
โออาร์เปิดเกมรุกธุรกิจพลังงานสะอาด “อีวี-โซลาร์รูฟ” ปูพรมขยายสถานีชาร์จอีวี 7,000 แห่งทั่วประเทศ จับมือค่ายรถและพันธมิตรจีน ยกเครื่อง “FiT Auto” เป็นศูนย์บริการรถอีวี เปิดขายแฟรนไชส์ปลายปีนี้ ตามรอยความสำเร็จ “คาเฟ่ อเมซอน” “จิราพร ขาวสวัสดิ์” เผยแผนทุ่มงบฯ 2 แสนล้าน ปั๊ม EBITDA โตเท่าตัว 4 หมื่นล้าน ดันกลุ่มธุรกิจไลฟ์สไตล์หัวหอกทำกำไรแทนธุรกิจเชื้อเพลิง
นางสาวจิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือโออาร์ ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ท่ามกลางความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี, ภาวะอากาศโลกร้อน และการถูกกระตุ้นจากโควิด ทำให้โออาร์ต้องลุกขึ้นมา “ดิสรัปต์ตัวเอง” ปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์ใหม่ขับเคลื่อนธุรกิจ Empowering All Toward Inclusive Growth หมายถึงการสร้างโอกาสเพื่อทุกการเติบโตร่วมกัน
- เช็กเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท เข้าบัญชีวันนี้ 5 จังหวัด
- EV จีนทุบราคาเลือดสาด ฉางอานท้ารบ-BYD เกทับลดอีกแสน
- วิธีเช็กเงินช่วยเหลือชาวนา ไร่ละ 1,000 บาท chongkho.inbaac.com
บริษัทตั้งเป้าว่าในปี 2573 (2030) จะมีกำไรจากการดำเนินการ (EBITDA) เพิ่มเป็น 40,000 ล้านบาท จากปี 2564 อยู่ที่ 18,000 ล้านบาท ซึ่งโออาร์วาง 4 กลยุทธ์หลัก เพื่อที่จะทำให้ไปถึงเป้าหมาย โดยวางงบประมาณลงทุนไว้ 2 แสนล้านบาท ซึ่งจะทำให้สัดส่วน EBITDA ของธุรกิจต่าง ๆ ปรับเปลี่ยนไป โดยกลุ่มธุรกิจ mobility จากสัดส่วน 75% จะลดเหลือ 31% ธุรกิจไลฟ์สไตล์สัดส่วนจะเพิ่มขึ้นจาก 21% เป็น 50% และธุรกิจต่างประเทศจะเพิ่มจาก 3% เป็น 20-21%
เปิดเกมรุก “อีวี-โซลาร์รูฟ”
นางสาวจิราพรกล่าวว่า ในส่วนของธุรกิจ mobility บริษัทได้ปรับกลยุทธ์ในการทรานส์ฟอร์มไปสู่ “พลังงานสะอาด” ปัจจุบันจะเห็นว่าบริษัทมีผลิตภัณฑ์ทั้งน้ำมันเชื้อเพลิง ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) โซลาร์รูฟ (solar loof) และตอนนี้เริ่มจะทดสอบเรื่องพลังงานไฮโดรเจน เป็นการตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคตามเทรนด์การเปลี่ยนแปลง
โดยบริษัทเริ่มเตรียมพร้อมเรื่อง EV ตั้งแต่ปลายปี 2561 เพื่อทดสอบเรียนรู้พฤติกรรมผู้บริโภค และเรียนรู้ระบบโครงสร้างพื้นฐาน เริ่มตั้งแต่เครื่องชาร์จอีวีที่เป็นรุ่นเก่า normal change ใช้เวลา 2-3 ชั่วโมงได้ ปัจจุบันใช้ระบบ quick charge ลดเวลาเหลือแค่ 20 นาที ซึ่งโออาร์มองว่าสถานีชาร์จอีวีเป็นโปรดักต์เสริมสเตชั่น จะมาช่วยตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคยุคอนาคต
เร่งปูพรม 7,000 สถานีชาร์จ
นางสาวจิราพรกล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทมีสถานีชาร์จรถอีวี 106 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และเส้นทางต่างจังหวัด มีทั้งในและนอกสถานีบริการ พร้อมกันนี้ ยังขยายบริการเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคด้วยการพัฒนา “PTT Station PluZ” แอปพลิเคชั่นที่ช่วยในการวางแผนการเดินทาง และจองคิวสถานีชาร์จคู่ขนานกันไป
สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจในปี 2565 บริษัทจะเร่งขยายติดตั้งสถานีชาร์จเพิ่มเป็น 450 แห่งครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อให้ตอบโจทย์การเคลื่อนที่แบบไร้รอยต่อ และมีแผนจะขยายเพิ่มเป็น 7,000 สาขาในปี 2573
ยกเครื่อง FIT Auto ซ่อมอีวี
นอกจากการขยายสถานีชาร์จรถอีวี นางสาวจิราพรกล่าวว่า เพื่อตอบโจทย์ผู้ใช้รถอีวี บริษัทก็วางแผนขยายการให้บริการซ่อมบำรุงรถอีวี โดยปัจจุบันโออาร์มี FIT Auto เป็นศูนย์บริการซ่อมเบารถยนต์เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องให้บริการซ่อมรถยนต์สันดาปกว่า 70 สาขา เป้าหมายคือ ปี 2573 (2030) ร้าน FIT Auto ทุกแห่งต้องให้บริการซ่อมบำรุง EV ได้
โดยการร่วมมือกับค่ายรถยนต์เทรนนิ่งฝึกทักษะการซ่อมบำรุง EV ขณะเดียวกันก็มีการเอ็มโอยูกับพันธมิตรจีน เพื่อทำบริการบนดิจิทัลแพลตฟอร์มเชื่อม physical และ digital เข้าด้วยกัน เรียกว่าเป็นการให้บริการซ่อมบำรุงรักษารถอีวีแบบ O2O (offline to online) ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนทดลองระบบ หากสำเร็จจะตอบโจทย์ผู้ใช้บริการสามารถเลือกบนอุปกรณ์ ชิ้นส่วนต่าง ๆ ว่าจะใช้อะไร ราคาเท่าไหร่ และสเตชั่นไหน
พร้อมกันนี้ บริษัทมีแผนขยายสาขา FIT Auto ทั้งในและนอกสถานีให้ครอบคลุมมากขึ้น ตามเทรนด์การใช้รถอีวีที่เพิ่มขึ้น โดยสิ่งที่ต้องดำเนินการคือการเตรียมความพร้อมด้านมาตรฐานการให้บริการและโครงสร้างศูนย์บริการ โดยบริษัทจะเริ่มวางระบบการขยายสาขาในรูปแบบแฟรนไชส์เพื่อทำให้ขยายสาขาได้เร็ว เช่นเดียวกับคาเฟ่ อเมซอน คาดว่าจะเปิดตัวได้ในปลายปีนี้
ช่วงเปลี่ยน “น้ำมัน” 10 ปี
อย่างไรก็ดี นางสาวจิราพรให้มุมมองเรื่องเทรนด์การเปลี่ยนผ่านจากยุครถใช้น้ำมันไปสู่รถอีวีว่า น้ำมันยังจะเป็นเชื้อเพลิงหลักของประเทศ ซึ่งช่วงทรานซิชั่นประมาณ 10 ปี ที่จะทำให้พลังงานสะอาดเข้ามาทดแทนสัก 40% ส่วนอีก 60% ยังไงก็ยังเป็นเชื้อเพลิงน้ำมัน เทียบจากนโยบาย 30@30 ของรัฐบาลคือ ปี 2030 (พ.ศ. 2573) จะผลิตรถยนต์อีวี 30% ของปริมาณรถที่ใช้ในประเทศไทย เพียงแค่ 30% เท่านั้น และส่วนหนึ่งยังเป็นการผลิตเพื่อส่งออก
“เมื่อเป็นเช่นนี้ โออาร์จึงถือว่าธุรกิจเชื้อเพลิงน้ำมันในปัจจุบันยังเป็น cash cow เป็นตัวสร้างรายได้หลัก เพื่อนำไปลงทุนธุรกิจใหม่ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจพลังงานสะอาด EV และ solar loof รวมถึงการขยายธุรกิจไลฟ์สไตล์ โดยการเปลี่ยนผ่านยุคเชื้อเพลิงน้ำมัน ไม่ได้มีความเสี่ยงต่อบริษัท
เพราะโออาร์ถือว่าเป็นธุรกิจรีเทลตั้งแต่ต้น เป็นเพียงผู้ซื้อมาขายไป เราไม่ใช่ capital intensive การลงทุนของเราผ่านดีลเลอร์ 80% และโออาร์เอง 20% ดังนั้นเรียกว่า light investment เป็นการลงทุนที่ไม่ได้มีเงินไปจมแล้วรีเทิร์นช้า” นางจิราพรกล่าวและว่า
