ทำไม “หมูอเมริกา” ราคาพุ่ง แพงไม่แพ้หมูไทย

ทำไมเนื้อหมูอเมริกาไม่แพง
แฟ้มภาพ REUTERS/Adrees Latif

เปิดเหตุผล ทำไมเนื้อหมูอเมริกา ราคาแพงไม่แพ้ราคาหมูไทย หลังไบเดนทุ่มพันล้านดอลลาร์ แก้เกมราคาเนื้อสัตว์แปรรูปพุ่ง

วันที่ 4 มกราคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า “โจ ไบเดน” ประธานาธิบดีสหรัฐ ได้เรียกบรรดาผู้แทนกลุ่มสหภาพการเกษตรและปศุสัตว์จากมลรัฐแถบมิดเวสต์เข้าพบที่ทำเนียบขาว เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2564 เพื่อหารือถึงมาตรการสนับสนุนให้เกษตรกรและผู้ผลิตเนื้อแปรรูปรายย่อย สามารถแข่งขันกับนายทุนรายใหญ่ซึ่งมีอำนาจผู้ขาดการแข่งขันในอุตสาหกรรมเนื้อแปรรูปของสหรัฐ

หลังการหารือ ปธน.ไบเดนได้เปิดเผยแผนการทุ่มเงินจำนวน 1 พันล้านดอลลาร์ ในการสนับสนุนเกษตรกรและผู้แปรรูปเนื้อรายย่อยให้มีศักยภาพแข่งขันกับเอกชนรายใหญ่ ด้วยการขยายภาคส่วนการแปรรูปเนื้อสัตว์ของผู้ผลิตอิสระ จัดหากองทุนพัฒนาอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์แปรรูป สินเชื้อค้ำประกัน และการฝึกอบรมเกษตรการ

โดยจำนวนนี้ราว 100 ล้านดอลลาร์ จะนำไปใช้เพื่อลดต้นทุนการตรวจสอบสำหรับโรงงานแปรรูปขนาดเล็ก อีก 100 ล้านดอลลาร์จะจัดการกับความท้าทายของซัพพลายเชน อาทิ ห้องเย็นและคลังสินค้า และอีก 800 ล้านดอลลาร์จะมอบให้กับเงินช่วยเหลือและเงินกู้สำหรับสิ่งอำนวยความสะดวกต่อผู้ประกอบการรายย่อย

ไบเดนระบุว่า เอกชนรายใหญ่ที่มีอำนาจผู้ขาดการแข่งขันในอุตสาหกรรมเนื้อแปรรูปของประเทศ เป็นเหตุปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ราคาเนื้อสัตว์บริโภคทั้งเนื้อวัว เนื้อหมู และสัตว์ปีก ราคาสูงขึ้น เนื่องจากอุตสาหกรรมนี้ถูกครอบงำผูกขาดโดยบริษัทผู้ผลิตเนื้อขนาดใหญ่ อ้างสารพัดเหตุผลทั้งโรคระบาด ขาดแคลนแรงงาน และต้นทุนราคาค่าขนส่ง ทำให้จำเป็นต้องขึ้นราคา

ขณะที่ตัวเลขผลประกอบการของบริษัทเนื้อรายใหญ่มีกำไรเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค สวนทางกับสัดส่วนกำไรที่บรรดาเกษตรกรสหรัฐได้รับนั้นไม่ได้ปรับตัวสูงตามราคาหมูที่ขายในซูเปอร์มาร์เก็ต ก่อนหน้านี้ในเดือนพฤศจิกายนทำเนียบขาวได้ตีพิมพ์บทวิเคราะห์ที่ชี้ว่า บริษัทบรรจุภัณฑ์เนื้อแปรรูปมีผลกำไรของเพิ่มขึ้น 300% ในช่วงการระบาดใหญ่

“บริษัทใหญ่ทำกำไรมหาศาล ผลกำไรเพิ่มขึ้น ราคาเนื้อวัวเนื้อหมูที่คุณเห็นในร้านสูงขึ้น แต่ราคาที่เกษตรกรได้รับสำหรับผลิตภัณฑ์ที่พวกเขานำออกสู่ตลาดกลับลดลง สิ่งนี้สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่าตลาดถูกบิดเบือนเนื่องจากขาดการแข่งขัน” ไบเดนกล่าว

อย่างไรก็ตาม กลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตเนื้อสัตว์บางส่วนมองว่า มาตรการของทำเนียบขาวที่หวังสร้างแก้ปัญหาขาดการแข่งขันในอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์แปรรูปนั้น ไม่ได้ครอบคลุมถึงปัจจัยรอบด้านอย่างถูกต้อง ไมค์ บราวน์ ประธานสภาไก่แห่งชาติ วิจารณ์แผนนี้ว่าเป็น “เพียงทางออกแถวท่ามกลางสารพัดปัญหา”

