หอการค้า 5 ภาค ชงสมุดปกขาวฟื้นเศรษฐกิจ ขอรัฐต่อคนละครึ่ง-ดันบิ๊กโปรเจ็กต์

Photo by Jack TAYLOR / AFP

หอการค้า 5 ภาคเตรียมชงสมุดปกขาวเสนอรัฐบาลตู่ เร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ หวั่นหนี้ครัวเรือนพุ่งกระทบจับจ่าย ห่วงเศรษฐกิจฟื้นช้า จี้คุมราคาดีเซลไม่ให้หลุด 30 บาทต่อลิตร แนะเติมเงินคนละครึ่งอีก 3 พันบาท/คน หวังเม็ดเงินสะพัด 9 หมื่นล้านในปีหน้า เผย มท.1 จะร่วมประชุมด้วยเป็นครั้งแรก

งานสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศครั้งที่ 39 จะจัดขึ้นวันที่ 20-21 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งหอการค้าทั้ง 5 ภาคจะยื่นสมุดปกขาวต่อรัฐบาล ด้วยแนวคิด “Connect the Dots DESIGN THE FUTURE รวมพลัง สร้างสรรค์ อนาคต” โดยเสนอ BCG Economy Model เป็นตัวขับเคลื่อน ทั้งเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยปี 2565 จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 4.2% ขณะที่ปีนี้หลังเปิดประเทศจะเติบโตในกรอบ 1.5%

ห่วงหนี้ครัวเรือน

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การประชุมหอการค้าไทยฯครั้งนี้จะหารือถึงความท้าทายที่ภาคเอกชนต้องเผชิญในปี 2564-2565 และแนวทางการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหา ว่าจะทำอย่างไร ซึ่งจากการประชุมและจัดทำแบบสำรวจความเห็นหอการค้าภูมิภาค 350 ตัวอย่าง มีภาพสะท้อนความเป็นห่วงเรื่องหนี้ครัวเรือนที่อาจส่งผลกระทบต่อการจับจ่าย

ที่สำคัญคือการปลดล็อกและแก้ไขปัญหาสภาพคล่องเอกชน จากที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินกู้ต่าง ๆ แม้รัฐบาลจะออกมาตรการช่วยเหลือ เช่น โครงการพักทรัพย์พักหนี้ แต่ยังมีข้อจำกัดในการใช้ ทำให้มีจำนวนผู้ที่ได้รับประโยชน์ไม่มากนัก

รวมถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ซึ่งยังไม่มีการใช้เท่าที่ควร ต้องปรับเงื่อนไข รวมถึงโครงการคนละครึ่งที่เสนอให้ขยายวงเงินอีกคนละ 3,000 บาท เพื่อให้มีเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ 90,000 ล้านบาท เป็นต้น

มท.1 ร่วมขับเคลื่อน

“ปีนี้จะเป็นปีแรกที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา) จะมาร่วมสะท้อนความเห็นต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจใน 5 ภูมิภาคด้วย”

รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ เปิดเผยว่า จากที่ประชุมร่วมกับประธานหอการค้าภูมิภาค และจัดทำสำรวจความเห็นทางออนไลน์ 350 ตัวอย่าง

กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ยังมองว่า เศรษฐกิจไทยขณะนี้ยังไม่ฟื้นตัว น่าจะเริ่มฟื้นในไตรมาส 2 ปี 2565 เป็นต้นไป ซึ่งสะท้อนว่า ภาพเศรษฐกิจมหภาคฟื้น เห็นผลในธุรกิจขนาดใหญ่ แต่ยังไปไม่ถึงระดับภูมิภาค แม้จะเปิดประเทศแต่ก็เปิดเฉพาะพื้นที่สีฟ้า 4 จังหวัด ซึ่งเอสเอ็มอียังเข้าไม่ถึงโอกาสทางธุรกิจ ฉะนั้นไตรมาสที่ 4 ประโยชน์จากการเปิดประเทศจะไม่โดดเด่น และหนี้ครัวเรือนกำลังเป็นปัญหาใหญ่ในปีหน้า

