ศบค.พบคลัสเตอร์ Health Care Worker 5 รพ. สั่ง 8 จังหวัดยกการ์ดสูง

แพทย์หญิงสุมนี วัชรสินธุ์
แพทย์หญิงสุมนี วัชรสินธุ์

ศบค.เตือน 8 จังหวัดนำร่องท่องเที่ยว-สถานศึกษาน่าห่วง หลังพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นมาก ระบุคลัสเตอร์ร้านอาหารกึ่งสถานบันเทิงเจอมากสุด และพบคลัสเตอร์กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ หรือ Health Care Worker ใน กทม.ติดเชื้อถึง 5 โรงพยาบาล จี้เร่งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ทั้งเข็ม 3 และเข็ม 4 ชี้แนวโน้มผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศเริ่มลดลงช้าๆ

วันที่ 12 มกราคม 2565 แพทย์หญิงสุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงสถานการณ์ประจำวันว่า สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั่วโลก ข้อมูล ณ วันพุธที่ 12 มกราคม 2565 เวลา 10.00 น. มียอดผู้ติดเชื้อรวม 314,090,366 ราย อาการรุนแรง 95,475 ราย รักษาหายแล้ว 261,659,479 ราย เสียชีวิต 5,521,031 ราย

ทั่วโลกป่วยใหม่พุ่ง-เสียชีวิตลดลง

ส่วนอันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด 1.สหรัฐอเมริกา จำนวน 63,390,876 ราย 2. อินเดีย จำนวน 36,060,902 ราย 3. บราซิล จำนวน 22,630,142 ราย 4. สหราชอาณาจักร จำนวน 14,732,594 ราย 5.ฝรั่งเศส จำนวน 12,573,263 ราย โดยประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 25 ของโลก จากจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสม 2,292,290 ราย

“ยอดผู้เสียชีวิตทั่วโลกโดยรวมยังไม่เพิ่มขึ้นมาก วันนี้ตัวเลขผู้เสียชีวิตที่รายงาน 7,847 ราย คิดเป็น 1.76% ซึ่งวันนี้ยอดผู้เสียชีวิตลดลง โดยทิศทางการติดเชื้อรายใหม่พุ่งขึ้นสูงมาก ในขณะผู้เสียชีวิตมีทิศทางหรือแนวโน้มลดลง โดยประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 25 ของโลก จากจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสม 2,292,290 ราย” แพทย์หญิงสุมนีกล่าว

สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อ COVID-19 ในประเทศวันนี้ มีผู้ป่วยรายใหม่ 7,681 ราย หายป่วย 3,350 ราย ยังรักษาตัวอยู่ 66,286 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยปอดอักเสบ 480 ราย ต้องใส่เครื่องช่วยหัวใจ 108 ราย โดยผู้ป่วยที่มีอาการปอดอักเสบและต้องใส่ท่อช่วยหายใจลดลงทั้ง 2 ส่วน

“อธิบายเพื่อให้เข้าใจ ถ้ามีผู้เข้าโรงพยาบาล 1,000 คนจะมีผู้ที่เป็นปอดอักเสบ 7 คน และถ้าหากว่าเข้าโรงพยาบาล 1,000 คน จะมีผู้ที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ 1 คน” แพทย์หญิงสุมนีกล่าว และว่า

ชี้การระบาดในประเทศทรงตัว-เริ่มลดลงอย่างช้าๆ

ถ้าดูตัวเลขแนวโน้มผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยปอดอักเสบ ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ และผู้เสียชีวิต ก่อนหน้านี้ถ้าดูเป็นเทรนด์จะเห็นว่าในช่วง 2-3 วันมานี้ ผู้ติดเชื้อในบ้านเรา พุ่งขึ้นไปอยู่ในเส้นกราฟคาดการณ์ แต่หลังจากวันที่ 10 มกราคมที่ผ่านมา จำนวนผู้ติดเชื้อเริ่มมีทิศทางทรงตัว และดูเหมือนจะลดลงอย่างช้า ๆ ด้วย ซึ่งน่าจะเป็นผลจากการที่เราใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อชะลอและควบคุมการระบาด หรือถ้าคิดเป็นอัตราการติดเชื้อต่อแสนประชากรในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมาในช่วงปีใหม่จนถึงวันนี้จะอยู่ที่ 100 รายต่อแสนราย (ตามกราฟ)

