เครือข่ายสวนปาล์ม 26 จังหวัด หึ่มรัฐ ขีดเส้น 2 สัปดาห์ ขู่แสดงพลังทุกอำเภอ

เครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกปาล์ม 26 จังหวัด ออกแถลงการณ์แสดงความไม่พอใจการทำงาน ด้านปาล์ม “กนป.-กบง.” ใน 6 ประเด็น ขีดเส้น 2 สัปดาห์ แสดงพลังพร้อมกันทุกอำเภอ

วันที่ 8 กุมภาพันธ์  2565 นายพันธ์ศักดิ์ จิตรรัตน์ ประธานคณะกรรมการด้านปาล์มน้ำมันและพืชพลังงาน สภาเกษตรกรแห่งชาติและกรรมการใน กนป. เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 สมาพันธ์สมาคมชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย ได้จัดเวทีแถลงการณ์ที่ โรงแรมสยามธานี จ.สุราษฎร์ธานี เรื่องการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ และการดำเนินนโยบายทางด้านปาล์มน้ำมัน ที่ส่งผลต่อเกษตรกร

“หากไม่ได้รับคำตอบใน 2 สัปดาห์ จากที่คุยกันไว้ เราจะไปแสดงพลังทุกอำเภอในเครือข่าย ผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน อย่างน้อย 15 จังหวัดที่ตอบรับ เครือข่าย 26 จังหวัดที่ปลูกปาล์ม”

โดยในแถลงการณ์ระบุว่า ในฐานะที่พี่น้องเกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและได้รับผลกระทบโดยตรงจากมาตรการต่าง ๆ ของหน่วยงานภาครัฐ และการดำเนินนโยบายของคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ไม่ว่าจะเป็นระยะสั้นหรือระยะยาวก็ตาม

พันธ์ศักดิ์ จิตรรัตน์

และในฐานะที่พี่น้องเกษตรกรมีตัวแทนเกษตรกรที่เป็นกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอยู่ในคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) และมีสมาคมชาวสวนปาล์มน้ำมันจังหวัดต่าง ๆ ทำหน้าที่ตัวแทนของพี่น้องชาวสวนปาล์มทั้ง 4 แสนครอบครัวทั่วทั้งประเทศไทย ตัวแทนของพี่น้องชาวสวนปาล์มจึงขอใช้โอกาสนี้ชี้แจงถึงเรื่องราวต่าง ๆ ทางด้านปาล์มน้ำมันที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา เพื่อให้พี่น้องได้รับทราบ

ในเบี้องต้นเกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมันขอแสดงความขอบคุณต่อรัฐบาลที่ได้ดูแลจัดการปาล์มน้ำมันด้วยนโยบายต่าง ๆ เพื่อให้สถานการณ์ปาล์มน้ำมันดีขึ้น มีการปรับสมดุลโดยการใช้น้ำมันปาล์มไปผลิตไฟฟ้า มีโครงการประกันรายได้ มีการเพิ่มการใช้ไบโอดีเซล บี7 บี10 บี20 ทำให้ปริมาณการใช้ไบโอดีเซลเพิ่มขึ้น

มีโครงการผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์มเพื่อลดผลผลิตส่วนเกิน มีมาตรการจัดระเบียบในการนำเข้าและนำผ่านน้ำมันปาล์มเพื่อป้องกันการลักลอบน้ำมันปาล์มเถื่อนโดยการขนส่งทางบก  ทำให้การเก็บสต๊อกน้ำมันปาล์มลดลง ทำให้ราคาปาล์มน้ำมันมีราคาสูงขึ้น ได้รับราคาปาล์มทะลายที่ดีขึ้นในปี 2564 หลังจากประสบปัญหาราคาตกต่ำต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายปี

ทั้งยังมีการศึกษาจัดทำโครงสร้างราคาปาล์มทะลายเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการรับซื้อปาล์มทะลายจากเกษตรกร และอีกทั้งยังมีมาตรการและแนวทางขับเคลื่อนการเพิ่มมูลค่าปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มแปรรูปน้ำมันปาล์มเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เป็นอนาคตที่สำคัญของน้ำมันปาล์มและชาวสวนปาล์ม

แต่ในผลการทำงานแต่ละด้านยังมีประเด็นปัญหาต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

1.มาตรการจัดระเบียบในการนำเข้าและนำผ่านน้ำมันปาล์ม ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2563 เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการทะลักของน้ำมันปาล์ม เข้ามาในประเทศจากการลักลอบนำเข้าและนำผ่านน้ำมันปาล์มโดยเร่งด่วน และเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มภายในประเทศ มีการทบทวนให้มีการเปิดด่านสะเดา ซึ่งเป็นการขนส่งทางบกโดยรถบรรทุกให้กับ สปป.ลาว โดยกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เมื่อการประชุม กนป. เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2565 ที่ผ่านมา ท่ามกลางเสียงคัดค้านของตัวแทนเกษตรกร ผู้ทรงคุณวุฒิ โรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม และโรงรีไฟน์น้ำมันบริโภค

