เปิด 5 ขั้นตอนขอ ePhyto ใบรับรองสุขอนามัยพืชอิเล็กทรอนิกส์ส่งออกทั่วโลก

เปิด 5 ขั้นตอนขอ ePhyto

กรมวิชาการเกษตร เปิด 5 ขั้นตอนขอ ePhyto ใบรับรองสุขอนามัยพืชอิเล็กทรอนิกส์ ดีเดย์เปิดใช้งานครอบคลุมสินค้าไปทุกประเทศ 1 ก.ค.นี้ 

เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา กรมวิชาการเกษตรร่วมกับกลุ่มพันธมิตรโลกด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า ได้เปิดตัวระบบใบรับรองสุขอนามัยพืชแบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ePhyto เพื่อนำไปสำแดงต่อประเทศผู้นำเข้าว่าสินค้าได้ผ่านการตรวจสอบรับรองด้านสุขอนามัยพืชตามเงื่อนไข

ซึ่งเป็นภารกิจที่สำคัญภารกิจหนึ่งของกรมวิชาการเกษตร เป็นการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติกักพืช และเป็นงานบริการที่สนับสนุนผู้ประกอบการส่งออก ในการตรวจสอบ โรคแมลง และศัตรูพืช ให้สอดคล้องตามเงื่อนไขของประเทศคู่ค้า และเป็นไปตามมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรการด้านสุขอนามัยพืช

หลังนำร่องเปิดใช้งานส่งออกพืช 22 ชนิดไปจีนสำเร็จ โดยระบบนี้สามารถช่วยลดงานซ้ำซ้อน ขั้นตอนการปฏิบัติงาน ตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาได้ตั้งแต่ประเทศปลายทางจนถึงเกษตรกร

ก่อนที่จะดีเดย์เปิดใช้งาน ePhyto อย่างเป็นทางการ เพื่อขยายคลุมสินค้าไปทุกประเทศในวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 “ประชาชาติธุรกิจ” ชวนทำความรู้จักระบบ ePhyto ใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์

รู้จัก ePhyto ใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ใหม่

โครงการระบบใบรับรองสุขอนามัยพืชอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Phytosanitary Certificate หรือ e-Phyto) เป็นเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ที่กรมวิชาการเกษตร ร่วมกับสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กรมศุลกากร และกลุ่มพันธมิตรโลกด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า (Global Alliance for Trade Facilitation) ผ่านองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ)

ซึ่งริเริ่มจากแนวคิดการปรับปรุงการออกใบอนุญาต ใบรับรองผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ระบบใหม่ เพื่ออำนวยความสะดวกที่เกี่ยวข้องกับทำธุรกรรมการขอใบอนุญาต ใบรับรอง เพื่อการนำเข้า ส่งออก นำผ่าน และโลจิสติกส์  ซึ่งจะทำให้ผู้ส่งออกสินค้าเกษตรสามารถขอใบรับรองสุขอนามัยพืชผ่านระบบใบรับรองสุขอนามัยพืชอิเล็กทรอนิกส์ (ePhyto) นี้

ด้วยความสะดวกและรวดเร็ว ช่วยลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการขอใบรับรองด้วยตนเอง ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการไปแล้วเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา

โดยระบบใบรับรองสุขอนามัยพืชอิเล็กทรอนิกส์ (ePhyto Certificate) ได้มีการออกแบบและพัฒนาให้สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์กับประเทศคู่ค้า ผ่านช่องทาง National Single Window : NSW ภายใต้การกำกับดูแลของกรมศุลกากรและ National Telecom โดยการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนจะแลกเปลี่ยนผ่าน ASEAN Single Windows (ASW) Gate Way

ส่วนประเทศนอกอาเซียนจะแลกเปลี่ยนผ่าน ePhyto Hub ที่อยู่ภายใต้การดูแลของสำนักเลขาธิการอนุสัญญาว่าด้วยการอารักขาพืชระหว่างประเทศ (International Plant Protection Convention : IPPC)

