สถานีชาร์จ EV ทางเลือกของปั๊มน้ำมัน

สถานีชาร์จ EV
คอลัมน์ : ระดมสมอง
ผู้เขียน : ชญานิน ถาวรลัญฉ์
ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS

 

ธุรกิจสถานีบริการน้ำมันกำลังถูกกดดันท่ามกลางกระแส energy transition ที่ทั่วโลกรวมถึงไทยกำลังพยายามลดการใช้ยานยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในลง อีกทั้งจำนวนยานยนต์ EV มีแนวโน้มเติบโตมากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจนี้จำเป็นต้องเร่งปรับตัวเพื่อให้สอดรับกับเทรนด์ ESG (environmental, social and governance)

โดยทางเลือกหนึ่งในการปรับตัวนั้นคือ “การให้บริการจุดชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า หรือสถานีชาร์จ EV (electric vehicle)”

Krungthai COMPASS ประเมินว่า มูลค่าธุรกิจสถานีชาร์จ EV จะเติบโตสูงเฉลี่ยที่ 44.5% CAGR ในช่วงปี 2021-2026 โดยปัจจุบันปี 2021 มูลค่าธุรกิจอยู่ที่ราว 1,300 ล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการเติบโตของมูลค่าธุรกิจสถานีชาร์จ EV ในเอเชีย ตามการประเมินของ Mordor Intelligence

การเติบโตดังกล่าวเป็นผลจากความต้องการยานยนต์ EV บวกกับแรงผลักดันของภาครัฐที่กำลังส่งเสริมให้คนไทยหันไปใช้ EV มากขึ้น ทั้งผ่านนโยบายการลดภาษีนำเข้า EV หรือการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่สถานีบริการน้ำมันผ่านมาตรการของ BOI เพื่อให้ไทยมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และลดความเสี่ยงหลีกหนีจากความผันผวนของราคาน้ำมันที่คาดว่าจะยืนสูงนานนับจากนี้

ปัจจุบันจำนวนสถานีชาร์จ EV ในไทย มีจำนวนทั้งหมด 944 แห่ง (กระทรวงพลังงาน) ซึ่งราว 50% กระจายตัวอยู่ในพื้นที่ กทม. และปริมณฑลเป็นหลัก รองลงมาอยู่ในภาคกลาง 16% ภาคใต้ 12% ภาคเหนือ 12% และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 10%

โดยมีจำนวนหัวจ่ายไฟฟ้าสำหรับชาร์จยานยนต์ EV ทั้งหมด อยู่ที่ประมาณ 2,285 หัวจ่าย ซึ่งในจำนวนสถานีชาร์จ EV ข้างต้นนี้ ส่วนหนึ่งเป็นสถานีบริการน้ำมันที่ต่อยอดธุรกิจด้วยการเพิ่มจุดชาร์จไฟฟ้า EV เพิ่มเติมในสถานีบริการน้ำมันเดิม

และส่วนที่เหลือกระจายติดตั้งในสถานที่ต่าง ๆ เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงแรม โรงพยาบาล โชว์รูมและศูนย์บริการรถยนต์ รวมถึงสาขาการไฟฟ้านครหลวง (MEA) และสาขาการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA)

อย่างไรก็ดี จุดชาร์จ EV ในปัจจุบันอาจมีไม่เพียงพอกับจำนวน EV ที่กำลังจะเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า ทำให้การต่อยอดธุรกิจด้วยการเพิ่มจุดชาร์จ EV เพิ่มเติม โดยเฉพาะในสถานีบริการน้ำมันเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยสร้างรายได้เพิ่มเติม

เนื่องจากสถานีบริการน้ำมันส่วนใหญ่มีข้อได้เปรียบตรงที่มีทำเลที่ตั้งอยู่ตามโครงข่ายถนนทางหลักและทางรองทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ทำให้สะดวกต่อผู้ใช้ EV ที่จำเป็นต้องเติมเชื้อเพลิงไฟฟ้าระหว่างการเดินทาง นอกจากนี้การเพิ่มจุดชาร์จ EV ยังช่วยเติมเต็มให้ ecosystem ของ EV chain ของไทยรุดหน้าได้เร็วขึ้นด้วย

สำหรับผู้ประกอบการสถานีบริการน้ำมันที่สนใจลงทุนติดตั้งเครื่องชาร์จ EV ควรศึกษาก่อนว่าควรลงทุนเครื่องชาร์จแบบใดที่จะเหมาะสมที่สุด ซึ่งในกรณีที่ผู้ประกอบการติดตั้งแบบ AC normal charge และ DC fast charge อย่างละ 1 เครื่อง ใช้เงินลงทุนทั้งหมดเบื้องต้นราว 2.1 ล้านบาท มีระยะเวลาคืนทุนประมาณ 2.3 ปี และหากต้องการติดตั้ง solar rooftop บนหลังคาที่จอดรถ 2 ช่อง เพื่อผลิตไฟสำหรับชาร์จ EV เพิ่มเติม จะใช้เงินลงทุนเบื้องต้นเพิ่มเป็นประมาณ 2.6 ล้านบาท ระยะเวลาคืนทุนที่ 2.8 ปี

ทั้งนี้ ในกรณีที่ผู้ประกอบการต้องการจะติดตั้งแบตเตอรี่เพิ่มเติมเพื่อเก็บไฟฟ้าที่ผลิตได้จาก solar rooftop ไว้ใช้ในช่วงเวลากลางคืน จะต้องเพิ่มค่าแบตเตอรี่เพิ่มอีกประมาณ 150,000 บาท และอาจทำให้มีระยะเวลาคืนทุนนานขึ้นเกินกว่า 3 ปี ซึ่งการติดตั้งแบตเตอรี่สำหรับ solar rooftop ขนาดเท่ากับ 2 ช่องที่จอดรถอาจไม่จำเป็นนัก เพราะผลิตไฟเหลือเก็บไม่มาก

นอกจากนี้ สถานีบริการน้ำมันที่จะติดตั้งจุดชาร์จ EV ควรมีสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นเพิ่มเติมภายในสถานีบริการด้วย เช่น ร้านค้า และร้านอาหาร เพื่อดึงดูดผู้ใช้ EV ให้เข้าไปใช้บริการระหว่างรับบริการชาร์จและสร้างรายได้จากการให้เช่าพื้นที่ เนื่องจากในกรณีที่เป็นการชาร์จจาก AC normal charge หรือการอัดประจุแบบปกติด้วยไฟฟ้ากระแสสลับ จะใช้เวลาชาร์จมากถึง 4-7 ชั่วโมง แต่หากเป็นการชาร์จจาก DC fast charge หรือการอัดประจุแบบเร็วกระแสตรง จะใช้เวลาชาร์จประมาณ 45 นาที