และจากข้อมูลคนเข้ามาในสถานีบริการน้ำมันใช้เวลา 25 นาที นับจากมาจอด สแกนจ่ายแค่ 3 นาที ส่วนอีก 20 นาที ต้องเข้าใช้บริการคาเฟ่ อเมซอน
ร้านค้า ร้านสะดวกซื้อ พอเปลี่ยนมาเป็นสถานีชาร์จอีวี ก็มีพฤติกรรมเหมือนกันคือ ชาร์จด้วยควิกชาร์จ 20-25 นาที ระหว่างนั้นก็เดินจับจ่ายใช้สอยร้านค้าต่าง ๆ ก็ถือเป็นโอกาสเพิ่มรายได้ผลิตภัณฑ์มากขึ้น
บุกธุรกิจ “โซลาร์รูฟ”
นอกจากนี้ โออาร์มีแผนขยายสู่ธุรกิจโซลาร์รูฟอีกหนึ่งพลังงานสะอาด ซีอีโอโออาร์ระบุว่า บริษัทมุ่งพัฒนาในส่วนโซลาร์รูฟ เพราะได้ประโยชน์ 2 ด้าน คือ ได้พลังงานสะอาดแล้วยังประหยัดต้นทุน โดยปัจจุบันบริษัทมีการลงทุนติดตั้งในสถานีบริการ หรือร้านคาเฟ่ อเมซอน ในโครงสร้างที่สามารถลงโซลาร์รูฟได้ ซึ่งทำให้ประหยัดค่าไฟได้ถึง 20%
รวมถึงบริษัทมีทีมให้บริการรับติดตั้งและเดินระบบโซลาร์รูฟ เพื่อให้ธุรกิจพลังงานสะอาดเกิดขึ้นในไทย โดยฐานลูกค้าคือดีลเลอร์ตัวแทนจำหน่ายน้ำมัน PTT Station ที่มีประมาณ 2,000 ราย และยังมีกลุ่มลูกค้าตลาดพาณิชย์ ไม่ว่าจะเป็นโรงงานอุตสาหกรรม โรงแรม ห้างสรรพสินค้า หรือมหาวิทยาลัย ซึ่งปกติซื้อเชื้อเพลิงกับบริษัท ในยุคค่าไฟแพงหลายองค์กรก็ให้ความสนใจเรื่องการติดตั้งโซลาร์รูฟเพื่อลดต้นทุน
ผนึกธุรกิจขยายบริการ
นางสาวจิราพรกล่าวว่า สำหรับธุรกิจน็อนออยล์ของโออาร์ ปัจจุบันไม่ได้จำกัดอยู่แค่อาหารและเครื่องดื่ม หรือ F&B เท่านั้น จึงขยายเป็นกลุ่มธุรกิจไลฟ์สไตล์ โดยจะมีการเติมบริการความสะดวกให้กับผู้บริโภค ไม่ใช่แค่ของกิน ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงการเจรจรกับบริษัทขนาดใหญ่เพื่อเป็นพันธมิตรขยายการลงทุนเกี่ยวกับบริการความสะดวกสบาย
ขณะเดียวกัน บริษัทก็มีการลงทุนในรูปแบบ “โออาร์สเปซ” เป็นพื้นที่ให้บริการในรูปแบบคอมมิวนิตี้ที่ไม่มีจุดจ่ายน้ำมัน โดยโมเดลการขยายธุรกิจของโออาร์จะเน้นการร่วมลงทุนกับพันธมิตรในทุกกลุ่ม ทั้งกลุ่มสตาร์ตอัพ เอสเอ็มอี และคอร์ปอเรตขนาดใหญ่
เช่นที่ผ่านมามีการร่วมลงทุนกับธุรกิจหลากหลาย ทั้งโอ้กะจู๋, แฟลช เอ็กซ์เพลส, ร้านชาคามุ คามุ, ร้านอาหารญี่ปุ่น โอโนะ ซูชิ เป็นต้น
“เหตุผลที่โออาร์ไม่ลงทุนทำเองทั้งหมด ทั้งที่ทำได้ และเลือกจะดึงคนตัวเล็กมาเติมเต็มโอกาส เพราะว่าช่องว่างทางเศรษฐกิจ หากไม่เปิดโอกาส ให้เขามีโอกาสมีชีวิตที่ดีขึ้น วันหนึ่งต่อให้เราเก่งอย่างไร ใหญ่อย่างไร เมื่อผู้บริโภคอ่อนแอลง ผลลัพธ์ที่จะตามมาคือเราก็จะอ่อนแอลง เพราะมองว่าชุมชนสังคมไทย 90% ขาดโอกาส ซึ่งมีเพียง 10% เท่านั้นที่ถือครองทรัพย์สินส่วนใหญ่ของประเทศ และมีโอกาส” นางสาวจิราพรกล่าวและว่า
ต่อยอดสู่ all in one app
ขณะที่ปัจจุบันโออาร์มีจุดให้บริการผ่านสถานี PTT Station กว่า 2,100 แห่ง และร้านคาเฟ่ อเมซอน 3,500 สาขาในไทย ไม่รวมต่างประเทศ ซึ่งฐานตรงนี้มีผู้บริโภคเข้ามาใช้บริการ 3.3 ล้านคนต่อวัน ขณะเดียวกัน โออาร์มีสมาชิกบลูการ์ด 7.5 ล้านราย ซึ่งแอ็กทีฟถึง 60% ทำให้รู้ว่าคนที่เข้ามาใน
