จับตาราคาหมูแพงทะลุ 300 บาท/กิโล โรคระบาดหมูหายจากระบบ 50 %

ราคาหมูเนื้อแดงพุ่งไม่หยุด หวั่นสิ้นมกราคมนี้ได้เห็น กก.ละ 300 บาทแน่ หมูสามชั้นขึ้นไป กก.ละ 280 บาท ด้านสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติยอมรับหมูในตลาดปรับลดลงไปถึง 50% จากสาเหตุหลักเกิดโรคระบาดหมูร้ายแรง ต้นทุนอาหารสัตว์ ข้าวโพด-กากถั่วเหลือง พุ่งพรวด 30%

หลังเทศกาลปีใหม่สิ้นสุดลง ปรากฏราคาหมูเนื้อแดงหน้าเขียงในตลาดสดได้พุ่งขึ้นไปถึง กก.ละ 200 บาท ขณะที่ราคาหมูในห้างค้าปลีกปรับขึ้นราคาทะลุเกินกว่า 200 บาท/กก.ไปแล้ว โดยราคาสันในแต่งตกประมาณ กก.ละ 219 บาท สามชั้นตัดเส้น กก.ละ 244 บาท ส่วนราคาหมูบดอยู่ที่ กก.ละ 195 บาท ขณะที่วงการเลี้ยงหมูคาดการณ์ว่า อีกไม่นานราคาหมูเนื้อแดงมีแนวโน้มจะปรับขึ้นไปถึง กก.ละ 300 บาทแน่

หมูเป็นโรคระบาดร้ายแรง

นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวถึงสถานการณ์การเลี้ยงหมูขณะนี้มีปริมาณผลผลิตหมูในตลาดปรับลดลง 50% จากปริมาณการบริโภคเฉลี่ยวันละ 40,000 ตัว สาเหตุหลักที่ปริมาณหมูลดลงมาจากปัญหาโรคระบาดในหมูหลายโรคได้สร้างความเสียหายให้กับผลผลิตหมูมา 2 ปีแล้ว

ประกอบกับต้นทุนการเลี้ยงจากราคาอาหารสัตว์ได้ปรับสูงขึ้นกว่า 30% ทั้งวัตถุดิบข้าวโพด-กากถั่วเหลือง-มันสำปะหลังปรับสูงขึ้นหมด ทำให้ต้นทุนการเลี้ยงเฉพาะค่าอาหารเฉลี่ย 8,000 บาทต่อ กก. และยังมีต้นทุนแฝงจากการป้องกันโรคระบาดหมูเพิ่มขึ้นมาอีกเฉลี่ย 500 บาทต่อตัว ส่งผลให้ผู้เลี้ยงหมูต้องหยุดการเลี้ยงไปกว่า 80-90% คิดเป็นสัดส่วนการเลี้ยงของรายย่อย 20% ของทั้งประเทศ ขณะที่รายใหญ่เลี้ยงอยู่ประมาณ 80%

“กรมการค้าภายในได้ขอความร่วมมือให้จำหน่ายหมูในราคา กก.ละ 150 บาท แต่นั่นเป็นแค่โปรโมชั่นของกรม เอกชนทำไม่ได้เพราะต้นทุนการเลี้ยงเฉลี่ยสูงเกินกว่าปกติไปแล้ว ดังนั้นเราจึงช่วยได้เฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ส่วนภาพรวมราคาหมูตอนนี้หน้าเขียง กก.ละ 200 บาท หากคิดย้อนกลับมาเป็นราคาหมูเป็นหน้าฟาร์มตกประมาณ กก.ละ 100 บาท บวกลบ 2-3 บาท ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน

ปัญหาหลัก ๆ มาจากโรคระบาดรุนแรงมากกว่าปัจจัยเรื่องราคาอาหารสัตว์เพราะต้นทุนอาหารควบคุมได้ ถามว่าราคาหมูจะปรับขึ้นไปเกินกว่านี้ไหมในช่วงตรุษจีน ผมเองก็แทบไม่อยากเชื่อว่า ราคาหมูจะขยับขึ้นไปมากขนาดนี้” นายสุรชัยกล่าว

