เศรษฐกิจไทยติดกับดักน้ำมันแพง ปล่อยขึ้นค่าไฟ-ก๊าซหุงต้ม

น้ำมัน-ค่าไฟ ค่าแก๊ส แพง

 

กระทรวงพลังงานยกทีมแถลงแผนรับมือวิกฤตน้ำมันแพงสูงสุดในรอบ 14 ปี สั่งสำรองน้ำมันเพิ่ม 1% มูลค่า 2.4 หมื่นล้าน “สุพัฒนพงษ์” โยนลูกสภาพัฒน์คิดมาตรการอุ้มประชาชนฝ่าวิกฤต แนะชาวบ้าน “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” รับอั้นไม่อยู่ ปล่อย “ขึ้นค่าไฟ-ก๊าซหุงต้ม” “หอการค้า” หวั่นกระทบเงินเฟ้อพุ่ง KKP ชี้วิกฤตรัสเซีย-ยูเครน ฉุดเศรษฐกิจไทยติดกับดัก

ฝุ่นตลบวิกฤตพลังงานไทย รุนแรงมากขึ้นหลังสงครามรัสเซีย-ยูเครนยืดเยื้อเกือบ 2 สัปดาห์ มากจนสร้างความกดดันราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส ส่งมอบเดือนเมษายน 2565 ปรับขึ้นไปแตะที่ 125.87 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ถือเป็นการปรับตัวขึ้นสูงสุด รอบ 14 ปี นับตั้งแต่ช่วงกลางปี 2551 ไม่เพียงเท่านั้น สถานการณ์ราคาก๊าซธรรมชาติที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตไฟฟ้ายังปรับสูงสุดเป็นประวัติการณ์

พลังงาน

เป็นเหตุผลให้ที่ประชุมคณะกรรมการพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน เมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2565 ที่ผ่านมา มีมติปรับสูตรการใช้น้ำมันแทนการใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้า โดยกระทรวงการคลังเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาลดภาษีสรรพสามิตดีเซลลงเพื่อบรรเทาภาระต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยหวังว่าจะมีผลทำให้ “ค่าไฟฟ้าผันแปร” หรือ Ft งวดที่ 2 เดือน พ.ค.-ส.ค.ปรับลดลง จากเดิมที่คิดโมเดลไว้ว่าจะปรับสูงค่าไฟฟ้าแบบขั้นบันได 3 รอบ รอบละ 16 สตางค์

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของราคาขายปลีกน้ำมันแม้ว่าภาครัฐจะมีนโยบายชัดเจนที่จะตรึงราคาดีเซลไว้ที่ลิตรละ 30 บาท เพราะเป็นน้ำมันที่มีปริมาณการใช้คิดเป็น 70% ของการใช้น้ำมันทั้งหมด แต่ทว่ารัฐบาลยังไม่มีมาตรการช่วยเหลือประชาชนคนชั้นกลางที่ใช้น้ำมันเบนซินที่คิดเป็นสัดส่วน 20% ซึ่งทางกระทรวงพลังงานได้เข้าหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยงข้องหลายครั้ง เพื่อคำนวณโซลูชั่นที่เหมาะสมในการแก้ปัญหา เช่นเดียวกับราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ที่รัฐบาลตรึงราคาไว้ที่ 318 บาทต่อถังขนาด 15 กก. ก็จะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 มี.ค. 2565 ในวันเดียวกับมาตรการปรับสูตรการผลิตน้ำมันดีเซลที่มีส่วนผสมของไบโอดีเซล (B100) จากบี 7 เหลือบี 5 ก็ยังไร้ข้อสรุป

ขณะที่ระเบิดเวลาของพลังงานคือ “สภาพคล่องกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง” ที่จะแบกรับภาระการตรึงราคาไว้ได้เพียง 2 เดือนเท่านั้น แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนเรื่อง “การกู้เงิน” เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กองทุนตามที่ ครม.มีมติให้สามารถกู้ได้ถึง 30,000 ล้านบาท ซึ่งทางกระทรวงพลังงานอาจจะต้องเสนอขยายกรอบเงินกู้ให้ถึง 40,000 ล้านบาท

