กรมเจรจาฯเฟ้นหาน้ำผึ้ง โกโก้ช้างเผือก เล็งใช้ FTA เจาะต่างประเทศ

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ลงพื้นที่จังหวัดเชียงราย ถกผู้ประกอบการน้ำผึ้งและโกโก้ ยกระดับสินค้า เจาะตลาดต่างประเทศด้วย FTA พร้อมแนะวิธีใช้ FTA ช่วยขยายส่งออก

วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2565 นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ลงพื้นที่อำเภอป่าแดด จังหวัดเชียงราย เพื่อเยี่ยมชมการผลิตน้ำผึ้งของวิสาหกิจชุมชนสมายล์ บี โดยพบว่าป่าแดดเป็นอำเภอที่มีการเลี้ยงผึ้งกันมาอย่างยาวนานหลายครอบครัว ในช่วงเริ่มเลี้ยงใหม่ ๆ เป็นการเลี้ยงเพื่อจำหน่ายน้ำผึ้งให้กับผู้สนใจนำไปบรรจุขวดและขายต่อ ไม่ได้ขายให้กับผู้บริโภคโดยตรง จึงทำให้ขาดอำนาจการต่อรองราคา

ต่อมากลุ่มผู้เลี้ยงผึ้งจึงได้รวมตัวกันก่อตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสมายล์ บี เพื่อนำน้ำผึ้งมาบรรจุขวด ตรวจสอบคุณภาพ และจัดจำหน่ายถึงมือผู้บริโภคโดยตรงเอง ทำให้สามารถกำหนดราคาจำหน่ายได้ตามต้องการมากขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้น

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนสมายล์ บี สนใจขยายตลาดไปต่างประเทศ โดยเฉพาะไปยังกลุ่มผู้รักสุขภาพในจีนและสิงคโปร์ ซึ่งเป็นตลาดพรีเมี่ยม จึงได้แนะนำให้พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐาน เช่น มาตรฐานการผลิตอาหาร GMP (Good Manufacturing Practice) และการรับรองมาตรฐานฟาร์ม GAP (Good Agricultural Practice) เป็นต้น เพื่อเพิ่มโอกาสในการส่งออก

นอกจากนี้ ยังได้แนะนำให้ใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่ไทยทำกับคู่ค้า เนื่องจากปัจจุบัน 14 ประเทศที่ไทยมี FTA ด้วย ได้แก่ อาเซียน จีน ฮ่องกง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และชิลี ได้ยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรกับน้ำผึ้งธรรมชาติที่ส่งออกจากไทยแล้ว ยังเหลืออีก 4 ประเทศคู่ FTA คือ อินเดีย ที่ยังเก็บภาษีนำเข้าน้ำผึ้ง อัตราร้อยละ 60 ญี่ปุ่น อัตราร้อยละ 25.5 เกาหลีใต้ อัตราร้อยละ 194.4 และเปรู อัตราร้อยละ 6

ปัจจุบันไทยเป็นผู้ส่งออกน้ำผึ้งอันดับ 2 ของอาเซียน รองจากเวียดนาม และเป็นอันดับที่ 14 ของโลก ในปี 2564 ไทยส่งออกน้ำผึ้งสู่ตลาดโลก 10,315 ตัน คิดเป็นมูลค่า 22.48 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 25 จากปี 2563 ตลาดส่งออกสำคัญในอาเซียน อาทิ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ เป็นสัดส่วนร้อยละ 29 ของการส่งออกไปโลก รองลงมา คือ จีนไทเป สหรัฐอเมริกา จีน และซาอุดีอาระเบีย

นอกจากนี้ ยังได้เยี่ยมบริษัทโกโก้แลนด์ คอร์ปอร์เรชั่น ที่นำผลโกโก้สดและผลโกโก้แห้งมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์โกโก้หลากหลายชนิด มีมาตรฐาน และรสชาติดี จนเป็นที่ยอมรับและรู้จักของผู้บริโภค จากการหารือพบว่า บริษัทมีแผนที่จะส่งออกผลิตภัณฑ์ไปต่างประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการบริโภคผลิตภัณฑ์จากโกโก้ที่เพิ่มขึ้นทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ จากการเติบโตของห้างสรรพสินค้า ร้านคาเฟ่และขนม ความใส่ใจเรื่องสุขภาพ

จึงเป็นความท้าทายของไทยที่จะผลักดันให้ผลิตภัณฑ์โกโก้ไทยมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก และผลิตได้ในปริมาณที่เพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภค เพื่อให้โกโก้เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญอีกชนิดของไทย ที่จะช่วยสร้างรายได้ที่ยั่งยืนแก่เกษตรกร

ทั้งนี้ ไทยมีความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่ช่วยสร้างแต้มต่อในตลาดสำคัญ เนื่องจากปัจจุบัน 14 ประเทศคู่ FTA ได้แก่ อาเซียน จีน ฮ่องกง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และชิลี ได้ยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้าโกโก้และของปรุงแต่งจากโกโก้ที่ส่งออกจากไทยแล้ว ยังเหลืออีก 4 ประเทศ คือ อินเดียเก็บภาษีสินค้าขนมและอาหารปรุงแต่งที่ทำจากโกโก้ อัตราร้อยละ 30 ญี่ปุ่น อัตราร้อยละ 1-29.8 เกาหลีใต้ อัตราร้อยละ 5 และเปรู อัตราร้อยละ 6-11

ในปี 2564 ไทยส่งออกโกโก้และของปรุงแต่งจากโกโก้สู่ตลาดโลก มูลค่า 42.22 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีตลาดส่งออกสำคัญ อาทิ ญี่ปุ่น มูลค่า 14.93 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อาเซียน มูลค่า 14.73 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ตลาดส่งออกหลัก คือ เมียนมา สปป.ลาว และมาเลเซีย) และจีน มูลค่า 5.27 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น ช็อกโกแลต และอาหารปรุงแต่งอื่นๆ ที่มีโกโก้ ผงโกโก้ที่ไม่เติมน้ำตาลหรือสารทำให้หวานอื่น เป็นต้น