เวียดนามแซงไทยขึ้นเเท่นดาวรุ่งเอเชียผลิตกุ้งป้อนตลาดโลก

สมาคมกุ้งไทย วอนรัฐหนุนอุตสาหกรรมตลอดห่วงโซ่ เร่งเจรจาเอฟทีเอ กับอียู หลังคู่แข่ง เวียดนาม-อเมริกากลาง-ใต้ แซงหน้า เผยเวียดนามมาแรงสุดขึ้นเเท่นดาวรุ่งของเอเชียด้านการผลิตกุ้ง ชี้การเลี้ยงปีนี้ไทยเผชิญโรค สภาพอากาศ ผลผลิตอยู่ที่ 2.8 แสนตัน แม้เพิ่ม 4% แต่ต่ำกว่าเป้า อานิสงส์เงินบาทอ่อนดันส่งออก 10 เดือน พุ่ง 9%

วันที่ 13 ธันวาคม 2564 นายสมศักดิ์ ปณีตัธยาศัย นายกสมาคมกุ้งไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้เวียดนามเป็นประเทศดาวรุ่งของเอเชียด้านการผลิตกุ้ง ซึ่งเป็นผลจากการปรับวิธีการเลี้ยงจากบ่อดินเป็นบ่อถัง และรัฐบาลเองก็อุดหนุนสินเชื่อเพื่อผลักดันให้ผลผลิตกุ้ง แตะ 1 ล้านตันตามนโยบายหลัก

เช่นเดียวกับอินเดียมีผลผลิต 7.3 แสนตัน เพิ่มขึ้น 22% โดยทั้งหมดมุ่งส่งจีนเป็นหลัก เนื่องจากต้นทุนการขนส่งถูกกว่า ขณะที่ตลาดจีน และญี่ปุ่น แม้ไทยจะส่งออกได้มากขึ้น แต่ทั้ง 2 ประเทศ มีการแข่งขันด้านการตลาดที่สูงมาก รวมทั้งจีนที่มีกำลังการผลิตภายในประเทศ ถึง 8 แสนตัน เพิ่มขึ้น 45% และเวียดนามที่ผลผลิต 5.2 แสนตัน เพิ่มขึ้นสูง 12%

สมศักดิ์ ปณีตัธยาศัย
สมศักดิ์ ปณีตัธยาศัย

ขณะที่ไทยผลิตได้ปีนี้ 2564 คาดว่าจะสามารถผลิตโดยรวม 2.8 แสนตัน เพิ่มขึ้น 4% เมื่อเทียบกับปี 2563 แต่ต่ำกว่าเป้าที่กำหนดไว้ 2.9 แสนตัน การส่งออก 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค.) ทำได้ 1.28 แสนตัน มูลค่า 3.9 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ปริมาณเพิ่มขึ้น 4% และมูลค่าเพิ่มขึ้น 9% โดยทั้งปีคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 10% ส่วนใหญ่ส่งออกในตลาดจีน 1.84 หมื่นตัน เพิ่มขึ้น 23% มูลค่า 5.6 พันล้านบาท และญี่ปุ่น 2.9 หมื่นตัน เพิ่มขึ้น 9.8% มูลค่า 9.8 พันล้านบาท ส่วนสหรัฐ ส่งออกได้ 3.5 หมื่นตัน ลดลง 3.51% มูลค่า 1.2 หมื่นล้านบาท