ข้อเสนอที่ภาครัฐควรเร่งดำเนินการ 6 เรื่องคือ 1) การควบคุมการแพร่ระบาดและเร่งกระจายวัคซีนให้เป็นไปตามเป้าหมาย 2) การเปิดดำเนินการธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจบริการ ธุรกิจกลางคืนควรเปิดให้ได้ในปีหน้า เพราะจะมีนักท่องเที่ยวมาถึง 5 ล้านคน

3) การดูแลธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีปัญหาสภาพคล่อง ต้องจัดหาซอฟต์โลนมาช่วยเพื่อให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน 4) ดูแลระดับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ ไม่ให้หลุดในระดับ 30 บาทต่อลิตร ซึ่งหอการค้าเชื่อว่า รัฐมีมาตรการดูแลต่อเนื่องถึงไตรมาสแรกปี 2565 อย่างไรก็ตาม รัฐควรดูแลไม่ให้น้ำมันทะลุ 35 บาทต่อลิตรไปจนกว่าเศรษฐกิจจะฟื้น

5) การใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งโครงการคนละครึ่งควรขยายวงเงินอีกรายละ 3,000 บาท ซึ่งจะทำให้มีเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจ 90,000 ล้านบาท โครงการช็อปดีมีคืนควรขยายระยะเวลาถึงช่วงเทศกาลตรุษจีน และผลักดันให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์การบริหารส่วนตำบลต่าง ๆ เร่งใช้งบประมาณ และ 6) วางรากฐานเพื่ออนาคต โดยผลักดันการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

ภาคเหนือดันการค้า-ลงทุน

นายสมบัติ ชินสุขเสริม ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคเหนือ หอการค้าไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จะเสนอยุทธศาสตร์การค้า ลงทุน เกษตร ท่องเที่ยว และบริการที่เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กลับมาโดยเร็ว หลังทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เพราะโควิด-19

เช่น จัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษรองรับสังคมผู้สูงอายุ การเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคม ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ต่อยอดด้านการเกษตรและท่องเที่ยว เปิดประตูการค้าสู่เมียนมา และ สปป.ลาว เชื่อมโลจิสติกส์ พัฒนาเศรษฐกิจฐานรากทั้งขนส่งทางน้ำ ถนน และราง สอดรับนโยบาย Belt and Road Initiative ของประเทศจีน

พร้อมผลักดันด้านการเกษตรและอาหาร ขับเคลื่อนโครงการ 1 ล้าน 1 ไร่ ปลูกกาแฟ โกโก้ ทุเรียน พืชเศรษฐกิจมูลค่าสูงในเเต่ละพื้นที่ โครงการเพิ่มมูลค่าสมุนไพร โครงการ 1 หมู่บ้าน 1 อ่างเก็บน้ำ เพื่อกักน้ำใช้ในฤดูแล้งและป้องกันน้ำท่วมฤดูน้ำหลาก ภาคการท่องเที่ยวมีโครงการ happy model 1 หอ 1 ท่องเที่ยวชุมชน เชื่อมท่องเที่ยวกลุ่มจังหวัดภาคเหนือ การทำ Smart Farmer เปิดประตูสู่การค้าชายแดน ฯลฯ

“ที่อยากขับเคลื่อนคือ รถไฟทางคู่เด่นชัย-เชียงราย ปี 2565 สะพานเชื่อมเศรษฐกิจเหนือ-อีสานที่น่าน ที่จะได้งบประมาณสำรวจ รวมที่อยากเสนอคืออุโมงค์ส่งน้ำแม่น้ำสาละวิน และเส้นทางพัฒนาโลจิสติกส์ภาคเหนือตอนบน 2 ตั้งแต่เชียงของลงมา ผ่านเชียงราย พะเยา แพร่ น่าน ควบคู่เส้นทาง R3A”