สำหรับโรคระบาดร้ายแรงในหมูที่พูดกันมาโดยตลอด ว่าคือ “โรคไข้หวัดแอฟริกันในสุกร-ASF” นั้น นายสุรชัยกล่าวว่า กรมปศุสัตว์ไม่ยอมรับ แต่ทั่วไปก็ค่อนข้างจะรู้กันหมดแล้วว่า หมูเป็นโรคระบาดร้ายแรงอะไร ถามว่า การไม่ยอมรับนี่เป็นอุปสรรคในการแก้ปัญหาหมูหรือไม่ ประเด็นนี้ที่ผ่านมางบประมาณที่มาช่วยชดเชยให้เกษตรกรผู้เลี้ยงในการทำลายหมูทิ้ง “ก็ไม่เพียงพอ”

ยกตัวอย่าง ฟาร์มหมูทางภาคเหนือได้รับการชดเชย ส่วนเกษตรกรรายที่เกิดความเสียหายกลับไม่ได้รับการชดเชยก็เลิกเลี้ยงไป

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีการหารือถึงแนวทางการฟื้นฟูเกษตรกรรายย่อยในระยะยาว ทางสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติได้เสนอให้มีการตั้ง “กองทุนฟื้นฟู” ขึ้นในอุตสาหกรรมนี้ โดยใช้โมเดลเรียกเก็บ “ค่าธรรมเนียมพิเศษ” หรือ surcharge จากผู้ผลิตอาหารสัตว์ หรือผู้นำเข้าชิ้นส่วนต่าง ๆ ของหมู และนำเงิน surcharge มาใช้ฟื้นฟูเกษตรกรรายย่อย

โดยประเมินว่าหมูมีโอกาสจะหายไปต่ไปอีกในช่วง 2 ปีนี้ “คงยังไม่ฟื้น เพราะคนเลี้ยงไม่กล้ากลับมาเลี้ยงใหม่ ต้นทุนมันสูง”

“ตอนนี้กำลังหาแนวทางในเรื่องการจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูจากการเรียกเก็บ surcharge แต่ยังไม่ตกผลึกว่าจะเก็บเท่าไร เงินตั้งต้นกองทุนต้องเป็นเท่าไหร่ ตอนนี้ต้องตั้งต้นกองทุนให้ได้ก่อน”

ทั้งนี้ ในปี 2563 ประเทศไทยมีการนำเข้าผลิตภัณฑ์เนื้อหมูปริมาณ 362 ตัน มูลค่า 90.37 ล้านบาท หรือปริมาณนำเข้าเพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่นำเข้ามา 358 ตัน หรือร้อยละ 1.12 แต่มูลค่าลดลงจากปี 2562 ที่ 101.08 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.60

โดยนำเข้ามาจากประเทศอิตาลี-จีน-เดนมาร์ก นอกจากนี้ยังมีการนำเข้าชิ้นส่วนอื่น ๆ ที่บริโภคได้ (หนัง-ตับ-เครื่องใน) จากประเทศเยอรมนี-อิตาลี-เนเธอร์แลนด์-เดนมาร์กในปี 2563 ปริมาณ 26,755 ตัน มูลค่า 488.32 ล้านบาท หรือลดลงจากปี 2562 ปริมาณ 32,516 ตัน มูลค่า 637.34 ล้านบาท

จับตาวันพระหน้า

ด้านนายสุนทราภรณ์ สิงห์รีวงศ์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ กล่าวว่า ราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มในพื้นที่ภาคเหนือ
มีแนวโน้มปรับสูงขึ้นเป็น 120 บาท/กก. ส่งผลให้ในวันพระหน้า (วันที่ 10 มกราคม 2565) หมูเนื้อแดงที่ตลาดปลายทางมีโอกาสปรับขึ้นไปถึง 260 บาท/กก. ส่วนหมูสามชั้นปรับขึ้นไปแล้ว 280 บาท/กก. ทำให้ราคาหมูมีโอกาสที่จะทะลุ 300 บาท/กก. ภายในสิ้นเดือนมกราคมนี้