ส่วนเรื่องการเสียชีวิตพบว่า ความรุนแรงของโรคน้อยกว่าระลอกเดือนเมษายน 2564 ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากการได้รับวัคซีนที่ครอบคลุมมากขึ้น ทำให้เห็นว่าแม้จะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่อัตราความรุนแรงของโรค ถ้าดูจากผู้ป่วยปอดอักเสบและใส่ท่อช่วยหายใจจะลดลง ซึ่งการที่โควิดจะเป็นโรคประจำถิ่นจะมีลักษณะแบบนี้ คือเริ่มจะมีทิศทางที่เป็นโรคประจำถิ่นแล้ว และทำให้เราใช้ชีวิตประจำวันปกติได้ แต่โควิดอาจจะไม่เหมือนโรคประจำถิ่นอื่น ถึงแม้เราจะอยู่กับโรคได้ เราก็ต้องอยู่แบบวิถีใหม่ หรือนิวนอร์มอล ซึ่งยังคงต้องใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่ออกจากบ้าน อยู่ห่าง ล้างมือประจำ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ

“โดยสรุปบ้านเราตอนนี้ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตจากโอมิครอน ความรุนแรงของโอมิครอนยังถือว่าน้อยกว่าเดลต้ามาก โดยรวมขณะนี้ลักษณะของโรคลดความรุนแรงลง ประชาชนส่วนใหญ่มีภูมิต้านทานมากขึ้นจากการได้รับวัคซีน และระบบการดูแลรักษาในบ้านเรามีความพร้อมและมีประสิทธิภาพ รวมถึงความร่วมมือของทุกฝ่าย ทุกองค์กร รวมถึงพี่น้องประชาชน ถ้าเรายังเคร่งครัดมาตรการส่วนบุคคล เราก็มีความหวังว่าในปีนี้ โรคนี้ก็จะเปลี่ยนจากโรคระบาดมาเป็นโรคประจำถิ่น และการตรวจในระยะนี้ก็จะเน้นการตรวจด้วย ATK เป็นหลัก ตามนโยบาย ATK First ของกระทรวงสาธารณสุข” แพทย์หญิงสุมนีกล่าว

ส่วนข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 มีผู้ป่วยรายใหม่ 7,681 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 68,855 ราย หายป่วยแล้ว 35,641 รายและ เสียชีวิตสะสม 171 ราย ขณะที่ข้อมูลสะสมตั้งแต่ปี 2563 ผู้ป่วยยืนยันสะสม 2,292,290 ราย หายป่วยแล้ว 2,204,135 ราย และเสียชีวิตสะสม 21,869 ราย

เร่งฉีดเข็มกระตุ้น เหตุภูมิคุ้มกันก่อนหน้าลด

ส่วนผู้มารับวัคซีน ณ วันที่ 11 มกราคม 2565 มีผู้รับการฉีดวัคซีน เข็มที่ 1 จำนวน 49,784 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 133,047 ราย เข็มที่ 3 จำนวน 330,377 ราย และระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 11 มกราคม 2565 มีผู้รับวัคซีน สะสมทั้งหมด จำนวน 107,271,904 โดส

  • จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 1 สะสม : 51,592,872 ราย
  • จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 2 สะสม : 47,056,159 ราย
  • จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 3 สะสม : 8,622,873 ราย

สำหรับเรื่องการฉีดวัคซีน แพทย์หญิงสุมนีกล่าวว่า ช่วงนี้จะต้องมีการกระตุ้นให้ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว หรือครบ 2 เข็มแล้ว ให้ไปรับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 เพิ่มขึ้น ที่สำคัญยุทธศาสตร์การฉีดวัคซีนในปีนี้ จะต้องชะลอการระบาดให้ได้มากที่สุด

ส่วนรายละเอียดของผู้เสียชีวิต 19 รายในวันนี้ เป็นชาย 10 ราย หญิง 9 ราย อายุน้อยที่สุดคือ 19 ปี และมากที่สุดคือ 92 ปี และเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป และมีโรคเรื้อรังถึง 89% และมีผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนหรือรับวัคซีนไม่ครบโดส 15 ราย จาก 19 ราย หรือคิดเป็น 79%

โดยเมื่อช่วงเช้าได้มีการพูดคุยกันในศูนย์ EOC ของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีความเป็นห่วงกลุ่มเสี่ยงกรณีผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป กับมีโรคประจำตัว ซึ่งมีการฉีดวัคซีนไปแล้ว 75.8% และกลุ่มที่มีโรคเรื้อรัง ฉีดวัคซีนไปแล้ว 78.1% ซึ่งก็จะต้องเข้ามาฉีดวัคซีนเข็ม 3 กันให้มากขึ้น

