6 หมื่นโรงงานตั้งรับโอมิครอน พบติดเชื้อ 10% สั่งปิดทันที

Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP

กระทรวงอุตฯจับมือภาคเอกชนยกระดับ “บับเบิลแอนด์ซีล” เจาะอุตสาหกรรม 5 ประเภทเสี่ยงที่เชื่อมโยงระบบเศรษฐกิจรับมือโอมิครอนระบาดในโรงงาน เผยตัวเลขโรงงานติดโควิดลดลง 99% ไม่ประมาท เร่งให้ความรู้ 6.4 หมื่นโรงงาน ผู้ประกอบการประกาศอาวุธครบมือพร้อมรบโอมิครอน

หวั่นโควิดฉุด เศรษฐกิจไตรมาส 1

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อแรงงานในช่วงไตรมาสแรก ซึ่งคงต้องประเมินอีกที ยอมรับว่าน่าเป็นกังวลเหมือนกัน เพราะกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวเพิ่งจะกลับมาในช่วงเปิดประเทศ ส่วนการประเมินความต้องการแรงงาน พอเปิดประเทศทุกอย่างกลับมาดีขึ้นทันตาเห็น

อย่างไรก็ตาม มองว่าการระบาดของโอมิครอนส่งผลกระทบกับแรงงานโรงงานไม่ได้หนักหนาสาหัสเหมือนปีที่ผ่านมา โดยในการประชุม กกร. (11 ม.ค.) ก็มีประเด็นหารือผลกระทบโอมิครอน เงินเฟ้อ เพราะขณะนี้ส่งผลกระทบค่อนข้างมาก อาจจะมีการปรับประเมินจีดีพี

หวั่นกระทบตลาดคู่ค้าส่งออก

นายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หากสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ภายในไตรมาส 1 จีดีพีจะขยายตัว 3.0-3.5% จากที่ กกร.คาดการณ์ไว้ 3.5-5.0% แต่หากยืดเยื้อกว่านั้นอาจทำให้จีดีพีไทยไม่โตเลย หรือโตเพียง 1%

และที่สำคัญเป็นห่วงว่าสถานการณ์การระบาดของโอมิครอนรอบนี้จะส่งผลกระทบต่อประเทศคู่ค้าที่เป็นตลาดส่งออกหลัก ทั้งสหภาพยุโรป หลายแสนคนต่อวัน และสหรัฐ ซึ่งมีประชาชนติดเชื้อ 1 ล้านคนต่อวัน อาจจะกลับไปซ้ำรอยเดิม ติดปัญหาที่ไม่สามารถประกอบกิจกรรมทางธุรกิจได้

โลจิสติกส์การขนส่งสินค้าซัพพลายเชนดิสรัปชั่นอาจกระทบต่อการส่งออก ซึ่งเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย ซึ่งปีนี้ทาง กกร.คาดการณ์ว่าส่งออกจะโต 5-6% จากปี 2564 ที่คาดว่าจะเติบโต 16% เพราะรายได้จากการท่องเที่ยวจากเคยคาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยว 5-6 ล้านคน หลังเปิดประเทศคงไม่ถึงแล้ว แนวทางการแก้ไขต้องหาตลาดส่งออกทดแทน เช่น ตลาดค้าชายแดน และขณะเดียวกัน รัฐต้องมุ่งกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ

“รัฐต้องเร่งออกมาตรการอัดฉีดกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ เช่น โครงการคนละครึ่ง ต้องเร็วขึ้น โครงการช็อปดีมีคืน ถ้าได้ผลต้องดำเนินการต่อ และที่สำคัญ ต้องพิจารณาเตรียมเงินกู้เพิ่มอีก 1 ล้านล้านบาท ที่จะมาช่วยเสริมสภาพคล่อง

เพราะเราจะอยู่กับโควิดถึงเมื่อไรไม่รู้ สิ่งสำคัญคือรอบนี้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 30% อาจจะสูญพันธุ์ เพราะบอบช้ำมาหลายรอบแล้ว โดยเฉพาะเอสเอ็มอีภาคท่องเที่ยวและบริการ ต่อเนื่องด้วยเอสเอ็มอีส่งออก ภาคการผลิตเรามั่นใจว่ารับมือโอมิครอนได้

