รัฐพลาดซ้ำ! น้ำมันปาล์มแพง ปี๊บละพันบาท-ลากยาวถึงกลางปี

สต๊อกน้ำมันปาล์มในประเทศวิกฤต สิ้นเดือนมกราคมต่ำกว่า 100,000 ตันแน่ ดันราคาน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์พุ่งพรวด ทั้งขนาดบรรจุขวด 1 ลิตรใกล้ 70 บาท แบบปี๊บราคา 1,000 กว่าบาท เหตุนโยบายรัฐบาลผิดพลาด เร่งส่งออกน้ำมันปาล์มดิบมากเกินไป กรมการค้าภายในทำได้แค่ให้โรงงาน “ตรึงราคา” ส่งผลห้างบางสาขาเริ่มไม่มีน้ำมันปาล์มวางจำหน่าย ผู้ประกอบการร้านอาหาร-ภัตตาคารรวมตัวสั่งออร์เดอร์ใหญ่ บริหารจัดซื้อ-ยืดเครดิต

ราคาน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ได้พุ่งขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์จนสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหาร รวมไปถึงร้านอาหารทั่วไป โดยล่าสุดน้ำมันปาล์มบรรจุขวดขนาด 1 ลิตรในท้องตลาด ซึ่งเป็นสินค้าควบคุม มีราคาจำหน่ายใกล้ขวดละ 70 บาท ในขณะที่น้ำมันปาล์มบรรจุปี๊บขนาด 18 ลิตร ขายกันเกินกว่าปี๊บละ 1,000 บาท

สต๊อกปาล์มใกล้วิกฤต

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานการตรวจสอบปริมาณสต๊อกน้ำมันปาล์มคงเหลือภายในประเทศล่าสุด ณ วันที่ 29 ธันวาคม 2564 ปรากฏน้ำมันปาล์มดิบที่สต๊อกเหลืออยู่แค่ 161,092 ตัน น้ำมันปาล์มกึ่งบริสุทธิ์ 27,690 ตัน น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 23,052 ตัน

ในขณะที่ไบโอดีเซล B100 มีสต๊อก 46,305 ตัน โดยปริมาณสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบถือว่า “ต่ำ” หรือต่ำกว่า Safety Stock ที่กำหนดไว้ให้อยู่ในระดับ 250,000 ตัน

ทั้งนี้มีข้อน่าสังเกตว่า ปริมาณสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบปัจจุบันลดลงอย่างฮวบฮาบเมื่อเทียบกับตัวเลขสต๊อกในเดือนตุลาคมที่ยังอยู่ในระดับ 245,165 ตัน ส่งผลให้สต๊อกคงเหลือ ณ สิ้นเดือนมกราคม 2565 จะ “ต่ำกว่า” 100,000 ตันแน่นอน

โดยปริมาณสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบที่ลดลง “สวนทาง” กับราคาผลปาล์มทะลายที่พุ่งสูงขึ้น โดยราคาเฉลี่ยปาล์มทะลาย 3 แหล่งผลิตสำคัญ (สุราษฎร์ธานี-กระบี่-ชุมพร) ในเดือนมกราคมที่โรงสกัดน้ำมันปาล์มรับซื้ออยู่ที่ระหว่าง 10-11 บาท/กก. ขณะที่โรงสกัดขายน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ให้กับโรงรีไฟน์ หรือโรงงานน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ อยู่ระหว่าง 55-56 บาท/กก. ส่งผลให้น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์บรรจุขวด 1 ลิตร กับน้ำมันปาล์มบรรจุปี๊บราคาพุ่งไม่หยุด

ทั้งนี้ หากจะคำนวณราคาน้ำมันปาล์มบรรจุขวดขนาด 1 ลิตรตาม สูตรโครงสร้างการคำนวณราคาประมาณการของผลปาล์มน้ำมัน น้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ที่จัดทำโดยกรมการค้าภายใน จะพบว่า หากราคาน้ำมันปาล์มดิบ ณ กทม.มีราคา 55 บาท/กก. ราคาจำหน่ายปลีกน้ำมันปาล์มบรรุขวด 1 ลิตร รวม VAT จะต้องขายกันที่ขวดละไม่ต่ำกว่า 70 บาทแน่นอน

แต่ราคาน้ำมันปาล์มขวด ซึ่งเป็นสินค้าควบคุมยังจำหน่ายอยู่ที่ขวดละ 55-60 บาทนั้น เป็นเพราะกรมการค้าภายในยังไม่อนุญาตให้ขึ้นราคา ประกอบกับขอให้โรงงานน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ “ตรึงราคา” จำหน่ายต่อไป ทั้ง ๆ ที่ “ต้นทุน” น้ำมันปาล์มดิบขึ้นไปหมดแล้ว

ยอดไบโอ B100 พุ่ง

นายมนัส พุทธรัตน์ ประธานสมาพันธ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ราคารับซื้อผลปาล์มทะลายในขณะนี้ปรับขึ้นไปถึง กก.ละ 11 บาทแล้ว โดยในบางที่อาจจะสูงกว่านั้น เช่น จ.สุราษฎร์ธานีไปถึง กก.ละ 11.70-11.80 บาท หรือสูงสุดในรอบ 10 ปี

