เปิดประเทศปั๊มชีพจรเศรษฐกิจ ฟื้นท่องเที่ยว อัด “ช้อปดีมีคืน” ปลุกจับจ่าย

นายกฯดีเดย์เปิดประเทศ 1 พ.ย. ไม่ต้องกักตัว เดินหน้าฟื้นเศรษฐกิจดึงกำลังซื้อทั้งจากต่างประเทศ-ในประเทศ คลังออกแพ็กเกจอัดฉีดถึงต้นปีหน้า งัด “ช้อปดีมีคืน-ขยายคนละครึ่ง” ปลุกมู้ดจับจ่าย ถกมหาดไทยลดค่าโอน-จดจำนองบ้านไม่เกิน 5 ล้านบาท สภาอุตฯ-หอการค้าลุ้น GDP โตเพิ่ม ภาคท่องเที่ยวฟันธงฟื้นเชื่อมั่น คาดต่างชาติเข้าไทยปลายปีนี้ไม่ต่ำกว่าล้านคน ผู้ประกอบการถนนข้าวสารนับถอยหลังจัดเคานต์ดาวน์คึก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้ประกาศ “เปิดรับนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ โดยไม่ต้องกักตัว” เริ่มวันที่ 1 พ.ย. 2564 และภายในวันที่ 1 ธ.ค. จะอนุญาตให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารได้ รวมทั้งจะอนุญาตให้สถานบันเทิงเปิดให้บริการได้ภายใต้มาตรการสาธารณสุข เพื่อสนับสนุนและกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวในช่วงก่อนเทศกาลปีใหม่

เป้าหมายหลักคือการปลุกบรรยากาศทางเศรษฐกิจให้กลับมากระเตื้อง ขณะที่กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมออกแพ็กเกจกระตุ้นเพื่อปลุกมู้ดการจับจ่ายตั้งแต่ปลายปีนี้ไปจนถึงต้นปีหน้า

แพ็กเกจรับปีใหม่มาแน่

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้เตรียมมาตรการรองรับการเปิดประเทศวันที่ 1 พ.ย. 2564 ตามนโยบายของนายกฯ

หลัก ๆ จะเป็นมาตรการในฝั่งของการท่องเที่ยว โดยในส่วนของกระทรวงการคลัง จะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือการใช้จ่าย ขณะนี้บางมาตรการกำลังดำเนินการอยู่ ทั้งโครงการคนละครึ่ง และยิ่งใช้ยิ่งได้ ซึ่งเป็นมาตรการที่ออกมาเพื่อช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายให้มีเม็ดเงินสะพัดมากขึ้น ในช่วงต้นไตรมาส 4 และมองว่ายังเพียงพอ ส่วนมาตรการอื่นที่จะออกมาเพิ่มเติมให้รอดูสัปดาห์หน้า

งัด “ช้อปดีมีคืน” ปลุกกำลังซื้อ

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างเตรียมแพ็กเกจมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ตั้งแต่ปลายปี 2564 จนถึงต้นปี 2565 ตามโจทย์ที่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ได้ให้นโยบายไว้ โดยจะมีมาตรการที่เน้นกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย ให้สอดรับกับสถานการณ์โควิด-19 ที่คลี่ลาย และรัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์มาอย่างต่อเนื่อง จะเห็นความชัดเจนในช่วงต้นเดือน พ.ย. ทั้งรูปแบบและวงเงินที่จะให้สำหรับการลดหย่อนภาษี ซึ่งต้องรอประเมินสถานการณ์โควิดหลังจากคลายล็อกดาวน์ด้วย