รวมถึงผู้ที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้วก็ต้องมาฉีดเข็ม 3 หรือเข้มกระตุ้นให้มากขึ้น เพราะจากการฉีดก่อนหน้านี้มาแล้วภูมิคุ้มกันจะตกลง ส่วนกลุ่มที่จะต้องมาฉีดวัคซีนเข็มที่ 4 จะเป็นกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ หรือกลุ่ม Health Care Worker ที่ให้การรักษาผู้ป่วยโควิด

“วันนี้มีรายงานการติดเชื้อในคลัสเตอร์ ที่เป็น Health Care Worker ในกรุงเทพมหานคร และมีการรายงานการติดเชื้อในกลุ่มนี้มาเป็นระยะ”

ส่วนสูตรสำหรับฉีดวัคซีนมีดังนี้

  • 1.ผู้ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน

กลุ่มเป้าหมายอายุ 18 ปีขึ้นไป สูตรจะเป็น AZ-AZ, AZ-Pz และ Sv-AZ เป็นหลัก
กลุ่มเป้าหมายอายุ 12-17 ปี สูตร Pz-Pz เป็นหลัก

  • 2. ผู้ที่ต้องรับเข็มกระตุ้น
    ผู้ที่ได้รับ Sv-Az ครบในเดือนสิงหาคม-ตุลาคม 2564 เข็มกระตุ้น AZ เป็นหลัก
    ผู้ที่ได้รับ AZ-AZ ครบในเดือนสิงหาคม-ตุลาคม 2564 เข็มกระตุ้น เป็น Pz เป็นหลัก
    ผู้ที่ได้รับวัคซีนเชื้อตาย ครบ 2 เข็ม ตั้งแต่ 4 สัปดาห์ขึ้นไป เข็มกระตุ้น เป็น AZ เป็นหลัก (รับได้เลย)

แนวโน้มผู้ป่วยใหม่ กทม.เพิ่มเท่าตัว จับตาพนักงานบริษัท

ส่วน 10 อันดับจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดวันนี้ยังเป็นกรุงเทพมหานคร วันนี้มีรายงาน 892 ราย ซึ่งจากที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กในวันนี้ กทม.ได้รายงานคลัสเตอร์ที่พบใหม่ เป็นคลัสเตอร์จากศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ อยู่ในเขตธนบุรี โดยยอดวันนี้เพิ่มขึ้นจากวานนี้เกือบ 2 เท่า โดยทิศทางของกรุงเทพมหานครที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีประชาชนกลับมาจากต่างจังหวัด และกลับมาทำงานในกรุงเทพมหานครช่วงนี้กันมากขึ้น

สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่พบมากคือ พอช่วงพักกินข้าวกลางวัน หรือเลิกงานก็จะมีการกินดื่ม พูดคุยกัน เป็นช่วงที่จะมีการถอดหน้ากาก ใช้เวลาร่วมกันนาน ทำให้มีการแพร่เชื้อในกลุ่มนี้ โดยเฉพาะพนักงาน office หรือในโรงงาน ทำให้พบการติดเชื้อมากขึ้น โดยมาตรการหลังจากที่กลับมาหลังช่วงปีใหม่ เรายังคงให้ทำงานที่บ้าน หรือ WFH ไปจนถึง 31 มกราคม 2565 หรือถ้าจะกลับมาทำงานจะต้องแยกการรับประทานอาหาร หรือกินดื่มร่วมกัน

ส่วนจังหวัดที่ติดเชื้อรองลงมาอันดับ 2 ได้แก่ ชลบุรี 873 ราย สมุทรปราการ 523 ราย ภูเก็ต 488 ราย ขอนแก่น 277 ราย อุบลราชธานี 269 ราย นนทบุรี 251 ราย เชียงใหม่ 194 ราย ศรีสะเกษ 167 ราย และบุรีรัมย์ 166 ราย

ศบค.ห่วง 8 จังหวัดนำร่องท่องเที่ยว

“จากทั้ง 10 อันดับวันนี้ ที่ประชุม ศบค.มีความเป็นห่วง โดยเฉพาะจังหวัดที่เป็นจังหวัดนำร่องท่องเที่ยวสีฟ้า ซึ่งมียอดผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ได้แก่ จังหวัดนนทบุรี และปทุมธานี ซึ่ง 2 จังหวัดในช่วง 2-3 วันก่อนหน้านี้ ตัวเลขของผู้ติดเชื้อยังอยู่ที่หลักสิบ หลังจากนั้นก็กระโดดขึ้นมาเป็น 3 หลัก และมีทิศทางที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นต้องขอเน้นย้ำมาตรการด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะ 8 จังหวัดที่เป็นจังหวัดนำร่องท่องเที่ยว” แพทย์หญิงสุมนีกล่าวย้ำ และว่า

