ส่องโรครุมเร้าภาคเกษตร ไม่ใช่แค่ ASF หมู

การประกาศพบโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร สร้างความสั่นสะเทือนต่อภาคปศุสัตว์อย่างมากในสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่หากมองย้อนไปสินค้าเกษตรของไทยต้องฝ่าโรคพืช-โรคระบาดสัตว์-โรคในสินค้าประมงอีกหลายรายการ ซึ่งล้วนเป็นความท้าทายของภาคเกษตรไทย

“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) และศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อัพเดตสถานการณ์การระบาดพบว่า

สแกนโรคในปศุสัตว์

ในช่วงปี 2563 ไทยประกาศ “โรคอุบัติใหม่” ถึง 2 โรคด้วยกัน คือ โรคกาฬโรคแอฟริกันในม้า (African Horse Sickness) ซึ่งเป็นโรคในตระกูลม้า ลา ล่อ ม้าลาย เกิดจากเชื้อไวรัส แสดงอาการมีไข้สูง ระบบทางเดินหายใจ และตายโดยฉับพลัน มีจำนวนม้าตายไปแล้ว 600 ตัว

โดยปัจจุบันไทยสามารถหยุดการตายได้แล้ว และอยู่ระหว่างการขอคืนสถานภาพปลอดโรคจากองค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) คาดว่าจะได้ภายในปี 2566

และ “โรคลัมปิสกิน” (Lumpy Skin) ในโค-กระบือ ซึ่งปัจจุบันกรมปศุสัตว์ออกมาตรการควบคุมการเกิดโรคให้อยู่ในพื้นที่จำกัด โดยคาดว่าการผลิตโค ในปี 2565 ที่คาดว่าจะมีจำนวน 1.32 ล้านตัว เพิ่มขึ้น 3% แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ ส่งผลกระทบต่อราคาเนื้อวัวปรับสูงขึ้น 280-300 บาทต่อ กก.

ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ได้ช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกร ผู้ประกอบการ ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนเสียหายต่อเนื่อง

พืชเศรษฐกิจอ่วมโรค

ขณะที่พืชเศรษฐกิจสำคัญของไทยก็ประสบปัญหาโรค-แมลงเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น “ยางพารา” พืชเศรษฐกิจแสนล้าน ที่ประสบปัญหาโรคใบร่วงชนิดใหม่ เมื่อปี 2562 ที่ จ.นราธิวาส หลังจากที่เกิดการระบาดครั้งแรกในประเทศอินโดนีเซีย เมื่อปี 2560 ซึ่งขณะนี้เริ่มขยายวงเพิ่มขึ้นในพื้นที่ภาคใต้

อย่างไรก็ตาม ไทยคาดว่าจะมีพื้นที่ปลูก 21.8 ล้านไร่ ลดลง 0.41% และมีผลผลิต 4.9 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มี 4.8 ล้านตัน เนื่องจากปีนี้อายุยางอยู่ในช่วงที่ให้ผลผลิตสูง

ขณะเดียวกัน ยังมี “โรคใบด่าง” ในมันสำปะหลัง จากเชื้อ Sri-Lankan Cassava Mosaic Virus และโรคพุ่มแจ้ ที่เกิดจากเชื้อไฟโตพลาสมา ซึ่งทั้ง 2 ชนิดสามารถสร้างความเสียหาย ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนท่อนพันธุ์มันสำปะหลังสะอาดและมีคุณภาพสูงเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งภาครัฐได้ให้การช่วยเหลือผ่านโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมโรคใบด่างมันสำปะหลัง อย่างไรก็ตาม คาดการณ์เเนวโน้มผลผลิต ปี 2565 คาดว่าจะมีปริมาณ 32 ล้านตัน ซึ่งยังไม่เพียงพอ ต้องนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน

นอกจากนี้ยังมี “ข้าว” ยังคงประสบปัญหาโรคเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล หนอนห่อใบข้าว เพลี้ยไฟ แมลงบั่ว คาดการณ์ผลผลิตปีนี้อยู่ที่ 24 ล้านตันข้าวเปลือก เนื้อที่ปลูกเพิ่มขึ้นแต่ผลผลิตต่อไร่ลดลง ร้อยละ 1.65

ในส่วนของพืชสวน สินค้าส่งออกหลัก “ผลไม้” อย่าง “มะพร้าว” ก็ประสบปัญหาโรคหนอนหัวดํา แมลงดําหนาม ด้วงแรด สินค้า “ทุเรียน” พระเอกการส่งออก ก็มีพื้นที่ประสบปัญหาโรคเพลี้ยไฟ เพลี้ยไก่แจ้ เพลี้ยแป้ง ราดำ และโรครากเน่าโคนเน่าพื้นที่ระบาด 3 จังหวัด (จันทบุรี ตราด และชุมพร) เช่นเดียวกับลำไย มังคุด แต่ยังคาดการณ์ว่าปี 2565 นี้จะผลิตได้ 1.3 ล้านตัน และมีแนวโน้มที่ความต้องการบริโภคจะเพิ่มขึ้นทั้งในและส่งออก

“กุ้งตายด่วน” ยังอยู่

สุดท้าย ภาคประมง โดยเฉพาะสินค้าหลัก “กุ้ง” ในปีนี้ เกษตรกรทุกพื้นที่ยังคงเผชิญหน้าปัญหาโรคตายด่วน อาการขี้ขาว ตัวแดงดวงขาว ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพการเลี้ยง และเป็นต้นทุนแฝงกับเกษตรกร ปี 2565 ยังคาดการณ์ผลผลิต 3.8 แสนตัน ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา

ทั้งหมดนี้ล้วนเป็น “โจทย์หินของรัฐบาล” ที่ต้องควบคุม ยับยั้ง การระบาดให้รวดเร็ว รอบคอบ และรัดกุม เพื่อป้องกันไม่ให้กระทบอัตราการขยายตัวของจีดีพีภาคเกษตรปีนี้ ที่คาดว่าจะเติบโต 2-3% ที่มีมูลค่า 669,870-676,440 ล้านบาทและไม่ให้กระทบต่อเกษตรกรฐานหลักของประเทศ