ “อาหารแห่งอนาคต” หรือ “future food” ได้รับความสนใจอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นโอกาสและความท้าทายที่จะมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้อุตสาหกรรมอาหาร ที่มีมูลค่านับแสนล้านบาทต่อปีให้เติบโตอย่างยั่งยืน
ล่าสุดหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย โดยคณะกรรมการสมาคมการค้ากลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม จัดสัมมนา “อาหารแห่งอนาคต ONE O ONE และ Supply Chain ที่เกี่ยวข้อง” ด้วยการเชิญตัวแทน CEO ในวงการอุตสาหกรรมอาหาร มาแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับอาหารแห่งอนาคต
เป็นมากกว่าโปรตีนเกษตร
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาหอการค้าไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการอาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต กล่าวว่า ความมั่นคงทางอาหารเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่องค์การสหประชาชาติกำหนด
เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ควบคู่กับการหันมาใส่ใจปัญหาสิ่งแวดล้อม ทำให้เทรนด์อาหารอนาคตมีโอกาสจะเติบโตต่อเนื่องในอีก 5 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันที่มีมูลค่า 203,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ตารางประกอบ)
อาหารอนาคตจะมีความหลากหลายทั้งชื่อเรียก ชนิด องค์ประกอบ ซึ่งไม่ได้มีแค่จากพืชผักผลไม้เท่านั้น แต่รวมถึงซากสัตว์ สมอง แมลง เซลล์สัตว์ ส่วนที่มาจากแหล่งอื่น ๆ ทั้งจุลินทรีย์ แร่ธาตุ ที่สามารถผลิตให้มีเนื้อสัมผัสคล้ายเนื้อสัตว์ อาหารกลุ่มนี้ที่มีแนวคิดจากนักบินอวกาศ กลุ่มโปรตีนทางเลือก (alternative protein) และมีการผลิตจำหน่ายในต่างประเทศ
ในส่วนของประเทศไทย หากเทียบมูลค่าส่งออก future food ย้อนหลังไป 10 ปี (2010-2021) จะพบว่า มีสัดส่วนส่งออกอาหารอนาคตเพิ่มขึ้น เช่น ในปี 2010 ไทยส่งออกอาหาร 820,778 ล้านบาท เป็นการส่งออก future food 55,386 ล้านบาท
ล่าสุดปี 2020 (2563) ที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 การส่งออกอาหารมีมูลค่า 1.09 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นการส่งออก future food ถึง 123,146 ล้านบาท หรือ 10% ล่าสุดช่วง 8 เดือนแรก (ม.ค.-ส.ค.) ของปีนี้ ไทยส่งออกอาหาร 806,430 ล้านบาท เป็น future food 71,570 ล้านบาท
แต่การพัฒนาอาหารอนาคตของไทยยังมีข้อจำกัดเรื่องวัตถุดิบ โดยเฉพาะ “ถั่วเหลือง” ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่มีต้นทุนต่ำสุด แต่ไทยต้องนำเข้าถั่วเหลืองถึง 3 ล้านตัน/ปี ข้อดีคือ ไทยมีวัตถุดิบที่หลากหลายมาก เช่น หัวปลี, เห็ดแคลง, สาหร่าย ที่สามารถพัฒนาเป็น future food ได้
นอกจากนี้ ไทยยังมีจุดแข็งเรื่องของความเชี่ยวชาญด้านอาหาร ที่ต้องอาศัยการศึกษาวิจัย R&D ไปจนกว่าจะเป็นอาหารจากพืช plant based food ทำให้ได้สินค้าที่เป็น “มากกว่า” โปรตีนเกษตร เพื่อเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภค
ขณะเดียวกัน การผลิตที่ยังมีไม่มาก ทำให้ต้นทุนต่อหน่วยยังสูง ไม่สามารถแข่งขันได้ โดยเฉพาะต้นทุนเริ่มแรกในการวิจัยและพัฒนา จดทะเบียน การวิเคราะห์ตัวอย่าง รวมถึงเทคโนโลยีและเครื่องจักรการผลิตต้องพึ่งพาการนำเข้า ทำให้ราคาค่อนข้างสูง ขาดความสม่ำเสมอและแม่นยำ
แซนด์บอกซ์ “พืชแพลนต์เบส”
นายแดน ปฐมวาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ NRF กล่าวว่า ไทยต้องให้คำจำกัดความคำว่า “อาหารอนาคต” ให้ได้ว่า คืออะไร มุ่งเน้นผลิตสินค้าที่สอดรับกับความต้องการของตลาด