ที่สำคัญ เสนอให้แก้ปัญหาหมอกควันที่เกิดขึ้นทุกปี แม้หลายหน่วยงานจะเร่งขับเคลื่อน แต่ประเด็นใหญ่มีสาเหตุมาจากการเผาซากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อย ซังข้าว ไม่ได้เผาแค่ในจังหวัดหรือในไทย แต่มาจากประเทศเพื่อนบ้านด้วย เรื่องนี้อยากให้ส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ ที่ไม่ต้องเผาหลังเก็บเกี่ยว ด้วยพื้นที่นำร่อง 50,000-300,000 ไร่ ซึ่งต้องทำแผนวิเคราะห์ร่วมกันอีกครั้ง

“ปัจจุบันแม้คนยังกลัวโควิดระลอก 5 แต่เศรษฐกิจต้องเดินหน้าด้วย เมื่อรัฐเปิดประเทศ คาดว่าน่าจะกระเตื้องขึ้นนับจากนี้”

อีสานดันไฮสปีดจีน-ลาว

นายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หอการค้าไทย เปิดเผยว่า ตั้งเป้าปี 2565 จะผลักดันจีดีพีเพิ่มให้ได้ 3.5% เพื่อสอดรับกับการเติบโตของประเทศ เช่น ผลักดันโครงการรถไฟจีน-สปป.ลาว เชื่อมมายังไทย อยากให้รัฐบาลเร่งเชื่อมระบบรางภายใน 2 ปีนี้ เพราะโลจิสติกส์ การค้าการลงทุน การท่องเที่ยวกำลังขยายตัว

สถานการณ์โควิด-19 เริ่มลดลง ตัวเลขระบาดเกิน 100 คน ในภาคอีสานมีอยู่เพียงไม่กี่จังหวัด คาดว่าเดือนธันวาคมจำนวนผู้ติดเชื้อในพื้นที่เหล่านี้จะลดลงอีก และจะทยอยเปิดประเทศอีกครั้ง ซึ่งรายได้ในภาคธุรกิจเริ่มฟื้น แต่ต้องเร่งเพิ่มการลงทุน เพิ่มเปิดด่านชายแดนเพราะจะช่วยเสริมตัวเลขที่หายไปจากการส่งออกได้

นอกจากนี้ ยังมีโครงการเพิ่มขีดความสามารถ สอดรับกับบริบทของผู้คน และเพิ่มศูนย์กระจายสินค้า ดันโครงการใหญ่อย่างท่าเรือบก และโครงการด้านเกษตรที่ทำให้มีมูลค่าสูงขึ้น ขานรับการส่งออก แม้จะเป็นเรื่องใหม่แต่ควรทำจริงจัง

“คาดว่าตัวเลขทางเศรษฐกิจช่วงสิ้นปีนี้จะเป็นที่น่าพอใจ ส่วนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจะระบุในสมุดปกขาวถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ภาคอีสานแข่งขันในด้านเศรษฐกิจได้ ซึ่งจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย” นายสวาทกล่าว

ตะวันออกสกัดค้าออนไลน์จีน

นายปรัชญา สมะลาภา ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออก หอการค้าไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังรัฐบาลเปิดประเทศแม้ต่างชาติยังไม่กลับมา แต่ความรู้สึกคนเริ่มดีขึ้น โรงแรมหลายแห่งเริ่มปรับราคา แสดงให้เห็นว่าคนเริ่มจับจ่าย ท่องเที่ยว อยากให้รัฐรักษาโมเมนตัมอันนี้ให้ได้ คาดว่าปี 2565 เศรษฐกิจจะเดินต่อไปได้

“การที่เครื่องยนต์เศรษฐกิจหยุดมานานเป็นเรื่องหนัก คงต้องค่อย ๆ วิ่ง แต่ขอให้รัฐบาลพยุงไว้ อย่าให้หยุดอีก”