เพราะที่ผ่านมาทั้งฉีดวัคซีน บางโรงงานฉีดครบ 100% แล้ว การทำบับเบิลแอนด์ซีล แต่อาจจะต้องเฝ้าระวังชุมชนโดยรอบโรงงานที่เป็นที่อยู่อาศัยของพนักงาน หากมีการติดเชื้ออาจจะกระทบต่อภาคการผลิตได้”

โรงงานติดโควิดลดลง 99%

นางวรวรรณ ชิตอรุณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กระทรวงได้รายงานความก้าวหน้าของการดำเนินงานศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ในสถานประกอบกิจการและโรงงานอุตสาหกรรม ต่อนายกรัฐมนตรีเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า

สถิติการแพร่ระบาดในส่วนของโรงงานลดลง 99% จากข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 6 มกราคม 2565 ยอดระบาดสะสมในโรงงาน 1,381 โรง แรงงาน 82,679 คน รักษาหายแล้ว 1,282 โรง แรงงาน 81,419 คน สำหรับอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คืออุตสาหกรรมอาหาร อิเล็กทรอนิกส์ โลหะ พลาสติก และเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งหลังจากหยุดเทศกาลปีใหม่ยังพบไม่มีการติดเชื้อโควิดจากโรงงานมากนัก

“ตอนนี้มีโรงงานที่ผ่านระบบ Thai stop COVID platform ซึ่งมีการทำบับเบิลแอนด์ซีล 1,677 โรงงาน เกินกว่าเป้าหมายที่วางไว้ 1,500 โรงงาน ซึ่งเป็นรายใหญ่ 500 โรงงาน เราตรวจสอบติดตามพบว่าการติดเชื้อลดลง และจากที่หารือกับกระทรวงสาธารณสุขพบว่า

โรงงานติดเชื้อโควิดลดลงประมาณถึง 99% สะท้อนว่าการทำบับเบิลแอนด์ซีลได้ผล แต่ก็ประมาทไม่ได้ ต้องดำเนินการต่อเนื่อง เพิ่มการเฝ้าระวัง พอมีโอมิครอนเราก็ทำหนังสือส่งสัญญาณให้ผู้ประกอบการเร่งตรวจคัดกรองภายในให้มากขึ้น ถึงแม้ว่าจะเอาอยู่ แต่ต้องไม่ประมาท เพราะที่ผ่านมาเทรนด์การติดโควิดโรงงานก็จะไปพร้อมกับการติดโควิดของประเทศ”

ยกระดับ “บับเบิลแอนด์ซีล”

โดยล่าสุดกระทรวงอุตฯได้เพิ่มมาตรการเฝ้าระวังเพื่อเตรียมพร้อมรับมือการระบาดโอมิครอนแล้ว โดยขยายมาตรการ bubble and seal เข้มข้น เจาะลงในอุตสาหกรรมเฉพาะที่มีความเสี่ยง และมีผลเชื่อมโยงต่อระบบเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นการดำเนินการระยะที่ 2 (ม.ค.-มี.ค. 65) ในอุตสาหกรรม 5 กลุ่ม

คืออุตสาหกรรมอาหาร ยาง อิเล็กทรอนิกส์ บรรจุภัณฑ์ และที่มีการใช้แรงงานต่างด้าว (การเกษตร, การประมง-เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ, เก็บของเสีย, ผลิตเสื้อผ้า, ผลิตภัณฑ์ที่ทําจากแร่อโลหะ, การผลิตโลหะ, ผลิตภัณฑ์ที่ทําจากโลหะประดิษฐ์

โดยจะนำร่องใช้ฐานการจัดประเภทมาตรฐานอุตสาหกรรม (TSIC) วางมาตรการ “บับเบิลแอนด์ซีล” ตามโมเดลเข้มข้นของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย

“หลังจากที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดโอมิครอน ตอนนี้เราก็ได้มีการอัพเกรดมาตรการจากเดิมที่ดำเนินการในโรงงานทั่วไป ก็เริ่มโฟกัสไปที่โรงงานกลุ่มเสี่ยง เช่น โรงงานที่อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกที่มีการระบาดจำนวนมาก ตอนนี้ได้ขยายไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายตลอดทั้งซัพพลายเชน