“ซาราห์ ลิตเติล” โฆษกของสถาบันเนื้ออเมริกาเหนือ มองว่า การขาดแคลนแรงงานยังคงเป็นปัญหาใหญ่สุดในอุตสาหกรรมแปรรูปเนื้อสัตว์ ที่ทำเนียบขาวไม่ได้กล่าวถึงเลย “สมาชิก (ผู้ผลิต) ทุกขนาดของเราไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ พวกเขาขาดแคลนแรงงานในการจ้างงานระยะยาว .. กำลังการผลิตใหม่และการขยายกำลังการผลิตตามแผนข้างต้นของรัฐบาลจะเผชิญปัญหานี้เช่นกัน”

ความกังวลด้านราคาเนื้อสัตว์บริโภคที่เพิ่มขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อที่ทะยานขึ้น เป็นสิ่งที่รัฐบาลสหรัฐพยายามควบคุม หลังดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer prices) ปรับตัวสูงขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 39 ปีที่ 6.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในเดือน พ.ย. ตามสถิติของสำนักแรงงานสหรัฐ

อรุณ ซุนดาราม นักวิเคราะห์จาก CFRA บริษัทวิจัยตลาดหุ้นวอลล์สตรีท กล่าวว่า ราคาเนื้อบริโภครวมถึงแหล่งโปรตีนทุกชนิดในสหรัฐปรับตัวสูงขึ้น โดยข้อมูลดัชนีผู้บริโภคตั้งแต่เดือนตุลาคม 2020 ราคาเนื้อสัตว์ สัตว์ปีก และปลาได้เพิ่มขึ้นเกือบ 12% ขณะที่ราคาของเนื้อวัวพุ่งทะยานกว่า 20% ในช่วงปี 2021 ที่ผ่านมา ตามด้วยเนื้อหมูที่ 14% เนื้อไก่ 8.8% ปลาสดและอาหารทะเล 11%

มีหลายปัจจัยที่นำไปสู่การเพิ่มขึ้นของราคาหมูราคาเนื้อแพง ย้อนกลับไปเมื่อปี 2020 จากสถาการณ์ระบาดของโควิด ทำให้บรรดาโรงงานผลิตและแปรรูปเนื้อสัตว์ต้องหยุดการผลิตชั่วคราว

ต่อมาบรรดาผู้ผลิตเนื้อแปรรูปทั้งรายย่อยรายใหญ่ ต่างเผชิญปัญหาเดียวกันคือการขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิตบรรจุภัณฑ์เนื้อ การผลิตที่ลงที่สวนทางกับการกลับมาเปิดให้บริการของร้านอาหารและความต้องการของผู้บริโภคช่วงเทศกาลสิ้นปี เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ราคาสูงขึ้น

“คุณมีทั้งอุปสงค์และอุปทานที่ไม่สมดุลอย่างมากซึ่งทำให้ราคาพุ่งสูงขึ้น … อุปสงค์ที่แข็งแกร่งของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางปี 2021 สวนทางกับอุปทานการผลิตที่ลดลง” ซุนดารามกล่าว

สอดคล้องกับสก็อตต์ ไลฟ์ลี ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทเนื้อวัวออร์แกนิก Raise American และผู้เขียนหนังสือ “For the Love of Beef : The Good, the Bad and the Future of America’s Favorite Meat” กล่าวถึงสถานการณ์ปัจจุบันว่าเสมือน “พายุที่สมบูรณ์แบบของหลายสิ่งหลายอย่างที่เกิดขึ้นพร้อมกัน” ตั้งแต่ต้นทุนด้านอาหารสัตว์ สินค้าเกษตร ราคาปุ๋ยเคมีที่ปลูกธัญพืชให้ทั้งหมูและวัวกิน ไปจนถึงต้นทุนวัสดุที่ใช้บรรจุเนื้อสัตว์แปรรูปสูงขึ้น จากทุกมุมของห่วงโซ่อุปทาน

ทำให้ทั้งเนื้อวัวและเนื้อหมูในอเมริกาแพงขึ้น ขณะเดียวกันยังเกิดสถานการณ์โรคระบาดในสุกรแถบเอเชีย ยิ่งทำให้สหรัฐไม่อาจนำเข้าเนื้อสัตว์แปรรูปจากต่างประเทศเพื่อทดแทนราคาเนื้อบริโภคที่สูงขึ้นในประเทศได้