สินค้าใดต้องยื่นขอ

เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา กรมวิชาการเกษตรนำร่องเปิดการใช้งานระบบใบรับรองสุขอนามัยพืชอิเล็กทรอนิกส์กับการส่งออกผลไม้ 22 ชนิดไปสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้แก่ ทุเรียน มังคุด ลำไย มะพร้าวอ่อน ขนุน กล้วย สับปะรด ส้มโอ มะม่วง มะขามหวาน น้อยหน่า มะละกอ มะเฟือง ฝรั่ง เงาะ ลองกอง ละมุด เสาวรส ส้มเปลือกล่อน ส้ม ลิ้นจี่ และชมพู่

และตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป จะขยายการให้บริการออกใบรับรองสุขอนามัยพืชอิเล็กทรอนิกส์สำหรับการส่งออก “ทุกชนิดสินค้า” ไปทุกประเทศทั่วโลก

5 ขั้นตอน ยื่นคำขอออกใบรับรอง

1.ลงทะเบียน
– ลงทะเบียนผู้ประกอบการตัวแทนและผู้ส่งออกในระบบ Single Sign On (SSO) https://e-phytoexporter.doa.go.th เพื่อยืนยันตัวตนลงทะเบียน Third Party สำหรับการแจ้งตรวจงานนอกสถานที่

2.การยื่นคำขอออกใบรับรองสุขอนามัยพืช
• ผู้ประกอบการหรือตัวแทนยื่นคำขอเพื่อออกใบรับรองสุขอนามัยพืชผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์
• เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเอกสารรับคำขอและมอบหมายงานให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบสินค้า

3.การตรวจสอบสินค้าเพื่อรับรองด้านสุขอนามัยพืช
• การตรวจสอบสินค้าในสถานที่
– เจ้าหน้าที่ตรวจสอบชนิดสินค้าและปริมาณให้ตรงตามคำขอ
– เจ้าหน้าที่สร้างและส่งรายงานการตรวจสินค้าเข้าสู่ระบบ
• การตรวจสอบสินค้านอกสถานที่เช่นโรงคัดบรรจุ
– Third Party สร้างรายงานส่งให้เจ้าหน้าที่
– เจ้าหน้าที่ตรวจสอบรายงานชนิดสินค้าและปริมาณตรงตามรายงานที่ Third Party ส่งมา
– เจ้าหน้าที่ยืนยันและส่งรายงานการตรวจสินค้าเข้าสู่ระบบ

4.การออกใบรับรองสุขอนามัยพืชอิเล็กทรอนิกส์
• เจ้าหน้าที่พิจารณาแบบร่างใบรับรองสุขอนามัยพืช
• เจ้าหน้าที่พิจารณาลงนามในใบรับรองสุขอนามัยพืช

5.การเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์กับหน่วยงาน NPPO ของต่างประเทศ
• ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ของใบรับรองสุขอนามัยพืชจะถูกส่งผ่านระบบ NSW ของประเทศไทยไปยัง ASW gateway หรือ ephyto hub และเข้าสู่ระบบ NSW ของประเทศผู้นำเข้า

เพิ่มโอกาสขยายส่งออก 7.8 แสนล้านบาท

ในปี 2564 กรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการออกใบรับรองสุขอนามัยพืช จำนวน 409,279 ฉบับ คิดเป็นมูลค่าการส่งออกประมาณ 784,259 ล้านบาท

ตอกย้ำว่า การออกแบบและพัฒนาระบบใบรับรองสุขอนามัยพืชอิเล็กทรอนิกส์ของกรมวิชาการเกษตรจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการส่งออก ลดขั้นตอนในการปฏิบัติงานที่ซ้ำซ้อน แลกเปลี่ยนข้อมูลที่จำเป็นผ่านอิเล็กทรอนิกส์เพื่อลดการใช้กระดาษ และสามารถตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับได้ตั้งแต่ประเทศปลายทางจนถึงเกษตรกรผู้ผลิต