ทั้งโรงงานน้ำตาล 57 โรงงาน ชาวไร่ ผู้ขนส่ง เพราะอุตสาหกรรมนี้ถือเป็นซัพพลายเชนที่มีขนาดใหญ่มาก และขณะนี้เป็นช่วงที่เปิดหีบฤดูการผลิตปี 2564/2565 โรงงานจะทำต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง หากมีการแพร่ระบาดในโรงงานจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมทั้งหมด ซึ่งเป็นโมเดลที่เรียกว่ามีความเข้มข้นสูงมาก”

ขณะเดียวกัน กระทรวงได้ประสานกับกระทรวงสาธารณสุขเพื่อขยายความเข้มข้นมาตรการไปยังกลุ่มโรงงานขนาดเล็กที่อยู่ในพื้นที่เดียวกันในพื้นที่ชุมชน ซึ่งเป็นโรงงานที่กระทรวงอุตฯไม่ได้ดูแล แต่อยู่ภายใต้การดูแลขององค์การบริหารส่วนจังหวัด และองค์การบริหารส่วนตำบล เช่น ล้งโรงงานแกะกุ้ง ที่อยู่ที่ชุมชนอย่างเช่นบริเวณสะพานปลา ซึ่งเป็นเป้าหมายในการดำเนินงานในระยะต่อไป

“สาเหตุที่จะต้องมุ่งโฟกัสไปที่โรงงานขนาดเล็ก เพราะกรณีโรงงานขนาดใหญ่เป็นเรื่องที่ไม่ยากที่จะเข้าไปดูแลเพราะอยู่ในระบบอยู่แล้ว แต่โรงงานขนาดเล็กถ้าติดเชื้ออาจจะถูกปิด แต่หากเข้าร่วมการทำบับเบิลแอนด์ซีล ทางกระทรวงก็จะประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ความช่วยเหลือเข้าไปดูแล”

เร่งให้ความรู้ 6.4 หมื่นโรงงาน

สำหรับความก้าวหน้าของการดำเนินงานศูนย์ปฏิบัติการด้านการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ในสถานประกอบกิจการและโรงงานอุตสาหกรรม ได้ประชาสัมพันธ์ให้แก่โรงงานทุกขนาด

ขณะนี้โรงงานรับทราบและเข้าระบบแลกเปลี่ยนเรียนรู้แล้วจํานวน 43,194 โรง จาก 64,535 โรง คิดเป็น 67% มีการให้คําปรึกษาแนะนําในรูปแบบ coaching/training แก่โรงงานอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดใหญ่ ที่มีคนงานตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป ดําเนินการแล้ว 3,779 โรง คิดเป็น 31% จากเป้าหมาย 12,000 โรง

ปัจจุบันกระทรวงอุตสาหกรรมได้รับรายงานว่ามีสถานประกอบกิจการโรงงานเข้าร่วมมาตรการ bubble & seal แล้ว จํานวน 1,677 โรง (เป้าหมาย 1,500 โรง) เกินกว่าเป้าหมาย คิดเป็น 112%

อุตฯอาหารพร้อมสู้โอมิครอน

ด้าน นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ส.อ.ท. เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมอาหารได้รับบทเรียนจากการแพร่ระบาดในรอบก่อน และได้เตรียมความพร้อมในการปฏิบัติต่าง ๆ เป็นสูตรรองรับการแพร่ระบาดรอบใหม่ทั้งโอมิครอน หรือเดลต้าครอน

ซึ่งมีการดำเนินการทั้งการทำ factory isolation การแยกผู้ป่วยและการเข้ารับการรักษา การดำเนินการตามมาตรการบับเบิลแอนด์ซีล ในกรณีการพบการติดเชื้อในโรงงาน 10% ของแรงงาน ก็ต้องปิดไม่ให้แรงงานออกมาส่งผลกระทบต่อภายนอก

และในกรณีที่เป็นโรงงานขนาดใหญ่ ก็จะเป็น factory sandbox ซึ่งจะมีการฉีดวัคซีน และกำหนดระยะเวลาในการตรวจสอบด้วย ATK ทุก ๆ กี่วัน ทำให้ทุกโรงงานมีความพร้อมที่จะเข้าสู่ระบบเมื่อมีการระบาด

“ตอนนี้ยังไม่มีเรื่องการแพร่ระบาดของคลัสเตอร์โรงงาน โดยเฉพาะในพื้นที่เคยระบาดอย่างสมุทรสาคร ตอนนี้มีการเร่งฉีดวัคซีนทั้งฉีดเองและได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐ กระทรวงแรงงาน ส่วนโรงงานอื่นก็มั่นใจว่าพร้อมจะเข้าระบบหากมีการติดเชื้อ มีสูตรอยู่แล้ว และทุกคนปฏิบัติจนเป็นความปกติใหม่ไปแล้ว อาจจะเรียกว่าการระบาดครั้งนี้ เรามีอาวุธพร้อม”

