“กันกุล” พลิกโฉมปลูกกัญชง ผนึก CPF ต่อยอดสารสกัด CBD

ดร.สมบูรณ์ เอื้ออัชฌาสัย
สัมภาษณ์

ใครต่างรู้จัก “กันกุล” ในฐานะผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมพลังงาน แต่ในวันนี้กันกุลขยายสู่ธุรกิจใหม่ ผู้ปลูกและผลิตสารสกัดกัญชงครบวงจร ซึ่งอาจจะเรียกว่าใหญ่สุดในประเทศไทย “ดร.สมบูรณ์ เอื้ออัชฌาสัย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL ให้สัมภาษณ์หลังพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ของบริษัท จี.เค.เฮมพ์ กรุ๊ป จำกัด บริษัทย่อยของกันกุล ร่วมกับบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF และบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โปรดิ๊วส จำกัด หรือ CPP ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์กัญชงครบวงจรถึงการขับเคลื่อนธุรกิจใหม่

ที่ดินใต้กังหันลมสู่แปลงกัญชง

หลังจากประเทศไทยได้แก้กฎหมายกัญชง-กัญชาให้เป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่สำหรับคนไทย “กันกุล” มีที่ดินใต้กังหันลมที่ อ.ห้วยบง โคราช (นครราชสีมา) ราว 3 พันกว่าไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์และมีอุณหภูมิที่ดีเหมาะสมกับการปลูกกัญชง

“บริษัทมีนโยบายกำหนดให้พืชกัญชงเป็น new S curve product และคาดหวังว่าภายใต้โครงการนี้ที่เราจะทำทั้งต้นน้ำ-กลางน้ำ ให้เพาะปลูกได้ที่ปลายทางประมาณ 100 ไร่ ใน 2 ปี โดยจะต้องทยอย MOU ขายไปด้วย ส่วนใช้งบประมาณ 2 พันกว่าล้าน-3 พันล้านบาท และเมื่อทำต้นน้ำแล้วเราก็จะทำกลางน้ำด้วย คือตั้งโรงสกัด CBD จากช่อดอก ที่คลอง 11 มีขนาดกำลังการผลิต 200 กก.ต่อวัน ซึ่งต้องยอมรับว่าโรงสกัดที่มีขนาดกำลังการผลิตประมาณ 200 กก.ต่อวัน ถือเป็นโรงสกัดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยตอนนี้ เราเพิ่งได้รับใบอนุญาตเมื่อประมาณต้นเดือนพฤษภาคม 2565 แต่ตัวโรงงานสร้างเสร็จและมีความพร้อมที่จะเริ่มสกัดแล้วจะป้อนสู่มือลูกค้าในไตรมาส 2 ปีนี้”

และล่าสุดเราเพิ่งได้รับข่าวดีว่าได้รับใบอนุญาตให้เพาะปลูกเพิ่มขึ้นมาอีก 17 ไร่ เมื่อปลูกที่ห้วยบงเป็นฐานใหญ่ เราจึงวางแผนขยายโรงสกัด CBD แห่งที่ 2 ที่ห้วยบงอีก 600 กก.ต่อวัน เพื่อลดโลจิสติกส์คอร์ส เราก็เชื่อมั่นว่าจากต้นน้ำ กลางน้ำที่เราทำไว้อย่างครบวงจร

ก่อนหน้านี้เราไปเทกโอเวอร์บริษัททีเอสซีจี ถือหุ้น 50% บริษัทนี้เดิมเป็นคู่สัญญากับองค์การเภสัชกรรม แปลว่าปลูกมาปุ๊บแทบไม่ได้ขายใครเลย เพราะเขาซื้อหมดในราคา กก.ละ 42,000-45,000 บาท แล้วแต่เปอร์เซ็นต์ของซีบีดีและทีเอสซีจี มีสินค้าที่มีส่วนผสมสารสกัด 30 เอสเคยู และทดลองทำคลินิกแพทย์แผนไทยและแพทย์แผนปัจจุบัน (ที่ตึกชั้น 2) เตรียมสั่งเรื่องยา สาร CBD ในการบริการรักษาและวางอนาคตจะขยายไปสู่การสร้างความร่วมมือกับโรงพยาบาลต่อไป

