ไทยผนึกยักษ์อีคอมเมิร์ซโลก จับคู่ซื้อออนไลน์ดันส่งออกสู้โอมิครอน

อีคอมเมิร์ซ

พาณิชย์ลุยผนึกยักษ์แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซทั่วโลก ผุด TopThai Store เปิดทางสินค้าไทยโกอินเตอร์ ฝ่าโอมิครอน พร้อมจัดเจรจาจับคู่ซื้อทุกสัปดาห์-สั่งทูตพาณิชย์ทำงานเชิงรุกรับมือมาตรการทางการค้าต้องแจ้ง alert เอกชน ดันยอดส่งออกปี’65 โต 3-5% ตามเป้าหมาย กกร.

นายภูษิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากที่เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลให้ผู้ซื้อทั่วโลกหันมาใช้ระบบอีคอมเมิร์ซมากขึ้น ทางกรมจึงดำเนินการขยายช่องทางการส่งออกผ่านระบบนี้เพื่อสร้างโอกาสให้กับสินค้าไทยมากขึ้น

โดยในปี 2565 มีแผนจะขยายกลยุทธ์ผนึกแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างประเทศจากที่ได้ดำเนินการไปแล้ว 6 แพลตฟอร์มใน 5-6 ประเทศ เช่น จีน อินเดีย สหรัฐ และอาเซียน ซึ่งต่างก็เป็นตลาดส่งออกสำคัญที่เป็นเป้าหมายการส่งออกของไทย ในปีนี้อยู่ระหว่างเจรจาอาจจะขยายไปยังแพลตฟอร์มในอาเซียนมาก เช่น ช็อปเอ็มเอ็มในเมียนมา เป็นต้น

“เดิมทีกรมได้เคยจัดสร้างแพลตฟอร์มของไทยในชื่อไทยเทรดดอทคอม เพื่อให้ผู้ซื้อ-ผู้ขายมาพบและเจรจาธุรกิจกันได้ ก็พยายามติดตามว่าเกิดธุรกิจซื้อขายได้เท่าไรอย่างไร แต่กลยุทธ์นี้จะเป็นการเชื่อมโยงผู้ซื้อโดยอาศัยแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เป็นที่นิยมในประเทศนั้น ๆ อยู่แล้ว และกรมจะสร้างช่องทางที่เรียกว่า TopThai Store บนแพลตฟอร์มแต่ละแห่งให้ผู้ซื้อเข้าถึงสินค้าไทยได้ง่ายขึ้น”

“ประเด็นสำคัญตอนนี้เราไปเชื่อมโยงกับแพลตฟอร์มอื่นที่ดัง ๆ ในประเทศต่าง ๆ เช่น อินเดีย เราก็ไปเชื่อมโยงกับ Bigbasket ที่ใหญ่ที่สุดในอินเดีย อเมซอนอเมริกา จีนก็มีทีมอลล์ กับทีมอลล์กรุ๊ป อินโดฯ ก็มีบิฟลี่ และกำลังจะเชื่อมโยงกับช็อปเอ็มเอ็มของเมียนมา อยู่ระหว่างเจรจา เป้าหมายต้องการให้มีความร่วมมือกับแพลตฟอร์มออนไลน์ทุกภูมิภาคทั่วโลก”

สำหรับผลสัมฤทธิ์ของการผนึกเครือข่ายแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซทั่วโลกในปีที่ผ่านมา เราพบว่า ยอดขายทั้งในแพลตฟอร์ม Tmall China, Tmall Global, Amazon, Bigbasket, Klangthai, Blibli สามารถช่วยเปิดทางให้ผู้ส่งออกไทยนำสินค้าและบริการไปวางขายได้ รวมกว่า 112 แบรนด์

และมีสินค้าออกไปวางจำหน่ายรวม 1,773 SKU ทั้งสินค้าอาหาร เครื่องปรุงรส ขนม ผลไม้ ผลิตภัณฑ์ยางพารา ผลิตภัณฑ์สุขภาพ เครื่องดื่ม ของตกแต่งบ้าน และสินค้าไลฟ์สไตล์ คิดเป็นมูลค่าจำหน่ายรวมเกือบ 500 ล้านบาทแล้ว ซึ่งในปีนี้คาดว่าจะขยายได้มากขึ้น

นายภูษิตกล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกปี 2565 คงขยายตัวต่อเนื่อง แต่อาจจะไม่ได้ขยายตัวหวือหวาอย่างปี 2564 แต่ก็คงไม่กระทบรุนแรงหากเทียบกับปี 2563 ที่มีโควิด เพราะไทยมีความพร้อมและปรับตัวรับมือโควิดมา 2 ปีแล้ว ดังนั้น ไม่ใช่กิจกรรมทุกอย่างหยุดชะงักแต่ยังต้องดำเนินการต่อได้