ทั้งนี้ มาตรการที่กำลังพิจารณาและจะนำมาใช้แน่นอน เช่นเดียวกับปีก่อนคือ มาตรการลดหย่อนภาษี “ช้อปดีมีคืน” ซึ่งภาคเอกชนก็เรียกร้องให้นำกลับมาใช้อีก น่าจะออกมาประมาณช่วงเดือน ธ.ค. และรอบนี้อาจจะไม่กำหนดให้ผู้ใช้สิทธิ์ต้องเลือก ระหว่างมาตรการช้อปดีมีคืนกับมาตรการคนละครึ่ง เพื่อเปิดทางให้ผู้เสียภาษีประมาณ 4 ล้านคน สามารถใช้สิทธิ์ได้ทั้งหมด เชื่อว่าจะทำให้ผู้ที่อยู่ในฐานภาษีเข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ อาจพิจารณาขยายโครงการคนละครึ่งออกไปอีก หลังจากจบโครงการสิ้นปีนี้ ซึ่งตอนนี้ทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กำลังพิจารณาในรายละเอียด

ลดค่าโอน-จดจำนองบ้าน 5 ล้าน

แหล่งข่าวกล่าวว่า ในส่วนข้อเสนอของภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องการให้ขยายเวลาลดค่าธรรมเนียมการโอน-ค่าจดจำนองเหลือ 0.01% ไปอีก 1 ปี (ปี 2565) จากเดิมจะสิ้นสุดในปีนี้ ทางกระทรวงการคลังไม่ขัดข้อง รวมถึงเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องให้ขยายเพดานราคาบ้านเป็นไม่เกิน 5 ล้านบาท จากเดิมให้แค่ 3 ล้านบาท อย่างไรก็ดี ต้องหารือร่วมกับกระทรวงมหาดไทยอีกครั้ง เนื่องจากค่าธรรมเนียมส่วนนี้จะมีผลกระทบต่อรายได้ท้องถิ่น

แบงก์รัฐเตรียมของขวัญปีใหม่

นอกจากนี้ รมว.คลังได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานไปคิดมาตรการที่จะมอบเป็นของขวัญปีใหม่ เพื่อบรรเทาภาระประชาชน จะเห็นความชัดเจนปลายเดือน พ.ย.เช่นเดียวกัน โดยสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐน่าจะออกแพ็กเกจเป็นมาตรการช่วยเหลือด้านสินเชื่อ อย่างเช่น ชำระดีมีคืน (cash back) เป็นต้น

ก่อนหน้านี้ รมว.คลังกล่าวว่า การขยายเพดานหนี้สาธารณะเป็นไม่เกิน 70% ต่อจีดีพี เป็นการเพิ่มพื้นที่ทางการคลัง และยังมีแผนการใช้เงินเพื่อรองรับการกระตุ้นเศรษฐกิจในปีหน้า ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการคนละครึ่ง ที่จะสิ้นสุด ธ.ค. 2564 ซึ่งจะออกมาตรการเพิ่มเติม และมีโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ สำหรับผู้มีกำลังซื้อ แม้มีผู้ใช้สิทธิน้อยแต่จะพิจารณาให้อีก

นอกจากนี้ ยังมีข้อเรียกร้องให้ออกมาตรการช้อปดีมีคืน ก็ขอให้รอก่อน ตอนนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา เนื่องจากช่วงปีนี้เทศกาลปีใหม่กับเทศกาลตรุษจีนอยู่ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน จึงอาจจะพิจารณาเพิ่มเติมให้ เนื่องจากจะต้องพยุงเศรษฐกิจไตรมาส 4 ให้เดินหน้าไปต่อได้ถึงปีหน้า

“กระทรวงการคลังพิจารณาข้อเรียกร้องมาตรการลดหย่อนภาษีอยู่ ซึ่งขณะนี้เป็นช่วงไตรมาสสุดท้ายแล้ว หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยจะติดลบ ฉะนั้น ไตรมาสสุดท้ายปีนี้จะวางมาตรการเข้ามาช่วยกระตุ้น ประกอบเป็นช่วงปีใหม่ด้วย ซึ่งโครงการเราเที่ยวด้วยกันก็มาแล้ว เดี๋ยวจะมีมาตรการใหม่อีกแน่นอน”

ใช้เงินกู้ 5 แสนล้านกระตุ้น

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า สภาพัฒน์ได้หารือกับกระทรวงการคลัง เพื่อเตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปลายปีนี้แล้ว โดยกระทรวงการคลังกำลังทำรายละเอียดมาตรการกลับมาเสนอคณะกรรมการกลั่นกรองใช้จ่ายเงินกู้ให้เร็วที่สุด ซึ่งเม็ดเงินจาก พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท เพียงพอในการรองรับมาตรการดังกล่าว