ไม่พบคลัสเตอร์โรงงาน

นายจีรทัศน์ แจ่มไพบูลย์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในจังหวัดฉะเชิงเทราตอนนี้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในโรงงานอุตสาหกรรมค่อนข้างน้อย สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ดี

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ยังน่ากลัวเพราะจังหวัดข้างเคียง อาทิ สมุทรปราการ ชลบุรี กรุงเทพฯ มีตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นทุกวัน หากมีการแพร่ระบาดเพิ่มมากขึ้น ทางจังหวัดได้มีการเตรียมเตียงไว้เพื่อรักษากว่า 1,800 เตียง

อีกทั้งยังมีโรงพยาบาลสนาม หรือศูนย์พักคอย ไว้รองรับผู้ติดเชื้อทุกอำเภอ ส่วนโรงงานที่เคยทำ FAI ก็ยังอยู่ และคงมาตรการเข้มงวดเหมือนเดิม ทุกคนมีบทเรียนจากปีที่ผ่านมา

และทางจังหวัดยังคงเข้มงวดมาตรฐานแผนป้องกันเหตุ 4 ข้อ 1.โรงงานทุกแห่งในจังหวัดต้องจัดทำแผนสถานการณ์ประกอบแผนปฏิบัติตัวของพนักงาน, แผนการเดินทาง การขนย้ายแรงงาน 2.กรณีแรงงานเดินทางข้ามจังหวัดต้องได้ฉีดวัคซีน กรณียังไม่ได้ฉีดวัคซีน เจ้าของโรงงานต้องตรวจ ATK แบบสุ่ม 10% ทุก ๆ 7 วัน

3.หากโรงงานพบผู้ติดเชื้อ 10% ขึ้นไปจะสั่งปิดทันที 4.กรณีโรงงานถูกสั่งปิดแม้ยังไม่ถึง 14 วัน ทางโรงงานสามารถทำแผนป้องกันการแพร่ระบาดมาเสนอคณะกรรมการโรคติดต่อพิจารณาทบทวนได้

ด้าน นายสมบูรณ์ ตรีพรเจริญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็กซ์เท็นซิฟว์ รีเสิร์ซ โพลีเมอร์ส จำกัด (ERP) ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า ทุกโรงงานตรวจ ATK พนักงาน 100% ที่กลับมาจากช่วงหยุดยาวปีใหม่ ก็พบผู้ติดเชื้อกันไม่มาก และโรงงานขนาดใหญ่หลาายแห่งยังคงโรงพยาบาลสนามภายในโรงงานไว้ หากพบพนักงานติดโควิดจะแยกตัวออกมา ส่วนโรงงานขนาดเล็กคงต้องไปใช้สถานพยาบาลจากส่วนกลาง

สมุทรปราการพร้อมรับมือ

นางปรานี คุรุเวฬุกรณ์ ประธานบริษัท เขตประกอบการอุตสาหกรรมฟอกหนัง ก.ม.30 จำกัด ในฐานะประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรปราการ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากที่ตรวจเช็กจากสมาชิกโรงงานอุตสาหกรรมหลังจากเปิดทำการซึ่งต้องตรวจ ATK ทุกโรงงาน พนักงานเข้าตรวจเกือบทั้งหมดไม่พบเชื้อ เพราะได้ฉีดวัคซีนครบทุกคนแล้ว อีกส่วนหนึ่งมีการป้องกันตัวเองอย่างเคร่งครัด

“ในจังหวัดสมุทรปราการมี 300 กว่าโรงงานที่เป็นสมาชิกสภาอุตสาหกรรม แต่ในความเป็นจริงแล้วมีอยู่ประมาณ 6,000 กว่าโรงงาน รวมทั้งในนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ ขณะที่จำนวนพนักงานทั้งหมดไม่ทราบที่แน่ชัด แต่ที่ตรวจ ATK แล้วแทบจะไม่มีผู้ติดเชื้อเลย

