น้ำมัน-ก๊าซ-ไฟฟ้า แห่ขึ้นราคา กองทุนอ่วม วิ่งวุ่นหาเงินกู้ 30,000 ล้าน

สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องกันมา 7 สัปดาห์ติดต่อกัน จากปริมาณน้ำมันดิบที่ตึงตัว โดยราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส ณ วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565 อยู่ที่ 91.32 เหรียญ/บาร์เรล น้ำมันดิบเบรนต์ 92.69 เหรียญ/บาร์เรล และน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 91.14 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่นักวิเคราะห์ราคาน้ำมันคาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มที่จะพุ่งขึ้นไปถึง 100 เหรียญ/บาร์เรล โดยกลุ่มโอเปกและพันธมิตร (OPEC+) ยังคงยึดมั่นข้อตกลงเดิมที่คงกําลังการผลิตนํ้ามันดิบสําหรับเดือนมีนาคมไว้ที่ปริมาณ 400,000 บาร์เรล/วัน

การปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันดิบยังส่งผลทำให้ราคาก๊าซ-ถ่านหินปรับสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งจะกระทบไปถึง “ค่าไฟฟ้า” ภายในประเทศจะต้องปรับขึ้น ค่าไฟฟ้าผันแปร หรือค่า Ft ตั้งแต่งวดเดือนมกราคมเป็นต้นไป โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติให้ปรับค่า Ft สำหรับการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าในรอบเดือนมกราคม-เมษายน 2565 เพิ่มขึ้น 16.71 สตางค์ จากปัจจุบัน -15.32 สตางค์ ในงวดก่อนหน้า มาอยู่ที่ 1.39 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้ารวมปรับขึ้นมาที่ 3.78 บาท/หน่วย หรือขึ้นมา 4.43%

ขึ้นราคาน้ำมัน 9 ครั้ง

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้น 1 เหรียญ จะมีผลต่อราคาขายปลีกน้ำมัน ประมาณ 20 สตางค์/ลิตร ทางกระทรวงพลังงานจะแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนและเป็นรูปธรรมด้วยการใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนและผู้ประกอบการ

โดยที่ผ่านมาได้กำหนดมาตรการ “ตรึงราคา” เฉพาะน้ำมันดีเซลไว้ที่ลิตรละไม่เกิน 30 บาท โดยใช้กลไก “กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง” เข้ามาอุดหนุนเพื่อรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันภายในประเทศ ส่วนราคาน้ำมันขายปลีกประเภทอื่น ๆ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 ปรากฏมีการปรับขึ้นราคาไปแล้ว 7 ครั้ง และเดือนกุมภาพันธ์ ปรับขึ้นราคาไปแล้ว 2 ครั้ง

เมื่อเทียบกับวันที่ 5 ม.ค. 2565 ราคาขายปลีกกลุ่มน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ ปรับขึ้นรวม 3.30 บาท/ลิตร โดยน้ำมันเบนซินอยู่ที่ 42.46 บาท/ลิตร, แก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ 34.78 บาท/ลิตร, แก๊สโซฮอล์ 95 อยู่ที่ 35.05 บาท/ลิตร, E20 อยู่ที่ 33.94 บาท/ลิตร และ E85 อยู่ที่ 27.24 บาท/ลิตร

กองทุนน้ำมันฯติดลบ 16,052 ล้านบาท

ด้านสถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่รัฐบาลใช้เป็นกลไกหลักในการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลภายในประเทศไม่ให้จำหน่ายเกินลิตรละ 30 บาทนั้น ล่าสุดกองทุนน้ำมันฯได้อุดหนุนไปแล้วรวม 3.79 บาท/ลิตร ปริมาณ 63 ล้านลิตร/วัน คิดเป็นเงินประมาณ 238.77 ล้านบาท/วัน หรือประมาณ 7,000-8,000 ล้านบาทต่อเดือน ภายใต้เงื่อนไขราคาน้ำมันดิบไม่เกิน 90 เหรียญ/บาร์เรล

โดยราคาน้ำมันดีเซลจริง หากไม่มีการอุดหนุนจะตกประมาณลิตรละ 34 บาท/ลิตร ราคาก๊าซ LPG ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 อุดหนุนเฉลี่ยประมาณ 63 ล้านบาท/วัน หรือคิดเป็นเงินประมาณ 1,800-1,900 ล้านบาท/เดือน ส่งผลให้สถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2565 ติดลบไปแล้ว -16,052 ล้านบาท แยกเป็น ในส่วนของก๊าซ LPG ติดลบ -25,218 ล้านบาท ส่วนน้ำมันยังคงเป็นบวกอยู่ที่ 9,166 ล้านบาท