โดยปีนี้ไทยเผชิญการผลิตยังมีปัญหา ซึ่งมีทั้งการระบาดโรคตัวแดงดวงขาว ช่วงกลางปีเป็นต้นไป มีการระบาดของโรคหัวเหลือง ปัญหาปัจจัยการผลิตอาหารสัตว์ปรับเพิ่มขึ้น ราคาตกต่ำจากการระบาดของโควิด ในช่วงต้นปี ส่งผลให้เกษตรกรไม่กล้าลงทุน ในขณะที่การส่งออก ยังดีที่เงินบาทอ่อนค่าทำให้มูลค่าปรับเพิ่มขึ้น และยังมีปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน ค่าขนส่งราคาสูงในเส้นทางการส่งไปตลาดสหรัฐอเมริกา ในขณะที่สหรัฐหันไปสั่งซื้อจากอเมริกากลาง-ใต้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มความต้องการกุ้งของตลาดโลก ยังปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ไทยยังมีโอกาสในการขยายตลาด โดยอาศัยภาพความเชื่อมั่นของกุ้งไทยที่ยังเป็นอันดับ 1 เรื่องคุณภาพ ความปลอดภัยอาหาร และปัจจัยสนับสนุนต่าง ๆ ทั้งเป็นแหล่งผลิตลูกพันธุ์กุ้งที่มีคุณภาพดีที่สุดในโลก อาหารกุ้งที่มีประสิทธิภาพ การมีเกษตรกรผู้เพาะฟักและอนุบาลลูกกุ้ง-เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งที่มีทักษะประสบการณ์ มีผู้ประกอบการห้องเย็นแปรรูปกุ้งที่มีความสามารถ และอื่น ๆ

ดังนั้น รัฐบาลควรต้องมีนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมกุ้งอย่างเต็มรูปแบบ ตลอดห่วงโซ่การผลิต มีเป้าหมายที่ชัดเจน โดยการวางแนวทางลดและต้นทุนการผลิตใช้เทคโนโลยีในการเลี้ยง ตัดต้นทุนแฝงที่สร้างความเสียหายจากโรคกุ้งที่ยังรุนแรงอยู่ วางแผนและพัฒนาการผลิตกุ้ง ให้ได้ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ ให้เพียงพอกับการส่งออกและบริโภคภายในประเทศเพื่อลดการนำเข้า

เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศผู้ผลิตรายอื่นและควรส่งเสริมพัฒนาการผลิตและแปรรูปกุ้งกุลาดำ การพัฒนาการเลี้ยง เพื่อลดความเสี่ยงจากโรค โดยรัฐสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและเทคโนโลยี รวมทั้งมีผู้สนับสนุนการพัฒนาที่ถูกต้องและร่วมรับผิดชอบด้วย เพื่อให้เกษตรกรผู้เลี้ยงจะได้นำไปลงทุนด้านเทคโนโลยีการผลิตเพื่อความยั่งยืน

“ผมคาดหวังว่าในปี 2565 จะผลักดันให้ผลผลิตกุ้งของไทยจะเพิ่มขึ้นเป็น 3 แสนตัน และการส่งออกปรับเพิ่มขึ้น 10% จากปีนี้ โดยอยากให้รัฐบาลเจรจาเปิดเขตการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ กับสหภาพยุโรปหรืออียูโดยเร็ว เพื่อให้ไทยส่งออกกุ้งในตลาดนี้มากขึ้น จากปัจจุบันที่ไทยถูกตัดสิทธิพิเศษหรือจีเอสพี ทำให้การส่งออกลดลงเหลือ 3.6 พันตันเท่านั้นเทียบกับก่อนหน้าที่ส่งออกได้มาก 6-7 หมื่นตัน โดยตลาดนี้ยังมีความต้องการกุ้งสูงมาก”

นายปกครอง เกิดสุข อุปนายกสมาคมกุ้งไทย และที่ปรึกษาชมรมผู้เลี้ยงกุ้งจังหวัดกระบี่ กล่าวถึงสถานการณ์การเลี้ยงกุ้งภาคใต้ตอนล่างว่า ผลผลิตปี 2564 คาดการณ์ว่ามีผลผลิตประมาณ 92,000 ตัน ลดลงจากปีที่ผ่านมาประมาณร้อยละ 12 พบการเสียหายโรคตัวแดงดวงขาว จ.นครศรีธรรมราช จ.สงขลา โดยเชื้ออีเอชพีและโรคขี้ขาว เป็นปัญหาสำคัญต่อการเลี้ยงของเกษตรกรตลอดปี โดยเฉพาะช่วงครึ่งปีหลัง พบการเสียหายจากโรคดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น

