ส.อ.ท. เผยยอดผลิตรถยนต์พ.ย.64 อยู่ที่ 165,353 คัน สูงสุดรอบปี มั่นใจทั้งปีทะลุ 1.6 ล้านคัน ขณะที่ส่งออกโตพุ่ง 32.6% จากปัจจัยเศรษฐกิจโลกฟื้น เผยปี 65 ตั้งเป้าผลิตแตะ 1.8 ล้านคัน ส่งสัญญาณถึงภาครัฐเร่งออกมาตรการภาษี ราคา กระตุ้นประชาชนหันใช้รถ EV
วันที่ 21 ธันวาคม 2564 นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า เดือนพฤศจิกายน 2564 มีการผลิตรถยนต์ทั้งสิ้น 165,353 คัน สูงสุดในรอบปี ( 12 เดือน ) แต่ยังคงลดลงจากปีก่อน 4.12% โดยมีการผลิตเพื่อส่งออกถึง 90,112 คัน สัดส่วน 54.50% ของยอดผลิตรถยนต์ทั้งหมด สำหรับ จำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในเดือนมกราคม – พฤศจิกายน 2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 1,531,337 คันเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 19.26%
ดังนั้น มั่นใจว่าในปีนี้จะมียอดการผลิตรถยนต์ตามเป้าที่ 1,600,000 คัน ส่วนด้านการผลิตเพื่อส่งออกในเดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 878,938 คัน เท่ากับ 57.40% ของยอดการผลิตทั้งหมด ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 34.85%
ขณะที่ ยอดขายในประเทศเดือนพฤศจิกายน 75,241 คัน เองก็ถือเป็นยอดจำหน่ายสูงสุดในรอบ 8 เดือน โดยมีปัจจัยมาตรการเปิดประเทศ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ การเยียวยา การส่งออกสินค้าอื่นๆ
ส่วนยอดขายในประเทศ 11 เดือน ช่วงเดือนมกราคม -พฤศจิกายน 2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 652,399 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 3.19% และเมื่อรวมกับยอดการจองรถยนต์ในงาน Motor Expo ในช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา จำนวน 31,583 คัน คาดว่าจะทำให้ยอดขายในประเทศปีนี้จะทะลุเป้า 750,000 คัน
นอกจากนี้ ยอดการส่งออกรถยนต์เดือนพฤศจิกายน ส่งออกได้ 98,829 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 32.60% โดยยอดการส่งออกเดือนมกราคม – พฤศจิกายน 2564 ส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป 857,887 คัน โดยส่งออกเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 28.55% เกินกว่าเป้าการส่งออกที่ตั้งไว้ทั้งปีนี้ที่ 850,000 คัน เพราะช่วงต้นปีเกิดปัญหาการขาดแคลนชิปทั่วโลก อย่างไรก็ดี คาดว่าภาพรวมมูลค่าการส่งออกยานยนต์ รวมรถจักรยานยนต์และชิ้นส่วนประกอบจะมีมูลค่ารวม 1 ล้านล้านบาท
สำหรับ คาดการณ์ยอดการผลิตรถยนต์ในปี 2565 คาดว่าจะอยู่ที่ 1,700,000 – 1,800,000 คัน แบ่งเป็นยอดขายในประเทศ 800,000 – 850,000 คัน และส่งออก 900,000 – 950,000 คัน ทั้งนี้ยังต้องประเมินความเสี่ยงของการระบาดโควิด-19 โอไมครอน ที่อาจส่งผลต่อการผลิต รวมถึงการขาดแคลนชิปที่ยังเป็นปัจจัยหลักทำให้ไม่สามารถผลิตรถยนต์บางรุ่นได้
“ตอนนี้ตลาดโลกเริ่มฟื้น และจากการที่ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถกระบะที่ส่งออกไปกว่าหลายประเทศ จึงสามารถส่งออกได้เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก นอกจากรถยนต์สำเร็จรูปแล้ว เครื่องยนต์ ชิ้นส่วนรถยนต์และอะไหล่รถยนต์ก็ส่งออกเพิ่มขึ้นตามการผลิตรถยนต์ที่เติบโตอีกด้วย แต่ยังต้องติดตามการระบาดโควิด-19 โอไมครอน อย่างใกล้ชิดที่จะส่งผลต่อเนื่องต่อการผลิตปีหน้า ซึ่งตอนนี้เชื่อว่ายังสามารถควบคุมได้ดี รวมทั้งปัญหาหลักคือชิปที่ขาดแคลนด้วย”
ส่วนยอดผลิตรถจักรยานยนต์ในเดือนพฤศจิกายน ได้ทั้งสิ้น 231,632คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 8.23% รวมยอดการผลิตรถจักรยานยนต์เดือนมกราคม – พฤศจิกายน 2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 2,092,051คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 15.01%
นอกจากนี้ ปัจจุบันพบว่า ประเทศไทยมีจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าที่จดทะเบียนสะสม ถึง ณ 30 พ.ย. โดยมีรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) 3,859 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 92.66% ด้านรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสม (HEV) อยู่ที่ 185,113 คันเพิ่มขึ้น 10.75% ขณะที่ การจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า (EV) จดทะเบียนใหม่ (ป้ายแดง) ในประเทศเดือนพ.ย. จำหน่ายได้ 171 คันเพิ่มขึ้น 140.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน รวม 11 เดือน จำหน่ายได้ 1,804 คัน เพิ่มขึ้น 49.8%
“ส.อ.ท.มองว่า มาตรการสนับสนุนการผลิตและการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ของไทยราคายังสูงอยู่ที่ระดับ 2-3 ล้านบาท และเป็นตลาดเล็ก เเละส่วนใหญ่เป็นการนำเข้า และต้องยอมรับว่ายังขาดโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ สถานีชาร์จ โดยหากเทียบกับรถยนต์สันดาป หรือ ที่ใช้น้ำมัน ราคาจะอยู่ที่ประมาณ 800,000 บาท ดังนั้น หากภาครัฐมีนโยบายสนับสนุนให้หันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า จะต้องมีมาตรการ ทั้งด้านภาษี และด้านราคา เพื่อดึงให้ราคาถูกลง ซึ่งต้องรอการประชุมคณะรัฐมนตรี จะมีทิศทางอย่างไร ”
ด้านนายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวเสริมว่า มาตรการสนับสนุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ยังต้องติดตามต่อเนื่อง เพราะยังไม่มีรายละเอียดออกมาชัดเจน หากภาครัฐจะสนับสนุนทั้งการใช้และการผลิต อัตราภาษี 0% คงไม่เพียงพอ ต้องสนับสนุนในด้านราคา เพื่อให้ราคาใกล้เคียงกับราคาน้ำมันด้วย
ขณะเดียวกัน ทราบว่าภาครัฐ โดยกรมสรรพสามิต อยู่ระหว่างหามาตรการต่างๆ ในเรื่องของการเก็บภาษีรถเก่า และการเก็บภาษีจากการปล่อยคาร์บอน CO2 เพื่อจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้รถอีวี แทนรถยนต์สันดาป หรือสภาเองก็ได้มีการเสนอให้ดัดเเปลงรถใช้แล้วเป็นรถยนต์ไฟฟ้า อย่างไรก็ดี รัฐบาลเองก็พยายามสร้างการรับรู้จูงใจให้ประชาชนปรับเปลี่ยนมาอย่างต่อเนื่องซึ่งจะเห็นได้ว่าที่ผ่านมาหน่วยงาน รถเมล์ เรือไฟฟ้า BEV ก็เริ่มมีนโยบายปรับมาใช้ EV มากขึ้น