บิ๊กธุรกิจลงสนามแพลนต์เบส ส่งแบรนด์ใหม่ชิง 4.5 หมื่นล้าน

แพลนต์เบส

สมรภูมิแพลนต์เบสระอุ บิ๊กธุรกิจ-หน้าใหม่แข่งสารพัดเมนู หอการค้าไทยชี้ปีนี้ตลาดรุ่ง ตัวเลขทะลุ 4.5 หมื่นล้าน “ซีพีเอฟ” มั่นใจตลาดพุ่งกระฉูด 40% เทงบฯ 3 พันล้าน ปั้นแบรนด์ Meat Zero ลุยตลาดส่งออกจีน ตั้งเป้าดันยอดขายทะลุ 200 ล้านเหรียญในอีก 3 ปี ขณะที่เนสท์เล่ เปิดตัว “ฮาร์เวสต์ กูร์เมต์” มุ่งเป้าเจาะตลาดฟู้ดเซอร์วิส

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า THAIFEX-ANUGA World of Food Asia 2022 ที่เพิ่งจบลงเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นับเป็นเวทีอวดโฉมสินค้านวัตกรรมอาหารอนาคต โดยเฉพาะโปรตีนจากพืช หรือ plant based food จากผู้ผลิตอาหารรายใหญ่และน้องใหม่เข้าร่วมงานมากกว่าสิบแบรนด์ อาทิ เครือเจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) ผู้ผลิตและจำหน่ายแบรนด์ Meat Zero, เบทาโกร เจ้าของแบรนด์ Meatly, ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป นำสินค้า OMG มาร่วมแสดงในบูทของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และแบรนด์ Avartar Meat ที่ร่วมกับ มิตรผล, เนสท์เล่ ที่มีแบรนด์ฮาร์เวสต์ กูร์เมต์ (Harvest Gourmet) ที่มุ่งเจาะกลุ่มธุรกิจฟู้ดเซอร์วิส, บริษัท ไทสัน ฟู้ดส์ เจ้าของแบรนด์เฟิร์ส ไพรด์ (First Pride) แพลนต์เบส 100%

รวมถึงน้องใหม่ที่พัฒนาผลิตภัณฑ์มีทั้ง Molly Ally ผลิตภัณฑ์ไอศกรีมจากแพลนต์เบส, แบรนด์ Mantra ผลิตภัณฑ์แพลนต์เบสประเภทซีฟู้ด และแบรนด์ Absolute Plant ที่ผลิตโปรตีนจากพืช ที่มาจากขนุนอ่อนและไข่ผำ

ตลาดโปรตีนพืชไทย 4.5 หมื่นล้าน

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ”ว่า แนวโน้มสินค้าโปรตีนจากพืชมีการเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตัวเลขคาดการณ์ของ Bloomberg ระบุว่า ตลาดโปรตีนจากพืชโลกจะมีอัตราเติบโตปีนี้มูลค่า 44,200 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 8,600 ล้านเหรียญสหรัฐ จากปี 2564 ที่มีมูลค่า 35,600 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าจะทะลุ 108,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในอีก 5 ปีข้างหน้า และมีอัตราการขยายตัว 21% ต่อปี ส่วนมูลค่าตลาดในไทย จากข้อมูล Euro Stat ระบุว่า ปี 2562 มีมูลค่าตลาดประมาณ 28,000 ล้านบาท และคาดว่าจะเติบโตเฉลี่ย 10% ต่อปี ทำให้ในปี 2567 คาดว่ามูลค่าตลาดจะขึ้นไปอยู่ที่ 45,000 ล้านบาท

ปัจจุบันตลาดแพลนต์เบสมีนวัตกรรมการผลิตที่ทันสมัย จึงสามารถผลิตออกมาได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น เช่น plant based milk นมที่ทำมาจากถั่วประเภทต่าง ๆ ส่วน plant based meat หรือเนื้อสัตว์จากพืช นำวัตถุดิบจากพืชที่ให้โปรตีนสูงมาผลิต โดยใช้เทคโนโลยีด้านอาหารมาพัฒนารสชาติ กลิ่น สี ให้เหมือนเนื้อสัตว์จริง ปัจจุบันสินค้ากลุ่มนี้เริ่มเติบโตมากขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากนี้ยังมีสินค้าอื่น ๆ ในกลุ่ม plant based อีก เช่น plant based meal ซึ่งคาดว่าจะได้การตอบรับเป็นอย่างดีในอนาคต