พลังงาน “ไร้ข้อสรุป”

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงสถานการณ์พลังงานในประเทศว่า รัฐพยายามช่วยเหลือค่าครองชีพด้วยการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาท/ลิตร หลังจากเกิดความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลกระทบให้ราคาพลังงานโลกสูงขึ้นทุกชนิด ราคาขายปลีกในประเทศไม่ว่าจะเป็น น้ำมันสำเร็จรูปอย่างเบนซินและดีเซลที่ปรับขึ้นสูงที่สุดในรอบ 14 ปี ซึ่งรัฐก็ยังคงตรึงราคาดีเซลต่อไป

โดยกองทุนน้ำมันฯปัจจุบันมีกระแสเงินสด 20,000 ล้านบาท อยู่ระหว่างกระบวนการขอกู้จากสถาบันการเงิน 10,000 ล้านบาท ส่วน 40,000 ล้านบาทต่อไปนั้นจะสามารถตรึงราคายาวกี่เดือนก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และวงเงินที่มี

หลังจากนี้ กระทรวงพลังงาน และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะหารือร่วมกันเพื่อหามาตรการเสริมเพิ่มเติมหากราคาน้ำมันยังผันผวนมาก และยังคงยืดเยื้อต่อไปอีกตามมติที่ กพช.ได้มอบหมาย

ซึ่งซีนาริโอการดูแลจะเป็นอย่างไรอยู่ที่สภาพัฒน์ แต่เราคาดการณ์ไว้ว่าหากสถานการณ์น้ำมัน 115 เหรียญ/บาร์เรล จะพยุงไปได้ถึงเดือน พ.ค.นี้ หากราคามันขึ้นมากกว่านี้ค่อยมาดูกันว่าจะมีมาตรการอะไรมาช่วยเสริมได้อีก

“สำหรับสถานะการเงินของกองทุนน้ำมันฯ ปัจจุบันติดลบ 23,000 ล้านบาท เหลือวงเงินใช้ 17,000 ล้านบาท ส่วนเรื่องการสำรองน้ำมันที่จะปรับขึ้น 1% ใช้งบประมาณ 24,000 ล้านบาท จะมีผลต่อราคาน้ำมันขึ้นอีก 60 สตางค์ ที่ต้องเก็บจากผู้เติมน้ำมัน”

ต่อประเด็นคำถามที่ว่า หากเงิน 40,000 ล้านบาท หมดแล้วจะทำอย่างไรต่อไป นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า ก็ต้องรอ ระหว่างนี้ต้องประหยัด และอยู่ในสภาพนี้ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน รัฐบาลจะพยายามตรึงภายใต้กรอบวงเงินที่มีอยู่ ถ้าทุกคนประหยัดก็ตรึงได้นาน ถ้าราคาลดลงปกติ ยิ่งตรึงได้นานขึ้นอีก ถ้าราคาน้ำมันดิบลดลงก็ไม่จำเป็น แต่ถ้าราคาสูงขึ้น 170 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ก็ต้องมีมาตรการอื่นดูแล เป็นธรรมชาติในเหตุการณ์ที่ผันผวน จะเอาคำตอบเป๊ะ กลับบ้านไปนอนหลับสบาย ผมคิดว่าไม่ได้เป็นลักษณะบริหารจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความผันผวน สื่อมวลชนต้องทำความเข้าใจ

“ส่วนของราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) นั้น เตรียมปรับราคาขึ้นอีก 15 บาท/ถังขนาด 15 กก. จากราคา 318 บาท เป็น 333 บาท/15 กก. ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2565 ราคาค่าไฟฟ้าจะมีการปรับขึ้นเป็นขั้นบันไดในงวดเดือน พ.ค. 2565 แต่จะไม่ให้เกินกรอบ 16 สตางค์ สำหรับผู้ที่ใช้ไม่เกิน 300 หน่วย หรือ 1,200 บาท จะยังคงใช้อัตราค่าไฟเดิม คาดว่าจะเป็นมาตรการช่วยเหลือที่กำลังพิจารณาอยู่ในขณะนี้ เช่นเดียวกันกับกลุ่มเปราะบางอย่างรถจักรยานยนต์ 21 ล้านคัน ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 13.5 ล้านคน ที่กำลังพิจารณาช่วยเหลือ”