“ปัจจัยสำคัญของการส่งออกปีนี้ คือ โควิด เพราะเรายังไม่สามารถหยุดมันได้ เราจะอยู่ร่วมกับโควิดได้อย่างไร รูปแบบการทำงานก็เปลี่ยนแปลงไป ทุกอย่างออนไลน์ เวอร์ชวลหมด กิจกรรมออนไลน์ ที่ผ่านมาดำเนินการอย่างต่อเนื่องเช่น

การจัดกิจกรรม Mirror-Mirror ออนไลน์ก็เป็นวิธีที่ทางอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศคนเดิม (นายสมเด็จ สุสมบูรณ์) ริเริ่มไว้ คือเอาสินค้าเราไปให้ทูตพาณิชย์นำไปเป็นตัวอย่างให้คู่ค้าดู แล้วเปิดให้สองฝ่ายเจรจากัน หรือกิจกรรมออนไลน์บิสซิเนสแมตชิ่งทำทุกสัปดาห์ รายเล็กรายใหญ่ทำมาตลอด มันทำให้เราได้เจอคู่ค้าใหม่ ๆ มากขึ้น โลกออนไลน์มากขึ้น

ความถี่นี่ก็ถือว่าถี่อยู่แล้ว สคต.ทำงานเชื่อมกับพาณิชย์จังหวัดทำงานบิสซิเนสแมตชิ่ง ก็ทำเรื่องส่งเสริมมากขึ้น หากสถานการณ์โควิดดีขึ้นอาจทำให้กลับมาทำแบบกิจกรรมฟิซิเคิลมากขึ้น แต่ยังไม่เต็มร้อย เหมือนเดิมแต่ก็เริ่มเพื่อให้ทำงานควบคู่กันไป”

ส่วนปัจจัยเสี่ยงเรื่องตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลนที่สะสมเป็นคอขวดติดปัญหาที่ต่างประเทศมีปัญหาท่าเรือไม่ทำงาน คนหยุดงาน ตู้ก็ไปติดอยู่ตรงนั้นเต็มไปหมด เป็นไปตามกลไก ดีมานด์-ซัพพลาย เท่าที่คุยกับเอกชนมองว่าน่าจะไตรมาส 2 ของปี 2565 น่าจะคลี่คลาย ตู้กลับมาสู่ระบบมากขึ้น แต่ถ้าติดโควิดอีกก็อาจจะเกิดปัญหาตู้ไปสะสมเกิดคอขวดตู้ระบายไม่ทันอีก แต่ก็ต้องมอนิเตอร์ต่อไปหลังจากโควิดเข้มข้นขึ้น

“อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่มอบให้ทางสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ดำเนินการคือไม่ได้ทำงานให้เฉพาะกับ สอ. แต่ให้ประสานทุกกรมและหน่วยงานภายนอก เราให้บริการเอกชนทุกเรื่องไม่ว่าปัญหาติดขัดอะไรก็ทำ เช่น รายงานว่าตอนนี้มีรถติดด่านส่งออกไม่ได้ อยู่กี่ร้อยคัน ระบายเท่าไร บทบาท สค. คือการแจ้งเตือน (alert) ให้ภาคเอกชนรู้ปรับแผน

เช่น ว่าตลาดภูมิภาคไหนยังระบาดก็จะเป็นปัญหา ก็ต้องเพิ่มความเข้มงวด ก็ทำให้ทุกอย่างล่าช้าออกไป เช่น แทนที่จะตรวจปล่อยใน 2-3 วัน ก็กลับกลายเป็น 5-6 วัน หรืออาจจะนานขึ้น เช่น จีนก็มีมาตรการเข้มถ้าเดินทางเข้าประเทศต้องควอรันทีน 21 วัน ญี่ปุ่นก็เพิ่มความเข้มหลังจากโอมิครอน”

รายงานข่าวระบุว่า ล่าสุดคณะกรรมการร่วมเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้คาดการณ์ว่าการส่งออกไทยในปี 2565 จะขยายตัว 3-5% จากปี 2564 ที่คาดว่าจะขยายตัว 16% เพราะการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอนจะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจช่วงต้นปี ให้มีแนวโน้มชะลอตัวลงแต่หากสามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพและไม่มีการล็อกดาวน์จะช่วยให้การส่งออกขับเคลื่อนไปได้