ทั้งนี้ ข้อมูล ณ วันที่ 11 ต.ค. 2564 วงเงินจาก พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท คงเหลือ 355,832 ล้านบาท

นอกจากนี้ ในส่วนกรอบวงเงิน 170,000 ล้านบาท ที่ ครม.อนุมัติเตรียมไว้จัดทำกรอบแผนงานหรือโครงการภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งเป็นวงเงินจาก พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท ขณะนี้ก็ยังไม่ได้ใช้ ซึ่งจะเปิดโอกาสให้หน่วยงานรัฐ และภาคเอกชนเสนอโครงการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจเข้ามาได้

“การพิจารณาโครงการจะแบ่งออกเป็น 2 รอบ ได้แก่ รอบที่ 1 เริ่มประมาณ ต.ค. 2564 กรอบวงเงิน 100,000-120,000 ล้านบาท และรอบที่ 2 จะเริ่ม มี.ค. 2565 กรอบวงเงินประมาณ 50,000-70,000 ล้านบาท เป็นต้น” นายดนุชากล่าว

ท่องเที่ยวฟื้น-หนุนส่งออก-ลงทุน

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า นโยบายเปิดประเทศจะช่วยให้ภาคการท่องเที่ยวค่อย ๆ ฟื้นตัว จากที่เคยหายไป 10% กลับมาเติบโตได้ ช่วยหนุนให้ภาคการส่งออกและการลงทุนดีขึ้น ทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้น่าจะเติบโต 0-1% อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญ รัฐต้องสื่อสารให้ชัดเจนว่าจะเปิดประเทศรูปแบบใด เช่น 1 พ.ย.นี้ เปิดธุรกิจอะไรบ้าง จังหวัดใด จังหวัดกลุ่มสีแดงเปิดอะไรได้บ้าง ช่วงเวลาใด

“หากถามถึงความพร้อมของประเทศเรา ผมมองว่ากรณีเลวร้ายสุดคือการรักษาและการฉีดวัคซีนทำไม่ได้ แต่นี่เราเห็นแล้วว่าสถิติคนที่รักษาหายมากกว่าคนที่ติดเชื้อ การเสียชีวิตลดลง แสดงว่าไทยพร้อมแล้ว ผู้ประกอบการเชื่อมั่นความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน การคลายล็อกเปิดประเทศ ทำให้หลายอย่างดีขึ้น ทั้งส่งออก ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม 3 เดือนข้างหน้าดีขึ้น อยู่ที่ระดับ 93.0 จากระดับ 90.9 ในเดือน ส.ค. 2564 ในระยะสั้นเห็นผลเรื่องการออกมาจับจ่ายใช้สอย”

แต่ระยะยาว ต้องดูมาตรการรัฐที่ออกมากระตุ้นฟื้นฟูเศรษฐกิจจะผ่อนคลายการชะลอตัวของเศรษฐกิจได้มากแค่ไหน ขณะเดียวกันการยืดชำระหนี้ให้ผู้ประกอบการตามที่เอกชนขอ 6 เดือนถึง 1ปี และให้ บสย.เข้ามาค้ำประกันในสัดส่วน 70% ก็เพื่อให้โอกาสผู้ประกอบการที่ได้เปิดกิจการมีเงินทุนสามารถเดินต่อทำกำไรได้

นักท่องเที่ยวช่วยหนุน GDP

สอดคล้องกับนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ที่มองว่า เป็นสัญญาณที่ดีที่นายกฯออกมาประกาศสร้างความชัดเจนในการเปิดประเทศ จากปัจจุบันตัวเลขผู้ติดเชื้อมีแนวโน้มทรงตัวถึงลดลง ประกอบกับแผนการจัดหาและจัดสรรวัคซีนที่ชัดเจน ประชาชนได้รับวัคซีนเพิ่มขึ้น การกระจายวัคซีนไปต่างจังหวัดเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งการติดเชื้อจากต่างประเทศก็ไม่มีปริมาณมาก