น้ำมันดิบ

กางแผนสำรองน้ำมัน

นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าวว่า กรมธุรกิจพลังงานเตรียมมาตรการรองรับเหตุวิกฤต supply disruption โดยประสานไปยังโรงกลั่นทุกแห่ง ได้รับการยืนยันว่ายังคงสามารถจัดหาน้ำมันดิบได้ตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้า 2 เดือน สำหรับความต้องการใช้น้ำมันดิบเฉลี่ยอยู่ที่ 123.25 ล้านลิตร/วัน และน้ำมันสำเร็จรูปเฉลี่ยอยู่ที่ 119.88 ล้านลิตร/วัน

และเตรียมมาตรการรองรับวิกฤตพลังงาน ประสานผู้ค้าน้ำมันเตรียมประกาศเพิ่มอัตราสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงตามกฎหมาย น้ำมันดิบจากร้อยละ 4 เป็นร้อยละ 5 และน้ำมันสำเร็จรูปจากร้อยละ 1 เป็นร้อยละ 2 ตามลำดับ ซึ่งจะช่วยให้มีปริมาณน้ำมันสำรองเพิ่มขึ้นอีก 7-9 วัน จาก 61 วันเป็นประมาณ 70 วัน เพื่อสร้างความมั่นใจว่าจะสามารถรักษาเสถียรภาพพลังงานได้ โดยไม่กระทบกับการดำรงชีวิตของประชาชน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นจากผู้ค้าน้ำมัน คาดว่าจะมีข้อสรุปภายใน 1 สัปดาห์ ซึ่งยอมรับว่าการเพิ่มปริมาณสำรองน้ำมันทุก 1% ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศเพิ่มขึ้น 60 สตางค์/ลิตร

ส่วนการนำเข้าน้ำมันดิบของประเทศไทยได้เริ่มกระจายแหล่งการนำเข้าน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางให้มีความหลากหลายตั้งแต่ปี 2557 (จากร้อยละ 70 ลดลงเป็นร้อยละ 57) เพื่อลดความเสี่ยงของการจัดหาน้ำมันดิบ

ปัจจุบันมีปริมาณน้ำมันดิบคงเหลือ (รวมที่อยู่ระหว่างการขนส่ง) อยู่ที่ 5,686.44 ล้านลิตร และมีปริมาณน้ำมันสำเร็จรูปคงเหลืออยู่ที่ 1,703.61 ล้านลิตร ซึ่งเพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำมันของประเทศได้ถึง 61 วัน นอกจากนี้ บมจ.ปตท. ช่วยเพิ่มปริมาณน้ำมันสำรองเป็น 66 วัน ส่งผลให้ประเทศมีน้ำมันใช้เพียงพอไม่ขาดแคลน

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เปิดเผยว่า ปตท.ได้รับอนุมัติให้ส่งเสริมความมั่นคงน้ำมันสำรองเพิ่มเติม ให้นำเข้าน้ำมันสำรองประมาณ 635.94 ล้านลิตร โดยขอรับเติมน้ำมันทุกเที่ยวเรือ และมีการปรับการซื้อ-ขายระหว่างประเทศจากเดิมที่ขายไปยังปลายทาง มาเปลี่ยนเป็นนำเข้าน้ำมันเข้าประเทศ เพื่อสร้างความมั่นใจในช่วงวิกฤตพลังงาน

“ส่วนการจำหน่ายปลีกโดยรวมทั้งเบนซินและดีเซล ตอนนี้ ปตท.จำหน่ายต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานมากอย่าง เบนซิน 2 บาทกว่า ส่วนดีเซลติดลบ”