ผนึก CPF-CPP

สำหรับความร่วมมือกับ ซี.พี.ในฐานะพี่ใหญ่ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญสูง ความร่วมมือนี้ตั้งแต่ต้นน้ำ เมล็ดพันธุ์ กลางน้ำ โดย CPP ที่ทำเรื่องการเพาะพันธุ์จะมาช่วยทดแทนเมล็ดพันธุ์นำเข้า ตอนนี้เราใช้ “พันธุ์ชาร์ลอตต์แองเจล” จากอเมริกา เมล็ดละ 200-300 บาท พื้นที่ 1 ไร่ ใช้เมล็ด 1,750 เมล็ด เรามี 27 โรงเรือน ปลูก 4 รอบต่อปี เท่ากับว่าไร่หนึ่งใช้ประมาณ 7,000 เมล็ดต่อไร่ต่อปี หากราคาเมล็ดละ 400 บาท รวมค่าเมล็ด 2.8 ล้านบาท หากได้เมล็ดพันธุ์ที่ผลิตเองในประเทศจะทำให้ต้นทุนการปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดนี้ต่ำลง ต่อให้เราเก่งอย่างไรในเชิงต้นน้ำก็ต้องกลับมาที่เมล็ดเพาะปลูก

ข้อสำคัญถัดมา คือ ซีพีเอฟเป็นผู้นำการผลิตอาหารโลก ซึ่งจากสถานการณ์สงครามและเงินเฟ้อ ทุกชนิดทุกคนกำลังกลับมาสู่การมองว่าประเทศไทยมีทรัพยากรเป็นของตัวเองประเทศนั้นรอด เราก็เชื่อว่าซีพีเอฟจะกลายเป็นองค์กรที่เชื่อว่ามาร่วมกันแล้วจะโตไปด้วยกัน ในฐานะที่่เราเป็นผู้เชี่ยวชาญต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

“เราดำเนินการเรื่องนี้มา 3-4 เดือนแล้ว นี่จะเป็นบทแรกของไทย จากที่หลายอุตสาหกรรมจะถูกดิสรัปต์ แต่กลายเป็นกัญชง-กัญชาจะกลายเป็นนิวเอสเคิร์ฟ เป็นพืชเศรษฐกิจของโลก ไทยเหมาะปลูก แต่จะอยู่ได้ดีต้องมีเมล็ดพันธุ์ที่ดี และมีปลายน้ำที่นำไปสู่มือผู้บริโภคด้วยความมั่นใจ”

ความร่วมมือนี้ตั้งแต่ต้นน้ำ เมล็ดพันธุ์ กลางน้ำ เราคิดว่าซีพีเอฟอยากให้เราเป็นคนให้ข้อมูลย้อนกลับเรื่องผลวิจัย ทำอย่างไรจะดีกว่าต่างประเทศ ต้นทุนถูกลง ช่อดอกที่ใช้ในการสกัด CBD และใบที่จะนำมาชงดื่มคล้ายชา ซึ่งทั้งหมดต้องเป็นไปตามข้อกำหนดสาร THC ไม่เกิน 1% (ถ้าสูงกว่า 1% ก็ต้องเป็นกัญชา) ตอนนี้กัญชงที่สกัดมีความเข้มข้นหลายระดับ สามารถนำไปใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ทุกด้าน ทั้งเครื่องดื่ม เครื่องสำอาง ยาแผนไทยแผนปัจจุบัน และปลายน้ำทางซีพีเอฟได้ทดลองจำหน่ายไก่กัญ ซอสกัญมาแล้ว ผมเชื่อว่าสารสกัดจะนำไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายเช่นเดียวกับต่างประเทศ”

“วันนี้ในท้องตลาดจะหาผลิตภัณฑ์กัญชง-กัญชาที่ได้มาตรฐานผ่าน อย. และมีปริมาณที่สมดุลทุกขั้นตอนยังไม่มี ซึ่งทาง ซี.พี.และกันกุลจะมาร่วมกันสร้างมาตรฐาน และภายใต้มาตรฐานนี้จะตอบคืนกลับไปเป็นประโยชน์ โทษภัยจะต้องไม่เกิดขึ้นโดยเฉพาะกับผู้สูงวัยที่ใช้ ดังนั้น ต้องมีการกำหนดระดับการใช้งาน ให้ความสำคัญตั้งแต่การปลูก เพราะพืชชนิดนี้เป็นพืชมหัศจรรย์ที่จะดูดซึมสารอาหารทุกอย่าง เราจึงต้องปลูกโดยไม่ใช้สารเคมี ใช้ระบบน้ำไฮโดรโพนิกส์แบบ RO” วันหนึ่งเรามองถึงโอกาสการขยายความร่วมมือไปสู่การสร้างระบบคอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่ง ซึ่งเป็นรูปแบบที่ทาง ซี.พี.เชี่ยวชาญและยังมีจุดที่เข้าเพาะเมล็ดได้อีก ยิ่งจะไปไกลกว่านี้”