“สิ่งสำคัญขณะนี้ต้องเตรียมความพร้อมกระจายฉีดวัคซีนเพิ่มเติม ทั้งเข็ม 2 และเข็ม 3 โดยภาคเอกชนที่ร่วมเป็นศูนย์ฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาลพร้อมสนับสนุน เพื่อร่วมเปิดประเทศไปด้วยกัน และสื่อสารไปยังประเทศต่าง ๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่น นอกจากนั้น มาตรการ COVID Free Setting ได้ปรับให้เหมาะสมกับสถานประกอบการ ให้สามารถปฏิบัติได้ โดยคำนึงถึงความปลอดภัย และเข้มงวด เพื่อให้ไม่เกิดการระบาดอีกรอบ”

นายสนั่นกล่าวว่า หอการค้าไทยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเดือนละ 1 แสนราย ส่งผลให้ GDP ในปีนี้โตขึ้นในกรอบ 0-1% หากมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศส่วนอื่น ๆ ตามที่ได้เคยเสนอไป ทั้งผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การเติมเพิ่มเงินคนละครึ่งจาก 3,000 บาท เป็น 6,000 บาท และช้อปดีมีคืน จะส่งผลให้ GDP ขยายตัวได้มากขึ้น

หัวใจคือความเชื่อมั่นต่างชาติ

ส่วนมุมมองของภาคการท่องเที่ยว นายศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) ในฐานะสมาคมดูแลตลาดอินบาวนด์ (นักท่องเที่ยวขาเข้า) กล่าวว่า แนวทางดังกล่าวช่วยให้บรรยากาศการเตรียมความพร้อมในการกลับมาทำธุรกิจของกลุ่มผู้ประกอบการเริ่มผ่อนคลายขึ้น คนต่างชาติจะให้ความสนใจและเตรียมพร้อมเดินทางเข้าไทยมากขึ้น

แม้จะมีการเปิดให้เข้าประเทศแบบไม่กักตัวแล้ว แต่กลุ่มที่จะออกเดินทางเป็นกลุ่มแรก ๆ นั้นยังคงเป็นกลุ่มที่มีความจำเป็นในการเดินทาง อาทิ เพื่อติดต่อธุรกิจ เยี่ยมญาติ เป็นต้น ส่วนกลุ่มที่เป็นนักท่องเที่ยวทั่วไปนั้นคงเข้ามาไม่มากนัก

“ตอนนี้ตลาดที่มีโอกาสเดินทางยังเป็นโซนยุโรป อเมริกา เป็นหลัก ส่วนตลาดในโซนเอเชียยังไม่เห็นสัญญาณการเดินทางออกนอกประเทศ กระแสการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติน่าจะเป็นลักษณะค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากหัวใจสำคัญของกลุ่มที่ต้องการเดินทางเพื่อการท่องเที่ยวคือความปลอดภัย” นายศิษฎิวัชรกล่าว

ไทม์ไลน์ชัด บรรยากาศดีขึ้น

เช่นเดียวกับ นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (THA) ที่กล่าวว่า การประกาศนโยบายดังกล่าวช่วยให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยว โรงแรมมีไทม์ไลน์ชัดเจนในการตอบคำถามคู่ค้าและลูกค้าในต่างประเทศ จะทำให้บรรยากาศการเดินทางท่องเที่ยวเข้าประเทศไทยผ่อนคลายขึ้น มีนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น

“ในแง่จำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาคงยังไม่ได้มีนัยสำคัญมากนัก แต่ทิศทางจะดีขึ้น ทุกคนสามารถวางแผนธุรกิจของตัวเองได้ และมีความหวังมากขึ้น แต่ต้องรอประกาศในราชกิจจาฯเพื่อความแน่นอน” นางมาริสากล่าว

เร่งสร้างเชื่อมั่นด้านซัพพลาย

ด้านนายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า ความชัดเจนดังกล่าวถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่ทำให้ภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยกลับมามีความหวังอีกครั้ง และมีไทม์ไลน์วางแผนทำธุรกิจได้ชัดเจนขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแผนการเจรจากับบริษัทนำเที่ยวในต่างประเทศซึ่งเป็นคู่ค้า สายการบิน รวมถึงผู้ให้บริการชาร์เตอร์ไฟลต์