ด้วยเงินในบัญชีน้ำมันที่คงเหลืออยู่ที่ 9,166 ล้านบาท กองทุนน้ำมันฯจะสามารถตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตรได้อีก 2 เดือนครึ่ง จากการคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบเดือนมกราคมเคลื่อนไหวอยู่ที่ประมาณ 87-89 เหรียญ/บาร์เรล และคาดการณ์ว่าในช่วง 3 เดือนข้างหน้า (ก.พ.-เม.ย.) ราคาน้ำมันดิบเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 88-93 เหรียญ/บาร์เรล และกรณีเลวร้ายสุดราคาน้ำมันดิบปรับขึ้นไปถึงระดับ 100 เหรียญ/บาร์เรล ส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯอาจต้องอุดหนุนราคาน้ำมันประมาณ 8,000-9,000 ล้านบาท/เดือน ทำให้เงินกองทุนที่เหลืออยู่อาจจะใช้อุดหนุนไปได้แค่ 1-2 เดือนเท่านั้น

3 เดือนยังสรุปเงินกู้ไม่ได้

ด้วยเงินกองทุนน้ำมันฯที่มีเหลืออยู่อย่างจำกัด ครม.ได้มีมติเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ให้ความเห็นชอบหลักการ ร่างพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงกรอบวงเงินกู้เพื่อรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ โดยอนุมัติให้กองทุนน้ำมันฯดำเนินการ “กู้เงิน” เฉพาะวงเงิน 20,000 ล้านบาท ตามกรอบของกฎหมายของกองทุนน้ำมันฯที่มีอยู่ และให้ดำเนินการกู้เงินเพิ่มเติมวงเงิน 10,000 ล้านบาท ได้ต่อเมื่อร่างพระราชกฤษฎีกามีผลบังคับใช้แล้ว

การดำเนินการกู้เงินดังกล่าวก็เพื่อเสริม “สภาพคล่อง” ของกองทุนน้ำมันฯ ที่ปัจจุบันเหลือวงเงินอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลได้เพียง 9,166 ล้านบาทเท่านั้น “ถ้านับจากเดือนพฤศจิกายน 2564 มาถึงปัจจุบัน หรือเกือบ 3 เดือน

ปรากฏมีสถาบันการเงินเสนอแผนเงินกู้เข้ามายังสำนักงานกองทุนน้ำมันฯ 3 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน และธนาคารกสิกรไทย ตอนนี้กระบวนการให้การกู้เงินยังไม่เสร็จสิ้น คาดว่ากองทุนจะกู้เงินได้ภายในเดือนเมษายน 2565” นายกุลิศกล่าว

อย่างไรก็ตาม การกู้เงินของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงถือเป็นการก่อหนี้สาธารณะ ดังนั้น สำนักงานกองทุนฯจะต้องทำแผนการกู้เงิน แผนการชำระหนี้และเงื่อนไขอื่น โดยกองทุนเห็นว่า อัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมควรอยู่ระหว่าง 2.5-3% มีระยะเวลาการใช้หนี้คืนประมาณ 3 ปี วิธีการใช้หนี้อาจจะเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯจากราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในช่วงที่ราคาน้ำมันลดลงตามราคาตลาดโลก

ต้องขึ้นราคาก๊าซ LPG

นอกจากราคาน้ำมันภายในประเทศที่พุ่งสูงขึ้นต่อเนื่องแล้ว ราคาจำหน่ายก๊าซ LPG ยังคงได้รับการอุดหนุนจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จนปัจจุบันกองทุนไม่มีความสามารถที่จะบริหารจัดการด้วยการตรึงราคาก๊าซหุงต้มไว้ที่ 318 บาท/ถังขนาด 15 กก. (สิ้นสุดการตรึงราคาในวันที่ 31 มีนาคม 2565) ไว้ได้ โดยในส่วนก๊าซ LPG สถานะกองทุนติดลบอยู่ -25,218 ล้านบาท

ดังนั้น กระทรวงพลังงานจึงมีแนวทางที่จะปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม “แบบขั้นบันได” หากปรับขึ้นราคาทุก 1 บาท/ถัง ก็จะสามารถลดภาระการอุดหนุนของกองทุนน้ำมันฯได้ประมาณ 270-280 ล้านบาท/เดือน โดยขั้นแรกจากราคาปัจจุบันที่ 318 บาท ขึ้นไปอีก 15 บาท เป็น 333 บาท/ถัง และขั้นที่สอง จาก 333 บาท ขึ้นไปอีก 30 บาท เป็น 363 บาท/ถัง จากราคาก๊าซหุงต้มจริงที่ไม่มีการอุดหนุนจะอยู่ที่ 432 บาท/ถัง


“กระทรวงพลังงานได้อุดหนุนราคาก๊าซมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 เฉพาะกองทุนน้ำมันฯใช้เงินอุดหนุนก๊าซไปแล้ว 25,218 ล้านบาท โดยกระทรวงต้องหาเงินอุดหนุนราคาก๊าซหุงต้มอีก 55 บาท/3 เดือน หรือเพิ่มเติมจากที่กระทรวงการคลังยังคงอุดหนุนราคาก๊าซหุงต้มสำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการของรัฐ 13.5 ล้านคน 45 บาท/3 เดือนตามเดิม รวมเป็นเงินที่รัฐบาลอุดหนุน 100 บาท/3 เดือน” นายกุลิศกล่าว จนเป็นที่มาว่า ทำไมกระทรวงพลังงานต้องเสนอแนวทางการขึ้นราคาก๊าซแบบขั้นบันไดในที่สุด