บ้านปู ทุ่มงบเฉียด 500 ล้านบาท ขยายพอร์ตรุกธุรกิจเทคโนโลยีพลังงานในเวียดนาม

บ้านปู

บ้านปู ทุ่ม 500 ล้านบาท เร่งขยายพอร์ตพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลุยลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีพลังงานในประเทศเวียดนาม ให้บริการแพลตฟอร์มโซลาร์รูฟท็อปแบบครบวงจร คาดว่าปิดดีลใน Q2 ปี 2565 ตั้งเป้า EBITDA จากธุรกิจพลังงานที่สะอาด เทคโนโลยีพลังงานมากกว่า 50% ในปี 2568

วันที่ 4 มีนาคม 2565 นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บ้านปูอยู่ระหว่างการลงทุนเพื่อเข้าถือหุ้น Solar Esco Joint Stock Company บริษัทด้านพลังงานหมุนเวียนชั้นนำของเวียดนาม Solar Esco ด้วยมูลค่าการลงทุน 14.5 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 466 ล้านบาท) โดยคาดว่ากระบวนการซื้อขายจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส2 ของปี 2565

การลงทุนครั้งนี้ เป็นการต่อยอดธุรกิจเทคโนโลยีพลังงานและขยายแพลต์ฟอร์มพลังงานฉลาดของบ้านปู เพื่อเสริมสร้างธุรกิจโซลาร์รูฟท็อปในการขยายตลาดและฐานลูกค้าในต่างประเทศ ซึ่งตลอดช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา บ้านปูได้เข้าลงทุนพอร์ตพลังงานสะอาดในเวียดนามอย่างต่อเนื่อง โดยมีกำลังการผลิตรวม 218 เมกะวัตต์ แล้ว”

ทั้งนี้ Solar Esco Joint Stock Company เป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์มโซลาร์รูฟท็อปแบบครบวงจร ซึ่งครอบคลุมทั้งการวางแผน การพัฒนา ตลอดจนให้บริการแบบ EPC (Engineering, Procurement and Construction) ตั้งแต่การออกแบบ ก่อสร้าง และติดตั้ง รวมถึงการให้บริการ O&M เดินระบบและดูแลบำรุงรักษาโซลาร์เซลล์ ด้วยประสบการณ์ 15 ปี ในการให้บริการและทำงานร่วมกับกลุ่มพันธมิตรที่หลากหลายทั่วประเทศ ทั้งศูนย์การค้า โรงงานและนิคมอุตสาหกรรม และคลังสินค้า โดยปัจจุบันมีกำลังการผลิตรวม 20.4 เมกะวัตต์ และมีกำลังการผลิตที่อยู่ในแผนอีก 106 เมกะวัตต์

“ครั้งนี้ถือว่า เป็นการลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีพลังงานในเวียดนามเป็นครั้งแรก โดยเฉพาะแพลตฟอร์มโซลาร์รูฟท็อปแบบครบวงจร ส่งผลให้เกิดการประสานพลังระหว่างบ้านปู และ Solar Esco เพื่อส่งเสริมจุดแข็งและต่อยอดธุรกิจซึ่งกันและกัน รวมทั้งการแลกเปลี่ยนความรู้และความเชี่ยวชาญระหว่างกัน ซึ่งเป็นการต่อยอดกลยุทธ์ Greener & Smarter และเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบนิเวศด้านพลังงานของบ้านปู (Banpu Ecosystem) ให้ครบวงจรยิ่งขึ้น และยังสามารถสร้างกระแสเงินสดได้ทันที”

นอกจากนั้น การสร้างพันธมิตรในครั้งนี้ยังส่งผลให้ดีต่อโอกาสใหม่ ๆ ในการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องในอนาคต เช่น การผลิตแผงโซลาร์ ระบบไมโครกริดบนเกาะ กังหันลมขนาดเล็ก และโซลูชันสมาร์ทโฮม เป็นต้น

Advertisment

“การขยายการลงทุนในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เป็นสิ่งที่เราดำเนินการควบคู่ไปกับแผนการสร้าง New S-Curve เพื่อบรรลุเป้าหมายกำลังการผลิตจากธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า 6,100 เมกะวัตต์ และสัดส่วน EBITDA จากกลุ่มธุรกิจพลังงานที่สะอาดขึ้นและเทคโนโลยีพลังงานมากกว่าร้อยละ 50 ในปี 2568 ตอกย้ำจุดยืนที่ต้องการส่งมอบอนาคตพลังงานเพื่อความยั่งยืน” นางสมฤดี กล่าว