วิกฤตราคาเนื้อสัตว์แพง ไทยล้มแผนนำเข้าข้าวสาลีอินเดีย

ข้าวสาลีจากอินเดีย
Photo by NARINDER NANU / AFP

เอฟเฟ็กต์อินเดียสั่งห้ามส่งออกข้าวสาลี ดันราคาตลาดโลกพุ่ง 60% โรงงานอาหารสัตว์ป่วน พับแผนนำเข้าข้าวสาลี 900,000 ตัน ผู้ผลิตอาหารสัตว์ร้องกระทรวงพาณิชย์ขอปรับขึ้นราคารวด 15% ด้านสมาคมผู้ผลิตอาหารยอมรับกระทบต้นทุนอาหารทุกอย่างสูงขึ้นแน่ ราคาข้าวโพดทั้งใน-ประเทศเพื่อนบ้านถล่มซ้ำพุ่งเฉียด กก.ละ 13 บาทสูงเป็นประวัติการณ์ เตือนรับมือเนื้อสัตว์ปรับขึ้นราคาตลอดทั้งปี 2565

อินเดียประเทศผู้ผลิตและส่งออกข้าวสาลีอันดับ 2 ของโลก ได้ประกาศ “ห้ามส่งออกข้าวสาลี” เมื่อวันที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยให้เหตุผลภาวะอากาศร้อนที่สุดในเดือนมีนาคมได้ส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตข้าวสาลีของอินเดียลดลง ประชาชนเสี่ยงเผชิญภาวะขาดแคลนอาหารและราคาข้าวสาลีพุ่งสูงขึ้นจำเป็นต้องรักษาสต๊อกไว้

การประกาศห้ามส่งออกดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อประเทศผู้นำเข้าข้าวสาลีจากอินเดีย รวมถึง ประเทศไทยที่เสี่ยงต่อภาวะขาดแคลนและเผชิญต้นทุนอาหารสัตว์ที่เพิ่มสูงขึ้น จากก่อนหน้านี้ที่ก็ได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนไปแล้ว

อาหารสัตว์ขอขึ้นราคา 15%

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โรงงานอาหารสัตว์ที่กำลังอยู่ระหว่าง “ขออนุญาต” นำเข้าข้าวสาลีจากอินเดีย ปริมาณ 150,000 ตัน สำหรับเดือนพฤษภาคม 2565 อาจจะติดปัญหาเรื่องการนำเข้าข้าวสาลี

เนื่องจากอินเดียแจ้งหยุดส่งออกแล้ว หากรายใดไม่ได้เปิด L/C ผ่านธนาคารไว้ก่อนการประกาศของรัฐบาลอินเดีย แน่นอนว่าจะมีปัญหาเรื่องการนำเข้าวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ครึ่งปีหลังแน่นอน และกรณีนี้กำลังจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตปศุสัตว์ในช่วงครึ่งปีหลัง ทำให้เนื้อสัตว์มีราคาสูงขึ้นแน่นอน

“อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ได้รับผลกระทบ 100% เพราะอินเดียเป็นแหล่งนำเข้าข้าวสาลีหลัก ต่อจากรัสเซีย-ยูเครนที่เกิดสงครามทำให้ข้าวสาลีและธัญพืชจากทั้ง 2 ประเทศไม่สามารถส่งออกมาก่อนหน้านี้แล้ว และพออินเดียออกมาประกาศห้ามส่งออกข้าวสาลีอีก ในจังหวะเดียวกันกับที่คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ.) อนุมัติให้ยกเว้นมาตรการซื้อข้าวโพดในประเทศ 3 ส่วน เพื่อนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน หรือมาตรการ 3 ต่อ 1 เพื่อเปิดทางให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์ได้แหล่งวัตถุดิบพอดี

ADVERTISMENT

ประเด็นนี้ทำให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์ต้องหาวัตถุดิบชนิดอื่นจากแหล่งอื่นมาทดแทนข้าวสาลี เช่น ซื้อข้าวโพดจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งอาจจะหาได้เดือนละ 100,000 ตัน แต่ราคาสูง ข้าวโพดประเทศเพื่อนบ้านตอนนี้ก็สูงพอ ๆ กับราคาข้าวโพดไทย คือ กก.ละ 12.80 บาทแล้ว และถ้าจะหันไปนำเข้าข้าวบาร์เลย์จากแหล่งที่ใกล้ที่สุดอย่าง ออสเตรเลีย โรงงานก็ต้องไปปรับสูตรการผสมอาหารสัตว์ใหม่ เช่นเดียวกับการปรับใช้มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบอีก” นายพรศิลป์กล่าว