เปิดเสรีนำเข้าก๊าซ-ค่าไฟปรับแน่

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ( สำนักงาน กกพ.) และในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า กกพ.ยอมรับว่ามีความจำเป็นที่ต้องมีการปรับขั้นค่าเอฟที งวดเดือน พ.ค.-ส.ค. 2565 ตามต้นทุนก๊าซธรรมชาติที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าที่สูงขึ้น และแม้ว่าจะปรับมาใช้น้ำมันแทน และมีการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันสำหรับผลิตไฟฟ้าแล้ว แต่หากราคา “เกินกว่าสมมติฐาน” ที่ประมาณการน้ำมันดิบไว้ 100 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล สะท้อนต้นทุนจริงที่เพิ่มขึ้นไปเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ว่าจะทยอยปรับขึ้นแบบขั้นบันได 16.71 สตางค์/หน่วย ซึ่งจากนี้อาจต้องหามาตรการต่าง ๆ เข้ามาช่วยเพิ่ม

“มาตรการแก้ไขจะต้องปรับโครงสร้างการนำเข้าแก๊สอย่างเสรี เข้ามาโดยตรงมากขึ้น เปิดการนำเข้ารายใหม่ แต่ทั้งนี้อยู่ระหว่างหาแนวทาง”

หวั่นพลังงานกระทบเงินเฟ้อ

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า วันนี้ที่กระทรวงพลังงานประกาศตรึงราคา ดีเซล 30 บาทต่อลิตร โดยการขยายวงเงินกองทุนจาก 30,000 ล้านบาท เป็น 40,000 ล้านบาทนั้น น่าจะช่วยบรรเทาปัญหาได้ระดับหนึ่ง ซึ่งตอนนี้สถานการณ์ก็ไม่แน่นอน หากสถานการณ์ยืดเยื้อไปนานกว่า 3 เดือน กองทุนนี้คงไม่พอ โดยภาคเอกชนก็พร้อมจะไปหาทางออกร่วมกับภาครัฐ สำหรับมาตรการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเพิ่มเติม

“สำหรับราคาก๊าซหุงต้มที่ปลายเดือนนี้จะมีการขึ้นราคา หลังจากที่ตรึงไว้นานพอสมควร เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะที่ผ่านมา รัฐบาลตรึงราคาส่วนนี้มานานแล้ว ซึ่งเรื่องนี้จะกระทบกับภาคครัวเรือนและภาคประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ทั้งนี้มองว่าเป็นการขึ้นราคาในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสมเท่าไรนัก เพราะเรากำลังอยู่ในสถานการณ์เงินเฟ้อสูง ต้นทุนต่าง ๆ ก็ขยับตัวสูงขึ้น หากชะลอออกไปได้อีกระยะก็จะช่วยลดผลกระทบในระยะสั้นนี้ได้ เพราะการขึ้นราคาก๊าซหุงต้มนี้จะไปกระทบกับราคาอาหารปรุงสุก หรือร้านอาหารตามสั่ง ซึ่งเวลาราคาอาหารขึ้นจะเป็นจำนวนเงินที่มากกว่าราคาก๊าซ แปลว่าจะกระทบกับประชาชนจำนวนมาก ซ้ำเติมค่าครองชีพที่สูงอยู่แล้ว”

แนะรัฐขยายเพดานกู้ 70%

อย่างไรก็ตาม หากภาครัฐจำเป็นต้องนำเข้าน้ำมันดิบมาสำรองสต๊อกมากขึ้น จากที่ปกติมีปริมาณน้ำมันดิบในประเทศไทย 55% นำเข้าจากตะวันออกกลาง มาจากรัสเซียเพื่อกลั่นเพียง 5.22 ล้านลิตร/วัน หรือ 3% ของปริมาณนำเข้าทั้งหมด โดยข้อมูลจากกระทรวงพลังงานระบุว่า ขณะนี้ไทยมีปริมาณสำรองน้ำมันดิบประมาณ 3,200 ล้านลิตร และยังมีน้ำมันดิบที่อยู่ระหว่างขนส่ง รวมทั้งน้ำมันสำเร็จรูปอีกพอสมควร ทำให้มีน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองใช้ได้กว่า 2 เดือน ดังนั้นการนำเข้าน้ำมันดิบมาสต๊อกเพิ่มจึงควรพิจารณาต้นทุนให้รอบคอบ การใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐในช่วงนี้ควรใช้จ่ายเท่าที่จำเป็นไปก่อน เพราะยังมีอีกหลายเรื่องที่จำเป็นต้องใช้งบประมาณเพื่อพยุงเศรษฐกิจของประเทศ