เช่น บริษัทไปทำตลาดอังกฤษ ต้องผลิตในสิ่งที่คนอังกฤษต้องการ และพัฒนาพืชเศรษฐกิจตัวใหม่บ้าง เช่น “ถั่วเขียว” ล่าสุดบริษัทร่วมกับบริษัทพันธมิตรในอังกฤษ และสหรัฐ ศึกษาโอกาสในการพัฒนาวัตถุดิบต้นน้ำ
เพื่อต่อยอดเป็นกลางน้ำให้ได้ ซึ่งต้องอาศัยความชัดเจนของนโยบายภาครัฐด้วย เช่น สิงคโปร์ กำหนดชัดเจนเลยว่า จากนี้จะเน้นอินโนเวชั่น จึงกำหนดข้อบังคับว่า ถือหุ้นแล้วต้องลงทุนที่สิงคโปร์ด้วย หรือออสเตรเลียมุ่งไปสู่ออร์แกนิก
“ไทยจะใช้จุดแข็งเรื่องการเกษตรอย่างไร ควรมุ่งกำหนดนิยามเลยว่า protein champion จากพืชอะไร กำหนดพื้นที่เป็นแซนด์บอกซ์ คำถามคือรัฐบาลจะดีไฟน์อย่างไร สร้างการรับรู้สู่ SDG ว่า
การผลิตอาหารต้องลดคาร์บอน และทุกประเทศพยายามขอให้รัฐสนับสนุนแหล่งเงินทุน สำคัญสุด คือ food security ความปลอดภัยอาหาร เป็น agenda ใหญ่ของโลก”
พัฒนาพืชเศรษฐกิจใหม่
สอดคล้องกับ นายธรรศ ทังสมบัติ นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป ประธานกรรมการสมาคมการค้ากลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม มองว่า เทรนด์ future food จะมีความต่อเนื่องไปตลอดนับจากนี้จนถึง 10-30 ปีข้างหน้า
รัฐควรวางนโยบายอนาคตให้ชัดเจน พร้อมกำหนด scenario ในการพัฒนา หากไม่เร่งขับเคลื่อน “เราอาจจะช้าไป” และนับจากนี้ ไทยมีเวลาแค่ 5ไตรมาสที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ ถ้าทำไม่ได้ก็เป็นสิ่งที่น่ากลัว
สำหรับทิศทาง future food กรณีการผลิต plant based food ซึ่งส่วนใหญ่ต้องนำเข้าวัตถุดิบควรมีหลายราคา เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคกลุ่มต่าง ๆ
เช่น ผู้สูงอายุภาครัฐควรเฟ้นหาพืชที่จะมาเป็นต้นน้ำในการผลิต future food พัฒนาเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ นอกเหนือไปจาก “ข้าว” ควรมีหมุดหมายสำคัญ และสร้างการรับรู้และพัฒนาร่วมกัน
ส่วน นายสมิธ ทวีเลิศนิธิ CEO Let’s Plant Meat มองว่า ช่วงโควิดทำให้คนได้เห็นเทรนด์สุขภาพเป็นตัวนำ และกลับมาตั้งคำถามถึงการดูแลสุขภาพด้วยตนเองมากขึ้น ทิศทางอาหารอนาคตของไทย ที่มองเห็นอย่างหนึ่งคือ พืชเกษตร มีความซับซ้อนและหลากหลายมาก
“บริษัทใช้โปรตีนเป็นหลัก ต้องผ่านหลายเลเยอร์ 3 ขั้น เห็นว่า เรายังขาดต้นน้ำ ต้องใช้การลงทุนมหาศาลและคู่แข่งเยอะ โดยเฉพาะขาดกระบวนการจัดสรรวัตถุดิบ เพื่อสร้างดีมานด์ ลดพึ่งพาถั่วเหลือง
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันแบรนด์จากไทยเริ่มทำเพื่อส่งออกได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงพาณิชย์ แต่ควรให้ภายในประเทศได้บริโภคกระตุ้นเทรนด์และสร้างการรับรู้ด้วย” นายสมิธกล่าว
อาหารอนาคตกระตุ้นท่องเที่ยว
ด้าน นายกวิน ว่องกุศลกิจ CEO Odtomato at Ad Lib ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร ทิ้งท้ายว่า “เห็นด้วยที่ไทยควรมีวัตถุดิบเป็นไม้ตายก่อน” แม้ต้องโฟกัสที่ต้นน้ำ กลางน้ำ แต่ “ปลายน้ำ” ก็สำคัญ
หากจะให้ไทยเป็นครัวของโลกก็ต้องพัฒนาอาหารอนาคตที่มีอัตลักษณ์และสร้างการรับรู้โปรโมตให้ต่างชาติเข้าใจ เช่น กรณีลิซ่า วง Black Pink สามารถประชาสัมพันธ์จนทำให้ “ลูกชิ้นยืนกิน” เป็นที่รู้จัก หากสำเร็จจะช่วยเชื่อมโยงถึงการสร้างมูลค่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยว อุตสาหกรรมโรงแรม และอื่น ๆ อีกมากด้วย
ทั้งนี้ การพัฒนา future food อาจเป็นกุญแจของไทยในการปรับโมเดลประเทศสู่การพัฒนาเศรษฐกิจตามนโยบาย BCG Economy หรือเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน
และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) ที่สร้างความยั่งยืนได้ ที่สำคัญขึ้นอยู่กับการวางนโยบายอย่างไรให้อุตสาหกรรมอาหารไทยสามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม และอยู่ได้อย่างสมดุลทั้งต้นน้ำ-กลางน้ำ และ ปลายน้ำ