3 ปี คืนทุน

กรอบโครงการนี้หากนับจากเวลาที่กฎหมายกำหนดกรอบเวลาป้องกันการนำเข้า 5 ปี เราเดินทางมาถึงวันนี้หมดเวลาไปแล้ว 10 เดือน ยังเหลือ 4 ปี 2 เดือน หมายความว่ายิ่งเร่งทำเร็วเท่าไร ประโยชน์ก็จะมากขึ้นเท่านั้น โดยต้นน้ำและกลางน้ำเทียบราคากับที่เราไม่ต้องมีคู่แข่งจากการนำเข้า ผมคิดว่าเราจะใช้เวลา 3 ปีก็จะคืนทุน 2,000 กว่าล้านบาทที่ลงทุนไป และที่สำคัญใครเร่งมือก่อนคุ้มทุนก่อน เพราะระยะถัดไปปีที่ 4-5 จะเป็นปีสำคัญในการต่อยอด เมื่อตลาดเปิดสู่การแข่งขันใครที่มีครบวงจร มีพาร์ตเนอร์ คนนั้นจะกลายเป็นผู้ที่อยู่รอดได้ในปีที่ 5-6 ต่อไป

ไม่ทิ้งธุรกิจพลังงาน

กันกุลมองว่าธุรกิจใหม่นี้ลงทุนไป 2,000 กว่าล้านบาท เราก็มองว่า 3 ปีคืนทุน คิดว่าธุรกิจใหม่จะมีสัดส่วนอยู่ที่ 20% ของรายได้กันกุลภายใน 2 ปี หรือในปี 2567 แม้ว่าจะมีการลงทุนธุรกิจนิวเอสเคิร์ฟ แต่พลังงานยังเป็นพอร์ตใหญ่สำหรับกันกุล

“ปีนี้กันกุลได้ 2 เด้ง คือ พลังงานก็มาด้วย เพราะรัฐจะมีการทำสัญญา PPA ของโรงไฟฟ้าลม 1,800 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นไปตามแนวทางที่แผนพัฒนาพลังงานใหม่ให้ความสำคัญ ทางเราก็เตรียมความพร้อมโดยจัดหาพื้นที่ใหม่ไว้ 7 พื้นที่เป็นจังหวัดใหม่หลายจังหวัด เราไปปักเสาวัดลมหมดแล้ว หากรวมพื้นที่ทั้งหมดได้สูงสุดประมาณ 300 กว่าเมกะวัตต์ ตอนนี้รอเรื่องคุณสมบัติและเงื่อนไขการประมูล คาดว่าจะออกเดือนสิงหาคมนี้ จะต้องเข้าบิดด้วยเงื่อนไขอะไร เช่น เกณฑ์ความพร้อม หรือคอร์สไพรซ์โมเดล และเข้าบิด ต.ค. คาดว่าภายในปีนี้จะเริ่มก่อน 500 เมกะวัตต์ เป้าหมายเรามองไว้ 300-500 เมกะวัตต์ในปีนี้ เราคิดว่าตลาดนี้มีผู้เล่น 5-6 เจ้า ตอนนี้เรากินมาร์เก็ตแชร์ 10% คือ 180 เมกะวัตต์”

ลงทุนไฟฟ้าลม 2 หมื่นล้าน

โครงการลมที่แพง คือ เรื่องที่ดินและสายส่ง เพราะต้องเดินสาย 7-8 กม. ซึ่งปกติโครงการไฟฟ้าพลังงานลมจะมีการลงทุนเฉลี่ยที่ 70 ล้านบาทต่อ 1 เมกะวัตต์ สมมุติหากได้ดำเนินการ 300 เมกะวัตต์ตามเป้าหมาย คาดว่าจะมีงบประมาณ 21,000 ล้านบาท ซึ่งจะมาจากแหล่งเงินกู้ 70% สำหรับหลักเกณฑ์การรับซื้อไฟจะเปลี่ยนจากระบบแอดเดอร์เป็นระบฟีดอินทารีฟ (feed in tariff) เพียงแต่จะคิดทารีฟเท่าไร ซึ่งต้องรอทางกระทรวงพลังงานจะจัดการ

ส่วนแผนการขยายการลงทุนในต่างประเทศที่เวียดนาม ซึ่งติดปัญหาจากการแพร่ระบาดของโควิดทำให้การดำเนินการของภาคธุรกิจชะลอตัว แต่หากเปิดประเทศก็จะต้องดูว่าจะทำอะไรต่อไปได้บ้าง รวมถึงการสปินออฟธุรกิจ


ทั้งนี้ ภาพรวมธุรกิจไตรมาส 2 ปลาย ๆ ไตรมาสจะมีรายได้จากธุรกิจกัญชงเข้ามาช่วยเสริม ส่วนรายได้จากพลังงานลมเคลื่อนตัวจากไตรมาส 1 ไปไตรมาส 2 เพื่อสนับสนุนการเติบโตปีนี้ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ก่อนหน้านี้ 15% เป็นการเติบโตต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 11 ปี