เปิดบทสรุป กรมการค้าภายในถกเครียด “อาหารสัตว์แพง” เปิดทางนำเข้า

‘กรมการค้าภายใน’ ถกปมร้อน ยกเว้นมาตรการซื้อข้าวโพดในประเทศ 3 ส่วน นำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน “3:1” นัดสุดท้าย 3 ชม.กล่อม เกษตรกร เปิดทาง นบขพ. ไฟเขียวนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์นอก เป็นเวลา 4 เดือน 1.5 ล้านตัน สัปดาห์หน้า ด้านเกษตรกรวอนรัฐ ตั้งเงื่อนไขโรงงานต้องซื้อข้าวโพดในประเทศราคาไม่ต่ำกว่าข้าวสาลี พร้อมตรึงราคาอาหารสัตว์-เนื้อสัตว์ช่วยประชาชน

วันที่ 2 เมษายน 2565 แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ทเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า วานนี้ (1 เมษายน 2565) นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน ได้เรียกประชุมสมาคมที่เกี่ยวข้องถึงแนวทางแก้ปัญหาวัตถุดิบอาหารสัตว์ ที่มีราคาสูงขึ้นหลังจากเกิดวิกฤติสงครามรัสเซีย-ยูเครน โดยพิจารณาแนวทางการยกเว้นมาตรการให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์ซื้อข้าวโพดในประเทศ 3ส่วนเพื่อนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน หรือ 3:1

วัฒนศักย์ เสือเอี่ยม
วัฒนศักย์ เสือเอี่ยม

ซึ่งฝ่ายโรงงานผู้ผลิตอาหารสัตว์มีนายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยเข้าร่วม ขณะที่ ฝ่ายเกษตรกรมีตัวแทนจากสมาคมชาวไร่มันสำปะหลังแห่งประเทศไทย สมาคมการค้าพืชไร่ รวมถึงตัวแทนของสภาเกษตรกร ได้ใช้เวลาในการหารือประเด็นดังกล่าวนานกว่า 3 ชั่วโมง

ข้อสรุปเบื้องต้นจะมีการนำเสนอคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ.) ซึ่งจะประชุมในสัปดาห์หน้า โดยมีนายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน พิจารณาออกประกาศยกเว้นมาตรการ 3:1 เป็นระยะเวลา4 เดือน นับตั้งแต่เดือนเมษายน ไปจนถึงเดือนกรกฎาคม 2565 เพื่อที่โรงงานอาหารสัตว์จะได้นำเข้าวัตถุดิบทั้ง ข้าวสาลี ข้าวบาเล่ย์ และอื่นๆมาชดเชยในส่วนที่ขาด 1.5 ล้านตัน ตามข้อเรียกร้องของสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ที่ได้เสนอก่อนหน้านี้

“มาตรการดังกล่าวเป็นไปตามแนวทางที่ปลัดกระทรวงพาณิชย์และปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เรียกประชุมไปเมื่อ มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา แต่สาเหตุที่ยังไม่ได้เสนอเข้า นบขพ. เพราะยังหาข้อสรุปไม่ได้ในหลายประการและมีการอภิปรายกันโดยใช้ระยะเวลานานมากถึง 3 ชั่วโมง ฝ่ายผู้ผลิตอาหารสัตว์ยืนยันว่าจำเป็นจะต้องนำเข้าวัตถุดิบนำเข้า เพราะข้าวโพดที่ซื้อทั้งประเทศบวกกับโควตานำเข้า 3:1 แล้วยังมีวัตถุดิบไม่เพียงพอต่อการใช้ ซึ่ง กรมการค้าภายในพยายามให้ยืนตามนั้นโดยระบุว่าหากเกษตรกรไม่ยอมก็จะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค 67 ล้านคนต้องซื้ออาหารสัตว์ที่แพง”

“แต่ทางเกษตรกรยืนยันว่าผู้ผลิตอาหารสัตว์สามารถที่จะปรับสูตรอาหารไป ใช้วัตถุดิบภายในประเทศทั้งมันสำปะหลัง ปลายข้าวข้าวเปลือก ซึ่งจะมาเป็นส่วนผสมด้านคาร์โบไฮเดรตแทนข้าวสาลีได้ เพราะหากปลดล็อคมาตรการ 3:1 ให้นำเข้าราคานำเข้าก็ยังสูงอยู่ดี ซึ่งประเด็นนี้มีหลักฐานทางวิชาการมีนักวิจัยที่ได้มีการทำการศึกษามาแล้ว”

ขณะที่ สมาคมการค้าพืชไร่ยังห่วงว่าหลังจากนี้จะเริ่มมีการปลูกข้าวโพดในฤดูกาลใหม่ ปี 65/66 หากมีการยกเว้นมาตรการ3:1ก็จะทำให้เกษตรกรเกิดความไม่มั่นใจและจะไม่ปลูกข้าวโพดซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางด้านวัตถุดิบของไทยในระยะยาว

ขณะที่ภาคเกษตรกรสะท้อนความกังวลว่าขณะนี้ต้นทุนภาคเกษตรเพิ่มขึ้นคิดเป็น กก.ละ 8.90-9.00 บาท โดยคำนวณจากปริมาณผลผลิต 790 กก./ไร่ ในอัตราไร่ละ 7,100 บาท จึงกังวลว่าหากมีวัตถุดิบนำเข้าจากต่างประเทศจะส่งผลให้ราคารับซื้อข้าวโพดในตลาดลดลงจนเกษตรกรขาดทุน เพราะที่ผ่านมาสถานการณ์ราคาข้าวโพดก็ตกต่ำต่อเนื่องเพิ่งจะมีกำไรในช่วงปีที่ผ่านมาเท่านั้น จึงเสนอขอให้มีเงื่อนไขว่าให้สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์รับซื้อข้าวโพดในประเทศจนถึงหน้าโรงงานในราคาไม่ต่ำกว่าข้าวสาลีด้วย

“และที่สำคัญควรมีการเสนอ ในวาระ นบขพ. ว่า หากจะมีการพิจารณายกเว้นมาตราการนำเข้า3:1ดังกล่าวจะต้องมีเงื่อนไขขอให้สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ตรึงราคาอาหารสัตว์ไม่ให้ปรับสูงขึ้น ทั้งยังต้อง ขอให้กลุ่มผู้ผลิตสินค้าปศุสัตว์ ทั้ง หมู ไก่ไ ข่ ตรึงราคาด้วยเช่นกัน เพราะหากยกเว้นมาตรการให้แล้วไม่มีการตรึงราคาก็เท่ากับประชาชนผู้บริโภค 67 ล้านคนก็จะไม่ได้รับประโยชน์”