ในสมุดปกขาวของภาคตะวันออก มีเรื่องสำคัญ เช่น 1.เร่งรัดโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (EFC) ที่ทำค้างไว้ เนื่องจากติดขัดในระบบราชการ แม้ ครม.สัญจรจันทบุรีจะมีมติให้ผ่านมาแล้วถึง 3-4 ปี

2.เรื่องปฏิรูปการศึกษา พ.ร.บ.นวัตกรรมทางการศึกษา ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะกิจมีอายุ 7 ปี ตอนนี้ผ่านมา 1 ปีแล้วยังไม่คืบหน้า

3.ตลาดการค้าออนไลน์ข้ามพรมแดนของจีน หรือ Cross-border e-Commerce (CBEC) ซึ่งไทยลงนามกับจีนแล้ว ประมาณ 95% ของการค้าภายใต้ข้อตกลงนี้เป็นสินค้าจีนมาไทย แต่ขาออกจากไทยไปจีนไม่มี เนื่องจากทางจีนมีความชำนาญขายทุกอย่างผ่านแพลตฟอร์ม Shopee, ลาซาด้า ส่งทะลุเข้าไทยโดยไม่เสียภาษี แต่ขาออกที่คนไทยจะส่งสินค้าไปขาย กลับติดขั้นตอนของจีน ผู้ประกอบการไทยเสียเปรียบมาก จึงขอผลักดัน 2 ประเด็น

(1) ควรสร้างความเท่าเทียมทางการค้า เช่น สินค้าไทยไปจีน สินค้าจีนมาไทย ต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)

(2) ทำอย่างไรผู้ประกอบการไทยถึงส่งออกไปจีนได้ ซึ่งข้อเสียคือ ไทยไม่มีแพลตฟอร์มของตัวเอง ทั้งอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการจีนที่ขายสินค้ามาไทย มีแปลภาษาไทยเป็นจีน แปลจีนเป็นไทย โดยที่ผู้ขายจีนไม่ต้องรู้ภาษาไทยเลย

สินค้าจีนนำเข้าด้วยต้นทุนต่ำ เข้ามาทำลายธุรกิจอุตสาหกรรมในประเทศ ผู้ประกอบการไทยผลิตไม่ได้ในราคาต้นทุนขนาดนั้น ทั้งต้องเสียภาษีทุกอย่าง

4.การเพิ่มประสิทธิภาพด้านการเกษตร โดยใช้เครื่องจักรทำงานแทนแรงงานต่างด้าวที่ขาดแคลน เพื่อผลผลิตต่อต้นทุนที่ต่ำลง และลดใช้แรงงานต่างด้าว

ภาคกลางขอเกษตรแนวใหม่

นายธวัชชัย เศรษฐจินดา ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคกลาง หอการค้าไทย เปิดเผยว่า เสนอ 2 เรื่อง ได้แก่ 1.ยกระดับเกษตรแนวใหม่มูลค่าสูง 2.ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์สร้างสรรค์ ซึ่งเกษตรแนวใหม่จะเป็นโครงการต้นน้ำยันปลายน้ำ ร่วมกับมูลนิธิ BKL ทำศูนย์บ่มเพาะที่จังหวัดสระบุรี พร้อมส่งขายตลาดกลาง อาทิ ตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง ฯลฯ สุดท้ายปลายน้ำพัฒนาเป็นระบบ B2C เพิ่มช่องขายในออนไลน์ รวมถึงต่อยอดโครงการ 1 ไร่ 1 ล้าน


2.ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์สร้างสรรค์ เช่น ทวารวดี ละโว้ อยุธยา ร่วมกับกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และท่องเที่ยววิถีชุมชนลุ่มน้ำภาคกลาง ภาคกลางมีข้ออ่อนคือไม่มีผู้ประกอบการท่องเที่ยว ที่เป็นบริษัททัวร์หรือนำเที่ยวในพื้นที่