ประกันรายได้ 3 ปี 1.6 แสนล้าน ชุบชีวิตเกษตรกร ?

ประกันรายได้เกษตรกร

กำลังเข้าสู่ปีที่ 3 ของการดำเนินโครงการประกันรายได้สินค้าเกษตร 5 ชนิด “ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และข้าวโพด”

ล่าสุดประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2564 เร่งดำเนินโครงการประกันรายได้ให้ทันกับฤดูการผลิตของสินค้าเกษตรแต่ละชนิด

โดยโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว เป้าหมายเพื่อให้เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2564/65 (รอบที่ 1) กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ปลูกข้าวระหว่างวันที่ 1 เมษายน-31 ตุลาคม 2564 ยกเว้นภาคใต้ ระหว่างวันที่ 16 มิถุนายน 2564-28 กุมภาพันธ์ 2565

ประกันรายได้

ยังคงอาศัย “หลักเกณฑ์เดิม” เหมือนกับปี 2563/64 กล่าวคือ จะชดเชยข้าว 5 ชนิด ไม่เกินครัวเรือนละ 40 ไร่ (ข้าวเจ้า ครัวเรือนละ 50 ไร่) แปลงละ 1 ครั้ง กำหนดราคาประกันข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 15,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคาตันละ 14,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 10,000 บาท ทั้งนี้ มีกำหนดจะประกาศราคาอ้างอิง เพื่อนำมาคำนวณส่วนต่างประกันรายได้งวดแรกในวันที่ 29 ต.ค.นี้

พร้อมกับดำเนินมาตรการคู่ขนาน 3 โครงการ คือ โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2564/65 วงเงินรวม 26,255 ล้านบาท (สินเชื่อ 20,401 ล้านบาท และวงเงินจ่ายขาด 5,853 ล้านบาท) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2564/65 วงเงินรวม 15,562 ล้านบาท (วงเงินสินเชื่อ 15,000 ล้านบาท วงเงินจ่ายขาด 562 ล้านบาท) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก ปีการผลิต 2564/65 วงเงินจ่ายขาด 540 ล้านบาท

โครงการประกันราคาเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ชนิดเมล็ด ณ ความชื้นร้อยละ 14.5 ในราคา กก.ละ 8.5 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ไร่ และไม่ซ้ำแปลง ต้องเป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กับกรมส่งเสริมการเกษตร ที่แจ้งเพาะปลูกระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน 2564-31 พฤษภาคม 2565 (ยกเว้นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่แจ้งขึ้นทะเบียนเพาะปลูกเพื่อผลิตเป็นเมล็ดพันธุ์ จะไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้)

พร้อมทั้งมาตรการคู่ขนาน 2 โครงการ ประกอบด้วย โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปี 2564/65 วงเงินรวม 1,030 ล้านบาท (วงเงินสินเชื่อ 1,000 ล้านบาท วงเงินจ่ายขาด 30 ล้านบาท)

โครงการชดเชยดอกเบี้ยในการเก็บสต๊อก ปี 2564/65 วงเงินรวม 1,515 ล้านบาท (วงสินเชื่อ 1,500 ล้านบาท วงเงินจ่ายขาด 15 ล้านบาท)

โครงการประกันราคาเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังสดเชื้อแป้ง 25% ราคา กก.ละ 2.50 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 100 ตัน และไม่ซ้ำแปลง ซึ่งต้องเป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนปลูกมันสำปะหลังกับกรมส่งเสริมการเกษตร

ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2563-31 มีนาคม 2565 ใช้เงินทุนจาก ธ.ก.ส. และรัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ย และค่าบริหารจัดการให้กับ ธ.ก.ส. ทั้งนี้ ระยะเวลาโครงการเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564-31 พฤษภาคม 2566

พร้อมทั้งมาตรการคู่ขนาน 4 โครงการ ประกอบด้วย โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกมันสำปะหลัง ปี 2564/65 วงเงินสินเชื่อ 690 ล้านบาท วงเงินจ่ายขาดชดเชยดอกเบี้ย 41.40 ล้านบาท โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมมันสำปะหลังและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปี 2564/65 วงเงิน 500 ล้านบาท

โครงการชดเชยดอกเบี้ยในการเก็บสต๊อกมันสำปะหลัง ปี 2564/65 วงเงินสินเชื่อ 15,000 ล้านบาท วงเงินจ่ายขาดชดเชยดอกเบี้ย 225 ล้านบาท 4.โครงการเพิ่มศักยภาพการแปรรูปมันสำปะหลัง ปี 2564/65 วงเงิน 10 ล้านบาท

โครงการประกันรายได้ ยางพาราและปาล์มน้ำมันอยู่ระหว่างที่จะเสนอเข้า ครม.พิจารณาเห็นชอบ ประกันราคายางพารา ราคายางแผ่นดิบคุณภาพดี 60.00 บาท/กิโลกรัม ประกันรายได้ราคาน้ำยางสด (DRC 100%) 57.00 บาท/กิโลกรัม ประกันรายได้ราคายางก้อนถ้วย (DRC 50%) 23.00 บาท/กิโลกรัม

เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564-มีนาคม 2565 แบ่งสัดส่วนรายได้ เจ้าของสวนร้อยละ 60 และคนกรีดร้อยละ 40 ของรายได้ทั้งหมด รายละไม่เกิน 25 ไร่

ประกันราคาปาล์มน้ำมัน โดยกำหนดราคาเป้าหมาย 4 บาท/กก. ซึ่งเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตร จะได้รับความช่วยเหลือทุกครัวเรือนตามพื้นที่ที่ปลูกจริง แต่ไม่เกินครัวเรือนละ 25 ไร่ และต้องเป็นพื้นที่ปลูกต้นปาล์มที่ให้ผลผลิตแล้ว มีอายุ 3 ปีขึ้นไป ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ ก.ย. 64-ก.ย. 65 โดยจะจ่ายงวดที่ 1 วันที่ 15 ก.ย. 64

ทั้งนี้ หากย้อนกลับไปดูโครงการประกันรายได้พืชเศรษฐกิจ 5 ชนิด มีครัวเรือนเกษตรกรที่ได้ประโยชน์ 7,850,000 ครัวเรือน รวมเป็นเม็ดเงินประกันรายได้ในช่วงปี 1 และปี 2 ประมาณ 1.1 แสนล้านบาท

ขณะที่งบประมาณที่ขอใช้โครงการประกันรายได้ปี 3 อีกประมาณ 40,000 ล้านบาท เท่ากับว่าในช่วง 3 ปีการดำเนินโครงการรัฐบาลใช้งบประมาณไปแล้ว 1.5-1.6 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ยังมีโจทย์ที่ต้องประเมินต่อไปว่า “ผลลัพธ์” ของการประกันรายได้ที่มุ่งดูแลคุณภาพชีวิตเกษตรกรประสบความสำเร็จมากเพียงใด สามารถยกระดับราคาสินค้าเกษตร 5 รายการนี้ได้มากขึ้นหรือไม่ และที่สำคัญหากมองทั้งห่วงโซ่การผลิตแล้ว โครงการประกันรายได้ให้ประโยชน์กับซัพพลายทั้งระบบสินค้าเกษตรเหล่านี้หรือไม่ ซึ่งเกษตรกร-ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องจะเป็นผู้ชี้วัดได้ดีที่สุด