คณิศแจงปมร้อนโครงการประมูลท่อส่งน้ำภาคตะวันออก

“คณิศ” ชี้แจงข้อเท็จจริง “โครงการประมูลท่อส่งน้ำภาคตะวันออก” อยู่ในความรับผิดชอบของกรมธนารักษ์ ปัดไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการ ขั้นตอน หรือการตัดสินใด ๆ พร้อมเปิดโครงการใหญ่-เล็ก เข้ารูปแบบ PPP ทยอยขั้นตอนประมูล

วันที่ 5 พฤษภาคม 2565 นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ. หรือเลขาฯ EEC) กล่าวว่า ตามที่มีข่าวเกี่ยวกับการประมูลท่อส่งน้ำ โครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกนั้น

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ขอให้ข้อมูลและข้อเท็จจริงว่า การประมูลท่อส่งน้ำดังกล่าว เป็นการดำเนินการตามภารกิจและภายใต้อำนาจของกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ดูแลทรัพย์สินของรัฐ

ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ซึ่งมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการ ขั้นตอน หรือการตัดสินใด ๆ ต่อการประมูลโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกแต่ประการใด

ที่ผ่านมา สาระสำคัญของการคัดเลือกเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก มีดังนี้ 1.การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก (ESB) คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2535 และวันที่ 12 กันยายน 2535 อนุมัติให้การประปาส่วนภูมิภาค จัดตั้งบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (East Water) เพื่อเป็นองค์กรหลักในการรับผิดชอบการพัฒนาและดำเนินการดูแลระบบท่อส่งน้ำดิบสายหลักในพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก โดยกระทรวงการคลังเป็นผู้ประสานงานให้บริษัท เช่า/บริหารทรัพย์สินจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ปัจจุบันท่อส่งน้ำสายหลักนี้ จะหมดสัญญาวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ประกอบด้วย

(1) โครงการท่อส่งน้ำดอกกราย (2) โครงการหนองปลาไหล-หนองค้อ (3) โครงการหนองค้อ-แหลมฉบัง (ระยะที่ 2)

Advertisment

2.เมื่อหมดสัญญาทรัพย์สินดังกล่าวกลับมาอยู่ภายใต้การดูแลของกรมธนารักษ์ ดังนั้น ก่อนหมดสัญญา กรมธนารักษ์ จึงดำเนินการเพื่อสรรหาเอกชนมาบริหาร และดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำดิบสายหลักภาคตะวันออกต่อไป ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการสรรหาเอกชน

อย่างไรก็ตาม นอกจากโครงการท่อส่งน้ำภาคตะวันออก ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนบริหารจัดการน้ำในภาคตะวันออกแล้ว ในพื้นที่ EEC ยังคงมีโครงการอีกจำนวนมากที่ต้องใช้รูปแบบการร่วมลงทุนแบบ PPP ซึ่งต้องอาศัยขั้นตอนของการเปิดประมูล ให้เป็นไปตามกฎหมายและเพื่อความโปร่งใส

Advertisment

โดยโครงการสำคัญที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานหลัก เป็นที่ทราบกันว่ามีอยู่ 5 โครงการใหญ่ หรือ Project List คือ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 และโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา

และยังมีโครงการย่อย ๆ อีกหลายโครงการที่กำลังจะเริ่มเข้าสู่การพัฒนา ประมูล และหานักลงทุน เช่น โครงการเมืองอัจฉริยะ โครงการ 5G ดิจิทัลพาร์ค เป็นต้น