โดยสาเหตุหลักมาจากหมูเป็นมีชีวิตหน้าฟาร์มในพื้นที่ภาคเหนือมีปริมาณไม่เพียงพอต่อการบริโภค ต้องไปหาหมูจากพื้นที่ภาคกลางเพื่อนำขึ้นมาขาย “ตอนนี้ก็แทบจะหาหมูไม่ได้อยู่แล้ว เพราะมันขาดแคลนเช่นเดียวกัน” ส่วนราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มภาคเหนือของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ที่ประกาศเมื่อวันพระที่ 2 มกราคม 2565 ที่ราคา 106-108 บาท/กก.นั้น “ไม่สะท้อนความเป็นจริง” เพราะราคาหมูในพื้นที่ภาคเหนือปรับขึ้นมา 110 บาท/กก. มาตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2564 หรือสูงจากวันพระที่แล้วมา 10 บาท

โดยราคาที่ปรับขึ้นวันพระครั้งละ 10 บาท/กก. ถือเป็นการปรับขึ้นราคาต่อเนื่องมา 3 สัปดาห์แล้ว เทียบกับภาวะปกติหมูปรับขึ้นอย่างมากแค่ 3-4 บาทเท่านั้น ถือเป็นราคาที่ปรับขึ้นมากอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในรอบ 40 ปีที่เลี้ยงหมูมา

“ภาคเหนือขาดแคลนหมูมานานแล้ว ปกติเราเชือดหมูมีชีวิต 100 ตัวต่อวันก็ไม่เพียงพอบริโภคภายในพื้นที่ ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2564 มีการนำเข้าหมูชำแหละจากเขต 7 (ราชบุรี-นครปฐม-กาญจนบุรี-เพชรบุรี-สมุทรสาคร-สมุทรสงคราม-ประจวบคีรีขันธ์-สุพรรณบุรี) เข้ามาในพื้นที่เขต 5 ภาคเหนือ (เชียงใหม่-ลำปาง-ลำพูน-เชียงราย-แม่ฮ่องสอน-แพร่-พะเยา-น่าน) เดือนละ 1.5 ล้าน กก.

ยิ่งช่วงเทศกาลปีใหม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่ภาคเหนือจำนวนมาก ทำให้ความต้องการบริโภคหมูเพิ่มขึ้นมาก เห็นได้จากยอดการจองการซื้อหมูในฟาร์มที่ยังเหลือรอดตายจากโรคระบาดเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวเกือบทุกฟาร์ม แต่ยังไม่พอ ต้องไปหาซื้อจากพื้นที่ภาคกลางเพิ่มขึ้นอีก ดังนั้นการขนหมูจากภาคกลางขึ้นไปยังภาคเหนือมีค่าใช้จ่ายจากตัวแปรต่าง ๆ บวกเพิ่มขึ้นไปอีก กก.ละ 10 บาท รวมเป็น 120 บาทต่อ กก.

ถ้าภาวะปกติราคาหมูหน้าเขียงจะคูณ 2 จากราคาหมูมีชีวิต แต่ภาวะโรคระบาดหมูต้องคูณเพิ่มสูงกว่า ทำให้คาดการณ์ว่า หมูเนื้อแดงหน้าเขียงมีสิทธิ์ทะลุไป 300 บาทต่อ กก. ถ้าไม่มีการนำหมูเข้ามาทดแทน” นายสุนทราภรณ์

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้บริษัทผู้เลี้ยงหมูรายใหญ่ของประเทศได้คาดการณ์ภาวะขาดแคลนหมูที่จะเกิดขึ้นในปี 2565 จากปัจจัยสำคัญมีผู้เลี้ยงหมูรายกลางและรายย่อยเลิกเลี้ยงไปเป็นจำนวนมาก จากปัญหาหมูตายจากโรคระบาดร้ายแรงและราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก ทำให้ผู้เลี้ยงไม่กล้าเลี้ยงหมูเกรงเกิดความเสียหาย ประกอบกับหมูในแต่ละรอบการเลี้ยงต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือนขึ้นไปด้วย