ตอนนี้ต้นทุนการผลิตอาหารสัตว์ได้ปรับสูงขึ้นต่อเนื่องในช่วง 2 ปีหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบันพบว่า วัตถุดิบอาหารสัตว์ปรับขึ้นทุกรายการ เช่น ข้าวโพดปรับขึ้น 42.68% จาก กก.ละ 8.97 บาท เป็น กก.ละ 12.80 บาท, ข้าวสาลีปรับขึ้น 82.88% จาก กก.ละ 7.38 บาท เป็น 13.50 บาท, ข้าวบาร์เลย์ปรับขึ้น 68.92% จาก กก.ละ 7.40 บาท เป็น 12.50 บาท, กากถั่วเหลืองปรับขึ้น 58.37% จาก 13.26 บาท เป็น 21 บาท และมันสำปะหลังปรับขึ้น 14.04% จาก 7.10 บาท เป็น 8.10 บาท

ADVERTISMENT

“ผู้ผลิตอาหารสัตว์มีการยื่นขอปรับราคาอาหารสัตว์ไปที่กระทรวงพาณิชย์แล้ว แต่ละรายไม่ได้คุยกันว่าจะปรับขึ้นเท่าไร เพราะขึ้นอยู่กับต้นทุน กำลังการผลิต และการใช้วัตถุดิบ ซึ่งเบื้องต้นประเมินว่าน่าจะเฉลี่ย ๆ ขอขึ้นประมาณ 10-15% ขึ้นอยู่กับกระทรวงพิจารณาแล้วว่า จะให้รายใดปรับขึ้นเท่าไร

ส่วนผลกระทบต่อราคาเนื้อสัตว์ก็ขึ้นกับสัดส่วนการใช้อาหารสัตว์ของสัตว์แต่ละชนิด ว่ามีสัดส่วนเท่าไร เช่น ไก่ไข่ อาจจะคิดเป็นสัดส่วน 70% ของต้นทุน ก็คงจะมีผลกระทบต่างกันไป แต่แนวโน้มเมื่อต้นทุนสูง ราคาเนื้อสัตว์ก็จะทรงตัวสูงในครึ่งปีหลังแน่นอน” นายพรศิลป์กล่าว

ปลดล็อกอาหารสัตว์ไม่จริง

ก่อนหน้านี้ได้มีความพยายามจากรัฐบาลที่แก้ไขปัญหา “ต้นทุน” ผลิตอาหารสัตว์มีราคาแพง ซึ่งจะส่งผลกระทบเป็น “ลูกโซ่” ต่อราคาเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์ โดยคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคมที่ผ่านมาให้ “ผ่อนปรน” เปิดทางให้มีการนำเข้าวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ได้ 1.2 ล้านตัน (ทั้งข้าวสาลี-ข้าวบาร์เลย์-ข้าวโพดจากประเทศเพื่อนบ้าน)

ในช่วง 3 เดือนจนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2565 จากเดิมที่ “บังคับ” ให้มีการซื้อข้าวโพดภายในประเทศ 3 ส่วน จึงจะนำเข้าข้าวสาลีได้ 1 ส่วน ตามข้อเรียกร้องของโรงงานอาหารสัตว์

แต่เอาเข้าจริง นอกจากจะไม่สามารถนำเข้า “ข้าวสาลี” จากอินเดีย ที่ผู้ผลิตตั้งความหวังไว้ตามการ “ปลดล็อก” ของ นบขพ.ไว้แล้ว ในข้อเท็จจริงทางปฏิบัติยังมีขั้นตอนการนำเข้าที่ยุ่งยากมาก โดยเฉพาะระเบียบต่าง ๆ

อาทิ ระเบียบกระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยการออกหนังสือรับรองแสดงการได้รับสิทธิชำระภาษีตามพันธกรณีตามความตกลงการเกษตรภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) สำหรับสินค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2564 ถึงปี 2566 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565, ระเบียบกระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาตและการอนุญาตให้นำข้าวสาลีเข้ามาในราชอาณาจักร (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2565

รวมทั้งยังมีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาตรวจสอบการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และวัตถุดิบทดแทน (ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์) อีกด้วย

ในประเด็นนี้ ทางสมาคมได้ทำหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ ส.ผ. 0565/2565 เสนอรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ไปแล้วเมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2565 ที่ผ่านมา โดยชี้ให้เห็นข้อขัดข้อง 4 ประเด็น คือ คณะอนุกรรมการพิจารณาตรวจสอบการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และวัตถุดิบทดแทน (ข้าวสาลีและข้าวบาร์เลย์) มีอธิบดีกรมการค้าภายใน กลับมีอำนาจพิจารณานำเข้าได้ด้วย

