กกร.ชี้ต้นทุนผลิตพุ่งจ่อปรับราคาสินค้า

Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP

ศก.ไทยปี’65 ระส่ำ กกร.หั่น GDP โตได้แค่ 4%-ปรับเพิ่มเป้าเงินเฟ้อ 4.5% สูงสุดรอบ 10 ปี หวั่นต้นทุนการผลิตเอกชนพุ่ง ปรับราคาสินค้ามาแน่ วอนรัฐเลิกมาตรการ Test & Go เร่งเครื่องรายได้ภาคการท่องเที่ยว

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวว่า กกร.ปรับประมาณอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ปี 2565 (ณ เม.ย. 65) เติบโต 2.5-4.0% ลดลงจากเดิมที่คาดจะขยายตัว 2.5-4.5% ขณะที่เงินเฟ้อปรับขึ้นเป็น 3.5-5.5% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ 2.0-3.0%

โดยผลจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อและยังรุนแรง ส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกมีแนวโน้มสูงขึ้น อาทิ น้ำมันดิบมีโอกาสสูงเกิน 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล สินค้าเกษตรและโลกก็ปรับสูงขึ้น ทำให้ภาคธุรกิจต้องเผชิญภาระต้นทุนที่สูงขึ้น ส่งผลต่อเนื่องไปยังระดับราคาสินค้า ซึ่งเริ่มกระทบต่อความเชื่อมั่นของทั้งผู้บริโภคและนักลงทุน

“เศรษฐกิจไทยเผชิญความเสี่ยงรอบด้าน และได้รับแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสูงที่สุดในรอบ 10 ปี โดยคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ 4.9% เป็นอัตราที่สูงที่สุดในรอบ 10 ปี ซึ่งเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นมากจะเป็นแรงกดดันต่อการฟื้นตัวของอุปสงค์และกำลังซื้อในประเทศ

อย่างไรก็ตาม หากมีการยกเลิกมาตรการ Test & Go จะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวได้มากขึ้น ช่วยสร้างรายได้ให้กับประเทศได้ในยามที่เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจอื่น ๆ มีข้อจำกัด และจะทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้เกิน 3%

นอกจากนี้ กกร.มีความเห็นว่า ในภาวะที่เศรษฐกิจยังต้องการแรงกระตุ้น ภาครัฐควรพิจารณาต่ออายุโครงการคนละครึ่ง และโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เพื่อช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 2 และ 3 ของปี 2565”

พร้อมกันนี้ กกร.มองว่าปัจจุบัน ที่เศรษฐกิจโดยรวมได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชนต้องทุ่มเททรัพยากรเพื่อฟื้นฟูธุรกิจ และปรับตัวให้อยู่รอด อีกทั้งปัจจุบันกฎหมายลำดับรอง ยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์

และควรมีเวลาให้ทุกภาคส่วนพิจารณาทำความเข้าใจพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯนี้ด้วย เสนอให้รัฐบาลพิจารณาเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ไปก่อน ประมาณ 2 ปี เพราะจะทำให้เป็นต้นทุนที่เอกชนทุกขนาดต้องแบกรับคิดเป็นมูลค่าทั้งระบบกว่า 50,000 ล้านบาท

ด้านนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์สินค้าราคาแพงมาจากหลายส่วน ทั้งราคาน้ำมันและปัจจัยการผลิตอื่นอีกด้วย อีกทั้งหากมองดูเรื่องการผลิตแล้ว หลายสินค้าก็ยังมีต้นทุนที่ใช่จากเมื่อปีที่แล้ว

และตอนต้นปี เชื่อว่าใน Q2-3 นี้ หลายสินค้าคงต้องมีการปรับราคาเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งก็ต้องดูว่าจะสามารถตรึงราคาได้นานขนาดไหน ซึ่งส่วนนี้คงไปฝืนกลไกตลาดมากไม่ได้

“กรณีที่ค่าเอฟทีจะต้องทยอยปรับขึ้นแบบขั้นบันไดไปจนถึงสิ้นปี’65 ภาคเอกชนได้ปรับแผนในส่วนนี้ มีผู้ประกอบการหลายรายปรับลดขนาด หรือเพิ่มราคาสินค้า ตามกลไกตลาดไปแล้ว แต่ที่ทางหอการค้าได้ขอความร่วมมือไปยังสมาชิกและผู้ประกอบการ เพื่อบรรเทาภาระให้ประชาชน คือพยายามไม่ผลักภาระไปผู้บริโภคทั้งหมด ในส่วนของผู้ประกอบการเอง การวางแผนการผลิต การบริหารจัดการความเสี่ยง ก็เป็นสิ่งที่ต้องเร่งเตรียมการในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนขณะนี้”