ในส่วนของ สทท.นั้นจะเน้นขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการในด้านซัพพลายช่วยกันสร้างความมั่นใจให้นักท่องเที่ยวต่างชาติทุกรูปแบบ และปฏิบัติตามมาตรฐานสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

นอกจากนี้ ยังต้องพยายามทำให้แคมเปญไทยเที่ยวไทย ซึ่งขณะนี้มีแคมเปญใหญ่อยู่ 3 แคมเปญ คือ เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3, ทัวร์เที่ยวไทย และประชุมเมืองไทยปลอดภัยกว่า ของสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ

Q4 นักท่องเที่ยวกว่า 1 ล้านคน

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า เชื่อว่าการแถลงการณ์เปิดประเทศของรัฐบาลจะทำให้เศรษฐกิจและการท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัวและก้าวผ่านจุดต่ำสุดได้ โดย ททท.ประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวใหม่อีกครั้ง เนื่องจากประกาศดังกล่าวปรับลดเงื่อนไขการเดินทางค่อนข้างมาก ช่วยลดค่าใช้จ่ายของผู้เดินทาง คาดว่าไตรมาสสุดท้ายไทยน่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากเป้าเดิมที่ 7-8 แสนคน

“เรามองว่านับจากนี้เป็นต้นไป ภาคอุตฯท่องเที่ยวของไทยจะเติบโตในรูปแบบตัววี (V) และปีหน้าจะมีรายได้ประมาณ 50% ของปี 2562 ที่มีรายได้ 2 ล้านล้านบาท และมีรายได้เพิ่ม 80% ของปี 2562 ในปี 2566”

นอกจากนี้ มองว่าการกลับมาของอุตฯท่องเที่ยวจะเป็นการเติบโตในเชิงคุณภาพ เน้นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูง การท่องเที่ยวไทยจะเติบโตไปควบคู่กับการปรับโครงการที่มุ่งไปสู่การท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ

อย่างไรก็ตาม การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวแบบไม่กักตัวยังต้องดำเนินการตามมาตรฐานความปลอดภัยสูงสุดของกระทรวงสาธารณสุข อาทิ ประชาชนในพื้นที่ต้องปลอดภัย ฉีดวัคซีนครอบคุลมไม่ต่ำกว่า 70% ต้องพร้อมบริหารจัดการ มีการติดตามตัวนักท่องเที่ยว ต้องมี command certer ดูแลนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะเรื่องการอำนวยความสะดวกสูงสุดให้นักท่องเที่ยว

เหล้า-เบียร์จี้เปิดขาย 1 พ.ย.

ขณะที่นายธนากร คุปตจิตต์ เลขาธิการสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย (TABBA) เปิดเผยว่า การระบาดของโควิด-19 กระทบอุตสาหกรรมรวมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มูลค่ากว่า 3.7 แสนล้านบาท (ปี’61-62) ให้หายไปกว่า 50% เหลือราว 2.6-2.7 แสนล้านบาท ทำให้ช่วงที่ผ่านมาผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวข้องทั้งร้านอาหาร ผับ บาร์ ถูกกระทบอย่างมาก

การผ่อนคลายมาตรการเปิดผับบาร์จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะส่งผลดีทั้งระบบ ทั้งผู้ประกอบการร้านอาหารยอดขายจะกลับมา 30-40% จากการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ภายใต้มาตรการอย่างเข้มข้น) กลุ่มนักดนตรี นักแสดงที่จะกลับมาสร้างเม็ดเงินต่าง ๆ หมุนเวียนเพิ่ม จะมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 1-2 หมื่นล้านบาทต่อวัน

แต่การผ่อนคลายเปิดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ วันที่ 1 ธ.ค.นี้ มองว่ายังไม่ชัดเจน ทำให้ยากที่จะเตรียมความพร้อมเปิดจำหน่าย ทั้งจัดซื้อสินค้าเข้าร้าน จัดคิวนักแสดง ซึ่งทุกอย่างล้วนเป็นต้นทุน จึงอยากให้รัฐกำหนดให้ชัดเจน