ขณะที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อในจังหวัดส่วนใหญ่มักมาจากรอบนอก หรือกลับจากต่างจังหวัดมากกว่า ซึ่งไม่ได้อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรม และเราเตรียมพร้อมทุกอย่างเพื่อรับมือเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ โรงพยาบาล เตียงสนาม ยา โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่ควบคุมอย่างเคร่งครัดเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อชีวิตพนักงานและธุรกิจ”

สมุทรสาครมาตรการเข้มโรงงาน

นายอภิสิทธิ์ เตชะนิธิสวัสดิ์ ผู้บริหารกลุ่มบริษัทในเครืออนุสรณ์กรุ๊ป ในฐานะประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตอนนี้จำนวนคนติดเชื้อโควิด-19 ในจังหวัดสมุทรสาคร ยังไม่เกิน 100 คน แต่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนได้มีการประชุมร่วมกันเพื่อเตรียมแผนรับมือ นโยบายสมุทรสาครสุ่มตรวจ ATK เร่งค้นหาผู้ติดเชื้อ

หากพบแยกออกเพื่อไม่ให้ระบาดเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ ทุกโรงงานดำเนินมาตรการเข้มงวดทำแซนด์บอกซ์ควบคุมพนักงานอยู่ มีการตรวจ ATK ตลอด เพราะมีบทเรียนจากการระบาดรอบที่แล้ว เพื่อไม่ให้มีปัญหากระทบภาคการผลิต ขณะที่สาธารณสุขจังหวัดตรวจทั้งตลาดสดกว่า 50 แห่ง และสุ่มตรวจตามโรงงานด้วย รวมถึงหลายคนไปฉีดวัคซีนเข็ม 3

แต่มีสิ่งที่ภาคเอกชนเห็นไม่ตรงกันกับสาธารณสุขคือ ตอนนี้นโยบายจากกระทรวงสาธารณสุขส่วนกลางต้องการให้ทั่วประเทศนำระบบแยกกักตัวรักษาตัวเองจากที่บ้าน (home isolation) มาใช้ ภาคเอกชนไม่เห็นด้วย

เพราะสมุทรสาครมีโรงพยาบาลสนามส่วนกลางคือ โรงพยาบาลสนามทองอุไร 200 เตียง และโรงพยาบาลสนามเหลืองปรีดิยาธร จำนวน 200 เตียง มีโรงพยาบาลสนามในชุมชน (CI) จำนวน 2,070 เตียง และโรงพยาบาลสนามในโรงงาน (FAI) จำนวน 48,676 เตียง ที่พร้อมรองรับ

ขณะที่การแยกกักตัวที่บ้านเห็นได้บทเรียนจากการระบาดปีที่แล้ว ทุกคนไม่ได้มีบ้านที่สามารถแยกห้องนอน-ห้องน้ำ ส่วนใหญ่อยู่ในบ้านกันอย่างแออัด เชื้อแพร่ได้ง่าย และปีที่แล้วเวลาคนติดเชื้อจำนวนมากไม่สามารถจัดส่งอาหารให้ได้ตามที่แจ้งไว้ รวมถึงเรื่องการโทร.สอบถามเรื่องอาการต่าง ๆ รายบุคคลก็ทำไม่ทัน

“เรามีโรงงานกว่า 6,000 แห่ง มี FAI 4 หมื่นกว่าเตียง รวมถึง CI โรงพยาบาลสนามส่วนกลาง จะให้ผู้ติดเชื้อไปการแยกกักตัวที่บ้านทำไม และคนส่วนใหญ่มีบ้าน 2 ห้องนอนอยู่กัน 10 คน แรงงานต่างด้าวอยู่บ้านเช่า อยู่กันหลาย ๆ คน


ภาคเอกชนมองว่าการรักษาตัวที่บ้านอย่ามีดีกว่า มีแล้วทำได้ไม่จริง ปีที่แล้วอาหารก็ไม่ไปส่ง หมอที่บอกโทร.ปรึกษาให้รายงานการตรวจวัดไข้ต่าง ๆ เวลาคนติดจำนวนมากจริง ๆ ทำไม่ทัน ไม่เหมือนมาอยู่ CI พร้อมกัน 100 คน มีหมอดูแล 1 คน หากมีอการหนักขึ้นมีรถไปส่งโรงพยาบาลได้ อย่างไรก็ตาม เราผ่านเดลต้าซึ่งรุนแรงกว่าโอไมครอนมาได้ รอบนี้ไม่น่าจะหนัก”