8 จังหวัดนำร่องท่องเที่ยว ถ้าเทียบจำนวนผู้ติดเชื้อจากเมื่อวาน (11 ม.ค.) รวมกันแล้ววันนี้เพิ่มขึ้นมาถึง 507 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นมาก ก็ต้องขอเน้นย้ำให้จังหวัดนำร่องท่องเที่ยวทั้ง 8 จังหวัด ถึงแม้ว่าจะมีการเปิดกิจการ กิจกรรมได้ แต่ยังคงต้องกำกับติดตามให้อยู่ภายใต้มาตรการความปลอดภัย โดยเฉพาะมาตรการ COVID free setting และมาตรการส่วนบุคคลให้เป็นปกติวิสัยในชีวิตประจำวัน ส่วนรายงานจังหวัดที่ติดเชื้อน้อยสุดในวันนี้คือนราธิวาสมี 1 ราย

คลัสเตอร์ร้านอาหารพบ 8 จังหวัด

สำหรับคลัสเตอร์ที่มีการรายงานในวันนี้มากที่สุดยังมาจากคลัสเตอร์ร้านอาหาร หรือร้านอาหารกึ่งผับกึ่งสถานบันเทิงมาเป็นอันดับ 1 วันนี้มีรายงานมา 8 จังหวัด พบที่

  • อุบลราชธานี 26 ราย
  • น่าน 22 ราย
  • อุดรธานี 6 ราย
  • พะเยา 3 ราย
  • ขอนแก่น 6 ราย
  • เชียงใหม่ 26 ราย
  • ศรีสะเกษ 3 ราย
  • และพบที่งานสังสรรค์ปีใหม่ที่อุดรธานี 9 ราย และหนองบัวลำภู 6 ราย

สำหรับคลัสเตอร์อื่น ๆ เช่น โรงงานพบน้อยลงแล้ว วันนี้รายงานมาแค่จังหวัดเดียวคือที่นครพนม พบผู้ติดเชื้อ 18 ราย และงานบุญที่อุบลราชธานี พบ 3 ราย

กทม.เจอคลัสเตอร์ Health Care Worker  5 โรงพยาบาล

แพทย์หญิงสุมนีกล่าวว่า ส่วนสถานพยาบาลมีรายงานการติดเชื้อมาเป็นระยะในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ หรือ Health Care Worker พบที่กรุงเทพมหานครที่เดียว แต่พบถึง 5 โรงพยาบาล ถึงแม้ว่าในแต่ละที่จะเจอผู้ติดเชื้อจำนวนน้อย 2-3 รายเท่านั้น แต่เนื่องจากว่าเป็นกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ เป็นกลุ่มที่มีความสำคัญมาก ถ้าเกิดว่ายังไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นต้องไปฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ได้มากที่สุด

และสุดท้ายเป็นคลัสเตอร์สถานศึกษามีรายงานเข้ามา 3 จังหวัด ได้แก่ ที่จันทบุรี 6 ราย กรุงเทพO 5 ราย นนทบุรี 2 ราย โดยที่ประชุมของศูนย์ปฏิบyติการแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุขได้มีการพูดคุยถึงการปิดเปิดโรงเรียนและสถานศึกษา ซึ่งจากสถานการณ์ในขณะนี้หลายที่ได้ปรับการเรียนออนไซต์มาเป็นออนไลน์เป็นส่วนใหญ่แล้ว ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการกับกรมอนามัยได้มีการประชุมร่วมกันมาตลอดเพื่อป้องกันการรแพร่ระบาดของโอมิครอนในสถานศึกษา พร้อมทั้งให้มีการจัดทำแผนเผชิญเหตุด้วย

ล่าสุดจากรายงานเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2565 จากผู้ติดเชื้อ7,526 ราย มีผู้ติดเชื้อที่เป็นนักเรียน นักศึกษา อายุ 0-19 ปี 1,048 คน คิดเป็น 13.9% โดย 10 จังหวัดที่ติดเชื้อสูงสุดพบมากที่สุดคือ กทม. ชลบุรี อุบลราชธานี สมุทรปราการ พังงา สาเหตุมาจากการสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยัน ส่วนใหญ่จะเป็นครอบครัว ถ้าเป็นครูก็จะเป็นเพื่อนร่วมงาน โดยหลักการในการป้องกันได้มีการชี้แจงไปหมดแล้ว ได้แก่ 6 มาตรการหลัก 6 มาตรการเสริม และ 7 มาตรการเข้มงวด (6-6-7) และจะต้องทำแผนเผชิญเหตุร่วมด้วย (ดูตารางท้ายข่าว)