นอกจากนี้ ผ่อนคลายธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ วันที่ 1 ธ.ค.นี้ ไม่สอดคล้องกับไทม์ไลน์การเปิดประเทศ 1 พ.ย. เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ควรพิจารณาให้สามารถเปิดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารนำร่องก่อนวันที่ 1 พ.ย. ทั้งนี้ TABBA กับสมาคมผู้ประกอบการต่าง ๆ นักดนตรี ร้านอาหาร ฯลฯ เพื่อหารือร่วมกันก่อนยื่นข้อเสนอถึงนายกฯ ให้เปิดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ วันที่ 1 พ.ย.นี้

จัดเคานต์ดาวน์ถนนข้าวสาร

นายสง่า เรืองวัฒนกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บัดดี้ กรุ๊ป จำกัด ในฐานะนายกสมาคมผู้ประกอบธุรกิจถนนข้าวสาร เปิดเผยว่า สมาคมได้มีการเตรียมความพร้อมเปิดให้บริการเพื่อรองรับการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ รอบด้าน ทั้งเร่งปูพรมฉีดวัคซีนผู้ประกอบการในย่านทั้ง 2 โดสไปแล้วกว่า 90% ประสานกับทางเขต และกระทรวงสาธารณสุข ด้านความปลอดภัยและมาตรการต่าง ๆ หากรัฐบาลไฟเขียวให้เปิดผับบาร์ได้ ก็พร้อมเปิดให้บริการภายใต้มาตรการความปลอดภัยที่เข้มงวดทันที นอกจากนี้ยังเจรจากับสมาคมคู่ค้าแผงลอยในการวางจุดจำหน่าย จัดกิจกรรมปีใหม่ เคานต์ดาวน์ เป็นต้น

“เรามีแผนแม่บทด้านต่าง ๆ ทั้งกิจกรรมช่วงสิ้นปี เคานต์ดาวน์ วางไว้อยู่แล้ว เพียงแต่รอความชัดเจนของภาครัฐในการผ่อนคลายมาตรการ รวมถึงการพิจารณาจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามา ซึ่งแน่นอนว่าหลาย ๆ อย่างต้องทำให้รอบคอบก่อนที่จะทำกิจกรรมอะไรในช่วงเวลานี้ โดยมองว่ามาตรการกระตุ้นด้านเศรษฐกิจและสาธารณสุขต้องเดินคู่กันไป เพื่อฟื้นประเทศทั้งสองด้าน”

พัทยาสับสนกฎเปิดประเทศ

ด้านนายพิสูจน์ แซ่คู นายกสมาคมโรงแรมภาคตะวันออก กล่าวว่า แม้นายกฯแถลงเตรียมเปิดประเทศ 1 พ.ย. แต่มองว่ายังไม่มีความชัดเจนเรื่องเงื่อนไขและข้อปฏิบัติในการรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ แผนโครงการพัทยามูฟออนต่าง ๆ ที่ทำมาก่อนหน้า 6 เดือน คงต้องยกเลิกไปทั้งหมด

“ตอนนี้คือรอความชัดเจนหลาย ๆ เรื่อง อาทิ 1.การตรวจ RT-PCR จะดำเนินการตรวจที่ไหน ตรวจอย่างไร หากเดินทางมาถึงสนามบินแล้วทำการตรวจเลย หรือต้องไปรอตรวจที่ไหน และจะให้เดินทางไปรอผลตรวจที่โรงแรมที่เช็กอินเลยหรือไม่ ถ้าผลตรวจออกมาเป็นลบก็ไม่ต้องกักตัว 2.กรณีนักท่องเที่ยวฉีดวัคซีนยังไม่ครบโดส ต้องกักตัวหรือไม่ 3.ถ้าหากมาจากประเทศที่ไม่ใช่ 10 ประเทศตามที่นายกฯแถลงการณ์ จะต้องกักตัวหรือไม่ สถานที่กักตัวที่ไหน”