นายชัยภัทร ประเสริฐมรรค กรรมการบริหารสมาคม และประธานชมรมผู้เลี้ยงกุ้งสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ผลผลิตกุ้งปี 2564 ในพื้นที่ภาคใต้ตอนบนประมาณ 90,000 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาเล็กน้อย โดยช่วงต้นปีเกษตรกรลงกุ้งอย่างต่อเนื่อง และพบความเสียหายจากโรคตัวแดงดวงขาว อย่างไรก็ตามการเลี้ยงครึ่งปีแรกให้ผลค่อนข้างดี สามารถทำผลผลิตได้ตามเป้าหมายและมีการลงกุ้งอย่างต่อเนื่อง ส่วนครึ่งปีหลังด้วยสภาพอากาศที่แปรปรวนและปริมาณฝนที่เพิ่มขึ้น พบการเสียหายจากโรคอีเอชพี และขี้ขาวเพิ่มมากขึ้น

ด้านนางสาวพัชรินทร์ จินดาพรรณ นายกสมาคมกุ้งตะวันออกไทย และกรรมการบริหารสมาคมกุ้งไทย กล่าวว่า ผลผลิตกุ้งปี 2564 ในพื้นที่ภาคตะวันออกประมาณ 66,000 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 18 โดยจากสถานการณ์โควิดส่งผลให้แรงงานขาดแคลน เกษตรกรชะลอการเลี้ยงในช่วงต้นปี และพบความเสียหายของโรคตัวแดงดวงขาว โดยเฉพาะ จ.ระยอง จ.จันทบุรี จ.ตราด และพบโรคหัวเหลืองในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา มากกว่าในปีที่ผ่านมา

ส่วนโรคอีเอชพี และขี้ขาว เป็นปัญหาสำคัญสำหรับการเลี้ยงของเกษตรกรตลอดปีโดยพบมาในช่วงครึ่งปีหลัง ราคาปัจจัยการผลิต ต้นทุนแฝงจากการเสียหายจากโรค ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต เกษตรกรบางส่วนชะลอการลงกุ้ง

ส่วนผลผลิตภาคกลาง ประมาณ 32,000 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 28 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เกษตรกรมีการลงกุ้งอย่างต่อเนื่อง แต่ในช่วงต้นปีสภาพอากาศแปรปรวน พบความเสียหายจากโรคหัวเหลืองและตัวแดงดวงขาว

ส่วนทางด้าน นายบรรจง นิสภวาณิชย์ อุปนายกสมาคมกุ้งไทย ประธานสมาพันธ์การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย และผู้ทรงคุณวุฒิ-ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ กล่าวว่า การเลี้ยงกุ้งของไทยในปีนี้ เกษตรกรทุกพื้นที่ยังคงเผชิญหน้ากับปัญหาโรคระบาด ทั้งอาการขี้ขาว ตัวแดงดวงขาว และโรคตายด่วน ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพการเลี้ยงและเป็นต้นทุนแฝงกับเกษตรกร

“ทุกวันนี้อุตสาหกรรมกุ้งเปลี่ยนไปมากจากเดิมที่ไทยเป็นอันดับต้น ๆ ในด้านการผลิตกุ้ง เพราะเรามีปัจจัยที่เหมาะสมไม่ว่าจะเป็นสภาพอากาศ เรื่องพันธุ์กุ้ง อาหาร และผู้แปรรูปส่งออกที่มีฝีมือ แต่ปัจจุบันสถานการณ์กุ้งเปลี่ยนไปมาก เราตกไปอยู่อันดับ 6 หรือ 7 ซึ่งเกิดจากการไม่มีการวางแผนในการนำสินค้ากุ้งไปสร้างตลาดในต่างประเทศอย่างจริงจัง เราต้องหันมาร่วมมือเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันทั้งเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง บริษัทอาหาร ปัจจัยการผลิต ผู้ส่งออก และภาครัฐ นำคำว่ากุ้งไทยกลับมาสู้กับตลาดโลก เพื่อเป็นผู้ผลิตอันดับต้น ๆ ของโลกอีกครั้ง”