และยังเป็นการซ้ำซ้อนและเพิ่มขั้นตอนในการนำเข้าจากเดิมที่จะต้องมีการขออนุญาตนำเข้าวัตถุดิบตามกรอบ WTO เท่านั้น การมีกรรมการหลากหลายทั้งเสียงสนับสนุน-คัดค้านไม่เท่ากัน และการเปิดให้นำเข้ายังครอบคลุมไปถึงผู้อื่นเป็นการทั่วไป ไม่ใช่ให้นำเข้าเฉพาะผู้ผลิตอาหารสัตว์

“มติ นบขพ.มีผลย้อนหลังไปถึงวัตถุดิบที่สั่งนำเข้าตั้งแต่เดือนเมษายน จากที่เปิดให้นำเข้า 1.2 ล้านตัน หักลบออกไปแล้วตอนนี้จะเหลือที่นำเข้าได้จริง ๆ แค่ 900,000 ตันเท่านั้น เพราะมีการนำเข้ามาก่อนหน้านี้เกือบ 300,000 ตันแล้ว จากตามรายงานกรมปศุสัตว์ระบุว่า ตั้งแต่ 1 เม.ย.-12 เม.ย. 2565 มีการนำเข้าข้าวสาลี 78,856 ตัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากเพื่อนบ้าน 200,367 ตัน แต่ยังไม่มีการนำเข้าข้าวบาร์เลย์เข้ามา”

นางสาวสายทอง สร้อยเพชร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย กล่าวว่า ในช่วง 3 ปีย้อนหลัง (2019-2021) อินเดียส่งออกข้าวสาลีเฉลี่ยปีละประมาณ 2.5 ล้านตัน ส่วนใหญ่จะเป็นการส่งออกไปยังตลาดบังกลาเทศ, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) และศรีลังกา ซึ่งในส่วนของประเทศไทยไม่ได้เป็นตลาดส่งออกหลักข้าวสาลีของอินเดีย แต่เพิ่งมีการส่งออกมากเมื่อปี 2564 มีปริมาณ 10,614 ตัน คิดเป็น 0.2% ของการส่งออกข้าวสาลีทั้งหมดของอินเดีย

ต้นทุนผลิตอาหารพุ่ง

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานหอการค้าไทยและนายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า หลังอินเดียเผชิญวิกฤตคลื่นความร้อน (heat wave) และประกาศหยุดการส่งออกข้าวสาลีชั่วคราว แต่จะยังอนุญาตให้ส่งออกข้าวสาลีที่มีการออกตราสารเครดิต (Letter of Credit) ยืนยันการชำระเงินซื้อข้าวสาลีไปก่อนหน้านี้แล้ว รวมถึงอนุญาตการส่งออกไปยังประเทศที่ขอเสบียงเพื่อรับมือปัญหาความมั่นคงด้านอาหารด้วย

“ขณะนี้ราคาข้าวสาลีพุ่งสูงขึ้นประมาณ 60% ในตลาดโลก ทำให้ต้นทุนการผลิตอาหารทุกอย่างสูงขึ้น และการห้ามส่งออกข้าวสาลีของอินเดียยังกระทบต่อราคาอาหารสัตว์มีแนวโน้มสูงขึ้นด้วย เพราะอินเดียถือเป็น 1 ในผู้ผลิตข้าวสาลีรายใหญ่ ผลิตมากเป็นอันดับ 2 รองจากจีน มีปริมาณผลผลิต 100 ล้านตันต่อปี หรือประมาณ 14% ของข้าวสาลีจากทั่วโลก

แต่อินเดียเน้นบริโภคในประเทศ ส่งออกในสัดส่วนไม่มาก โดยส่งไปเพียงไม่กี่แห่ง แต่หลังจากที่ยูเครนไม่สามารถส่งออกข้าวสาลีได้ ประกอบกับความแห้งแล้งและน้ำท่วมในประเทศผู้ผลิตรายใหญ่รายอื่น ๆ ทำให้ผู้ค้าหันมาซื้อจากอินเดีย เพื่อบรรเทาการขาดแคลนข้าวสาลีและอาหารอื่น ๆ แทน โดยถึงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา อินเดียส่งออกไปแล้ว 7.85 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีปริมาณ 2.1 ล้านตัน” นายวิศิษฐ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม อินเดียมีจุดอ่อนด้านขนส่งทางถนนเพื่อลำเลียงข้าวสาลีจากแหล่งเพาะปลูกในรัฐคุชราต, มัธยประเทศ, ราชสถาน, ปัญจาบ และอุตตรประเทศ ไปยังท่าเรือ Kandla ในรัฐคุชราต ทำให้ต้นทุนขนส่งสูงถึงตันละ 10,000-12,000 บาท หรือสูงกว่าราคาที่รัฐบาลประกาศไว้ที่ประมาณ 9,500 บาทต่อกระสอบ