“เรื่องเพิ่มเพดานเงินกู้ของภาครัฐจาก 60% เป็น 70% เพื่อนำมากระตุ้นเศรษฐกิจและบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ COVID นั้น แม้ว่าจะนำมาใช้เรื่องพยุงราคาพลังงานโดยตรงไม่ได้ แต่ภาครัฐก็สามารถนำมาช่วยประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจภาพรวมได้ ซึ่งทางภาคเอกชนก็อยากให้ภาครัฐเร่งนำเรื่องนี้ผ่านสภา เพราะตอนนี้ประเทศไทยก็มีทุนสำรองระหว่างประเทศเยอะพอสมควร ซึ่งส่วนนี้จะช่วยภาคประชาชนให้ไม่เจอกับแรงกระแทกทางเศรษฐกิจ จากราคาพลังงานและสินค้าแพงในช่วงนี้”

ส่องผลกระทบเศรษฐกิจไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) ออกรายงาน ็ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนกับผลกระทบต่อเศรษฐกิจิ ประเมินความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนกำลังกลายเป็นความเสี่ยงใหญ่ของเศรษฐกิจโลกและไทย มีแนวโน้มทำให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อจะเร่งตัวขึ้นแรงที่สุดในรอบมากกว่า 10 ปี

โดยผลกระทบจากสงครามจะกระทบเศรษฐกิจไทยใน 3 ช่องทางหลัก คือ “การส่งออก” ของไทยอาจขยายตัวได้น้อยกว่าที่ประเมินไว้ ผลกระทบทางตรงที่ไทยจะได้รับคือผลจากการค้าระหว่างประเทศที่มีแนวโน้มชะลอลง โดยแม้ว่าสัดส่วนการส่งออกไปยังรัสเซีย-ยูเครนจะต่ำ คือรวมกันประมาณ 0.7% ของการส่งออกทั้งหมด แต่การส่งออกไปยังยุโรปที่มีสัดส่วนกว่า 10% จะได้รับผลกระทบหากเศรษฐกิจยุโรปชะลอตัว

ผลกระทบที่น่ากังวลมากที่สุดจะเกิดจากปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบจากการหยุดชะงักของการค้าระหว่างไทยกับรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลกระทบให้บางภาคการผลิตต้องหยุดกิจการ โดยกลุ่มสินค้านำเข้าหลัก ได้แก่ ปุ๋ยเคมี และธัญพืช

เงินเฟ้อพุ่ง 4% ใช้จ่ายชะลอตัว

“อัตราเงินเฟ้อ” ปี 2022 อาจปรับตัวสูงขึ้นเกิน 4% ตามราคาน้ำมันดิบโลก โดย KKP Research ประเมินว่าราคาน้ำมันดิบในช่วงที่เหลือของปีจะสูงขึ้นเกิน 110 ดอลลาร์สหรัฐ บนสมมุติฐานว่าประเทศตะวันตกจะมีการลดการนำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์จากรัสเซียลงบางส่วน ซึ่งจะส่งผลให้ราคาน้ำมันเฉลี่ยทั้งปีสูงเกิน 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จากที่เคยคาดไว้ที่ 85 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และคาดว่ายังมีโอกาสที่ราคาน้ำมันเฉลี่ยจะสูงเกิน 130 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในสถานการณ์ที่สงครามมีความรุนแรงและยืดเยื้อกว่าคาด

โดยเมื่อนับรวมกับปัญหาราคาอาหารสดและอาหารนอกบ้านที่แพงขึ้นก่อนหน้านี้ จะทำให้เงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2022 ของไทยสูงขึ้นเกิน 4% สูงที่สุดตั้งแต่ปี 2008 หรือสูงที่สุดในรอบ 14 ปี และจะส่งผลกลับมากระทบการบริโภคให้ชะลอตัวลง