ซีพีเอฟทุ่มลุยไม่ยั้ง

นายอาณัติ จุลินทร รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ กล่าวว่า จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาใส่ใจสุขภาพและเห็นความสำคัญสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทำให้ตลาดอาหารจากพืชเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น สำหรับซีพีเอฟได้เริ่มเปิดตัวผลิตภัณฑ์เนื้อจากพืชแบรนด์ Meat Zero ออกมาทำตลาด ตั้งแต่เดือน พ.ค. ปี 2564 ที่ผ่านมา

ปัจจุบันมีทั้งอาหารพร้อมทาน ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ และกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมปรุง และปีนี้ได้เตรียมงบฯ 3,000 ล้านบาท โดยภายใน 3 ปีนี้จะเร่งการสร้างแบรนด์ มุ่งตลาดส่งออกจีน และตลาดใหม่ ๆ โดยมีเป้าหมายว่าภายในสิ้นปีจะขึ้นเป็นผู้นำตลาดแพลนต์เบสของเอเชีย และใน 3 ปีจะก้าวสู่ Top 3 ของระดับโกลบอลให้ได้ และภายใน 3 ปีข้างหน้า ต้องการผลักดันยอดขายแตะ 200 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเติบโตหลัก 100%

“เริ่มแรกซีพีเอฟมีการลงทุนราว 300 ล้านบาท สร้างโรงงานผลิตแพลนต์เบส มหาชัย จ.สมุทรสาคร มีกำลังผลิต 12,000 ตันต่อปี และเริ่มส่งออกไปสิงคโปร์ และฮ่องกง มียอดขาย 250 ล้านบาท ในช่วง 3-4 เดือน นอกจากนี้ร่วมทุนกับพันธมิตรที่สาธารณรัฐเช็ก เพื่อผลิตแพลนต์เบส มีกำลังผลิต 9,000 ตันต่อปี ส่งออกไปยังอังกฤษ เยอรมนี และวางแผนสร้างโรงงานเพิ่มเพื่อให้ครอบคลุมและเพียงพอต่อการส่งออกตลาดในสหภาพยุโรป”

นายอัครชัย สาธิตภิญโญ ผู้ช่วยรองประธานฝ่ายกลยุทธ์ผลิตภัณฑ์แพลนต์เบส บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันสินค้ากลุ่มแพลนต์เบสมีแนวโน้มการเติบโตทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย จากเทรนด์ในเรื่องของสุขภาพ และปัจจุบันมีผู้ประกอบการกระโดดเข้ามาในตลาดมากขึ้น ทำให้การแข่งขันสูง ส่วนใหญ่จะแข่งขันกันเรื่องนวัตกรรม รสชาติ และราคาที่เข้าถึงง่าย

จากนี้ไปบริษัทเตรียมแตกไลน์สินค้าให้หลากหลายขึ้น และอยู่ระหว่างศึกษาการผลิตเนื้อทางเลือกจากพืชชนิดต่าง ๆ เพื่อทดแทนการใช้ถั่วเหลืองเป็นหลัก ปัจจุบันแม้ราคาวัตถุดิบและต้นทุนการผลิตจะปรับตัวสูงขึ้น แต่บริษัทยังพยายามตรึงราคาไว้ เพื่อให้สินค้าเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายขึ้นท่ามกลางสภาพตลาดที่แข่งขันสูง

นายมาร์เทน เคหราดร์ กรรมการผู้จัดการกลุ่มธุรกิจโปรตีนทางเลือก บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า โลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว มีความซับซ้อนและราคาต้นทุนที่สูงขึ้นล้วนมีผลกระทบต่อตลาดโปรตีนจากพืช แต่เราก็หวังว่าช่องว่างระหว่างราคาของโปรตีนแบบดั้งเดิมและโปรตีนทางพืชจะน้อยลง ทำให้สินค้าโปรตีนจากพืชของเราเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น

“ผมอยากให้ทุกคนได้ลองชิมโปรตีนทางเลือกดู ที่ผ่านมาในงาน ThaiFex-Anuga เราก็ได้ผลตอบรับที่ดีมาก ๆ ทั้งจากลูกค้าธุรกิจและผู้บริโภค”