ด้าน นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค.ได้ปรับประมาณการเป้าหมายเงินเฟ้อทั้งปี 2565 จากเดิมอยู่ในกรอบ 0.7-2.4% ค่ากลางอยู่ที่ 1.5% ซึ่งเป็นการตั้งเป้าเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ยังไม่มีภาวะสงคราม

แต่จากปัจจัยดังกล่าว จึงปรับประมาณการใหม่อยู่ในกรอบ 4-5% ค่ากลางอยู่ที่ 4.5% โดยมีสมมุติฐานจากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ 3.4-4.5% น้ำมันดิบดูไบ 90-110 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน 32-34 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

แต่ถ้าในระยะต่อไป สถานการณ์เปลี่ยนไปและดีขึ้น ก็จะมีการปรับคาดการณ์อีกครั้ง รวมไปถึงมาตรการของภาครัฐ การกำกับดูแลราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น การพยุงราคาพลังงาน และการอุดหนุนค่าสาธารณูปโภค รวมถึงสถานการณ์โควิด-19

ล่าสุด ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (เงินเฟ้อ) เดือนมีนาคม 2565 เท่ากับ 104.79 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 5.73% สูงสุดในรอบ 13 ปี นับจากปี 2551 และเพิ่มขึ้น 0.66% เมื่อเทียบจากเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อไตรมาสแรกของปีนี้ (ม.ค.-มี.ค. 65) เฉลี่ยอยู่ที่ 4.75%

สาเหตุหลักมาจากสินค้าในกลุ่มพลังงานสูงขึ้น 32.43% โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิงสูงขึ้น 31.43% และค่ากระแสไฟฟ้าสูงขึ้น 39.95% รวมถึงสินค้าประเภทอาหาร ได้แก่ ผักสด เพิ่ม 9.96% เนื้อสัตว์ (สุกร ไก่สด) เพิ่ม 5.74% ไข่ไก่และผลิตภัณฑ์นม เพิ่ม 6.08% เครื่องประกอบอาหาร เพิ่ม 8.16%

อาหารบริโภคในบ้าน เช่น กับข้าวสำเร็จรูป ข้าวแกง ข้าวกล่อง ก๋วยเตี๋ยว เพิ่ม 6.28% และอาหารบริโภคนอกบ้าน เช่น ข้าวราดแกง อาหารตามสั่ง เพิ่ม 6.15% โดยปรับสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิตและวัตถุดิบ และยังมีสาเหตุจากฐานราคาในเดือนเดียวกันของปีก่อนอยู่ในระดับต่ำ มีส่วนทำให้เงินเฟ้อในเดือนนี้สูงขึ้น

“แนวโน้มเงินเฟ้อในเดือนเมษายน 2565 มีความเป็นไปได้ว่าเงินเฟ้อจะสูงขึ้น เพราะผลกระทบจากสถานการณ์สงครามเริ่มรุนแรงขึ้น และยังมีสงครามคู่ขนาน ที่หลายประเทศคว่ำบาตร รวมทั้งการปรับเพิ่มขึ้นของก๊าซหุงต้ม ที่ต้องจับตาดูว่าจะส่งผลกระทบมากน้อยเพียงใด และยังมีความผันผวนจากสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลก ต้นทุนสินค้าหลายรายการที่สูงขึ้น

ส่วนความกังวลที่จะเกิดสถานการณ์เศรษฐกิจถดถอย (stagflation) และอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นนั้น ต้องดูภาวะเศรษฐกิจในประเทศประกอบด้วย เพราะหากเศรษฐกิจยังขยายตัวได้ดี จากการเปิดประเทศ การมีนักท่องเที่ยวเข้ามา และการส่งออกยังเติบโต รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจมีการขับเคลื่อน และเงินเฟ้อที่สูงขึ้น มาจากต้นทุนที่สูงขึ้น กำลังซื้อยังเป็นปกติ ถือว่าไม่น่าห่วง แต่ถ้าเศรษฐกิจชะลอตัว เงินเฟ้อสูง กำลังซื้อไม่มี เป็นอีกเรื่องที่จะต้องติดตาม”