และ “นักท่องเที่ยว” อาจเดินทางมาน้อยกว่าที่ประเมินไว้ จากนักท่องเที่ยวรัสเซียที่จะเดินทางมาได้น้อยลง โดยต้นปี 2022 ที่ผ่านมานักท่องเที่ยวรัสเซียเป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาไทยมากที่สุดคิดเป็นเกือบ 10% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด และราคาน้ำมันที่สูงขึ้นจะเพิ่มต้นทุนการเดินทางระหว่างประเทศ และทำให้อุปสงค์ต่อการท่องเที่ยวลดลง

เศรษฐกิจไทย Stagflation

นอกจากนี้ ผลกระทบทางอ้อมที่จะเกิดขึ้นเป็นความท้าทายสำคัญต่อนโยบายเศรษฐกิจของไทย คือ “ดุลบัญชีเดินสะพัด” ที่มีโอกาสขาดดุลอีกครั้งในปีนี้ ซึ่งเป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น และไทยนำเข้าน้ำมันในสัดส่วนสูง ประกอบกับนักท่องเที่ยวที่จะกลับมาได้น้อยกว่าที่คาดไว้จะทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดมีโอกาสขาดดุลเพิ่มเติม

แม้เศรษฐกิจโลกอาจชะลอตัวลงเล็กน้อย KKP Research ประเมินว่าธนาคารกลางสหรัฐจะยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อ ทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างไทยกับสหรัฐจะยังห่างออกจากกันมากขึ้น ซึ่งจะเป็นแรงกดดันสำคัญต่อค่าเงินบาทที่อาจผันผวนและอ่อนค่าลงได้ในระยะสั้น

KKP Research ประเมินว่าในปัจจุบันมีความเสี่ยงค่อนข้างสูงที่สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและไทยได้ เป็นอีกแรงกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่จะเข้าสู่ภาวะ stagflation อย่างชัดเจน และสร้างความท้าทายสำคัญต่อนโยบายการเงินไทยในระยะต่อไปที่ต้องดูแลทั้งเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ เสถียรภาพระบบการเงิน และอัตราแลกเปลี่ยนไปพร้อม ๆ กัน

รัสเซียไม่ส่งออกน้ำมัน 200 เหรียญ

ทั้งนี้ ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นจากสงครามในครั้งนี้จะขึ้นอยู่กับมาตรการคว่ำบาตรของประเทศตะวันตกเป็นหลัก ค่อนข้างชัดเจนว่ามาตรการคว่ำบาตรที่ประกาศใช้ในปัจจุบันไม่เพียงพอที่จะทำให้รัสเซียหยุดการรุกราน และรัสเซียยังสามารถหาช่องทางหลบเลี่ยงมาตรการคว่ำบาตรได้

KKP Research มองว่ามีความเป็นไปได้ที่ประเทศตะวันตกจะนำมาตรการคว่ำบาตรทางพลังงานมาใช้จริง แต่ทั้งนี้หากรัสเซียตัดสินใจตอบโต้มาตรการคว่ำบาตรกลับด้วยการลดอุปทานของพลังงาน นอกจากจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อราคาพลังงานในยุโรปแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานในตลาดโลกอีกด้วย เนื่องจากรัสเซียเป็นผู้ส่งออกน้ำมันดิบอันดับสองของโลก และเป็นผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติอันดับหนึ่งของโลก

โดย Bank of America ประเมินว่าทุก ๆ 1 ล้านบาร์เรลต่อวันที่หายไป อาจทำให้ราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น 20 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ดังนั้น หากน้ำมันดิบรัสเซียถูกตัดขาดจากตลาดโลกอาจทำให้ราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าจาก 100 ดอลลาร์สหรัฐ เป็น 200 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และจะส่งผลกระทบต่อทั้งเศรษฐกิจโลกและไทยอย่างมหาศาล