นักลงทุนถามหา “วิศวกร-ช่างอุตสาหกรรม” 1.6 หมื่นคน หวั่นชะลอตัดสินใจ

วิศวกร
Photo by Burst

“บีโอไอ” ส่งสัญญาณแรงงานสาขาวิศวกรรม ช่างอุตสาหกรรมขาดแคลน 16,542 คน เผยความต้องการแรงงานภาคอุตสาหกรรมไตรมาส 1/65 รวมเฉียด 70,000 คน กว่า 60% เป็นอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์นำโด่ง 

วันที่ 3 มิถุนายน 2565 รายงานข่าวระบุว่า นับตั้งแต่เดือนมกราคม – มีนาคม 2565 โครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ซึ่งมีทั้งหมด 378 โครงการ มีมูลค่าเงินลงทุน 110,730 ล้านบาท โดยเป็นอุตสาหกรรมการเกษตรและแปรรูปอาหารมีจำนวนโครงการสูงที่สุด รองลงมาเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ดิจิทัล เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ ตามลำดับนั้น

นับเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับภาพรวมการลงทุน ที่สะท้อนให้เห็นว่าแม้จะยังเกิดการระบาดของเชื้อโควิด-19 แต่ยังคงมีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นหลังมาตรการคลายล็อกและการเปิดประเทศได้เริ่มขึ้น

อย่างไรก็ตามถึงแนวโน้มการลงทุนจะเริ่มดีขึ้น แต่ตามรายงานบีโอไอที่ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับความต้องการแรงงานในทุกระดับทั้งปริญญาตรี ปวช.-ปวส. แรงงาน (ป.6-ม.6) โดยพบว่า โครงการที่ได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอ จำนวน 371 โครงการ ในช่วงไตรมาส 1/2565 นั้น ยังคงมีความต้องการแรงงานรวม 67,039 คน เป็นระดับปริญญาตรีขึ้นไป 8,757 คน ระดับ ปวช.-ปวส. 15,501 คน ระดับแรงงาน ป.6-ม.6. สูงถึง 42,141 คน และอื่น ๆ อีก 640 คน

ประเภทกิจการที่ต้องการมากที่สุด 3 อันดับต้น ๆ คือ 1.อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 2.ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง 3.เกษตรกรรมและผลิตผลจากการเกษตร ซึ่งทั้งหมดนั้นต้องการระดับปริญญาตรีในสาขาวิศวกรรมมากที่สุด 4,082 คน (วิศวะกรรมการผลิต วิศวะเครื่องกล วิศวะอุตสหการ) ระดับ ปวช.-ปวส.ต้องการช่างอุตสาหกรรมมากที่สุด 12,460 คน (ช่างอิเล็กทรอนิกส์ช่างไฟฟ้ากำลัง ช่างกลโรงงาน) หรือรวมกันเป็นจำนวน 16,542 คน

โดยอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ต้องการแรงงาน 34,152 คน หรือมีสัดส่วนกว่า 50.94% ของความต้องการแรงงานทั้งหมด เป็นระดับปริญญาตรี 3,027 คน สาขาวิศวกรรม 1,895 คน ระดับ ปวช.-ปวส.ช่างอุตสาหกรรม 6,957 คน ระดับแรงงาน ป.6-ม.6. 22,339 คน

ประเภทกิจการผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง ต้องการแรงงาน 15,568 คน เป็นระดับปริญญาตรี 2,322 คน สาขาวิศวกรรม 1,051 คน ระดับ ปวช.-ปวส.ช่างอุตสาหกรรม 2,980 คน ระดับแรงงาน ป.6-ม.6. 9,648 คน

ประเภทกิจการเกษตรกรรมและผลิตผลจากการเกษตร ต้องการแรงงาน 8,037 คน เป็นระดับปริญญาตรี 843 คน สาขาวิศวกรรม 244 คน ระดับ ปวช.-ปวส.ช่างอุตสาหกรรม 589 คน ระดับแรงงาน ป.6-ม.6. 6,139 คน

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ. หรือเลขาฯ EEC) กล่าวว่า การที่นักลงทุนจะตัดสินใจลงทุนในประเทศไทยนั้น จะใช้เหตุผลหลายปัจจัยหลัก ๆ ที่สำคัญในการที่จะตัดสินใจที่ไม่ใช่แค่เรื่องของสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีเพียงอย่างเดียว แต่เขามองเรื่องความพร้อมของบุคลากรที่ไทยมีมากน้อยขนาดไหน ตรงกับที่อุตสาหกรรมเขาต้องการหรือไม่ มีจำนวนมากพอหรือไม่ มีความรู้ความเชี่ยวชาญหรือไม่

จากนั้นก็จะเป็นเรื่องของกฎระเบียบความยากง่ายในการทำธุรกิจ (Ease of Doing Business) การให้ใบอนุญาตต่าง ๆ วีซ่าที่ล่าสุดเราปลดล็อกให้นักลงทุนอยู่ได้ยาวขึ้นและขยายไปถึงคู่สมรสสามารถทำงานที่ไทยได้ด้วย

“คำถามที่เราเจอมากที่สุดจากนักลงทุนคือเรามีแรงงานไหม ด้านดิจิทัลมีเท่าไร พร้อมไหม ยิ่งเราเป็นที่น่าสนใจมีมาตรการดึงดูดนักลงทุนยิ่งทำให้เขาอยากเข้ามา แต่เขาก็ต้องได้รับความชัดเจนจากเราว่าคนของเราพร้อมหรือไม่ ถ้าเขามาแล้วแรงงานไม่พอจะทำอย่างไร เราจึงต้องเร่งสร้างบุคลากร เตรียมแรงงานไว้ให้มาก ๆ เพื่อเข้ามารองรับอุตสาหกรรมนวัตกรรมขั้นสูง”

“โดยร่วมกับบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลก เช่น หัวเว่ย ซิสโก้ เป็นต้น ตั้งเป้าภายใน 4 ปี จะสามารถพัฒนาทักษะบุคลากรใน EEC (New Skill, Up-Skill, Re-Skill) ในด้าน 5G, ดิจิทัล, Network ให้ได้ไม่น้อยกว่า 50,000 คน ซึ่งก็รวมไปถึงการจับมือกับมหาวิยาลัยต่าง ๆ เพราะใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ยังมีความต้องการแรงงานอย่างน้อย 470,000 อัตรา ซึ่งถ้าคนเราพร้อมนักลงทุนก็จะตัดสินใจง่ายขึ้น”