ส่วนราคาน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ปรับขึ้นไปเป็น กก.ละ 55-56 บาท เนื่องจากผลปาล์มรอบใหม่จะเริ่มออกช้ากว่าปกติเล็กน้อย โดยจะเริ่มออกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ประมาณ 20-30% จากนั้นจะทยอยเพิ่มเป็น 40-50% ในเดือนมีนาคมและคาดว่าจะเก็บผลผลิตสิ้นสุดในเดือนมิถุนายน

“สาเหตุที่ราคาปรับขึ้นเพราะปีนี้ผลผลิตออกล่าช้ากว่าปกติ จากตอนแรกที่กังวลว่าช่วงนี้ราคาจะลดลงเพราะช่วง ก.พ.-มี.ค.จะมีปัญหาราคาผลปาล์มตกทุกปี ทำให้รัฐบาลเร่งส่งออกน้ำมันปาล์มดิบออกไปนอกประเทศ แต่พอเปิดประเทศหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันไบโอดีเซล (B100) เพิ่มขึ้นจากปกติ 60,000-70,000 ตันขึ้นไปเป็น 80,000-100,000 ตัน

โดยในส่วนของราคา B100 นั้น เบื้องต้นปรับไปตามสูตรที่กรมการค้าภายในกำหนดคือราคา CPO+3 บาท ถ้าราคา CPO กก.ละ 56+3 เท่ากับ 59 บาทราคาน้ำมันบริโภคก็จะใกล้เคียงกันคือ 59 บาทต่อขวด” นายมนัสกล่าว

สอดคล้องกับนายทิวา ปานจันทร์ นายกสมาคมลานเทปาล์มน้ำมันจังหวัดชุมพร กล่าวว่า เพิ่งขายปาล์มทะลายไปในราคา กก.ละ 11.70 บาท ถือว่าเป็นราคาสูงที่สุดในรอบ 6-7 ปีเลยทีเดียว สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากปาล์มขาดคอ หรือผลผลิตออกน้อยด้วย

รัฐพลาดเร่งส่งออกน้ำมันปาล์ม

ด้านแหล่งข่าวจากโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มใน จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ราคารับซื้อผลปาล์ม กก.ละ 11.70-11.80 บาท หรือคิดเป็นราคาน้ำมันปาล์มดิบ CPO 56.25 บาท “ถือว่าปรับตัวขึ้นสูงมากในรอบหลายปี แต่ราคาผลปาล์มเคยขึ้นไปสูงถึง กก.ละ 12 บาท ส่วนแนวโน้มปีนี้ยังคาดการณ์ได้ยากเพราะผลผลิตปาล์มรอบใหม่ (ปี 2565/2566) จะออกช่วงปลายเดือน ก.พ.-มี.ค. ซึ่งมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นจากปกติที่ปลูก 6 ล้านไร่ คาดการณ์ 16-17 ล้านตัน

“โรงสกัดน้ำมันปาล์มดิบซึ่งมีอยู่นับ 100 แห่ง ต่างไม่กล้าเก็บสต๊อก เมื่อซื้อมาก็รีบผลิตและขายให้หมดเพราะมีความเสี่ยง ถ้าซื้อมาราคาสูงไม่รีบขายแล้วราคาลงอาจจะขาดทุน” แหล่งข่าวกล่าว

ตอนนี้ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากราคาน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ปรับตัวขึ้นสูงมากนั้นต้องมองก่อนว่า ราคาพืชน้ำมันในตลาดโลกปรับขึ้นทุกตัว ขณะที่สต๊อกน้ำมันปาล์มดิบของไทยก็ปรับลดลงไปเยอะ (สิ้นเดือนธันวาคมสต๊อก 161,092 ตัน) อันเป็นผลมาจากการบริหารจัดการสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบที่มีก่อนหน้านี้มีถึง 300,000 ตัน จนรัฐบาลกลัวว่า จะทำให้ราคาผลปาล์มทะลายลดลง

ดังนั้นรัฐบาลจึงตัดสินใจมุ่งที่จะลดสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบภายในประเทศในช่วงกลางปี 2564 ลงด้วยการ “อุดหนุน” การส่งออกน้ำมันปาล์มดิบจ่ายชดเชยให้ผู้ส่งออก กก.ละ 2 บาทแต่พอมาเปิดประเทศเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ปรากฏ ปริมาณการใช้ไบโอดีเซล (B100) ปรับขึ้นไปมาก ทะลุหลัก 100,000 ตัน ทั้งที่ตอนนี้นโยบายของกระทรวงพลังงานก็ลดการใช้ไบโอดีเซล B10 เหลือเป็น B7ไปจนถึงเดือนมีนาคมแล้วก็ตาม

ทั้งนี้ ประเทศไทยส่งออกปาล์มน้ำมันปี 2564 คิดเป็นมูลค่า 383.26 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 298.21% จากปี 2563 โดยตลาดส่งออกหลัก 5 อันดับแรก ได้แก่ มาเลเซีย 349.22 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 385.33%, อินเดีย 23.36 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 55.70%, ฟิลิปปินส์ 5.86 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 5.97%

