แนะ BCG ใช้ FTA ปั๊มรายได้ 4.4 ล้านล้าน

BCG

นโยบายการขับเคลื่อนโมเดล BCG (Bio-Circular-Green Economy) เป็นวาระแห่งชาติของรัฐบาล ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนมูลค่า GDP ของ BCG จาก 21% เป็น 24% ภายใน 5 ปี หรือเพิ่มจาก 3.4 ล้านล้านบาทในปี 2563 เป็น 4.4 ล้านล้านบาทในปี 2568 ล้อไปกับเทรนด์ ทั่วโลกที่มุ่งสร้างการเติบโตอย่างสมดุลทั้งเศรษฐกิจควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อม

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ จัดทำโครงการส่งเสริมเกษตรกร ผู้ประกอบการไทย เร่งต่อยอดใช้ประโยชน์ FTA “ThEP for FTA MARKET” สนับสนุนผู้ผลิตสินค้า BCG ให้สามารถใช้ประโยชน์จากความตกลง (FTA) ส่งออก โดยปัจจุบันไทยได้ลงนามเอฟทีเอ 14 ฉบับกับ 18 ประเทศ และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ฉบับล่าสุดก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เบื้องต้นได้มีการคัดเลือกผู้ประกอบการ 20 ราย ร่วมอบรมพัฒนาศักยภาพด้านการตลาดเชิงลึก ร่วมกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจออนไลน์ เพื่อนำสินค้าขึ้นไปขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยผู้ที่มีศักยภาพสูงสุด 5 รายจะทดลองขายบนแพลตฟอร์มชั้นนำในตลาดต่างประเทศ

เร่งเจรจา FTA เปิดทาง BCG

“กลุ่ม BCG เป็นเทรนด์ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ และประเด็นนี้ยังถูกหยิบยกมาหารือในเวทีเอเปกหรือความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งประเทศสมาชิกหลายประเทศก็มีนโยบายส่งเสริมในเรื่องนี้ ไทยควรอาศัยโอกาสนี้ก้าวสู่โมเดลเศรษฐกิจใหม่ ช่วยต่อยอดธุรกิจ เพิ่มศักยภาพให้ผู้ประกอบการไทยสู่เวทีการแข่งขันในระดับโลก”

เป็นที่ทราบกันดีว่าเป้าหมายรัฐบาลมุ่งขยายการเติบโตของ BCG อีก 1 ล้านล้านบาท อีก 5 ปี ซึ่งในส่วนของกรมก็พร้อมจะส่งเสริมผู้ประกอบการ เพื่อใช้ประโยชน์จาก FTA ทั้ง 14 ฉบับ และยังเตรียมแผนเจรจากับประเทศต่าง ๆ ปี 2565-2570 อาทิ สหภาพยุโรป (EU) สมาคมการค้าเสรียุโรป (EFTA) สหราชอาณาจักร (UK) และสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (EAEU)เป็นต้น

BCG อาหารอนาคต

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า เทรนด์ BCG ส่งผลให้แนวโน้มอาหารอนาคตมีการเติบโตเพิ่มมากขึ้นทั้งเชิงปริมาณและมูลค่า ซึ่งนับเป็นโอกาสการส่งออกของกลุ่มสินค้าดังกล่าว และได้มีแผนส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โดยใช้กลยุทธ์ BCG Model ขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าเป้าหมายในอนาคต

โดยจะเห็นว่าการส่งเสริมการลดการปล่อยคาร์บอนทำให้ตลาดหันมานิยมโปรตีนจากพืช (plant-based) ทำให้ยอดส่งออกปี 2562 มีมูลค่า 28,000 ล้านบาท ขณะที่อาหารที่ให้ประโยชน์ต่อสุขภาพ (functional food) ปี 2563 มีมูลค่า 9,100 ล้านบาท อาหารเฉพาะบุคคล (Personalized food) ปี 2563 มีมูลค่า 28,056 ล้านบาท และอาหารผู้สูงอายุ (food for aging) ปี 2563 มีมูลค่า 11,478 ล้านบาท

ความพร้อมเกษตรกรไทย

นายรัตนะ สวามีชัย เลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติกล่าวว่า เกษตรกรไทยจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงตัวเอง ปัจจุบันเกษตรไทยยังมีรายได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย และมีปัญหาด้านโครงสร้าง ไม่มีเอกสารสิทธิที่ดิน และอีก 8 ปีข้างหน้าไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมีโอกาสจะขาดแคลนแรงงาน

อย่างไรก็ตาม เกษตรกรต้องปรับตัวเพราะปลูกเพียงอย่างเดียวโดยไม่สนใจเรื่องนี้ก็จะทำให้โอกาสส่งออกสินค้ายากขึ้น เพราะประเทศผู้นำเข้าให้ความสำคัญ มีการกำหนดกติกา เงื่อนไขการนำเข้า ทั้งหมดนี้จะเป็นสิ่งที่ช่วยยกระดับให้เกษตรกรแข่งขันได้