พีทีที สเตชั่น เลือกใช้น้ำมันเชื้อเพลิงชนิดไหน เข้าร้านคาเฟ อเมซอน สั่งอะไร และรู้ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป
ซีอีโอโออาร์ระบุว่า ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างพัฒนา all in one app เพื่อต่อยอดการให้บริการลูกค้าจากกลุ่มธุรกิจ mobility และ life style โดยแอปนี้จะตอบโจทย์การใช้งานของผู้บริโภค 24 ชั่วโมง ตั้งแต่การวางแผนการออกจากบ้าน ด้วยผลิตภัณฑ์และบริการของโออาร์และพาร์ตเนอร์โออาร์ และแอปนี้จะเปิดรับสินค้าและให้บริการอีกด้วย
เพื่อที่จะทำให้เห็นว่าตั้งแต่ออกจากบ้านสามารถวางแผนได้ จองได้ด้วย และอยู่ออฟฟิศก็สามารถเช็กได้ ระหว่างทางสามารถจะเอารถเข้ามาชาร์จก็สามารถวางแผนตลอด 24 ชั่วโมง จนกลับไปเข้านอนแอปนี้ก็จะสามารถวางแผนได้
พาแบรนด์ไทยไปตลาดโลก
ทั้งหมดนี้จะเป็นการต่อยอดเพิ่มสินค้าและบริการให้มากขึ้น และธุรกิจที่โออาร์กำลังจะทรานส์ฟอร์มตัวเองไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของพลังงานสะอาด ธุรกิจไลฟ์สไตล์ หรือการขยายธุรกิจต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันเรามีบริษัทในต่างประเทศถึงกว่า 10 บริษัท ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในอาเซียน
แต่เป้าหมายคือจะขยายเป็น 20 ประเทศ เป็นการนำผลิตภัณฑ์แบรนด์ไทยขยายตลาดไประดับโลก โดยที่ผ่านมาก็มีการขยายแฟรนไชส์พีทีที สเตชั่น รวมถึงร้านกาแฟ คาเฟ่ อเมซอน เป้าหมายต่อไปก็คือการนำแบรนด์ของพันธมิตรของโออาร์ออกไปต่างประเทศ โอกาสเป็นไปได้ตอนนี้ก็คือ โอ้กะจู๋, คามุ คามุ และโคเอ็น เป็นต้น
ดึงพันธมิตรสร้างโอกาส
นางสาวจิราพรกล่าวว่า อีกกลยุทธ์สำคัญก็คือ เรื่องนวัตกรรม ซึ่งจากที่มองว่าการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่รวดเร็วขนาดนี้ พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนเร็วขนาดนี้ ลำพังโออาร์เองก็จะไม่ทันที่จะตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลง ก็เลือกใช้วิธีในการหาพาร์ตเนอร์
โดยโออาร์ได้ร่วมมือบริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) จัดตั้งบริษัทร่วมทุน “ออร์บิท ดิจิทัล” เพื่อทำเรื่องดิจิทัล โดยโออาร์ถือหุ้นอยู่ 60% และ Bluebik ถือหุ้น 40% เพื่อพัฒนาด้านดิจิทัลตั้งแต่การทำแอป EV Station PluZ ทำให้เราสามารถพัฒนาตอบโจทย์ทันกับการเปลี่ยนแปลง และกำลังทำตามแผนที่จะนำไปสู่ all in one application
“ก่อน IPO โออาร์มีมาร์เก็ตแชร์เป็นอันดับ 1 ในการสร้างและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สามารถส่งต่อให้ดีลเลอร์และแฟรนไชส์ แต่ในปัจจุบันบริษัทมีแพลตฟอร์มที่แข็งแกร่งอยู่แล้ว ก็ใช้วิธีการหาพาร์ตเนอร์ 3 ด้านหลัก คือ ด้านพลังงานสะอาด ไลฟ์สไตล์ และโกลบอล เพื่อช่วยสร้างการเติบโตของธุรกิจ ซึ่งจากที่ตั้งเป้าว่าธุรกิจไลฟ์สไตล์มีสัดส่วนของกำไรเพิ่มเป็น 50% นั้น กว่าครึ่งก็จะมาจากธุรกิจใหม่ของพาร์ตเนอร์” นางสาวจิราพรกล่าว