TDRI ชำแหละงบฯกรมชล 7 หมื่นล้านทำงานเฉพาะกิจ

คลองระบายน้ำบางบาล-บางไทร

กรมชลประทานรับงบฯปี 2565 สุดอู้ฟู่ 7.7 หมื่นล้าน 70% ของงบฯกระทรวง ลุยแผนบริหารจัดการน้ำ เดินหน้าหนุนยุทธศาสตร์ชาติ พัฒนาภาคเกษตรไทย “ทีดีอาร์ไอ” จวกรัฐใช้งบฯเปลือง ทุ่มก่อสร้างมากเกินไป แนะล้มระบบทำงานแบบเฉพาะกิจ ทำแผนบริหารน้ำระยะยาว

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 วงเงิน 110,902.56 ล้านบาท ลดลง 929.95 ล้านบาท หรือลดลง 0.83% จากปีงบประมาณ 2564

โดยงบประมาณปี 2565 ทั้งหมดจะมุ่งส่งผลให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรได้รับการพัฒนาศักยภาพให้มีความเข้มแข็ง นำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการด้านเกษตร เพื่อยกระดับรายได้เกษตรกร สร้างความสามารถในการแข่งขันอย่างมั่นคงและยั่งยืน

ทั้งนี้ ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯได้รับการจัดสรรงบประมาณลดลงทั้งหมด ยกเว้นกรมชลประทาน ปีงบประมาณ 2565 ได้รับงบฯ 77,143.43 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,036.45 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 4.1% จากปีก่อนหน้า ซึ่งถือว่าได้รับงบประมาณสูงสุดของกระทรวงเกษตรฯ คิดเป็น 70% ของงบประมาณรวม

แหล่งข่าวจากกรมชลประทานระบุว่า งบประมาณดังกล่าวจะจัดสรรเพื่อมุ่งบริหารจัดการพัฒนาแหล่งน้ำและเพิ่มพื้นที่ชลประทานตามศักยภาพของลุ่มน้ำให้เกิดความสมดุล ให้กับประเทศโดยภาพรวมเพิ่มพื้นที่ชลประทานอีก 162,700 ไร่ เพิ่มพื้นที่เก็บกักน้ำอีกทั่วประเทศให้ได้ 140.86 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ครัวเรือนได้รับประโยชน์ 2.10 ล้านครัวเรือน

และเพื่อให้การดำเนินโครงการก่อสร้างตามงบฯลงทุนสามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายและเวลาที่กำหนด ได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมก่อนงานก่อสร้างเป็นสำคัญ ตั้งแต่การเตรียมความพร้อมด้านวิศวกรรม งานศึกษา สำรวจออกแบบ และการขออนุญาตใช้พื้นที่

นอกจากนี้ กรมชลประทานยังมีงบประมาณโครงการภายใต้กรอบนโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเงินกู้ 4 แสนล้านบาท ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 กรมได้รับจัดสรรงบประมาณรวม 4,224.83 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการ 384 รายการ อาทิ โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ บริหารจัดการน้ำ และเพิ่มพื้นที่ชลประทาน ปรับปรุงซ่อมแซมแหล่งน้ำ จ้างงาน โดยมติ ครม.กำหนดระยะเวลาดำเนินงานให้แล้วเสร็จภายในเดือน ธ.ค. 2564

รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปีนี้การบริหารจัดการน้ำภายใต้วิกฤตภัยแล้งและน้ำท่วมเป็นไปในลักษณะสั่งการ แบบ “เฉพาะกิจ” ผู้มีอำนาจเน้นการแต่งตั้ง หาผู้รับผิดชอบงาน เพื่อทำงานชั่วคราว เมื่อเสร็จสิ้นก็แยกย้าย ภารกิจจึงขาดการเก็บบันทึกประสบการณ์ สถิติ เพื่อวางแผนรับมือในครั้งต่อไป

ขณะเดียวกัน งบประมาณของกรมชลประทานมุ่งเน้นสิ่งก่อสร้างมากเกินไป และเกินความจำเป็น ควรให้ความสำคัญกับแผนงานวิเคราะห์การสร้างสถาบันการจัดการน้ำที่ไม่ใช่สิ่งก่อสร้างด้วย ควรสร้างรูปแบบการจัดการจากล่างขึ้นบนแบบมีส่วนร่วม อีกทั้งรัฐต้องกระจายอำนาจการจัดการน้ำอย่างแท้จริงและควรซ่อมแซมอ่างขนาดเล็ก ขนาดกลาง เช่น ปัญหาลำเชียงไกร ชัดเจนเลยว่าปัญหาหลักคือขาดการซ่อมแซมพื้นที่ อาคารสิ่งก่อสร้าง ดังนั้น สิ่งที่มีอยู่ควรซ่อมแซม ซึ่งสำคัญมาก

“รัฐเน้นลงทุนก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่มากเกินไป ขาดการจัดการที่ไม่ใช่สิ่งก่อสร้าง เช่น ขาดองค์กรระดับประเทศที่รับผิดชอบขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การจัดการน้ำอย่างต่อเนื่อง ควรต้องแก้กฎหมาย การจัดการน้ำแบบเฉพาะกิจ ให้เป็นแผนการป้องกันน้ำท่วม และควรมีแผนการช่วยเหลือเยียวยาให้ครอบคลุม ที่สำคัญคือปีนี้จะเห็นว่า น้ำท่วมพื้นที่หมู่บ้านตัวเมือง เช่น พัทยา เพราะขาดการจัดการและควบคุมการใช้ที่ดิน ผังเมือง ซึ่งเป็นจุดอ่อนสำคัญในการป้องกันอุทกภัยในระยะยาว”

ทั้งนี้ แม้ว่าหลังอุทกภัยปี 2554 ประชาชนและอุตสาหกรรมจะให้ความสำคัญของการวางแผนและการควบคุมการใช้ที่ดิน แต่ผลสรุปปัจจุบันยังพบว่า 1.รัฐบาลทั้งส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นแทบจะไม่ได้ปรับเปลี่ยนแนวทางและกติกา การวางแผนและการควบคุมการใช้ที่ดิน ยังคงมีนโยบาย แผน และโครงการต่าง ๆ ที่เน้นสิ่งก่อสร้าง 2.จะเห็นว่าชุมชนรวมกลุ่มรับมือกับปัญหาน้ำท่วมบ้าง แต่ส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมบรรเทาสาธารณภัย และช่วยเหลือเยียวยาเฉพาะหน้า ขาดความประสานงาน ร่วมมือระหว่างรัฐ เอกชน ชุมชน

3.ครัวเรือนปรับตัวหลังน้ำท่วม แต่ในระดับชุมชนและเมืองแทบไม่มีการปรับตัวใด ๆ สาเหตุหลักเนื่องจากการจัดการน้ำผังเมือง (land used planning) ย้ายไปไหนไม่ได้ และบางพื้นที่ไม่มีการเตือนภัยล่วงหน้า เช่น ปีนี้ จ.ชัยภูมิ ประชาชนเก็บข้าวของไม่ทัน เพราะไม่มีการแจ้งเตือนล่วงหน้าเลย อีกทั้งไม่มีแผนอพยพที่ทันท่วงที