น้ำมันขวดใกล้ทะลุ 70 บาท

แหล่งข่าวจากบริษัทผู้ผลิตน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์รายใหญ่กล่าวว่า ตอนนี้ผลปาล์มทะลายมีน้อยและอยู่ในช่วงปลายฤดู ราคาผลปาล์มจึงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา ประกอบกับมีการ “ส่งออกน้ำมันปาล์ม” มากในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 จนทำให้น้ำมันปาล์มขาดแคลนและมีราคาสูงไปอีกระยะหนึ่ง อย่างน้อย ๆ อาจจะลากยาวไปจนถึงช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคมที่จะถึงนี้

“ราคาผลปาล์มหน้าสวนขายกันที่ประมาณ 12 บาท/กก. หากจะคำนวณเป็นราคาขายปลีกน้ำมันปาล์มบรรจุขวด (1 ลิตร) ราคาจะตกอยู่ที่ประมาณขวดละ 80 บาท ซึ่งที่ผ่านมาราคาน้ำมันปาล์มในตลาดได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตอนนี้ในโมเดอร์นเทรดรายใหญ่ เช่น บิ๊กซี โลตัส แม็คโคร ราคาน้ำมันปาล์มขวดจะอยู่ที่ประมาณ 56-59 บาท/ขวด

แต่บางห้างบางสาขาก็ไม่มีสินค้าบนเชลฟ์แล้ว ขณะที่ซูเปอร์มาร์เก็ตบางแห่งราคาขยับขึ้นไปถึง 62-63 บาท/ขวดแล้ว ส่วนร้านค้าปลีกที่เป็นโชห่วยราคาอยู่ที่ 65-67 บาท และยิ่งต่างจังหวัดที่ไกล ๆ ออกไปราคาก็จะสูงกว่านี้” แหล่งข่าวกล่าว

รวมออร์เดอร์ซื้อลอตใหญ่

นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย กล่าวถึงผลกระทบจากราคาน้ำมันปาล์มที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น แต่ผู้ประกอบการร้านอาหาร-ภัตตาคารยังไม่สามารถขึ้นราคาได้ทันที แม้จะต้องแบกรับต้นทุนอื่น ๆ ถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรง ผู้ประกอบการไม่เลือกจะขึ้นราคาแน่นอน เพราะตลาดมีการแข่งขันสูง

ขณะเดียวกันก็ต้องพยายามเร่งปรับตัว เช่น การพยายามสั่งออร์เดอร์วัตถุดิบร่วมกัน เป็นการสั่งรวมกันเพื่อให้ได้ปริมาณมาก ๆ จะได้มีราคาที่ถูกลง เพื่อเป็นการลดต้นทุนทางอีกทางหนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็นการรวบรวมออร์เดอร์สินค้าจำเป็น ๆ เช่น น้ำมัน แก๊สหุงต้ม ข้าวสาร อาหารทะเล

ก่อนหน้านี้สมาคมฯพยายามจะลดภาระต้นทุนให้สมาชิกด้วยการจัดหาน้ำมันปาล์มจากซัพพลายเออร์รายย่อยและมีการสั่งซื้อเป็นลอตใหญ่ ซึ่งทำให้ต้นทุนต่อขวดลดลงมาประมาณ 10 บาท จากเดิมขวดละกว่า 50 บาท เหลือประมาณ 40 บาท อีกด้านหนึ่งก็มีการเจรจากับซัพพลายเออร์เพื่อขอ “ยืดเครดิต” จากเดิมที่ซื้อสินค้าเงินสดทั้งหมด เพื่อเป็นการช่วยเหลือและประคับประคองกันไป

ด้าน นายสุภัค หมื่นนิกร กรรมการผู้จัดการ บริษัทอีซี่ส์ อินเตอร์เนชั่นแนล แฟรนไชส์ จำกัด ผู้บริหารร้านแฮมเบอร์เกอร์ Siam Steak และไส้กรอกพรีเมี่ยมอีซี่ส์ กล่าวว่า ราคาน้ำมันปาล์มที่เพิ่มขึ้น รวมถึงวัตถุดิบอื่น ๆ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการร้านอาหารไม่สามารถควบคุมได้และต้องปรับตัวเพื่อรับมือ

สำหรับ “สยาม สะเต๊ค” เบื้องต้นได้มีการปรับตัว เช่น บางเมนูที่ต้องใช้กระบวนการทอดก็ต้องบริหารต้นทุนหรืออาจจะปรับราคาขายปลีก หันมาบริหารจัดการ สร้างแบรนด์แวลู่ให้มันแข็งแรง ควบคู่กับการพัฒนาโปรดักต์ใหม่ ๆ ให้ลูกค้ารู้สึกคุ้มค่าที่จะจ่าย พร้อมกับวิธีการบริหาร ลดปริมาณเนื้อสัตว์ที่จะเอาไปทอดลง หรือแม้บางอย่างต้องมีเทคนิคในการแยกน้ำมันให้ได้มากขึ้น