2.มีการปรับลดการใช้ไบโอดีเซลจาก บี7 บี10 บี20 เหลือ บี7 และลดจาก บี7 เหลือเพียง บี5 โดยคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน หรือ กบง. มีผลถึง 31 มี.ค. 2565 ซึ่งจะทำให้ปริมาณการใช้ไบโอดีเซลลดลงอย่างมาก มีผลกระทบต่อการใช้น้ำมันปาล์ม การผลิตไบโอดีเซล และกระทบต่อสถานการณ์ปาล์มน้ำมันในทันที ดังที่เกิดขึ้นแล้ว คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันได้แต่เพียงรับทราบเท่านั้น

3.โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน ปี 2564-2565 โดยกำหนดราคาเป้าหมายผลปาล์มทะลาย (อัตราน้ำมัน 18%) ณ หน้าโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม กิโลกรัมละ 4.00 บาท ใช้ผลผลิตเฉลี่ยไร่ละ 2,774 กิโลกรัม วงเงิน 7,660.00 ล้านบาท ยังเป็นการใช้ตัวเลขเดิม แนวความคิดเดิม ไม่มีการปรับตัวเลขต้นทุนปัจจุบันซึ่งปัจจัยการผลิต ต้นทุนของเกษตรกรมีการเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะราคาปุ๋ยเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่าตัว

4.โครงการปรับสมดุลน้ำมันปาล์มโดยการผลิตกระแสไฟฟ้า โดยกรมการค้าภายในเป็นประธาน มีการปรับสเป็กให้นำน้ำมันกรดสูง 7-9% ไปใช้ได้ ทำให้เกิดการนำน้ำมันกรดสูงจากบ่อน้ำเสียไปผสมขาย และช่วงที่มีการรับซื้อ พบว่าไม่ได้ทำให้ราคาปาล์มทะลายดีขึ้นตามเป้าหมาย และมีการปรับเงื่อนไขการส่งน้ำมัน การเลื่อนเวลาส่งมอบ เอื้อต่อผู้ค้า

5.โครงการติดตั้งมิเตอร์เรียลไทม์เพื่อวัดปริมาณน้ำมันปาล์มดิบ ดำเนินการโดยกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ล่าช้าไม่แล้วเสร็จ วัดได้เพียงปริมาณน้ำมันที่เก็บอยู่ในถึง ไม่ทราบปริมาณไหลเข้า-ออก ของน้ำมันปาล์ม ยังเป็นช่องว่างให้เกิดข้อบกพร่องในการบริหารปาล์มน้ำมันได้

6.โครงสร้างราคาปาล์มทะลายและน้ำมันปาล์ม มีมติ กนป.มาตั้งแต่วันที่ 11 พ.ค. 2561 ให้มีการจัดทำโครงสร้างราคาปาล์มทะลายและน้ำมันปาล์มทั้งระบบ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการรับซื้อผลผลิตปาล์มทะลายจากเกษตรกรและเป็นธรรมต่อผู้บริโภค มีการตั้งอนุโครงสร้างราคาปาล์ม โดยกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานคณะ มีการดำเนินการล่าช้า ไม่แล้วเสร็จ ทำให้มีการกดราคารับซื้อปาล์มทะลายของเกษตรกรในช่วงที่มีผลผลิตมากทุก ๆ ปี ไม่น้อยกว่าปีละ 3,600 ล้านบาท ทำให้มีความผันผวน มีการปั่นป่วนราคาปาล์มทะลายและราคาน้ำมันปาล์มเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา หากล่าช้าอีกต่อไป วงจรของการกดราคาปาล์มทะลายอย่างรุนแรงก็จะเกิดขึ้นอีกในสองเดือนข้างหน้า

“ผลการทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ ภายใต้นโยบายของคณะกรรมการ นโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ ที่ไม่สัมฤทธิ์ผล การปฏิบัติยังไม่แล้วเสร็จ ย่อหย่อนในการปฏิบัติ สะท้อนถึงโครงสร้างเชิงอำนาจที่ไม่สมบูรณ์ ไม่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด เมื่อมีมติมาแล้วก็ต้องขอมติ ครม.แล้วแต่ละหน่วยงานนำไปปฏิบัติ ไม่ว่าจะได้ผลเพียงใดหรือไม่ กนป.ไม่มีดาบอาญาสิทธิ์เพื่อรักษานโยบายที่ดีเพื่อชาวสวนปาล์มได้อย่างยั่งยืน”

การทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ มีการแทรกแซงจากกลุ่มตลาดการค้าและการแข่งขันทางการเมือง ทำให้ขาดเสถียรภาพ ขาดเอกภาพในการทำงานทางด้านนโยบาย ขาดความศักดิ์สิทธิ์

พร้อมกันนี้ สมาพันธ์ฯเสนอว่า กนป.ควรพิจารณาจัดการใช้ดุลอำนาจทางการเมืองขององค์กรเพื่อยืนหยัดประโยชน์ในการทำงานให้มีคุณค่าสูงสุดต่อประโยชน์ของพี่น้องชาวสวนปาล์ม และต่อพี่น้องประชาชนผู้บริโภค ให้มีเศรษฐกิจที่ยั่งยืน เพื่อเป็นหน่วยงานสำคัญทางด้านนโยบายเพื่อสร้างเศรษฐกิจปาล์มน้ำมันให้เกิดความยั่งยืนเป็นเศรษฐกิจของชาติที่สำคัญให้ได้ตามความมุ่งหมาย