แผนธุรกิจปีนี้เรามองในเรื่องของการสร้างตลาดสินค้าโปรตีนทางเลือกซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มสินค้าใหม่ ทั้งในประเทศไทยและส่วนอื่น ๆ ของโลก ด้วยการสร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้บริโภคและผ่านทางการทดลองสินค้า เราคาดหวังว่าจะทำให้ผู้บริโภคหันมาสนใจกลุ่มสินค้าโปรตีนทางเลือกมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการแนะนำสินค้าใหม่ ๆ ที่จะเปิดตัวเร็ว ๆ นี้

เนสท์เล่เจาะฟู้ดเซอร์วิส

นางสาวภาธินี สุทธิสำแดง Sale Executive บริษัท CTI Food Supply จำกัด ตัวแทนจัดจำหน่ายฮาร์เวสต์ กูร์เมต์ (Harvest Gourmet) ของเนสท์เล่ ระบุว่า เนสท์เล่มีโรงงานที่มาเลเซีย ผลิตโปรตีนจากพืชที่ได้รับการรับรองเครื่องหมายฮาลาล เพิ่งจะรุกตลาดในประเทศไทยโดยจะมุ่งเจาะธุรกิจฟู้ดเซอร์วิส เช่น แมคโดนัลด์ ดีลแอนด์เดลูก้า และอิเกีย เป็นต้น

“การมีผู้ประกอบการรายใหม่ ๆ กระโดดเข้ามาในตลาดทำให้การแข่งขันสูงขึ้น และระดับราคาของโปรตีนจากพืชยังคงมีราคาสูงกว่าโปรตีนปกติ 2-3 เท่า เช่น ไก่สับ กก.ละ 1,800 บาท หรือเบอร์เกอร์ชิ้นละ 58 บาท แต่คุณภาพดีและรสชาติใกล้เคียงเนื้อสัตว์”

เปิดตัวค่ายน้องใหม่รุกตลาด

นายกานต์ชนัต บุบผาชื่น CMO แบรนด์ Molly Ally ไอศกรีมแพลนต์เบส กล่าวว่า ปีนี้ได้ออกบูทในงานไทยเฟ็กซ์ฯเป็นครั้งแรก และได้ทดลองทำตลาดมา 1 ปี หลังจากที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ International Award New Venture จากสหรัฐ ไอศกรีม Molly Ally ผลิตจากอัลมอนด์ โอ๊ต และซอย แคลอรีน้อยกว่านมวัว ใช้น้ำตาลช่อดอกมะพร้าว มีรสชาติ 12 รสให้เลือก มีระดับราคาใกล้เคียงกับไอศกรีมแบรนด์ดังที่จำหน่ายอยู่ทั่วไป 95-105 บาท/1 สกู๊ป

“ตอนนี้อยู่ระหว่างการหาพันธมิตรเพื่อขยายสาขาในรูปแบบแฟรนไชส์ ตั้งเป้าหมาย 50 สาขาในปีนี้ ซึ่งผู้นำเข้าต่างประเทศให้ความสนใจ คาดว่าจะมีการทยอยเจรจาทำสัญญาในลำดับต่อไป และมีแผนจะขยายโรงงานเพิ่ม จากปัจจุบันกำลังการผลิตสูงสุด 2,000 ถ้วยต่อวัน”

นางสาวนภาพร อภิวันทน์โอภาศ ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด วุฒิชัย กรุ๊ป ผู้ผลิตแพลนต์เบสแบรนด์ Absolute Plant เปิดเผยว่า บริษัทเพิ่งเริ่มพัฒนานวัตกรรมโปรตีนจากพืช และเปิดตัวแบรนด์ Absolute Plant เมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ปัจจุบันมี 2 กลุ่ม คือ แพลนต์เบสมีต หมูกรอบ มีส่วนผสมของไข่ผำ และกลุ่มพร้อมปรุง เช่น หอยจ๊อปู ผลิตจากขนุนอ่อน เป็นต้น เป้าหมายเจาะคนรุ่นใหม่ที่รักสุขภาพ โดยจะขยายเป็นอีคอมเมิร์ซ 100% และเริ่มขยายช่องทางจำหน่ายในร้านค้าปลีกชั้นนำ เช่น กูร์เมต์ มาร์เก็ต และเริ่มมีการส่งออกด้วย

“โปรดักต์ของเรารสชาติใกล้เคียงหมู คอเลสเตอรอลเป็นศูนย์ แต่มีโปรตีนสูงทุกตัว ทุกตัวผ่านกระบวนการตั้งแต่การคัดสรรวัตถุดิบคุณภาพและการผลิตที่ได้มาตรฐานสากล เช่น HACCP และ ISO”